ปางหมอยา
ปางหมอยา เป็นพระพุทธรูปลักษณะนั่งขัดสมาธิราบ เหมือนปางมารวิชัย แต่พระหัตถ์เบื้องซ้ายถือหม้อน้ำมนต์ ประทับขัดสมาธิเพชรบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย
ประวัติ
[แก้]เมื่อพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดียแบ่งเป็นฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ พระเจ้ากนิษกะกษัตริย์ราชวงศ์กุษาณะปกครองตอนเหนือของประเทศอินเดีย ได้จัดให้มีการประชุมพระสงฆ์ฝ่ายเหนือพร้อมทำสังคายนาครั้งที่ 4 ในศาสนาพุทธ ที่เมืองบุรุษบุรีเมื่อ พ.ศ. 624 [1] โดยมีพระวินัยบางข้อที่เปลี่ยนแปลงไปเกิดพระไตรปิฎกที่แตกต่างและเกิดพุทธศาสนามหายาน ตามคัมภีร์ต่าง ๆ ที่กล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการบูชาพระไภษัชยคุรุนั้นฝ่ายเถรวาทไม่มีการกล่าวถึงเรื่องราวดังกล่าว[2] ในคัมภีร์มหายานลลิตวิสระ มีข้อความสรรเสริญพระพุทธเจ้าแพทย์ผู้สามารถปลดเปลื้องความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานของมนุษย์ โดยในอัธยายที่ 1 ชื่อนิทานปริวรรตได้บรรยายว่า[3] พระองค์เป็นแพทย์ประทานยา คือ อมฤต พระองค์กล้าในการตรัสเจรจาแสดงลัทธิทำให้มิจฉาทิฐิเร่าร้อนไปตามกัน พระองค์เป็นพงศ์พันธุ์แห่งพระธรรม ทรงปราดเปรื่องในปรมัตถธรรม พระองค์เป็นผู้นำ เป็นผู้ชี้ทาง ไม่มีใครยิ่งไปกว่า” ซึ่งการกล่าวถึงพระพุทธเจ้าแพทย์นั้นจะหมายถึงพระไภษัชยคุรุ เรื่องพระไภษัชยคุรุที่ปรากฏในคัมภีร์ที่ชัดเจนที่สุด ปรากฏในพระสูตรสันสกฤตสูตรหนึ่ง ชื่อ พระพุทธไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาราชามูลปฌิธานสูตร [4] หรือ ไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตปูรวปณิธานสูตร [5]
ลักษณะพระพุทธรูป
[แก้]-
พระกริ่งปวเรศ รุ่น 1 พ.ศ. 2434 พระพุทธรูปปางมารวิชัย มือซ้ายถือหม้อยา
-
พระพุทธรูปปางหมอยาพุทธศิลป์แบบพระกริ่งปวเรศ วัดสมเด็จภูเรือ บ.ป่าจันตม ต.หนองบัว อ.ภูเรือ จ.เลย
ความเชื่อและคตินิยม
[แก้]- พระปางนี้นิยมสร้างเป็นพระกริ่งปวเรศ
- พระปางนี้เป็นแพทย์ ประทานยา คือ อมฤต รักษาโรคภัยไข้ ปกป้องคุ้มภัยอันตราย[6] หรือเป็นปางของพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต
ความเกี่ยวข้องกับพระไภษัชยคุรุไพพูรย์ประภาพุทธะ
[แก้]ปางหมอยามีข้อสังเกตอยู่ข้อหนึ่ง เพราะคล้ายคลึงกับพระไภษัชยคุรุพุทธะมากที่สุด เนื่องจากหม้อยาของพระพุทธรูปปางนี้คล้ายคลึงกับบาตรบรรจุทิพยโอสถของพระไภษัชยคุรุพุทธะมาก
หลักฐานจากพระสูตร
[แก้]พระสูตรที่กล่าวถึงพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้าโดยเฉพาะ พระองค์เดียว คือ
- พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตปูรวปณิธานสูตร เดิมเขียนด้วยภาษาสันสกฤต ต่อมาแปลเป็นภาษาจีนโดยพระถังซำจั๋งหรือ พระสมณะเสวียนจั้ง ในสมัยถังของจีน
- พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาสัปตพุทธปูรวปณิธานวิเศษสูตร ต่อมาแปลเป็นภาษาจีนโดยพระสมณะอี้จิง ในสมัยถังของจีน แต่กล่าวถึงพระพุทธเจ้า 7 พระองค์ โดยพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า เป็นพระองค์ลำดับที่ 7 กล่าวถึงปณิธาน 12 ข้อของพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า[7] คือ
- ช่วยให้สรรพสัตว์บรรลุโพธิญาณโดยเร็ว
- ช่วยให้สรรพสัตว์ตื่นจากความโง่เขลา
- ช่วยให้สรรพสัตว์ถึงพร้อมด้วยของใช้ทั้งปวง
- ช่วยให้สรรพสัตว์หันมานับถือมหายานธรรม มุ่งสู่ความเป็นพระพุทธเจ้า
- ช่วยให้สรรพสัตว์มีศีลบริสุทธิ์
- ช่วยให้สรรพสัตว์มีกายสมบูรณ์
- ช่วยให้สรรพสัตว์พ้นจากความยากจน
- ช่วยให้สตรีได้เป็นบุรุษตามปรารถนา
- ช่วยให้สรรพสัตว์พ้นจากอุบายของมาร
- ช่วยให้สรรพสัตว์พ้นจากโทษทัณฑ์ทางอาญา
- ช่วยให้สรรพสัตว์พ้นจากการทำชั่วเพื่อเลี้ยงชีพ
- ช่วยให้สรรพสัตว์พบกับความสมบูรณ์ทั้งสิ้น
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พินัย ศักดิ์เสนีย์, นามานุกรมพระเครื่อง
- ↑ พินัย ศักดิ์เสนีย์, นามานุกรมพระเครื่อง
- ↑ แสง มนวิทูร, ผู้แปล, คัมภีร์ลลิตวิสตระ:พระพุทธประวัติผ่ายมหายาน
- ↑ แสง มนวิทูร, ผู้แปล, คัมภีร์ลลิตวิสตระ:พระพุทธประวัติผ่ายมหายาน
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-12. สืบค้นเมื่อ 2015-04-01.
- ↑ แสง มนวิทูร, ผู้แปล, คัมภีร์ลลิตวิสตระ:พระพุทธประวัติผ่ายมหายาน
- ↑ ไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตปูรวปณิธานสูตร และ ไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาสัปตพุทธปูรวปณิธานวิเศษสูตร
- พินัย ศักดิ์เสนีย์, นามานุกรมพระเครื่อง, กรุงเทพ:สำนักพิมพ์ผดุงศึกษา,2502
- แสง มนวิทูร, ผู้แปล, คัมภีร์ลลิตวิสตระ:พระพุทธประวัติผ่ายมหายาน, ตอนที่ 1 อัธยายที่ 1 (พระนคร:กรมศิลปากร,2512), หน้า 487
- ไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตปูรวปณิธานสูตร และ ไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาสัปตพุทธปูรวปณิธานวิเศษสูตร แปลจากภาษาจีนสู่ภาษาไทยโดยพระวิศวภัทร เซี่ยเกี๊ยก วัดเทพพุทธาราม, เซียนฮุดยี่, อ.เมือง จ.ชลบุรี
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานพุทธเจดีย์. ธนบุรี : โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา, 2513
- เรื่องพระพุทธรูปปางต่างๆ หลวงบริบาลบุรีรัตน์ และนายเกษมบุญศรี (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ขึ้นเพื่อพระราชทานในงานพระราชกุศลราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2500
- สกุลศิลปพระพุทธรูปในประเทศไทย อาจารย์จิตร บัวบุศย์
- ศิลปในประเทศไทย ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิสกุล.