ข้ามไปเนื้อหา

ครอบฟัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คอรบฟัน
การแทรกแซง
ฟันที่ผ่านการครอบแล้ว
ICD-10-PCSZ98.811
ICD-9-CM23.41
MeSHD003442
ครอบฟันโลหะเคลือบกระเบื้อง (PFM) สำหรับฟันเบอร์ 29 บนแบบหิน ซึ่งพร้อมใส่ฟันคนไข้โดยยึดด้วยซีเมนต์ ครอบฟันเทียมจะไม่ยื่นไปถึงฟันด้านหลังเบอร์ 31 (ฟันกรามทางซ้ายมือของรูป) เพราะว่าช่องใหญ่เกินไป และเพราะว่าฟันเบอร์ 30 ไม่มี ส่วนที่ไร้ฟันเช่นนี้ ร่วมกับอีกส่วนที่อยู่อีกซีกหนึ่งของปากเบอร์ 18-21 จะรักษาด้วยฟันปลอมบางส่วนถอดได้

แบบหินแสดงฟันซี่เดียวกันเบอร์ 29 ที่เตรียมเอาเนื้อฟันออกแล้วเพื่อครอบฟัน ให้สังเกตว่าต้องเอาฟันออกแค่ไหนเพื่อจะใส่ครอบฟัน ฟันเดิมจะเหมือนกับครอบฟันที่ทำมากถ้าไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง ขีดสีเงินบนแบบหินเป็นแนวคั่น เพื่อเหลือที่ระหว่างเนื้อฟันและผิวข้างในของครอบฟัน สำหรับใส่ซีเมนต์เพื่อเชื่อมเข้ากับฟันในปาก

ครอบฟัน[1] (อังกฤษ: crown) เป็นการแต่งหรือบูรณะฟัน โดยครอบฟันจริงหรือฟันที่ได้ปลูกสร้างทั้งหมดด้วย "ครอบฟัน" ซึ่งจำเป็นเมื่อฟันมีช่องใหญ่ (เช่นที่เกิดจากฟันผุ) คอยทำให้ฟันมีปัญหา[2] โดยครอบฟันจะเชื่อมเข้ากับฟัน (หรือฟันปลูกสร้าง) ด้วยซีเมนต์สำหรับฟัน ครอบฟันสามารถทำด้วยวัสดุหลายอย่าง โดยปกติจะทำนอกปาก (ที่เรียกว่า indirect method) บ่อยครั้งใช้เพิ่มความแข็งแรงหรือความสวยงามของฟัน แม้ว่าจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพฟันอย่างเถียงไม่ได้ วิธีการและวัสดุก็ค่อนข้างแพง

วิธีการที่สามัญที่สุดรวมการพิมพ์ฟันที่ทันตแพทย์กรอเตรียมไว้แล้วเพื่อทำครอบฟันนอกปาก ซึ่งสามารถใส่เข้ากับฟันเมื่อนัดครั้งต่อไป วิธีการสร้างฟัน "นอกปาก" เช่นนี้ ทำให้สามารถใช้วัสดุที่ต้องใช้เวลาและความร้อนสูง เช่น หล่อโลหะหรือเผากระเบื้องซึ่งทำไม่ได้ในปาก คนไข้จำนวนมากจะเลือกครอบฟันที่ทำจากทอง เพราะคุณสมบัติการขยายตัว ราคาใกล้ ๆ กับวัสดุอื่น และความสวยงาม

ในปัจจุบัน เพราะเทคโนโลยีใหม่ ๆ และพัฒนาการทางวัสดุศาสตร์ ทันตแพทย์จึงเริ่มใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสร้างครอบฟัน โดยวิธีการในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า CAD/CAM dentistry (ทันตแพทยศาสตร์แบบ CAD/CAM) ซึ่งสามารถครอบฟันให้เสร็จได้ภายในวันเดียวกันโดยไม่ต้องรอวัสดุจากห้องปฏิบัติการนอกสถานที่

เหตุผลอื่นเพื่อใช้ครอบฟัน

[แก้]

มีสถานการณ์อื่น ๆ อีกที่การครอบฟันเป็นทางเลือกที่ดี

รากเทียม

[แก้]

เมื่อไม่มีฟันหรือฟันได้หักออกไปเป็นบางส่วน คนไข้อาจจะเลือกปลูกรากฟันเทียมไม่ว่าจะที่ขากรรไกบนหรือล่าง เมื่อยึดรากเทียมติดกับกระดูกแล้ว ก็จะสามารถยึดวัสดุประดิษฐ์ได้หลายอย่างตามเลือก รวมทั้ง

  • ครอบฟันหรือสะพานฟัน
  • สลักยึดสำหรับฟันปลอมบางส่วนถอดได้ ฟันปลอมทั้งปาก หรือฟันปลอมแบบผสมผสานอื่น ๆ

ฟันที่รักษาราก

[แก้]

เมื่อรักษารากฟัน (root canal therapy, endodontic therapy) ประสาทฟันจะตายเมื่อหมอเอาประสาทและเส้นเลือดออก แล้วเติมช่องที่เหลือ ที่เรียกว่ารากฟันด้วยวัสดุต่าง ๆ เพื่อกันไม่ให้ติดเชื้อในอนาคต แม้ว่าจะมีโครงสร้างฟันเหลือหลังจากรักษารากฟันพอเพื่อรักษาตัวฟัน (intracoronal restoration) ต่อไป แต่นี่ไม่แนะนำสำหรับฟันโดยมาก เมื่อฟันยังมีชีวิตอยู่ ส่วนมีชีวิตจะทำให้ฟันแข็งแรงและทนทานต่อการบดเคี้ยว โครงสร้างของฟันที่ยังเป็น ๆ จะอึดและสามารถทนต่อการใช้งานแม้ไม่ดีโดยไม่แตก แต่หลังจากรักษารากฟัน ฟันจะแตกง่ายและไม่แข็งแรงเท่ากับฟันเป็น

ฟันที่รักษารากฟันแต่ไม่ได้ครอบจะแตกมากกว่าอย่างสำคัญในฟันซี่หลัง ๆ Maxillary = ขากรรไกรบน, Mandibular = ขากรรไกรล่าง, Anteriors = ฟันหน้า, Premolars = ฟันกรามน้อย (2 ซี่หลังจากฟันเขี้ยว), Molars = ฟันกราม (3 ซี่หลังจากฟันกรามน้อย)[3]

มนุษย์โดยเฉลี่ยสามารถออกแรงถึง 70-90 กก. โดยใช้ฟันหลัง ซึ่งเป็นแรง 9 เท่าที่สามารถใช้ด้วยฟันหน้า ดังนั้น ถ้า "บริเวณสัมผัสยังผล" ของการครอบฟันอยู่ที่ 0.1 มม². แรงกัดที่บริเวณอาจถึง 1 ล้านปอนด์ต่อตารางนิ้ว (PSI หรือ 6,895 MPa) ดังนั้น ฟันหลัง (คือ ฟันกรามและฟันกรามน้อย) จึงควรครอบในสถานการณ์เกือบทุกอย่างหลังจากรักษาราก (โดยฟันกรามน้อย คือ ฟัน 2 ซี่หลังจากฟันเขี้ยว มีสัณฐานคล้ายกับฟันเขี้ยวมาก และในบางกรณี เพียงรักษาตัวฟันก็อาจจะพอ)

