บุญพิทักษ์ จิตต์กระจ่าง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บุญพิทักษ์ จิตต์กระจ่าง
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด26 มิถุนายน พ.ศ. 2516
บุญพิทักษ์ จิตต์กระจ่าง
เสียชีวิต27 ตุลาคม พ.ศ. 2538 (22 ปี)
อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
อาชีพนักแสดง, นางแบบ
ปีที่แสดงพ.ศ. 2534 - 2538 (4 ปี)
ผลงานเด่น
  • แก้ว – สี่แยกนี้อายุน้อย (2535)
  • แป๋วแว๋ว – ตุ๊กตามนุษย์ (2537)
  • ลันธริมา – ขอให้รักเรานั้นนิรันดร (2537)
  • ทิพย์ – รักแท้บทที่ 1 (2538)
  • ใจเริง – เพลิงบุญ (2538)
ฐานข้อมูล
IMDb
ThaiFilmDb

บุญพิทักษ์ จิตต์กระจ่าง (26 มิถุนายน พ.ศ. 2516 - 27 ตุลาคม พ.ศ. 2538) ชื่อเล่น เก๋ เป็นนักแสดงหญิงและนางแบบชาวไทย เธอได้รับความนิยมในฐานะนางเอกแนวหน้าของช่อง 3 ในช่วงปี พ.ศ.2535 - พ.ศ.2538 เธอเป็นที่รู้จักกับบทบาท "แป๋วแว๋ว" จากละครเรื่อง "ตุ๊กตามนุษย์" และบทบาท "ใจเริง" จากละครเรื่อง "เพลิงบุญ" จากนั้นเธอประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ขณะมีอายุเพียง 22 ปี

ประวัติ[แก้]

เก๋ บุญพิทักษ์ จิตต์กระจ่าง เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2516 เป็นชาวตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นบุตรสาวของนายประสิทธิ์ จิตต์กระจ่าง กับ นางพูนทรัพย์ กิจเจริญ มีศักดิ์เป็นหลานของ ซูโม่กิ๊ก เกียรติ กิจเจริญ [1] ส่วนตัวบุญพิทักษ์นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก โดยเธอมีนักบุญประจำตัวคือพระนางมารีอาผู้ปฏิสนธินิรมล

