ปางโปรดสุภัททปริพาชก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปางโปรดสุภัททปริพาชก เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถบรรทมตะแคงขวา ลืมพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย (หมอน) พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปกับพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้น จีบนิ้วพระหัตถ์ เป็นกิริยาแสดงธรรมโปรดสุภัททปริพาชก

ประวัติ[แก้]

ขณะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรทมอยู่ระหว่างต้นสาละคู่ในเมืองกุสินาราก่อนทรงดับขันธ์ปรินิพพาน มีปริพาชกนามว่า สุภัททะ ทราบข่าวว่าพระองค์จะปรินิพพาน จึงปรารถนาเข้าเฝ้าเพื่อทูลถามข้อข้องใจ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้เข้าเฝ้า และทรงแสดงพระธรรมเทศนา คือ อริยมรรคมีองค์ 8 และทรงย้ำว่าตราบใดที่สาวกของพระองค์ปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ 8 อย่างถูกต้อง โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ สุภัททปริพาชกเลื่อมใส ทูลขออุปสมบทและบรรลุอรหันตผลในราตรีนั้น นับเป็นพุทธสาวกองค์สุดท้ายที่ได้เป็นอรหันต์ทันพระชนชีพของพระพุทธองค์

อ้างอิง[แก้]

  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานพุทธเจดีย์. ธนบุรี  : ศิลปาบรรณาคาร โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา, 2513.
  • เรื่องพระพุทธรูปปางต่างๆ หลวงบริบาลบุรีรัตน์ และนายเกษมบุญศรี (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ขึ้นเพื่อพระราชทานในงานพระราชกุศลราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2500)
  • สกุลศิลปพระพุทธรูปในประเทศไทย อาจารย์จิตร บัวบุศย์
  • ศิลปในประเทศไทย ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิสกุล