ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะ
พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเนปาล
ครองราชย์25 กันยายน พ.ศ. 231111 มกราคม พ.ศ. 2318
รัชสมัย6 ปี
รัชกาลก่อนหน้าพระเจ้านรภูปาล ศาหะ
รัชกาลถัดไปพระเจ้าประตาปสิงห์ ศาหะ
ประสูติพ.ศ. 2266
กุรข่า ราชอาณาจักรเนปาล
สวรรคต11 มกราคม พ.ศ. 2318
กรุงกาฐมาณฑุ ราชอาณาจักรเนปาล
(พระชนมายุ 52 พรรษา)
พระบรมราชินีสมเด็จพระราชินีนเรนทราแห่งเนปาล[1]
พระราชบุตรพระเจ้าประตาปสิงห์ ศาหะ
เจ้าชายบาฮาดูร์แห่งเนปาล
พระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะ
ราชวงศ์ราชวงศ์ศาห์
พระราชบิดาพระเจ้านรภูปาล ศาหะ
พระราชมารดาพระนางกุศัลยาวติ ศาหะ

พระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะ พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเนปาล (พ.ศ. 2266 - 11 มกราคม พ.ศ. 2318;เนปาลี:पृथ्वीनारायण शाह) เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์ชาห์หรือศาห์ที่ปกครองเนปาล พระองค์ทรงเป็นที่นับถือจากการที่ทรงเริ่มต้นการรวมชาติเนปาล ที่ซึ่งถูกแบ่งแยกและอ่อนแอภายใต้การปกครองของสหพันธ์มัลละ พระองค์ทรงเป็นเชื้อสายรุ่นที่ 9 ของดราวะยะ ศาห์ (พ.ศ. 2102 - พ.ศ. 2113) ผู้ก่อตั้งราชวงศ์แห่งกุรข่า มเด็จพระราชาธิบดีปฤฐวีนารายณศาหะทรงครองราชบัลลังก์สืบต่อจากสมเด็จพระราชาธิบดีนาราภูปาลศาหะเป็นกษัตริย์แห่งกุรข่าในปีพ.ศ. 2286

ช่วงต้นพระชนม์ชีพ

[แก้]

พระองค์เป็นพระราชโอรสในพระเจ้านรภูปาล ศาหะกับพระนางกุศัลยาวติ ศาหะพระมเหสีพระองค์ที่สองแต่พระองค์ทรงได้รับการเลี้ยงดูจากพระมเหสีพระองค์แรกคือพระนางจันทราประภาวตี ซึ่งเป็นพระมารดาเลี้ยง เจ้าชายทรงเริ่มต้นสนพระทัยด้านการเมืองของรัฐอันเนื่องมาจากพระราชบิดามักทรงใช้เวลากับการศาสนาในห้องสวดมนต์ เจ้าชายมีพระประสงค์ที่จะพิชิตเหนือแคว้นนุวคต พระราชินีองค์แรกหรือมหารานีพระมารดาเลี้ยงทรงปลูกฝังให้เจ้าชายทรงมีปณิธานในการรวมชาติเนปาล การเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทไปรอบโกรข่าและตรัสกับราษฎรอันเป็นสิ่งที่โปรดและการกระทำครั้งนี้ข่วยให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยในพสกนิกรกุรข่า พระองค์ทรงมีเชื้อสายจากพวกราชปุตตระกูลสิโสเดียจากเมืองจิตตอร์การห์ ในรัฐราชสถานแต่บรรพบุรุษของพระองค์ทรงตั้งถิ่นฐานที่เขตโกรข่าจากนั้นจึงกลายเป็นชื่อเผ่านักรบกุรข่าผู้ซึ่งมีเชื้อสายจากชาติพันธุ์ราชปุต-มองโกล

การรวมชาติเนปาล

[แก้]