บุญพิทักษ์เกิดมาในครอบครัวฐานะปานกลาง เธอมีน้องชาย 1 คนคือ กานต์ เกรียงไกร จิตต์กระจ่าง โดยบิดาและมารดาของเธอได้หย่าขาดกันในขณะที่เธอมีอายุได้ 7 ปี ทำให้บุญพิทักษ์ถูกมารดาของเธอเลี้ยงดูเธอมาตั้งแต่บัดนั้น แต่เธอก็ยังไปมาหาสู่กับบิดาของเธออยู่เป็นระยะ มารดาของเธอประกอบอาชีพเป็นแม่ค้าขายอาหารซึ่งเป็นรายได้หลักของครอบครัว ทำให้เก๋ในช่วงสมัยประถมศึกษา เธอต้องย้ายโรงเรียนอยู่บ่อยครั้ง โดยในช่วงประถมศึกษา เธอได้ศึกษาที่โรงเรียนวุฒินันท์ จนถึงชั้น ป.3 และศึกษาต่อระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายที่ โรงเรียนเซนต์ยอแซฟ ระยอง และต่อมาในช่วงมัธยมศึกษา เธอก็ได้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนดาราสมุทร อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และศึกษาต่อที่โรงเรียนพณิชยการตะวันออก และระดับชั้นปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เธอเริ่มเป็นที่สนใจจากประชาชนชาวชลบุรี จากการเป็นผู้เข้าประกวดมิสเอ ซี เอส ซึ่งจัดโดยสมาคมศิษย์เก่าอัสสัมชัญศรีราชา จัดขึ้นที่โรงแรมแอสบาสซาเดอร์ ซึ่งการประกวดครั้งนั้น เธอได้ตำแหน่งขวัญใจช่างภาพสื่อมวลชน ต่อมาในปี พ.ศ.2534 เธอก็เริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงอย่างเต็มตัว ด้วยการประกวดหนุ่มสาวผิวสุขภาพดีจากแพนคอสเมติกส์ โดยการชักชวนของเพื่อนที่ว่า ถ้าสมัครประกวดจะเสียค่าสมัคร 50 บาท และได้เป็นสมาชิกแพน 1 ปี โดยที่สมัยนั้นค่าสมัครสมาชิกแพนจะอยู่ที่ 200 บาท เก๋จึงตกลงสมัครและ เข้าร่วมการประกวดด้วย โดยการประกวดจะเป็นการประกวดสุขภาพ และความสามารถด้านต่าง ๆ การประกวดเริ่มจากระดับศูนย์มาระดับจังหวัด มาสู่ระดับภูมิภาค และระดับประเทศจัดขึ้นที่โรงแรมดุสิตธานี เก๋สามารถครองตำแหน่งชนะเลิศฝ่ายหญิงได้สำเร็จ จากการประกวดในปี พ.ศ.2534 จึงได้รับการชักชวนจากมยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช ได้มีโอกาสเทสต์หน้ากล้อง โดยเธอสวมบทบาทนักเรียนที่ทุจริตในการสอบ ซึ่งเธอนำประสบการณ์ตัวเองในชีวิตจริงมาใช้ จนเธอผ่านการเทสต์หน้ากล้อง และได้รับโอกาสให้แสดงละครทางช่อง 3เรื่องแรกคือ "สี่แยกนี้อายุน้อย"คู่กับศรราม เทพพิทักษ์ [2] แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากเท่าไหร่นัก ขณะเดียวกันนั้นเธอก็รับหน้าที่เป็นพิธีกรครั้งแรกกับรายการจัตุรัสดนตรี ซึ่งออกอากาศทางช่อง 9 จากนั้นในปีเดียวกัน เธอได้แสดงละครเรื่อง "หมอเมืองเถื่อน" คู่กับ จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์ ซึ่งละครเรื่องนี้สร้างชื่อเสียงให้กับบุญพิทักษ์เป็นอย่างมาก จนทำให้เธอแจ้งเกิดในวงการบันเทิงไทยอย่างสวยงามในฐานะนางเอกแนวหน้าของไทยทีวีสีช่อง 3 ในช่วงปี พ.ศ.2535 และหลังจากนั้นจึงมีผลงานละครต่อๆมาคือ "ทางโค้ง", "ตะลุยโรงหมอ", "แม่พลอยหุง", "ครึ่งของหัวใจ" รวมถึงได้แสดงภาพยนตร์ไทยเรื่อง รักแท้บทที่ 1 ส่วนละครที่สร้างชื่อเสียงให้กับเธอมากที่สุดคือ "ตุ๊กตามนุษย์" ในบท "แป๋วแว๋ว" เด็กสาวปัญญาอ่อนที่อ่อนต่อโลกแห่งความเป็นจริง บทบาทเด่นคู่กับ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจงใน "ขอให้รักเรานั้นนิรันดร" ในบท "ลันธริมา" สาวหวานน่ารักผู้อ่อนโยน และ "เพลิงบุญ" กับบทบาท "ใจเริง" สาวเปรี้ยวผู้เอาแต่ใจตัวเองและริษยาผู้อื่น ซึ่งเป็นผลงานละครเรื่องสุดท้ายของเธอ ส่วนผลงานพิธีกร เธอก็ได้เป็นพิธีกรให้กับไทยทีวีสีช่อง 3 ถึง 2 รายการ ได้แก่ รายการฟรีสไตล์วัยรุ่น (พ.ศ.2537-2538) และรายการ Only One Sunday (พ.ศ.2538) คู่กับ เมทนี บูรณศิริ และ หนู เชิญยิ้ม

การเสียชีวิต[แก้]