ถ้าฟันที่รักษารากไม่ป้องกันให้ดี ก็จะมีโอกาสแตกเมื่อเคี้ยวอย่างธรรมดา ๆ และอาจแตกแบบรักษายาก เช่น เมื่อฟันร้าวไปถึงราก (vertical root fracture) ส่วนฟันข้างหน้า (รวมทั้งฟันตัดและฟันเขี้ยว) ซึ่งต้องรับแรงกัดน้อยกว่า อาจเพียงรักษาตัวฟัน (intracoronal restoration) ถ้าเหลือโครงสร้างฟันพอ

Surveyed crown

[แก้]

เหตุอีกอย่างที่การครอบฟันจะดีก็คือ เมื่อจะใช้ฟันซี่หนึ่งเป็นหลักยึดสำหรับฟันปลอมบางส่วนถอดได้ แต่ฟันไม่อยู่ในสภาพดีพอ คือ ถ้าฟันที่จะใช้เป็นหลักยึดไม่มีขนาดหรือรูปร่างลักษณะตามที่จำเป็น ลักษณะเหล่านี้สามารถสร้างขึ้นในครอบฟันที่เรียกว่า surveyed crown

ความสวยงาม

[แก้]

สถานการณ์อย่างที่ 4 ที่ครอบฟันอาจจะดีก็คือเมื่อคนไข้ต้องการจะยิ้มสวย แต่ว่า การเคลือบฟัน/การครอบฟันเป็นบางส่วน (veneer/laminate) ทำไม่ได้ เช่น ถ้าการบดเคี้ยวของคนไข้ไม่เหมาะสำหรับการรักษาที่พยายามเก็บเนื้อฟัน หรือว่ามีรอยผุหรือรอยแตกในฟันมากเกินไป กระเบื้องหรือวัสดุผสมอาจจะใช้ไม่ทน หรือว่า คนนอนกัดฟันแรงพออาจจะทำให้ฟันที่เคลือบหลุดหรือสึกอย่างแก้ไขไม่ได้ไม่ว่าทันตแพทย์จะพยายามป้องกันอย่างไร ในกรณีเช่นนี้ ครอบฟันแบบเต็มอาจจะเปลี่ยนขนาด รูปร่าง หรือสีเพื่อป้องกันฟันพัง หรือในกรณีที่คนไข้ไม่มีเวลานานพอที่จะดัดฟันเพื่อแก้ปัญหา การครอบฟันซึ่งจะเสียเนื้อฟันเดิมมากกว่าอาจจะเป็นทางเลือกการรักษาอย่างหนึ่ง

การเตรียมฟัน

[แก้]
การใช้ Polyvinyl siloxane พิมพ์ฟันที่เตรียมเพื่อใส่สะพานครอบฟันโลหะเคลือบกระเบื้อง (PFM bridge) สำหรับฟัน 5 ซี่ วัสดุพิมพ์ฟันสีแดงส้มใกล้ ๆ กับครอบฟันที่จะทำมีความหนืดน้อยกว่าวัสดุสีน้ำเงิน ทำให้เก็บรายละเอียดได้มากกว่า

การเตรียมฟันเพื่อครอบรวมการเอาฟันเดิมออก แม้ส่วนที่ยังแข็งแรงดี

วัสดุที่ปัจจุบันใช้ทุกอย่างยังไม่ดีเท่ากับฟันธรรมชาติ ดังนั้น การครอบฟันควรทำต่อเมื่อผู้ชำนาญการได้ตรวจฟันแล้วตัดสินว่า ประโยชน์ที่ได้จากการครอบฟันจะมากกว่าผลเสียที่ต้องกรอฟันดีออก ซึ่งอาจเป็นการประเมินที่ซับซ้อน และดังนั้น ทันตแพทย์ (ฝึกที่สถาบันต่าง ๆ มีประสบการณ์ และผ่านการฝึกเพื่อวางแผนรักษาและเลือกคนไข้ต่าง ๆ) อาจมีข้อสรุปที่ไม่เหมือนกันเกี่ยวกับการรักษา

โดยทั่วไปแล้ว คนไข้จะต้องไปหาหมอมากกว่า 1 ครั้งเพื่อจะครอบฟันและทำสะพานฟัน ดังนั้น เวลาที่เสียเพิ่มขึ้นอาจเป็นข้อด้อย แต่ว่า ประโยชน์ที่ได้จากการครอบ โดยทั่วไปจะมากกว่าผลเสียเหล่านี้

ขนาด

[แก้]

เมื่อเตรียมฟันสำหรับครอบฟันทั่วไป แพทย์อาจต้องเอาเคลือบฟันเดิม (enamel) ออกหมด จนเหลือแต่เนื้อฟัน (dentin) เป็นหลัก ฟันที่ต้องเอาออกจะขึ้นอยู่กับวัสดุครอบฟัน ถ้าครอบฟันเป็นโลหะล้วน (full gold crown) อาจต้องเผื่อที่เพียงแค่ 0.5 มม. เพราะว่า โลหะแข็งแรงมาก และดังนั้น จึงต้องใช้ที่เพียงแค่นั้นเพื่อครอบฟัน แต่ถ้าครอบฟันโลหะมีกระเบื้องเคลือบ แพทย์จะต้องเอาฟันออกอีก 1 มม. เพื่อให้มีที่เคลือบกระเบื้องพอ และดังนั้น จะต้องเอาฟันออกรวมกันประมาณ 1.5 มม.

ถ้าฟันเดิมไม่มีเนื้อพอที่จะครอบ หมอจะต้องพอกวัสดุที่ฟันเพิ่ม ซึ่งสามารถทำได้ด้วยเดือย (pin-retained) และวัสดุอุดฟันเช่นอะมัลกัม (amalgam) หรือวัสดุผสม (composite resin) หรือในกรณีที่รุนแรงอาจจะต้องใช้ทั้งเดือยและแกน (post and core) การต้องใช้ทั้งเดือยและแกนเป็นตัวบ่งชี้ว่าต้องรักษารากฟัน เพราะว่าเดือยจะต้องหยั่งลงไปถึงรากเพื่อให้มั่นคง แต่ว่า ถ้าฟันโผล่ออกมาน้อย ทำให้ต้องปลูกตัวฟัน (crown lengthening) เวลาที่ใช้ แรงงาน และค่าใช้จ่ายในกระบวนการต่าง ๆ บวกกับพยากรณ์โรคที่แย่ลงเพราะอัตราความล้มเหลวของวิธีการแต่ละอย่าง อาจจะทำให้การถอนฟันแล้วฝังรากเทียมดีกว่า