สมเด็จพระราชาธิบดีปฤฐวีนารายณศาหะทรงประสบความสำเร็จจากการเริ่มต้นรุกรานสหภาพแห่งนุวคตที่ซึ่งทอดยาวตั้งแต่กรุงกาฐมาณฑุจนถึงแคว้นโกรข่า ในปีพ.ศ. 2287 หลังจากสหภาพนุวคต พระองค์ทรงเข้าพิชิตจุดยุทธศาสตร์ในบริเวณเนินเข้ารอบๆภูเขากาฐมาณฑุ การสื่อสารในราชรัฐหุบเขากาฐมาณฑุต่อโลกภายนอกจึงถูกตัดขาด การเข้ายึดครองเส้นทางคุติในปีพ.ศ. 2299 ได้หยุดการค้าขายระหว่างหุบเขากับธิเบต เพื่อหยุดการค้าขายระหว่างชาวเนวาร์ที่อาศัยอยู่ในหุบเขากาฐมาณฑุกับชาวมุสลิมแห่งจักรวรรดิโมกุลในอินเดีย

หลังจากทรงปราชัยอย่างเสียพระเกียรติถึงสองครั้ง พระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะทรงเอาชนะและเข้ายึดครองกีรติปุระในการโจมตีครั้งที่สาม แต่พระองค์ต้องสูญเสียคารูน ปันเด นายพลคนสนิทของพระองค์และพระอนุชา ด้วยความแค้นพระทัยที่ต้องสูญเสียนายทหารคนสนิท หลังจากทรงยึดครองกีรติปุระพระองค์ทรงสั่งให้ตัดจมูกและปากของชายทุกคน เพื่อเป็นกาลงโทษถึงความไร้สัจจะของชาวกีรติปุระเนื่องจากชาวเมืองได้ยอมแพ้แต่กลับส่งกองทัพมาโจมตีพระองค์ในภายหลัง ทำให้ส่งผลถึงกิตติศัพท์ด้านความโหดเหี้ยมของพระองค์ ในที่สุดสมเด็จพระราชาธิบดีปฤฐวีนารายณศาหะเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่เมืองหลังจากยึดครองกีรติปุระ ดังนั้นพระเจ้าจายะประกาชแห่งกาฐมาณฑุได้เสด็จพร้อมพระมเหสีลี้ภัยไปยังเมืองปาตานที่ลลิตปุระ ปาตาน เมื่อพระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะได้ขยายอาณาเขตสู่ปาตานในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ พระเจ้าจายะประกาชแห่งกาฐมาณฑุและพระเจ้าเท็จนารสิงห์มัลละแห่งปาตานได้เสด็จลี้ภัยไปยังภักตาปุระ ที่ซึ่งต่อมาก็ถูกยึดครองเช่นกัน สมเด็จพระราชาธิบดีปฤฐวีนารายณศาหะทรงสามารถยึดครองหุบเขากาฐมาณฑุและทรงสถาปนากาฐมาณฑุขึ้นเป็นราชธานีพ.ศ. 2312 พระองค์ทรงประกาศขึ้นครองราชบัลลังก์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งเนปาลที่จัตุรัสดะระบาร์ การสถาปนาราชอาณาจักรเนปาลทำให้พระองค์มีพระราชปณิธานในการพิชิตด้านตะวันออก ราชอาณาจักรเซนแห่งเจาดันติได้ถูกยึดครองในปีพ.ศ. 2316 และราชอาณาจักรเซนแห่งวิเจปุระก็ถูกผนวกเข้าอาณาจักรเนปาลในเวลาต่อมา การปราบปรามและรวมชาติเนปาลพระองค์ต้องใช้เวลานานเกือบ 25 ปี[2]