เมื่อเวลาประมาณ 16.10 น. ของ วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2538 ขณะที่บุญพิทักษ์เดินทางกลับบ้านที่จังหวัดชลบุรีเพื่อไปเยี่ยมบิดาของตน พร้อมกับนายประภาส แสงสว่าง เพื่อนชายของบุญพิทักษ์ เป็นผู้ขับ นายเกรียงไกร จิตต์กระจ่าง น้องชาย และนางสาวจารุรัตน์ สามารถ เพื่อนสาวของน้องชาย รถเกิดอุบัติเหตุหลังจากนายประภาส ได้พยายามแซงรถคันหน้า ขณะที่ขับรถด้วยความเร็วสูง จนเกิดเสียหลักพุ่งชนเสาอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น ซึ่งเป็นทรัพย์สินของบิดานายกเทศมนตรีเมืองพัทยาในขณะนั้น ที่โค้งตลาดโรงโป๊ะ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี บุญพิทักษ์ได้รับบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตในเวลา 17.15 น. หลังจากส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลบางละมุง เนื่องจากอาการเลือดคั่งในสมอง สิริอายุ 22 ปี

ส่วนผู้บาดเจ็บอีก 3 ราย ได้ส่งไปทำการรักษาตัวที่โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา และได้ทำการส่งนายเกรียงไกร จิตต์กระจ่าง ไปทำการรักษาต่อที่โรงพยาบาลพญาไท 1 แต่ได้เสียชีวิตลงหลังจากเกิดเหตุ 10 วัน

ศพของบุญพิทักษ์ได้ทำการจัดพีธีศพที่ศาลา 8/2 วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตบางเขน เป็นเวลา 3 วัน เนื่องจากทางต้นสังกัด คุณมยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช และเพื่อนนักแสดง เห็นพ้องถึงความไม่สะดวกที่จะจัดพิธีศพที่อำเภอศรีราชาในการรับรองจำนวนประชาชนและแขกผู้ร่วมงาน จึงได้ขออนุญาตทางญาติเพื่อให้สามารถประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลทางศาสนาพุทธได้ ก่อนที่จะนำศพไปประกอบพิธีมิสซาทางศาสนาคริสต์ และฝังไว้ที่สุสานของโบสถ์พระหฤทัยแห่งพระเยซูเจ้า ศรีราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2538 โดยมีเพื่อนในวงการ นักแสดงและผู้จัดละคร รวมถึงแฟนละครและประชาชนเป็นจำนวนมากมาร่วมพิธีฝังศพราว 3,000 คน

ก่อนจะเสียชีวิตเพียง 1 วัน บุญพิทักษ์ กำลังถ่ายทำละครโทรทัศน์เรื่อง "เพลิงบุญ" ค้างอยู่ โดยเธอรับบทเป็น "ใจเริง" ซึ่งเป็นการรับบทร้ายครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตการแสดงของเธอ โดยภายหลังทีมงานสร้างได้เปลี่ยนบทดารานำ ให้บุษกร พรวรรณะศิริเวช มารับบทแสดงนำแทน[3]

ผลงาน[แก้]

ละครโทรทัศน์ทั้งหมดด้านล่างนี้ออกอากาศทางช่อง 3[แก้]

ละครเวที[แก้]

ภาพยนตร์[แก้]

มิวสิกวิดีโอ[แก้]

พิธีกร[แก้]

  • รายการ จัตุรัสดนตรี ออกอากาศทางช่อง 9
  • รายการ ฟรีสไตล์วัยรุ่น
  • รายการ โอนลี่วันซันเดย์ (Only One Sunday) คู่กับ นีโน่ เมทนี บูรณศิริ และ หนู เชิญยิ้ม ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ ไทยทีวีสีช่อง 3

อ้างอิง[แก้]

  1. รายการเวทีทอง ปี 2538 หม่ำ จ๊กม๊ก, ซูโม่กิ๊ก, เก๋ บุญพิทักษ์, ติ๊ก ชีโร่
  2. กระทู้จาก พันทิป
  3. 27 ต.ค.2538 อุบัติเหตุคร่าชีวิต “เก๋ บุญพิทักษ์”

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]