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในสาขาทันตแพทยศาสตร์ที่ใช้ CAD/CAM (คือใช้คอมพิวเตอร์ในการออกแบบและผลิตครอบฟัน) ซึ่งเพิ่มทางเลือกในการครอบฟันในหลาย ๆ กรณี[4][5] เทียบกับครอบฟันธรรมดาที่ต้องใช้เนื้อฟันมากเพื่อจะครอบ ซึ่งทำให้เสียเนื้อฟันที่ยังดีอยู่ การใช้ครอบฟันกระเบื้องล้วนที่อาศัย CAD/CAM ทำให้มั่นใจได้ว่าจะใช้เนื้อที่น้อยกว่า และจริง ๆ แล้ว ยิ่งมีเคลือบฟันเท่าไร ฟันที่ทำโดยวิธีนี้ก็ออกมาดีเท่านั้น เพราะว่า ตราบเท่าที่กระเบื้องที่ส่วนบดเคี้ยวหนา 1.5 มม. หรือมากกว่านั้น ฟันที่ออกมาจะดี ฟันข้าง ๆ ที่ปกติต้องเอาออกในการครอบฟันปกติ โดยทั่วไปแทบไม่ต้องเอาออกด้วยวิธี CAD/CAM

ส่วนการใช้เดือยและแกน (post and core) เป็นข้อห้ามใช้การครอบฟันแบบ CAD/CAM เพราะตัวยึดวัสดุกับฟันยึดกับเคลือบฟันหรือเนื้อฟันธรรมชาติได้ดีกว่า วิธีการครอบฟันแบบ crownlay เป็นทางเลือกที่ดีแทนการใช้เดือยและแกน เพื่อรักษาฟันที่รักษารากแล้ว

ปลายเรียว/สอบ

[แก้]

ฟันที่เตรียมจะต้องเรียวเข้าประมาณ 3-5 องศาเพื่อให้ครอบฟันได้ดี และไม่ควรเกิน 20 องศา โดยหลักแล้ว ไม่ควรจะมีส่วนเว้าส่วนคอด (undercut) บนผิวฟันเพราะว่าส่วนที่เว้าไม่สามารถเอาออกจากแม่พิมพ์ได้ ไม่เช่นนั้นแล้ว ครอบฟันจะใส่เข้ากับฟันไม่ได้ ในขณะเดียวกัน ฟันที่ทำเรียวมากเกินไปจะทำให้ครอบฟันยึดกับฟันได้ไม่ดี ทำให้ฟันเสีย ดังนั้น โดยทั่วไปแล้ว ถ้าเตรียมฟันเรียวขึ้น 6 องศาตลอดแนวตั้งรอบ ๆ ฟัน (ดูรูปฟันเตรียม) เมื่อวัดองศาของมุมสองข้างที่ตัดกับระนาบแบ่งซ้ายขวา (sagittal) ไม่ว่าตรงไหนของฟัน ก็จะรวมได้ 12 องศา นี่เป็นการเตรียมการที่จะช่วยให้ครอบฟันได้สนิทและสามารถยึดกับฟันได้ดี

ตัวฟัน (ส่วนของฟันที่เห็นในปาก, A) ตามธรรมชาติจะสบกับราก (ส่วนฟันที่อยู่ในกระดูก) ที่จุดต่อซีเมนต์กับเคลือบฟัน (cementoenamel junction) ซึ่งเป็นที่ที่เหงือกติดกับฟันที่ฐานของร่องเหงือก (gingival sulcus, G) ขอบของครอบฟันไม่ควรจะอยู่ภายใน 2 มม. (ซึ่งเป็นระยะที่เรียกว่า biologic width) จากฐานของร่องเงือกไปถึงจุดสูงสุดของกระดูก alveolar (C) เพื่อจะไม่ให้มีปัญหา

ขอบ

[แก้]

ขอบสูงสุดของฟันที่ไม่ได้กรอ (คือ เส้นตรงจากฟันด้านหนึ่งที่ไม่ได้กรอไปยังอีกด้านหนึ่งตรงริมเหงือกหรือใกล้ ๆ ริมเหงือก) เรียกว่า margin ขอบนี้จะเป็นจุดที่ฟันจริงและครอบฟันมาสบกัน และควรจะเป็นขอบที่เรียบ ชัดเจน เพื่อสามารถครอบฟันที่ทำ ไม่ว่าจะทำด้วยวัสดุอะไร ให้สนิทกับเหงือกโดยไม่เห็นฟันเดิมไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน ระยะจากขอบฟันที่อาจเห็นจนถึงขอบครอบฟันที่ใช้ได้อยู่ระหว่าง 40-100 ไมโครเมตร[ต้องการอ้างอิง]

แต่ก็มีวิธีการอุดฝังและอุดครอบ (inlay and onlay) โดยใช้ทองที่ระยะขอบฟันที่อาจเห็นจนถึงครอบฟันมีระยะเพียงแค่ 2 ไมโครเมตร[ต้องการอ้างอิง] ซึ่งยืนยันแล้วด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบส่องกราดในอุโมงค์ (SEM) เป็นขนาดที่เล็กกว่าแบคทีเรียตัวเดียว

ชัดเจนว่า ฟันจริงที่เปิดให้เห็นเป็นอะไรที่ดูไม่งามเมื่อยิ้ม ในสถานการณ์เช่นนี้ แพทย์จะพยายามกำหนดขอบไปทางรากฟันให้มากที่สุด แม้กระทั่งจนลึกกว่าริมเหงือก การมีเส้นขอบที่ริมเหงือกไม่มีปัญหาอะไร แต่อาจมีปัญหาถ้ากำหนดขอบใต้ริมเหงือกลึกเกินไป ปัญหาแรกคือ อาจมีปัญหาพิมพ์รายละเอียดที่บริเวณขอบเพื่อทำแบบหินของฟันที่เตรียม (ดูรูปด้านบน) ปัญหาที่สองคือ จะต้องมีระยะเว้นที่เรียกว่า biologic width ซึ่งเป็นระยะห่างที่จำเป็นระหว่างหัวกระดูก alveolar (ที่เป็นหลักยึดฟันด้านข้าง) และขอบครอบฟัน เมื่อระยะนี้ชิดเกินเพราะกำหนดขอบใต้เหงือกลึกเกินไป อาจจะมีปัญหาหนักที่ตามมา ในกรณีที่ไม่สามารถกำหนดขอบให้ลึกพอเพื่อครอบฟันให้มั่นคง อาจจะต้องปลูกตัวฟัน (crown lengthening) เพิ่ม

มีขอบฟันหลายอย่างที่สามารถใช้เมื่อครอบฟัน วิธีหนึ่งเป็นการลบมุม (chamfer) ซึ่งนิยมใช้เมื่อครอบฟันโลหะ เป็นวิธีที่ต้องเอาฟันเดิมออกน้อยที่สุด อีกวิธีหนึ่งเป็นการทำไหล่ (shoulder) ซึ่งแม้จะต้องเอาฟันเดิมออกมากกว่า แต่ก็สามารถใช้รองรับวัสดุครอบฟันที่หนากว่า ซึ่งจำเป็นเมื่อใช้ครอบฟันโลหะเคลือบกระเบื้อง (PFM) หรือครอบฟันเซรามิกล้วน แต่ว่าเมื่อใช้ขอบแบบไหล่ แพทย์ก็มักจะตัดมุมเฉียง (bevel) ด้วย เพราะว่า ขอบแบบไหล่ตัดเฉียงช่วยลดระยะขอบฟันที่อาจเห็นกับครอบฟันหลังจากใส่ครอบฟันแล้ว