เสด็จสวรรคต

[แก้]
พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะ

พระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะทรงขยายอาณาเขตและรักษาความสงบสุขแต่พระองค์ทรงปฏิเสธการเจริญสัมพันธไมตรีกับอังกฤษ ทรงปฏิเสธที่ทำการค้ากับชาวอังกฤษ พระองค์เสด็จสวรรคตก่อนที่จะทรงวางรากฐานประเทศให้มีประสิทธิภาพ ก่อนที่จะเสด็จสวรรคต จึงโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงเข้าเฝ้า โดยทรงขอให้เจ้านายทุกพระองค์ยึดถือเป็นกฎต่อไปว่าการสืบราชสมบัติจะต้องเป็นของพระโอรสองค์โตในกษัตริย์ที่อยู่ในสิริราชสมบัติเท่านั้น การทีทรงตั้งกฎนี้เพื่อป้องกันการแย่งชิงราชบัลลังก์เหมือนราชรัฐอื่น ๆ และกฎมณเฑียรบาลนี้ได้รับการยึดถือต่อมา[3] พระองค์เสด็จสวรรคตในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2318 สิริพระชนมายุ 52 พรรษา พระนางนเรนทราลักษมีศาหะ พระอัครมเหสีทรงกระทำตามประเพณีฮินดูคือพิธีสตี เมื่อสามีตายภรรยาต้องโดดเข้ากองไฟเพื่อตายตาม พระนางและนางพระกำนัลทรงกระโดดเข้ากองไฟสิ้นพระชนม์ตามพระราชสวามี[4] เจ้าชายประตาปสิงห์ พระราชโอรสองค์โตทรงครองราชย์สืบต่อเป็น พระเจ้าประตาปสิงห์ ศาหะ และพระราชปณิธานการรวมชาติของพระองค์ได้รับการสานต่อโดยพระโอรสอีกพระองค์หนึ่งคือ เจ้าชายบะหะดูร์ศาหะ

คำสาปราชวงศ์เนปาล

[แก้]

คำสาปแห่งราชวงศ์เนปาลได้รับการกล่าวขานสืบต่อกันมา มีเรื่องเล่าว่า ขณะที่พระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะกำลังทรงเตรียมทำศึกครั้งสุดท้ายกับราชรัฐในหุบเขากาฐมาณฑุและเสด็จผ่านป่า ได้ทรงพบกับฤๅษีตนหนึ่งเข้าโดยบังเอิญซึ่งเป็นองค์เทพเจ้าจำแลงมา ตามกฎของศาสนาฮินดูที่ทรงนับถือระบุไว้ว่า ถ้าเจอผู้ทรงศีลให้ถวายน้ำนม พระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะก็ทรงปฏิบัติตามนั้น

ฤๅษีตนนั้นรับน้ำนมที่ถวายดื่ม และบ้วนกลับลงไปในภาชนะที่ใส่ พร้อมกับทูลถวายกลับไปเพื่อให้ทรงดื่ม แต่พระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะทรงปฏิเสธ แทนที่จะทรงดื่มกลับทรงราดนมไปที่มือของฤๅษีตนนั้นและน้ำนมหกลงโดนนิ้วพระบาทของพระองค์ทั้งสิบนิ้ว

การกระทำของพระองค์สร้างความโกรธแค้นให้กับฤๅษียิ่งนัก ฤๅษีซึ่งเป็นเทพจำแลงบรรลุโทสะตะโกนต่อหน้าพระพักตร์ด้วยเสียงเกรี้ยวกราดว่า ถ้าพระองค์ดื่มนมที่เขาบ้วนออกมา ก็จะทรงได้ทุกอย่างตามที่ทรงปรารถนา

ฤๅษีสาปแช่งพระองค์และผู้สืบทอดสายพระโลหิต โดยสาปแช่งให้ทรงมีผู้สืบทอดราชบัลลังก์ไปอีก 10 ชั่วคนตามน้ำนมที่รดลงนิ้วพระบาททั้งสิบหลังจากนั้นขอให้ราชวงศ์ศาหะล่มสลาย[5] ซึ่งต่อมาราชวงศ์เนปาลสิ้นสุดลงตามคำสาปจริง

อ้างอิง

[แก้]
  1. วราวุธ.หลังบัลลังก์เลือด,พิมพ์ครั้งที่ 1.(กรุงเทพฯ:กรุงเทพ, 2546) หน้า 22
  2. วราวุธ. หน้า 15
  3. วราวุธ. หน้า 21
  4. วราวุธ. หน้า 22
  5. วราวุธ. หน้า 15


ก่อนหน้า พระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะ ถัดไป
สถาปนาราชอาณาจักรเนปาล
พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเนปาล
(25 กันยายน พ.ศ. 2311 — 11 มกราคม พ.ศ. 2318)
พระเจ้าประตาปสิงห์ ศาหะ