เครื่องราชกกุธภัณฑ์ไอร์แลนด์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประกาศที่ออกโดยทางการตำรวจแห่งดับลินเกี่ยวกับการจารกรรมเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งไอร์แลนด์

เครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งไอร์แลนด์ (อังกฤษ: The Irish Crown Jewels) ประกอบด้วยดาราประดับเพชร และดวงตราประดับเพชรสำหรับองค์ประธานแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดเฉพาะสำหรับพระมหากษัตริย์ และชั้นแกรนด์มาสเตอร์ (Grand Master) ของเครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์แพทริก (The Order of St. Patrick) ซึ่งได้ถูกจารกรรมไปจากปราสาทดับลินในปีค.ศ. 1907 พร้อมทั้งสายสร้อยทองสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ในชั้นอัศวินอีก 5 ชุด ซึ่ง ณ ปัจจุบันคดีก็ยังไม่ได้รับความกระจ่าง

ประวัติ[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์แพทริกเป็นอิสริยาภรณ์ที่เกี่ยวกับอัศวิน สถาปนาในปีค.ศ. 1783 โดยพระเจ้าจอร์จที่ 3 เพื่อใช้เป็นอิสริยาภรณ์สูงสุดของไอร์แลนด์ ซึ่งเปรียบได้กับเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ของอังกฤษ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ธิสเทิลของสกอตแลนด์ สถาบันพระมหากษัตริย์ของสหราชอาณาจักร ซึ่งถือเป็นพระมหากษัตริย์ของไอร์แลนด์ด้วย เป็นองค์ประธานแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และข้าหลวงใหญ่แห่งไอร์แลนด์เป็นชั้นแกรนด์มาสเตอร์ (Grand Master) โดยถือเป็นผู้แทนพระองค์ในระหว่างที่พระมหากษัตริย์ไม่ได้ประทับอยู่ในราชอาณาจักร ดาราประดับเพชรนี้ถือเป็นตราสัญลักษณ์และกกุธภัณฑ์ที่พระมหากษัตริย์จะทรงในระหว่างทรงแต่งตั้งอัศวินใหม่เพื่อเป็นสมาชิกแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ และบางกรณีข้าหลวงใหญ่แห่งไอร์แลนด์จะเป็นผู้แทนพระองค์ในบางโอกาสสำคัญ

ในตอนแรก ดาราองค์เดิมที่เป็นของพระมหากษัตริย์นั้นมีความสวยงานมากกว่าดาราสำหรับชั้นอัศวินอื่นๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ต่อมาในปีค.ศ. 1831 พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 มีพระบรมราชโองการให้จัดทำดาราขึ้นใหม่ พร้อมๆ กับการปรับปรุงโครงสร้างของเครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์แพทริก โดยดาราองค์ใหม่นี้ประกอบด้วยรัตนชาติกว่า 394 ชิ้น ซึ่งนำมาจากบางส่วนของเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของอังกฤษซึ่งเคยเป็นของสมเด็จพระราชินีชาร์ลอตต์ และจากดาราเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งบาธของพระเจ้าจอร์จที่ 3[1] โดยบริเวณดารานั้นประกอบด้วยลายลงยาสีน้ำเงินเซนต์แพทริก มีสัญลักษณ์ใบชัมร็อกทำจากมรกต และตรากางเขนเซนต์แพทริกสีแดงทำมาจากทับทิม มีคำขวัญที่จารึกไว้ทำมาจากเพชรสีชมพู และประดับโดยรอบด้วยเพชรน้ำหนึ่งจากบราซิล[1][2] โดยจากประกาศที่ออกโดยทางการภายหลังจากการจารกรรมมีดังนี้

วิลเลียม วาร์ด​ เอิร์ลที่ 2 แห่งดัดลีย์ (ข้าหลวงใหญ่แห่งไอร์แลนด์, 1902–1905), ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์แพทริกเต็มยศในชั้น "Grand Master"

ดาราประดับเพชรของเครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์แพทริกประกอบด้วยเพชรเจียระไนจากบราซิลที่มีคุณภาพดีที่สุด (น้ำหนึ่ง) ดารามีขนาด  4 5⁄8 นิ้ว คูณ 4 1⁄4นิ้ว ประกอบด้วยแปดแฉก โดยมีสี่แฉกยาว และสี่แฉกสั้น ตรงกลางประกอบด้วยกางเขนที่ทำจากทับทิม และใบชัมร็อกที่ทำจากมรกต ล้อมรอบด้วยลายลงยาสีน้ำเงิน มีคำขวัญว่า "Quis Separabit MDCCLXXXIII" ทำจากเพชรสีชมพู มีมูลค่าประมาณ 14,000 ปอนด์ (เท่ากับ 1,340,000 ปอนด์ ในปีค.ศ. 2015)

— [3]


ดวงตราประดับเพชรของเครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์แพทริกทำจากเงินประดับด้วยใบชัมร็อกที่ทำจากมรกตบนกางเขนสีแดงซึ่งทำจากทับทิมล้อมรอบโดยลายวงกลมลงยาสีน้ำเงินมีคำขวัญ "Quis Separabit MDCCLXXXIII" ทำจากเพชรสีชมพู และมีลายประดับล้อมรอบด้วยลายช่อใบชัมร็อกทำจากมรกต ประดับล้อมรอบด้วยเพชรน้ำหนึ่งเม็ดใหญ่จากบราซิล ด้านบนเป็นฮาร์ปปิดยอดด้วยมงกุฎประดับเพชรโดยรอบ ขนาดบริเวณวงรีประมาณ 3 นิ้ว คูณ 2 3/8 นิ้ว สูง ความสูง 5 5/8 นิ้ว มูลค่าประมาณ 16,000 ปอนด์ (เท่ากับ 1,530,000 ปอนด์ ในปีค.ศ. 2015)

— [4]

โดยในระหว่างที่ไม่ได้ใช้ทรงหรือนำออกมาทำความสะอาดนั้น เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำคัญนี้และรวมถึงสายสร้อยของอัศวินที่วายชนม์ไปแล้วจะถูกดูแลโดย Ulster King of Arms ซึ่งเป็นผู้ดูแลตราสัญลักษณ์ และเก็บรักษาอยู่ในตู้นิรภัยของธนาคาร[5] ซึ่งการยกฐานะเป็นกกุธภัณฑ์ของดาราประดับเพชร และดวงตราประดับเพชรที่เป็นชุดสำหรับพระมหากษัตริย์นั้นเกิดขึ้นในปีค.ศ. 1905 ในระหว่างการชำระสถานะแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์แพทริก โดยประกาศที่ออกโดยตำรวจดับลินในภายหลังเกี่ยวกับการจารกรรมนี้ใช้คำว่า "เครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งไอร์แลนด์" [6]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 O'Riordan, Tomás (Winter 2001). "The Theft of the Irish Crown Jewels, 1907". History Ireland. 9 (4).
  2. "The Theft of the Irish 'Crown Jewels'". Online exhibitions. Dublin: National Archives of Ireland. 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-11. สืบค้นเมื่อ 15 June 2013.
  3. "DMP – poster 1". Dublin Metropolitan Police. 2007 [Original date 8 July 1907]. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-06. สืบค้นเมื่อ 15 June 2013.
  4. "DMP – poster 2". Dublin Metropolitan Police. 2007 [Original date 8 July 1907]. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-19. สืบค้นเมื่อ 15 June 2013.
  5. "Chapter 12: The Illustrious Order of St. Patrick". History of Dublin Castle. Office of Public Works. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-11. สืบค้นเมื่อ 14 June 2013.
  6. Galloway, Peter (1983). The Most Illustrious Order of St. Patrick: 1783 – 1983. Phillimore. ISBN 9780850335088.