ปรากฏการณ์ปลอกรัด

[แก้]

เรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาเมื่อครอบฟันก็คือปรากฏการณ์ปลอกรัด (ferrule effect) เหมือนกับก้านไม้กวาด ที่รัดไว้ด้วยปลอกกับไม้กวาด ครอบฟันควรจะหุ้มฟันสูงระดับหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้แตกหลังจากเตรียมฟันแล้ว ซึ่งการทดลองหลายงานแสดงหลักฐานว่า ต้องต่อเนื่องกันเป็นวงสูงอย่างน้อย 2 มม. ถ้าน้อยกว่านี้ ก็จะมีอัตราความล้มเหลวที่สูงกว่าสำหรับการครอบฟันที่ได้รักษาราก

ถ้าฟันไม่ได้รักษาราก ฟันปกติจะพอเหลือเนื้อฟันสูง 2 มม. ซึ่งจำเป็นในการรัด แต่ว่า ฟันที่รักษารากมักจะผุและบ่อยครั้งจะมีเนื้อฟันหายไปมาก และเพราะว่าฟันจะอ่อนแอลงหลังจากต้องเอาฟันบางส่วนออกเพื่อรักษารากฟัน จึงจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้แตกไปถึงราก (vertical root fracture) มีนักวิชาการที่คาดว่า การเตรียมทำฟันแบบไหล่สำหรับครอบฟันเซรามิกล้วน ที่ใช้ยึดกับซีเมนต์อยู่กับที่ จะมีผลเช่นเดียวเหมือนกับปลอกรัด

การทำโครงสร้างฟันให้เหมาะสม

[แก้]

เนื่องจากครอบฟันทำนอกปากโดยไม่มีน้ำลาย เลือด หรือที่ที่แคบจำกัดรบกวน จึงสามารถทำให้มีขนาดที่แน่นอนยิ่งกว่าการอุด/ปลูกฟันที่ต้องทำในปาก เมื่อพูดถึงคุณสมบัติอื่น ๆ เช่นขอบ (marginal adaptation) ที่ใช้กันแบคทีเรียไม่ให้เข้า การมีรูปร่างและตำแหน่งที่ถูกต้อง (เช่น การอยู่ร่วมกับฟันข้าง ๆ อย่างพอดีโดยไม่มีเศษอาหารติด) การทำครอบฟันนอกปากหาที่เปรียบมิได้

การทำครอบฟันมีสองวิธี โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะเตรียมฟันที่จะทำ พิมพ์ฟัน ใส่ครอบฟันชั่วคราวให้ แล้วนัดให้คนไข้มาอีก พิมพ์ฟันจะส่งไปยังห้องปฏิบัติการทันตแพทย์ที่สร้างแบบจำลองมาจากพิมพ์ฟัน สร้างครอบฟันจากพิมพ์ฟันไม่ว่าจะทำโดยกระเบื้อง เซรามิก โลหะ หรือโลหะเคลือบกระเบื้อง/เซรามิก เมื่อคนไข้มาตามนัด 1-2 อาทิตย์ให้หลัง หมอก็จะเอาครอบฟันชั่วคราวออกและใส่ครอบฟันถาวรให้โดยใช้ซีเมนต์ยึดเข้ากับเนื้อฟัน

ปัจจุบันยังมีอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ออกแบบและผลิตครอบฟันนอกปากโดยใช้เทคโนโลยีและเทคนิคของทันตแพทยศาสตร์ CAD/CAM ที่แพทย์จะเตรียมฟันแล้วใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สร้างฟันที่จะรักษาโดยทำเสมือน (คือใช้คอมพ์ออกแบบ) แล้วใส่ครอบฟันที่ทำในที่ใกล้ ๆ (ไม่ได้ส่งไปที่ห้องปฏิบัติการนอกสถานที่) ให้คนไข้ได้ภายใน 1-2 ชม.

ครอบฟันแบบ 3/4 หรือ 7/8 ส่วน

[แก้]

ยังมีการรักษาฟันที่อยู่ระหว่างวิธีการอุดครอบ (onlay) และการครอบฟัน ที่ต่างกันโดยเนื้อฟันธรรมชาติที่สามารถรักษาไว้ได้ คือ ในอดีต จะสามารถหาแพทย์ที่รักษาโดยครอบฟันแบบ 3/4 หรือ 7/8 ส่วน ซึ่งจะทำเพื่อฟันกรามน้อยที่สอง (ฟันซี่ที่ 2 ต่อจากฟันเขี้ยว) หรือฟันกรามแรก (ฟันซี่ที่ 3 ต่อจากฟันเขี้ยว) ที่ขากรรไกรบน ซึ่งอาจเห็นได้เพียงนิดหน่อยเมื่อคนไข้ยิ้ม ดังนั้น แพทย์ก็จะทิ้งฟันเดิมที่มุมฝั่งแก้มด้านหน้า (mesiobuccal) ไว้เพื่อให้ดูธรรมชาติ โดยส่วนที่เหลือของฟันจะครอบไว้ แม้ในการครอบฟันโลหะเคลือบกระเบื้องหรือครอบฟันเซรามิกล้วน การรักษาเนื้อฟันที่มีก็ยังช่วยเสริมครอบฟันให้แข็งแรง มีทันตแพทย์บางท่านที่รู้สึกว่า ความแข็งแรงที่ได้จากการรักษาเนื้อฟันให้มากที่สุดมีประโยชน์แม้อาจจะต้องมีขอบฟันที่มองเห็นใหญ่กว่า

ครอบฟันเซรามิกล้วน

[แก้]

การอุดฝัง (inlay), การอุดครอบ (onlay), การเคลือบกระเบื้อง (porcelain veneer), การปลูกฟันแบบ crownlay และครอบฟันแบบต่าง ๆ สามารถทำมาจากเซรามิก เช่นที่ทำจากห้องปฏิบัติการทันตแพทย์ทั่วไป หรือที่ใช้ในทันตแพทยศาสตร์แบบ CAD/CAM เทคโนโลยี CAD/CAM ทำให้สามารถซ่อมฟันเสร็จภายในวันเดียว โดยผลิตวัสดุจากบล็อกกระเบื้อง ซึ่งจะมีสีและเงาคล้ายฟันคนไข้ ตามที่ทำมา วัสุดฟันเซรามิกล้วนจากห้องปฏิบัติการจะทำมาจากกระเบื้องเฟลด์สปาร์ (feldspathic porcelain) หรือเซรามิกอัด (pressed ceramic) ซึ่งต้องใช้แบบหล่อและแบบชั่วคราว แต่สามารถให้ผลงานที่งามถ้าทันตแพทย์และห้องปฏิบัติการติดต่อสื่อสารกันดี

สิ่งที่แตกต่างมากที่สุดระหว่างเทคโนโลยี CAD/CAM และของห้องปฏิบัติการก็คือว่า วิธีการแบบ CAD/CAM ไม่ต้องนัดหลายครั้งเพื่อรอวัสดุจากห้องปฏิบัติการ มีนักวิชาการที่อ้างว่า การไม่ต้องรออาจทำให้ไม่จำเป็นต้องรักษารากฟัน เพราะว่าฟันจะไม่รั่วระหว่างที่รอ

