ข้ามไปเนื้อหา

พระชคันนาถ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จกันนาถ
ลักษณะเทวรูปของพระจกันนาถ
ชื่อในอักษรโอริยาଜଗନ୍ନାଥ
ส่วนเกี่ยวข้องนามธรรมของพระวิษณุ และ พระกฤษณะ
ที่ประทับนิลชัล
อาวุธสุทาษันจักร, ปัญจชันย์
พาหนะครุฑ
ข้อมูลส่วนบุคคล
คู่ครองพระศรีเทวี & พระภูเทวี
พี่น้องพระพลราม & พระสุภัทรา

ชคันนาถ (โอเดีย: ଜଗନ୍ନାଥ, ไอเอเอสที: Jagannātha; แปลตรงตัวว่า “จ้าวแห่งจักรวาล”) ทรงเป็นเทพเจ้าท้องถิ่นในศาสนาฮินดู และ ศาสนาพุทธ ในอินเดีย และ บังคลาเทศ พระจกันนาถเชื่อกันว่าเป็นอวตารหนี่งของพระวิษณุ[1] พระองค์เป็นหนึ่งในสามเทพร่วมกับพระพลรามและนางสุภัทรา ผู้นับถือลัทธิไวษณพส่วนใหญ่เชื่อว่าพระจกันนาถเป็นรูปนามธรรมของพระกฤษณะ ส่วนในบางส่วนของลัทธิไศวะและลัทธิศักติเชื่อว่าเป็นรูปแบบตันตระสมมาตรของพระไภรวะ แม้แต่ในพุทธบางกลุ่มก็เชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้าในรูปหนึ่ง และในไชนะบางกลุ่มก็เชื่อว่าพระนามนี้มาจาก “จีนะนาถ”[2]

เทวรูปของพระชคันนาถสร้างขึ้นจากตอไม้สลักและตกแต่งให้มีพระเนตรวงกลมขนาดโต รูปเคารพของพระชคันนาถไม่แสดงแขนขาให้เห็นอย่างชัดแจ้ง พิธีกรรมบูชาต่าง ๆ มีการผสมผสานกันระหว่างความเชื่อต่าง ๆ สูงมาก (syncretic)[2] แม้แต่มีพิธีกรรมที่ไม่พบในศาสนาฮินดูโดยทั่วไป[3] โดยทั่วไปแล้ว รูปเคารพของพระชคันนาถจะถูกสร้างขึ้นใหม่ด้วยไม้ทุก ๆ ระยะเวลาหนึ่งที่กำหนดไว้ ต้นกำเนิดของการบูชาพระชคันนาถนั้นยังเป็นที่ถกเถียงและไม่ชัดเจน[4] นักวิชาการบางส่วนตีความบทภาวนาที่ 10.155.3 ใน ฤคเวท ว่าอาจจะเป็นจุดกำเนิดดั้งเดิมของพระชคันนาถ ในขณะที่บางส่วนแย้งว่าพระชคันนาถมีรากฐานมาจากการผสมผสานเข้ากับเทวดาท้องถิ่นที่มีพื้นฐานมาจากความเชื่อของชนเผ่า[4] ไม่พบพระนามของพระชคันนาถเป็นหนึ่งในสิบทศาวตาร (อวตารทั้งสิบปาง) ของพระวิษณุในฉบับดั้งเดิม[5] แต่ในวรรณกรรมโอริยาพบพระชคันนาถปรากฏในฐานะอวตารปางที่เก้าแทนที่พระโคตมพุทธเจ้าในทศาวตารฉบับดั้งเดิม[6]

