พระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะ
Prithvinarayanshah.jpg
พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเนปาล
ครองราชย์25 กันยายน พ.ศ. 231111 มกราคม พ.ศ. 2318
รัชสมัย6 ปี
รัชกาลก่อนหน้าพระเจ้านรภูปาล ศาหะ
รัชกาลถัดไปพระเจ้าประตาปสิงห์ ศาหะ
พระบรมราชินีสมเด็จพระราชินีนเรนทราแห่งเนปาล[1]
พระราชบุตรพระเจ้าประตาปสิงห์ ศาหะ
เจ้าชายบาฮาดูร์แห่งเนปาล
ราชวงศ์ราชวงศ์ศาห์
พระราชบิดาพระเจ้านรภูปาล ศาหะ
พระราชมารดาพระนางกุศัลยาวติ ศาหะ
ประสูติพ.ศ. 2266
กุรข่า ราชอาณาจักรเนปาล
สวรรคต11 มกราคม พ.ศ. 2318
กรุงกาฐมาณฑุ ราชอาณาจักรเนปาล
(พระชนมายุ 52 พรรษา)

พระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะ พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเนปาล (พ.ศ. 2266 - 11 มกราคม พ.ศ. 2318;เนปาลี:पृथ्वीनारायण शाह) เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์ชาห์หรือศาห์ที่ปกครองเนปาล พระองค์ทรงเป็นที่นับถือจากการที่ทรงเริ่มต้นการรวมชาติเนปาล ที่ซึ่งถูกแบ่งแยกและอ่อนแอภายใต้การปกครองของสหพันธ์มัลละ พระองค์ทรงเป็นเชื้อสายรุ่นที่ 9 ของดราวะยะ ศาห์ (พ.ศ. 2102 - พ.ศ. 2113) ผู้ก่อตั้งราชวงศ์แห่งกุรข่า มเด็จพระราชาธิบดีปฤฐวีนารายณศาหะทรงครองราชบัลลังก์สืบต่อจากสมเด็จพระราชาธิบดีนาราภูปาลศาหะเป็นกษัตริย์แห่งกุรข่าในปีพ.ศ. 2286

ช่วงต้นพระชนม์ชีพ[แก้]

พระองค์เป็นพระราชโอรสในพระเจ้านรภูปาล ศาหะกับพระนางกุศัลยาวติ ศาหะพระมเหสีพระองค์ที่สองแต่พระองค์ทรงได้รับการเลี้ยงดูจากพระมเหสีพระองค์แรกคือพระนางจันทราประภาวตี ซึ่งเป็นพระมารดาเลี้ยง เจ้าชายทรงเริ่มต้นสนพระทัยด้านการเมืองของรัฐอันเนื่องมาจากพระราชบิดามักทรงใช้เวลากับการศาสนาในห้องสวดมนต์ เจ้าชายมีพระประสงค์ที่จะพิชิตเหนือแคว้นนุวคต พระราชินีองค์แรกหรือมหารานีพระมารดาเลี้ยงทรงปลูกฝังให้เจ้าชายทรงมีปณิธานในการรวมชาติเนปาล การเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทไปรอบโกรข่าและตรัสกับราษฎรอันเป็นสิ่งที่โปรดและการกระทำครั้งนี้ข่วยให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยในพสกนิกรกุรข่า พระองค์ทรงมีเชื้อสายจากพวกราชปุตตระกูลสิโสเดียจากเมืองจิตตอร์การห์ ในรัฐราชสถานแต่บรรพบุรุษของพระองค์ทรงตั้งถิ่นฐานที่เขตโกรข่าจากนั้นจึงกลายเป็นชื่อเผ่านักรบกุรข่าผู้ซึ่งมีเชื้อสายจากชาติพันธุ์ราชปุต-มองโกล

การรวมชาติเนปาล[แก้]

ดูบทความหลักที่: การรวมชาติเนปาล

สมเด็จพระราชาธิบดีปฤฐวีนารายณศาหะทรงประสบความสำเร็จจากการเริ่มต้นรุกรานสหภาพแห่งนุวคตที่ซึ่งทอดยาวตั้งแต่กรุงกาฐมาณฑุจนถึงแคว้นโกรข่า ในปีพ.ศ. 2287 หลังจากสหภาพนุวคต พระองค์ทรงเข้าพิชิตจุดยุทธศาสตร์ในบริเวณเนินเข้ารอบๆภูเขากาฐมาณฑุ การสื่อสารในราชรัฐหุบเขากาฐมาณฑุต่อโลกภายนอกจึงถูกตัดขาด การเข้ายึดครองเส้นทางคุติในปีพ.ศ. 2299 ได้หยุดการค้าขายระหว่างหุบเขากับธิเบต เพื่อหยุดการค้าขายระหว่างชาวเนวาร์ที่อาศัยอยู่ในหุบเขากาฐมาณฑุกับชาวมุสลิมแห่งจักรวรรดิโมกุลในอินเดีย

หลังจากทรงปราชัยอย่างเสียพระเกียรติถึงสองครั้ง พระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะทรงเอาชนะและเข้ายึดครองกีรติปุระในการโจมตีครั้งที่สาม แต่พระองค์ต้องสูญเสียคารูน ปันเด นายพลคนสนิทของพระองค์และพระอนุชา ด้วยความแค้นพระทัยที่ต้องสูญเสียนายทหารคนสนิท หลังจากทรงยึดครองกีรติปุระพระองค์ทรงสั่งให้ตัดจมูกและปากของชายทุกคน เพื่อเป็นกาลงโทษถึงความไร้สัจจะของชาวกีรติปุระเนื่องจากชาวเมืองได้ยอมแพ้แต่กลับส่งกองทัพมาโจมตีพระองค์ในภายหลัง ทำให้ส่งผลถึงกิตติศัพท์ด้านความโหดเหี้ยมของพระองค์ ในที่สุดสมเด็จพระราชาธิบดีปฤฐวีนารายณศาหะเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่เมืองหลังจากยึดครองกีรติปุระ ดังนั้นพระเจ้าจายะประกาชแห่งกาฐมาณฑุได้เสด็จพร้อมพระมเหสีลี้ภัยไปยังเมืองปาตานที่ลลิตปุระ ปาตาน เมื่อพระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะได้ขยายอาณาเขตสู่ปาตานในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ พระเจ้าจายะประกาชแห่งกาฐมาณฑุและพระเจ้าเท็จนารสิงห์มัลละแห่งปาตานได้เสด็จลี้ภัยไปยังภักตาปุระ ที่ซึ่งต่อมาก็ถูกยึดครองเช่นกัน สมเด็จพระราชาธิบดีปฤฐวีนารายณศาหะทรงสามารถยึดครองหุบเขากาฐมาณฑุและทรงสถาปนากาฐมาณฑุขึ้นเป็นราชธานีพ.ศ. 2312 พระองค์ทรงประกาศขึ้นครองราชบัลลังก์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งเนปาลที่จัตุรัสดะระบาร์ การสถาปนาราชอาณาจักรเนปาลทำให้พระองค์มีพระราชปณิธานในการพิชิตด้านตะวันออก ราชอาณาจักรเซนแห่งเจาดันติได้ถูกยึดครองในปีพ.ศ. 2316 และราชอาณาจักรเซนแห่งวิเจปุระก็ถูกผนวกเข้าอาณาจักรเนปาลในเวลาต่อมา การปราบปรามและรวมชาติเนปาลพระองค์ต้องใช้เวลานานเกือบ 25 ปี[2]

เสด็จสวรรคต[แก้]

พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะ

พระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะทรงขยายอาณาเขตและรักษาความสงบสุขแต่พระองค์ทรงปฏิเสธการเจริญสัมพันธไมตรีกับอังกฤษ ทรงปฏิเสธที่ทำการค้ากับชาวอังกฤษ พระองค์เสด็จสวรรคตก่อนที่จะทรงวางรากฐานประเทศให้มีประสิทธิภาพ ก่อนที่จะเสด็จสวรรคต จึงโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงเข้าเฝ้า โดยทรงขอให้เจ้านายทุกพระองค์ยึดถือเป็นกฎต่อไปว่าการสืบราชสมบัติจะต้องเป็นของพระโอรสองค์โตในกษัตริย์ที่อยู่ในสิริราชสมบัติเท่านั้น การทีทรงตั้งกฎนี้เพื่อป้องกันการแย่งชิงราชบัลลังก์เหมือนราชรัฐอื่น ๆ และกฎมณเฑียรบาลนี้ได้รับการยึดถือต่อมา[3] พระองค์เสด็จสวรรคตในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2318 สิริพระชนมายุ 52 พรรษา พระนางนเรนทราลักษมีศาหะ พระอัครมเหสีทรงกระทำตามประเพณีฮินดูคือพิธีสตี เมื่อสามีตายภรรยาต้องโดดเข้ากองไฟเพื่อตายตาม พระนางและนางพระกำนัลทรงกระโดดเข้ากองไฟสิ้นพระชนม์ตามพระราชสวามี[4] เจ้าชายประตาปสิงห์ พระราชโอรสองค์โตทรงครองราชย์สืบต่อเป็น พระเจ้าประตาปสิงห์ ศาหะ และพระราชปณิธานการรวมชาติของพระองค์ได้รับการสานต่อโดยพระโอรสอีกพระองค์หนึ่งคือ เจ้าชายบะหะดูร์ศาหะ

คำสาปราชวงศ์เนปาล[แก้]

คำสาปแห่งราชวงศ์เนปาลได้รับการกล่าวขานสืบต่อกันมา มีเรื่องเล่าว่า ขณะที่พระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะกำลังทรงเตรียมทำศึกครั้งสุดท้ายกับราชรัฐในหุบเขากาฐมาณฑุและเสด็จผ่านป่า ได้ทรงพบกับฤๅษีตนหนึ่งเข้าโดยบังเอิญซึ่งเป็นองค์เทพเจ้าจำแลงมา ตามกฎของศาสนาฮินดูที่ทรงนับถือระบุไว้ว่า ถ้าเจอผู้ทรงศีลให้ถวายน้ำนม พระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะก็ทรงปฏิบัติตามนั้น

ฤๅษีตนนั้นรับน้ำนมที่ถวายดื่ม และบ้วนกลับลงไปในภาชนะที่ใส่ พร้อมกับทูลถวายกลับไปเพื่อให้ทรงดื่ม แต่พระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะทรงปฏิเสธ แทนที่จะทรงดื่มกลับทรงราดนมไปที่มือของฤๅษีตนนั้นและน้ำนมหกลงโดนนิ้วพระบาทของพระองค์ทั้งสิบนิ้ว

การกระทำของพระองค์สร้างความโกรธแค้นให้กับฤๅษียิ่งนัก ฤๅษีซึ่งเป็นเทพจำแลงบรรลุโทสะตะโกนต่อหน้าพระพักตร์ด้วยเสียงเกรี้ยวกราดว่า ถ้าพระองค์ดื่มนมที่เขาบ้วนออกมา ก็จะทรงได้ทุกอย่างตามที่ทรงปรารถนา

ฤๅษีสาปแช่งพระองค์และผู้สืบทอดสายพระโลหิต โดยสาปแช่งให้ทรงมีผู้สืบทอดราชบัลลังก์ไปอีก 10 ชั่วคนตามน้ำนมที่รดลงนิ้วพระบาททั้งสิบหลังจากนั้นขอให้ราชวงศ์ศาหะล่มสลาย[5] ซึ่งต่อมาราชวงศ์เนปาลสิ้นสุดลงตามคำสาปจริง

อ้างอิง[แก้]

  1. วราวุธ.หลังบัลลังก์เลือด,พิมพ์ครั้งที่ 1.(กรุงเทพฯ:กรุงเทพ, 2546) หน้า 22
  2. วราวุธ. หน้า 15
  3. วราวุธ. หน้า 21
  4. วราวุธ. หน้า 22
  5. วราวุธ. หน้า 15


ก่อนหน้า พระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะ ถัดไป
สถาปนาราชอาณาจักรเนปาล 2leftarrow.png Kingdom of Nepal-arms.png
พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเนปาล
(25 กันยายน พ.ศ. 231111 มกราคม พ.ศ. 2318)
2rightarrow.png พระเจ้าประตาปสิงห์ ศาหะ