การซ่อมฟันโดยเซรามิกล้วนอาจต้องเตรียมขอบกว้าง (2 มม.) และต้องกรอฟันด้านบดเคี้ยว (occlusion) ออกอย่างน้อย 1.0 - 1.5 มม. มีบางกรณีที่การเอาฟันออกขนาดนี้พิจารณาว่ามากเกินไป เหตุผลเพื่อไม่ใช้เซรามิกล้วนก็คือมีโอกาสแตกสูงกว่า เมื่อไม่มีเคลือบฟันเหลือเป็นที่ยึดโดยใช้สารยึด (adhesive) หรือว่าถ้าคนไข้กัดหรือบดฟัน (เช่นนอนกัดฟัน) มากเกินไป

ข้อบ่งชี้ในการซ่อมฟันโดยเซรามิกล้วนรวมทั้งเมื่อต้องการให้ดูเป็นธรรมชาติ เมื่อมีปัญหาแพ้โลหะ และเมื่อต้องการให้กรอฟันเดิมออกน้อยในการซ่อมบางกรณี การซ่อมฟันโดยเซรามิกล้วนอาจไม่ต้องอาศัยโครงสร้างที่มีแรงเสียดทานหรือยึดตรึงได้ดี (resistance and retention) และดังนั้น จึงไม่ต้องเอาผิวฟันออกมากเท่า โดยวัสดุจะยึดอยู่กับที่โดยอาศัยพันธะทางเคมีและพันธะกลเท่านั้น นอกจากนั้นแล้ว เซรามิกใหม่ ๆ เช่น lithium disilicate ได้พัฒนาขึ้นให้แข็งแรงกว่าและใช้งานได้นานกว่า

ความทนทาน

[แก้]

แม้ว่าจะไม่มีการรักษาฟันที่คงยืนตลอดไป แต่อายุใช้งานเฉลี่ยของครอบฟันอยู่ที่ 10 ปี แม้ว่าระยะแค่นี้อาจจะดูเหมือนเพียงแค่เท่ากับการรักษาฟันโดยไม่ต้องครอบ แต่ครอบฟันจริง ๆ สามารถคงทนเท่าอายุของคนไข้ (คือ 50 ปีหรือมากกว่านั้น) ถ้าดูแลให้ดี เหตุผลที่แพทย์มักอ้างตัวเลขเพียงแค่ 10 ปีก็เพราะว่า เป็นตัวเลขที่บอกได้อย่างมั่นใจ ในทวีปอเมริกาเหนือ การประกันฟันบางอย่างจะอนุญาตให้เปลี่ยนครอบฟันหลังจากเพียงแค่ 5 ปี

ปัจจัยสำคัญที่สุดต่ออายุใช้งานของงานรักษาฟันก็คือ คนไข้มีอนามัยช่องปากที่ดี ปัจจัยอื่น ๆ รวมทั้งความชำนาญของทันตแพทย์และช่างในห้องปฏิบัติการ วัสดุที่ใช้ และการเลือกการรักษาที่ดี ครอบฟันโลหะจะอายุยืนที่สุด เพราะว่าทำเป็นชิ้นเดียว ครอบฟันโลหะเคลือบกระเบื้อง (PFM) มีมิติในการเสียหายเพิ่มขึ้น เพราะว่า กระเบื้องที่เคลือบเปราะ และแม้จะทนทานต่อแรงบีบอัด (compression) อย่างไม่น่าเชื่อ แต่กระเบื้องก็ไม่คงทนต่อแรงดึง (tension) และมีโอกาสแตกเพิ่มขึ้นเมื่อมีด้านที่เคลือบกระเบื้องเพิ่มขึ้น เช่น PFM ทั่วไปที่เคลือบกระเบื้องในด้านบดเคี้ยวของฟัน มีโอกาสเสีย 7% ต่อปีสูงกว่าครอบฟันโลหะล้วน

การครอบฟันที่รักษารากแล้ว จะลดโอกาสแตกเนื่องจากความเปราะบางของฟันที่ตายแล้ว และช่วยกันแบคทีเรียได้ดีกว่า แม้ว่า วัสดุเฉื่อยที่ใช้อุดปิดรากฟันจะหยุดแบคทีเรียในโครงสร้างฟันด้านในได้ แต่ความจริงเป็นการอุดปิดฟันที่ดี หรือช่องปิดที่เล็กของครอบฟัน ที่เป็นตัวป้องกันการลุกลามของแบคทีเรียได้ใหม่

ข้อดีข้อเสีย

[แก้]

ข้อเสียหลักของการครอบฟันก็คือการเตรียมฟันโดยกรอเนื้อฟันออกแบบกลับคืนไม่ได้ และราคาที่สูงกว่าการอุดฟันโดยอะมัลกัมหรือวัสดุผสม ประโยชน์ดังที่กล่าวรายละเอียดมาแล้วก็คือ ความทนทานและความสำเร็จโดยมีหลักฐาน เทียบกับการรักษาอื่น ๆ หรือไม่รักษา แต่การครอบฟันกรามที่ค่อนข้างใหญ่ 2 ซี่เพื่อทำสะพานสำหรับฟันที่หายไป เป็นวิธีการที่มีค่าใช้จ่ายสูงและบางครั้ง เสนอขายมากเกินไป เพราะว่า อาหารและแบคทีเรียที่ติดอยู่ใต้สะพานฟัน และการเสียฟันธรรมชาติซี่ใหญ่ 2 ซี่เพื้อใช้เคี้ยว บ่อยครั้งเป็นผลเสียมากกว่าประโยชน์ที่ได้ในการยึดฟันให้อยู่กับที่ ดังนั้น ความเสียหายต่อฟันปกติจะเป็นตัวบ่งว่าต้องครอบฟัน เพราะว่า วิธีรักษาอื่น ๆ ได้ผลน้อยกว่า ความเสี่ยงและประโยชน์สามารถชั่งได้ตามความต้องการของคนไข้ ตัวอย่างเช่น เมื่อคนไข้ต้องการรักษาฟันที่ไม่มี ระหว่างฟันสองซี่ ก่อนจะมีการฝังรากเทียม มีทางเลือก 3 อย่าง คือ

  • ฟันปลอมติดแน่น (สะพานฟัน)
  • ฟันปลอมถอดได้
  • ไม่รักษา

แพทย์จะบอกคนที่มีทรัพย์พอรักษาได้ว่า สะพานฟันเป็นทางเลือกดีที่สุด เพราะว่ามั่นคงกว่าฟันปลอมถอดได้และไม่ต้องดูแลรักษาเท่า ตั้งแต่หลังจากมีการฝังรากเทียม แพทย์ก็จะแนะนำว่าเป็นวิธีที่ดีสุด เพราะว่า ฟันปกติข้าง ๆ ส่วนที่ไม่มีฟันไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพื่อจะทำสะพาน ดังนั้นแพทย์ก็จะบอกว่า สะพานฟันจะไม่ดีเท่าการฝังรากเทียม แต่ว่า การฝังรากเทียมก็แพงกว่าสะพานฟันมาก และต้องรอผลนานกว่า

