ข้ามไปเนื้อหา

ด่านชานไห่

พิกัด: 40°00′34″N 119°45′15″E / 40.009364°N 119.754144°E / 40.009364; 119.754144
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ด่านชานไห่
ป้ายแผ่นโลหะข้อความว่า "ทางเข้าแรกสู่สวรรค์" บนประตูหลักของด่านซันไฮ่กวน
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวย่อ山海关
อักษรจีนตัวเต็ม山海關
ความหมายตามตัวอักษร"ด่านภูเขาและทะเล"
ชื่อภาษาแมนจู
อักษรแมนจู ᡧᠠᠨᠠᡥᠠ
ᡶᡠᡵᡩᠠᠨ
อักษรโรมันšanaha furdan
ด่านชานไห่ในปัจจุบัน
ด้านที่ติดกับทะเล (ทะเลโปไห่)

ด่านชานไห่ (จีนตัวย่อ: 山海关; จีนตัวเต็ม: 山海關; พินอิน: Shānhǎi Guān, "ด่านภูเขาทะเล"; อังกฤษ: Shanhai Pass) เป็นป้อมประตูหนึ่งของกำแพงเมืองจีน เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่ป้องกันกรุงปักกิ่งจากทางทิศเหนือ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว 15 กิโลเมตรจากเมืองฉินหวางต่าว มณฑลเหอเป่ย์ ห่างจากกรุงปักกิ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ด่านแห่งนี้มีคำกล่าวว่าเป็น "ด่านที่หนึ่งในใต้หล้า" (จีนตัวย่อ: 天下第一关; จีนตัวเต็ม: 天下第一關; พินอิน: Tiānxià Dìyī Guān)

ด่านชานไห่สร้างขึ้นในยุคราชวงศ์หมิง เมื่อเทียบกับกำแพงเมืองจีนส่วนอื่น ๆ ที่สร้างมาตั้งก่อนยุคราชวงศ์ฉิน แต่กลับมีบทบาทอย่างมากในประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง มีความสำคัญเป็นจุดพลิกผันสถานการณ์ถึงขั้นเปลี่ยนแผ่นดินเลยทีเดียว

กำเนิดในราชวงศ์หมิง

[แก้]

ค.ศ. 1381 ต้นสมัยราชวงศ์หมิง หมิงไท่จู่ฮ่องเต้ (จูหยวนจาง) ได้โปรดให้สวีต๋า (ซือตัด) แม่ทัพคนสำคัญไปตั้งฐานทัพประจำที่ชานไห่ สวีต๋าเห็นภูมิประเทศซึ่งประกอบด้วยภูเขาที่โอบล้อมและส่วนติดต่อกับทะเล จึงได้สร้างกำแพงและป้อมด่านชานไห่ขึ้นในปีถัดมา เพื่อป้องกันการรุกรานจากอนารยชนทางภาคเหนือ ซึ่งหมายถึง ชาวมองโกลและชาวเติร์ก

กำแพงเมืองด่านชานไห่มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เชื่อมต่อกับกำแพงเมืองจีน มีประตูเมืองทั้งสี่ด้าน กำแพงเป็นดินกับหินบดละเอียดอัด ด้านนอกก่อด้วยอิฐ ความยาวกำแพงทั้งสิ้น 4 กิโลเมตร โดยทั่วไปสูง 7 เมตร บางแห่งสูง 15 เมตร หนา 7 เมตร คิดเป็นมาตราวัดแบบจีน คือ กว้างยาว 8 ลี้ กับ 137 ก้าว 4 เชียะ กำแพงสูง 4 จ้าง (40 ฟุตจีน) กับ 1 ฟุตจีน หนา 2 จ้าง รอบด่านยังมีคูเมืองขนาดกว้าง 5 จ้าง ลึก 2 จ้าง 5 เชียะ

ประตูทางทิศตะวันออก ชื่อว่า เจิ้นตง ประตูทางทิศตะวันตก ชื่อว่า อยิ่งเอิน ประตูด้านทิศใต้ชื่อว่า หยาง ส่วนประตูด้านทิศเหนือ มีชื่อว่า เว่ยหย่วน ในปัจจุบันมีแต่ประตูเจิ้นตงด้านทิศตะวันออกเท่านั้นที่ได้รับการบูรณะจนมีสภาพดี ส่วนด้านอื่น ๆ พังทลายไปหมดแล้ว

เรื่องราวของอู๋ซานกุ้ยเปิดประตูด่าน

[แก้]

ป้องกันการรุกรานจากต่างชาติ

[แก้]

นอกจากด่านชานไห่จะเป็นประโยชน์ในการป้องกันการรุกรานของแมนจู แล้ว ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการทหารที่สำคัญในการควบคุมประเทศจีนด้วย เห็นได้จาก ปี ค.ศ. 1900 ในศึกพันธมิตรแปดชาติ ประกอบด้วยกองทัพอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เยอรมนี รัสเซีย ญี่ปุ่น อิตาลี และออสเตรีย เข้ารุกรานเมืองเทียนจิน และกรุงปักกิ่ง ได้เข้ายึดครองและจัดตั้งกองทัพพันธมิตรไว้ที่บริเวณด่านชานไห่จนหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงถอนทหารออกไป

ในปี ค.ศ. 1933 ญี่ปุ่นยึดครองแมนจูเรียเอาไว้ได้และสถาปนาเป็นประเทศแมนจู ได้ใช้ด่านชานไห่เป็นฐานที่มั่นในการรุกรานหัวเมืองภาคเหนือของจีน ทหารที่รักษาด่านได้ฉวยโอกาสขูดรีดประชาชน ชาวบ้านจึงเรียกด่านนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "ด่านประตูผี"

สถานที่ท่องเที่ยวในปัจจุบัน

[แก้]

ปัจจุบัน ด่านชานไห่ได้หมดความสำคัญในการเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการทหารแล้ว รัฐบาลจีนได้ปรับปรุงให้เป็นสถานที่สำคัญในทางท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ของเมืองฉินฮว๋างต่าว นอกจากจะมีความสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีนแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางของแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ในบริเวณนี้ด้วย ได้แก่ กำแพงเมืองจีนที่ทอดตัวยาวไปบนภูเขาฮวนหลี่หลิ่ง และจุดสิ้นสุดของกำแพงเมืองจีนในทะเลที่เหล่าหลงโถว

ด่านชานไห่ ส่วนที่สมบูรณ์และได้รับการบูรณะอย่างดีในปัจจุบันคือป้อมเจิ้นตง ซึ่งมีป้ายอักษรคำว่า "เทียนเซี่ยตี้อีกวาน" เขียนโดย เซียวเสี่ยน ศิลปินเอกสมัยราชวงศ์หมิง

ป้อมเทียนเซี่ยตี้อีกวานสร้างบนกำแพงเมืองชานไห่ที่เชื่อมต่อกับกำแพงเมืองจีน ด้านล่างเป็นซุ้มประตูก่ออิฐสำหรับเป็นทางผ่านออกนอกด่าน ด้านในมีบานประตูเปิดปิดตามเวลาที่กำหนด หน้าด่านมีป้อมอีกชั้นหนึ่ง ขณะที่ปัจจุบันด้านนอกด่านจัดเป็นสวนสาธารณะ

ตัวป้อมเป็นอาคารสามห้อง สูงสองชั้น ป้อมนี้สูง 3 จ้าง ชั้นบนกว้าง 5 จ้าง ชั้นล่างกว้าง 6 จ้าง ตัวป้อมมีช่องยิงธนูสามด้าน รวมมีช่องยิงธนู 68 ช่อง เมื่อมองจากบนป้อมไปทางทิศเหนือจะเห็นแนวกำแพงเมืองจีนทอดยาวคดเคี้ยวไปตามไหล่เขายาวเหยียดเหมือนมังกรนอนทอดตัว ส่วนทางทิศใต้จะเห็นกำแพงที่ยืดยาวไปยังทะเลกว่า 20 เมตร ซึ่งจุดนี้เรียกว่า "เหล่าหลงโถว" (老龙头; แปลว่า หัวมังกรเฒ่า)[1]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "จุดเริ่มต้นของกำแพงเมืองจีน...หัวมังกรเฒ่า (เหล่าหลงโถว) ด่านชานไห่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-07. สืบค้นเมื่อ 2011-10-15.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

40°00′34″N 119°45′15″E / 40.009364°N 119.754144°E / 40.009364; 119.754144