พระชคันนาถได้รับการนับถือในฐานะเทพเจ้าที่ไม่เฉพาะต่อลัทธิหนึ่ง ๆ (non-sectarian deity)[7][8][9] และพบบูชาเป็นเทพเจ้าองค์สำคัญเป็นพิเศษในรัฐโอริศา, ฉัตตีสครห์, เบงกอลตะวันตก, ฌารขัณฑ์, พิหาร, คุชราต, อัสสัม, มณีปุระ และ ตรีปุระ[10] รวมถึงในชาวฮินดูของประเทศบังกลาเทศ เทวสถานสำคัญของพระชคันนาถคือชคันนาถมนเทียรในเมืองปุรี รัฐโอริศา และสำคัญมากเป็นพิเศษในไวษณพนิกาย รวมถึงเป็นหนึ่งในแหล่งแสวงบุญทั้งสี่ จารธาม ของประเทศอินเดีย[11] ชคันนาถมนเทียรเป็นเทวสถานขนาดใหญ่โต มีศิขรสูงกว่า 61 เมตร (200 ฟุต) สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบนคร (Nagara Hindu temple style) และเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่สุดที่ยังหลงเหลือถึงปัจจุบันของสถาปัตยกรรมกลิงคะหรือสถาปัตยกรรมโอริยา[12] นอกจากนี้ยังพบหลักฐานว่าชคันนาถมนเทียรเป็นเทวสถานสำคัญที่ชาวฮินดูมามีการจาริกแสวงบุญมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8[12]

มีการเฉลิมฉลองพระชคันนาถอย่างยิ่งใหญ่ในเทศกาลรถยาตรในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมของทุกปี เฉลิมฉลองเป็นพิเศษในรัฐทางตะวันออกของอินเดีย ควบคู่ไปกับเทพเจ้าองค์สำคัญอีกสององค์ ซึ่งจะถูกอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบน “รถ” (ราชรถ) จากที่ประดิษฐานเดิมพายในครรภคฤห์ของมนเทียรหลักในชคันนาถปุรี จากนั้นอาสาสมัครและศาสนิกชนจำนวนมากจะช่วยกันลากราชรถไปยังคุนทิจามนเทียร (ห่างไปประมาณ 3 km หรือ 1.9 mi) ประดิษฐานที่นั่นสองสามวันก่อนจะอัญเชิญกลับไปยังชคันนาถปุรี[13]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Jayanti Rath. "Jagannath- The Epitome of Supreme Lord Vishnu" (PDF).
  2. 2.0 2.1 Avinash Patra (2011). Origin & Antiquity of the Cult of Lord Jagannath. Oxford University Press. pp. 8–10, 17–18.
  3. "Synthetic Character of Jagannath Culture", Pp. 1–4 เก็บถาวร 8 กรกฎาคม 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. 4.0 4.1 Avinash Patra (2011). Origin & Antiquity of the Cult of Lord Jagannath. Oxford University Press. pp. 5–16.
  5. Wilkins, William Joseph (1900). Hindu Mythology, Vedic and Puranic. London: Elibron Classics. ISBN 978-81-7120-226-3.
  6. Mukherjee, Prabhat The history of medieval Vaishnavism in Orissa. P.155
  7. Pradhan, Atul Chandra (June 2004). "Evolution of Jagannath Cult" (PDF). Orissa Review: 74–77. สืบค้นเมื่อ 21 October 2012.
  8. Patnaik, Bibhuti (3 July 2011). "My friend, philosopher and guide". The Telegraph. สืบค้นเมื่อ 1 December 2012.
  9. Misra, Narayan (2005). Annals and Antiquities of the Temple of Jagannātha. Jagannathism: Sarup& Sons. p. 97. ISBN 9788176257473.
  10. Tripathy, B; Singh P.K. (June 2012). "Jagannath Cult in North-east India" (PDF). Orissa Review: 24–27. สืบค้นเมื่อ 10 March 2013.
  11. See: Chakravarti 1994, p 140
  12. 12.0 12.1 Bijoy M Misra (2007). Edwin Francis Bryant (บ.ก.). Krishna: A Sourcebook. Oxford University Press. pp. 139–141. ISBN 978-0-19-803400-1.
  13. James G. Lochtefeld (2002). The Illustrated Encyclopedia of Hinduikm: N-Z. Rosen Publishing. p. 567. ISBN 978-0-8239-3180-4.