การเปรียบเทียบระหว่างครอบฟันโลหะเคลือบกระเบื้อง ครอบฟันกระเบื้องล้วน และการเคลือบฟันด้วยกระเบื้อง (porcelain veneer laminate)

รูปแบบและวัสดุ

[แก้]

มีวิธีการทำครอบฟันหลายอย่าง แต่ละอย่างใช้วัสดุคนละอย่าง หลักฐานที่มีแสดงว่า ครอบฟันเซรามิกล้วนอยู่ได้นานเท่ากับหรือน้อยกว่าครอบฟันโลหะเคลือบกระเบื้อง[6][7] ครอบฟันโลหะดีกว่าตรงที่ต้องกรอฟันออกน้อยกว่าครอบฟันแบบอื่น ๆ[8] และทนที่สุดในบรรดาครอบฟันทั้งหมด[6][9]

ครอบฟันที่มีโลหะ

[แก้]

ครอบฟันโลหะล้วน

[แก้]

ครอบฟันโลหะล้วนทำมาจากโลหะเจือ (อัลลอย) ชิ้นเดียว แม้ว่าภาษาอังกฤษจะเรียกว่า gold crown (ครอบฟันทอง) แต่ครอบฟันประเภทนี้ความจริงทำจากโลหะเจือ รวมทั้ง (แต่ไม่จำกัดแค่) ทอง แพลทินัม แพลเลเดียม เงิน ทองแดง และดีบุก สามอย่างแรกเป็นโลหะมีสกุล ในขณะที่สามอย่างหลังเป็นโลหะไร้สกุล (base metal) ครอบฟันโลหะจะมีคุณภาพดีถ้ามีโลหะมีสกุลมาก ตามสมาคมทันตแพทย์อเมริกัน โลหะเจือสำหรับครอบฟันโลหะล้วนจะเรียกว่า high noble (มีสกุลสูง) ก็ต่อเมื่อมีโลหะมีสกุล 60% โดยอย่างน้อย 40% ต้องเป็นทอง

การใส่ครอบฟันโลหะล้วนจะเริ่มที่ทันตแพทย์ โดยแพทย์จะเตรียมฟันโดยกรอเนื้อฟันออกเพื่อให้มีที่ใส่ครอบฟัน เมื่อเสร็จแล้วก็จะพิมพ์ฟัน ทั้งพิมพ์ฟันและประวัติคนไข้จะส่งไปยังห้องปฏิบัติการทันตแพทย์ ที่ช่างจะเทยิปซัมเหลวลงในพิมพ์ฟันเพื่อสร้างแบบจำลองฟัน ซึ่งจะเหมือนฟันในปากคนไข้ทุกอย่าง

ช่างจะทำครอบฟันโดยใช้วิธีที่เรียกว่าการหล่อแบบสูญขี้ผึ้ง (Lost-wax casting)[10] โดยตอนนี้มีข้อมูลที่จำเป็นเพื่อสร้างแบบขี้ผึ้ง (wax pattern) สำหรับครอบฟันโดยทำเผื่อรูปร่างฟัน การบดเคี้ยว และฟันที่เตรียมครอบไว้แล้ว แล้วติดแบบรูเทขี้ผึ้ง (wax sprue pattern) กับแบบขี้ผึ้งฟัน ต่อจากนั้น ก็จะจุ่มแบบขี้ผึ้งทั้งหมดใส่ในวัสดุพอกหุ่น (investment material) ที่เป็นยิปซัมหรือมีพันธะฟอสเฟต (phosphate-bonded) รอให้แข็ง ใส่เข้าเตาที่ไฟจะเผาขี้ผึ้งจนเกลี้ยงเหลือแต่ช่องกลายเป็นแบบพอกหุ่นมีช่องที่ใช้หล่อครอบฟันโลหะ แล้วเทโลหะเหลวที่ต้องการเข้าในแบบพอกหุ่น เมื่อครอบฟันโลหะเย็นลงแล้ว ช่างสามารถเอาแกนค้างรูเทออก แล้วเตรียมครอบฟันให้ได้ส่วนและขัดมัน (fit and polish) เพื่อพร้อมสำหรับยึดด้วยซีเมนต์ใส่กับฟัน ครอบฟันก็จะส่งกลับไปให้ทันตแพทย์ ผู้จะเอาครอบฟันชั่วคราวออกแล้ว แล้วยึดครอบฟันถาวรด้วยซีเมนต์ใส่กับฟัน

ด้านข้างของครอบฟันโลหะเคลือบกระเบื้อง เพื่อฟันกรามซี่แรกที่ขากรรไกรล่างด้านซ้าย

ครอบฟันโลหะเคลือบกระเบื้อง (PFM)

[แก้]

ครอบฟันโลหะเคลือบกระเบื้อง (PFM) จะมีโครงโลหะที่ใช้เคลือบกระเบื้องในเตามีความร้อนสูง โดยโลหะจะทนแรงดันและแรงดึง และกระเบื้องทำให้ดูเหมือนฟันธรรมชาติ เหมาะสำหรับครอบฟันด้านหน้า ครอบฟันเช่นนี้มักจะเคลือบกระเบื้องตรงส่วนที่มองเห็นได้ แต่ผิวที่เหลือของครอบฟันจะเป็นโลหะล้วน โลหะผสม (หรืออัลลอย) ทั้งมีสกุลหรือไม่มีสกุลล้วนสามารถใช้ทำครอบฟันได้ และสามารถใช้กระเบื้องที่มีสีเหมือนฟันข้าง ๆ หรือเหมือนเหงือก

การใช้เทคโนโลยี CAD/CAM ออกแบบวัสดุเพื่อซ่อมฟัน
ผลผลิตของเทคโนโลยี CAD/CAM แสดงสะพานฟันพร้อมครอบฟันทำจากดิสก์โครเมียม-โคบอลต์ พร้อมที่จะใส่ที่ฟันหรือที่สิ่งปลูกสร้าง

ครอบฟันไร้โลหะ

[แก้]

ทันตแพทยศาสตร์แบบ CAD/CAM

[แก้]

การออกแบบและสร้างวัสดุเซรามิกล้วนแบบ CAD/CAM เป็นการถ่ายและเก็บรูปของฟันที่เตรียมรักษาโดยระบบดิจิตัล แล้วใช้คอมพิวเตอร์เพื่อออกแบบวัสดุใน 3-มิติ เพื่อให้เหมาะกับการอุดฝัง (inlay) การอุดครอบ (onlay) หรือเพื่อครอบฟันชิ้นเดียว โดยไม่ต้องพิมพ์ฟัน หลังจากบอกคอมพิวเตอร์ว่า สิ่งที่ต้องการมีลักษณะ รูปร่าง และคุณสมบัติเช่นไร ก็จะส่งข้อมูลนี้ต่อไปยังเครื่องผลิตที่อยู่ไม่ไกล เครื่องจะใช้หัวจักรทำด้วยเพชรเพื่อผลิตวัสดุจากแท่งเซรามิกแข็งที่มีสีเหมือนกับฟันคนไข้ ภายในประมาณ 20 นาทีก็จะเสร็จ แล้วแพทย์ก็จะตัดมันออกจากแท่งเซรามิกที่เหลือและทดลองใส่ในปาก ถ้าเข้ากับฟันได้ดี ทันตแพทย์ก็จะสามารถยึดวัสดุกับฟันด้วยซีเมนต์ได้เลย

อุปกรณ์ CAD/CAM มีราคาในต่างประเทศประมาณ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,500,000 บาท) โดยมีค่าใช้จ่ายเรื่อย ๆ สำหรับแท่งเซรามิกและหัวจักร เพราะมีราคาสูง ค่าใช้จ่ายของครอบฟันแบบ CAD/CAM ในคลินิกทันตแพทย์ปกติจะมีราคา 2-3 เท่าของครอบฟันเช่นเดียวกันที่ส่งห้องปฏิบัติการทำ และโดยทั่วไปแล้ว ครอบฟันที่ทำโดย CAD/CAM และใช้เซรามิก Vita Mark I และ Vita Mark II 95% จะยังไม่แตกหลังจาก 5 ปี[11][12] นอกจากนั้นแล้ว 90% ยังสามารถใช้งานได้หลังจาก 10 ปี[11][12]

ข้อได้เปรียบของเซรามิกแบบ Mark II รวมทั้ง สึกเร็วเท่ากับฟันธรรมชาติ[12][13] สามารถรับแรงกดในระดับฟันธรรมชาติ[12][14] และรูปแบบการสึกเหตุกระทบเคลือบฟันของซี่อื่น คล้ายกับที่พบในการกระทบเคลือบฟันกับเคลือบฟัน[15][16]

เสริม Leucite

[แก้]

รู้จักโดยนิยมว่า ครอบฟันจักรพรรดินี (Empress Crown) ครอบฟันที่เสริม leucite คล้ายกับการทำครอบฟันโลหะอย่างผิวเผินตรงที่ว่า จะมีแบบพอกหุ่นกลวง แต่วิธีการที่เหลือจะไม่เหมือนกัน ช่างจะฉีดเซรามิกเสริม leucite ด้วยความดันเข้าในแบบพอกหุ่น (หรือแบบหล่อ) โดยใช้เตา pressable-porcelain-oven ทำให้เหมือนกับ "หล่อ" ครอบฟันแต่มีวัสดุเป็นเซรามิก หลังจากนั้น ครอบฟันสามารถย้อมสีและขัดเงา หรือตัดแล้วเคลือบด้วยเซรามิกเฟลด์สปาร์ให้เข้ากับสีและรูปฟันของคนไข้[17]

งานศึกษาย้อนหลังที่มหาวิทยาลัยอือมิยอแห่งประเทศสวีเดนศึกษาประสิทธิภาพของครอบฟันที่เสริม leucite แล้วพบว่า ครอบฟันจักรพรรดินีแตกในอัตรา 6% และบูรณภาพของตัวอย่าง 86% ที่เหลืออยู่ในระดับ "ดีเยี่ยม"[17][18]

อะลูมิเนียมออกไซด์

[แก้]

อะลูมิเนียมออกไซด์ หรือ อะลูมิน่า ใช้เป็นแกน (core) เพื่อซ่อมฟันเริ่มในปี 2532 โดยวิธีหล่อสลิป (slip cast คือเทวัสดุผสมแบบเหลวลงในแบบแล้วรอให้แห้ง) ทำให้ร้อนจนเกือบเหลว แล้วแทรกด้วยแก้ว ในปัจจุบัน แกนอะลูมิน่าจะผลิตโดยกระบวนการ electrophoretic deposition ซึ่งเป็นการผลิตแบบนาโนที่ทำได้อย่างรวดเร็ว ในกระบวนการนี้ อนุภาควัสดุในสลิปจะลอยขึ้นสู่ผิวของแม่แบบโดยกระแสไฟฟ้า ทำให้ได้แกนที่แม่นยำภายในไม่กี่วินาที จากนั้นก็จะตัดส่วนเกินแล้วให้ความร้อนจนเกือบเหลว (sinter) แล้วแทรกด้วยแก้ว

อะลูมินาแทรกกระจกจะแข็งแรงเพราะเหตุพันธะกระเบื้อง มากกว่าวัสดุจากกระบวนการ CAD/CAM ที่ทำจาก zirconia และอะลูมิน่าโดยไม่ได้แทรกแก้ว ที่ได้แกนอะลูมิน่าโดยขุดเจาะบล็อกวัสดุที่เผามาก่อนแล้ว แกนที่ไม่แทรกแก้วต้องทำให้ใหญ่กว่าขนาดที่ต้องการเผื่อหดเมื่อวัสดุเผาแห้งสนิท[19] ต่อจากนั้น แกนที่ขุดเจาะออกมาแล้วก็จะเผาเพื่อให้หดได้ขนาดตามที่ต้องการ แกนอะลูมิน่าทุกอย่างจะเคลือบด้วยกระเบื้องเฟลด์สปาร์ที่คล้ายฟัน ทำให้ได้ครอบฟันที่มีรูปร่างและสีเหมือนธรรมชาติ[19] มีนักศิลป์กระเบื้องที่สามารถแต่งครอบฟันเหล่านี้ตามที่ทันตแพทย์และคนไข้ต้องการ ปัจจุบัน วิธีการนี้ คือ กระเบื้องเคลือบครอบฟันอะลูมิน่าเป็นมาตรฐานสำหรับครอบฟันที่ดูคล้ายฟันจริง ๆ

Zirconia

[แก้]

Zirconia เป็นเซรามิกที่แข็งมากที่สามารถใช้เป็นวัสดุในครอบฟันเซรามิกล้วน แม้ว่าจะยังเป็นวัสดุใหม่ที่เพิ่งนำมาใช้ในทันตแพทยศาสตร์ จึงมีข้อมูลทางคลินิกที่จำกัด[20] zirconia แบบที่ใช้ในทันตแพทยศาสตร์เป็น zirconium oxide ที่ทำให้เสถียรโดยเติมอิตเทรียมออกไซด์ ชื่อเต็มของวัสดุที่ใช้ในทันตแพทยศาสตร์ก็คือ yttria-stabilized zirconia (YSZ)

แกนหลักทำด้วย zirconia ปกติจะออกแบบด้วยข้อมูลดิจิตัลจากปากคนไข้ ไม่ว่าจะเก็บด้วยการกราดภาพ 3-มิติ พิมพ์ฟัน หรือแบบจำลอง แล้วก็จะขุดเจาะแกนหลักออกจากบล็อก zirconia ที่เผามาก่อนแต่ยังนิ่มอยู่ เมื่อขุดเจาะเรียบร้อยแล้ว ก็จะเผาในเตาที่มันจะหดตัวโดย 20% และถึงความแข็งแรงที่สุดที่ 850-1,000 MPa หลังจากนั้นก็จะเคลือบแกนหลักด้วยกระเบื้องเฟลด์สปาร์ที่เหมือนฟัน เพื่อสร้างครอบฟันให้มีสีและรูปร่างที่ต้องการ แต่เพราะว่า กระเบื้องอาจจะเคลือบเข้ากับ zirconia ไม่ดีพอ บ่อยครั้ง แพทย์จะทำครอบฟันจาก zirconia ล้วนโดยไม่เคลือบกระเบื้องที่ดูเหมือนฟัน zirconia เป็นเซรามิกที่แข็งที่สุดและเป็นวัสดุที่แข็งแรงที่สุดที่ใช้ในทันตแพทยศาสตร์ แต่ว่า ครอบฟัน zirconia ล้วนมักจะดูทึบโดยปราศจากความใสและไม่เรืองแสง ดังนั้น เพื่อความสวยงาม แพทย์บางท่านจะไม่ใช้ครอบฟันเป็น zirconia ล้วนในฟันหน้า[21]

โดยหลักแล้ว การเลือกวัสดุจะกำหนดความแข็งแรงและรูปลักษณ์ของครอบฟัน ครอบฟันที่ทำด้วย zirconia ล้วนแข็งแรงที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยเซรามิก (โดยมีหลักฐานยืนยันว่าสามารถรับแรงได้ถึง 1,000 MPa[22]) แต่ว่า ครอบฟันเช่นนี้พิจารณาว่าดูไม่เป็นธรรมชาติพอที่จะใช้ในฟันหน้า และแม้จะไม่แข็งแรงเท่า ก็ยังมีวัสดุทำด้วย zirconia ใหม่ ๆ ที่ดูดีกว่า ถึงจะยังไม่สวยเท่ากับเคลือบกระเบื้อง ถ้าเคลือบกระเบื้องกับแกนที่เป็น zirconia ครอบฟันจะดูธรรมชาติกว่าที่ทำจาก zirconia ล้วน แต่จะไม่แข็งแรงเท่า โดยเปรียบเทียบกันแล้ว ครอบฟันที่ทำด้วยอะลูมิน่าแทรกแก้วเคลือบกระเบื้อง จะดูเป็นธรรมชาติและแข็งแรงมาก แม้จะไม่แข็งแรงเท่ากับที่ทำด้วย zirconia ล้วน

วัสดุที่สามารถใช้ทำครอบฟันล้วนอีกอย่างคือ lithium-disilicate จะทำให้ได้ครอบฟันเสริม leucite ที่โปร่งแสงมากจนบ่อยครั้งดูสีออกเทา ๆ เกินไปในปาก และเพื่อจะแก้ปัญหานี้ ก็จะต้องใช้สีอ่อน ๆ (เป็น polyvalent colorant) ที่ดูไม่ธรรมชาติโดยออกเป็นสีขาวจัด คุณสมบัติครอบฟันอย่างอื่นที่ควรพิจารณารวมทั้งการนำความร้อนและความโปร่งรังสี (เช่น รังสีเอ็กซ์เป็นต้น) การเข้ากับฟันที่เตรียมไว้ และขอบที่จะใส่ซีเมนต์ บางครั้งก็จะมีอิทธิพลต่อการเลือกวัสดุ แม้ว่า วิธีการผลิตก็จะมีผลต่อคุณสมบัติเหล่านี้ด้วย

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. "crown", ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑ ฉบับ ๒๕๔๕, (ทันตแพทยศาสตร์) ตัวฟัน, ครอบฟัน
  2. "Dental Crowns: Uses, Types, and How the Procedure Is Done". Webmd.com. November 16, 2010. สืบค้นเมื่อ June 16, 2013.
  3. Torbjorner, A; Karlsson, S; Syverud, M; Hensten-Petterson, A (1996). "Carbon fiber reinforced root canal posts. Mechanical and cytoxic properties". Eur J Oral Sci. 104 (605).{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  4. Masek, R (July 1999). "Reproducing natural color effects on milled ceramic restorations". Int J Comput Dent. 2: 209–17. PMID 11351485.
  5. Masek, R (January 2005). "Margin isolation for optical impressions and adhesion". Int J Comput Dent. 8: 69–76. PMID 15892526.
  6. 6.0 6.1 Burke, F.J.T.; Lucarotti, P.S.K. (January 2009). "Ten-year outcome of crowns placed within the General Dental Services in England and Wales". Journal of Dentistry. 37 (1): 12–24. doi:10.1016/j.jdent.2008.03.017.
  7. Pjetursson, Bjarni E.; Sailer, Irena; Zwahlen, Marcel; Hämmerle, Christoph H. F. (June 2007). "A systematic review of the survival and complication rates of all-ceramic and metal-ceramic reconstructions after an observation period of at least 3 years. Part I: single crowns". Clinical Oral Implants Research. 18: 73–85. doi:10.1111/j.1600-0501.2007.01467.x.
  8. Howe, Bernard GN; Smith, Leslie C (2007). Planning and making crowns and bridges (4th ed.). Abingdon, Oxon, UK: Informa Healthcare. p. 34. ISBN 0415398509.
  9. Esthetics in Dentistry. Pmph USA Ltd. 2012. p. 399. ISBN 1607951568.
  10. Lost-wax casting for gold crown (รูป). pocketdentistry.com. สืบค้นเมื่อ February 22, 2017.
  11. 11.0 11.1 Reiss, B.; Walther, W. (September 2000). "Clinical long-term results and 10-year Kaplan-Meier analysis of CEREC Restorations". Int. Journal of Computerized Dentistry. 3: 8.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 "BlocTalk" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ October 20, 2006.
  13. Abozenada, B; Pober, R; Giordano, R (2002). "In-vitro wear of restorative dental materials". J. Dent. Res. 81: 1693.
  14. Bremer, BD; Geurtsen, W.J (August 2001). "Molar fracture resistance after adhesive restoration with ceramic inlays or resin-based composites". Dent. 14 (4): 216–20.
  15. Krejci, I (1991). Wear of ceramic and other restorative materials. International Symposium on Computer Restorations, Quintessence. pp. 245–251.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  16. Krejci, I (1990). "Wear of enamel and amalgam and their enamel antagonists in a computer-simulated chewing simulation". Schweiz Monatsschr Zahnmed. 100: 1285.
  17. 17.0 17.1 "Leucite Reinforced System: The Empress Crown". Cash for Scraps. July 20, 2012. สืบค้นเมื่อ July 22, 2012.
  18. "Dental Materials Science". Umeå University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 20, 2013. สืบค้นเมื่อ July 12, 2012.
  19. 19.0 19.1 "Ceramics in Dental Restorations - A Review and Critical Issues". Azom. October 08, 2002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 27, 2015. สืบค้นเมื่อ January 12, 2012. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  20. Shen, edited by James (2013). Advanced ceramics for dentistry (1st ed.). Amsterdam: Elsevier/BH. p. 271. ISBN 978-0123946195. {{cite book}}: |first1= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  21. McLaren, E.; Margeas, R.; Fahl, N. (2012). "Where and When Is It Appropriate to Place Monolithic vs. Layered Restorations". Inside Dentistry. 8 (8): 555.
  22. Succaria, F; Morgano, SM (2011). "Prescribing a dental ceramic material: Zirconia vs lithium-disilicate". Saudi Dent J. 23: 165–6. doi:10.1016/j.sdentj.2011.10.001. PMC 3723107. PMID 23960511.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]