ทุ่งสังหาร (ภาพยนตร์)
ทุ่งสังหาร | |
---|---|
กำกับ | โรแลนด์ จอฟเฟ |
เขียนบท | บรูซ โรบินสัน |
สร้างจาก | The Death and Life of Dith Pran โดย ซิดนีย์ ชานเบิร์ก |
อำนวยการสร้าง | เดวิด พัตต์นัม |
นักแสดงนำ | แซม วอเตอร์สตัน, จอห์น มัลโควิช, เฮียง เอส. งอร์ |
กำกับภาพ | คริส เมนเกส |
ตัดต่อ | จิม คลาร์ก |
ดนตรีประกอบ | ไมค์ โอลด์ฟิลด์ |
บริษัทผู้สร้าง |
|
ผู้จัดจำหน่าย | วอร์เนอร์บราเธอร์ส |
วันฉาย | 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 (สหรัฐอเมริกา) |
ความยาว | 141 นาที |
ประเทศ | สหราชอาณาจักร |
ภาษา | ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเขมร |
ทุนสร้าง | $14.4 ล้านเหรียญสหรัฐ[1] |
ทำเงิน | $34.7 ล้านเหรียญสหรัฐ[2] |
ข้อมูลจาก All Movie Guide | |
ข้อมูลจาก IMDb |
ทุ่งสังหาร (อังกฤษ: The Killing Fields) เป็นภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2527 ซึ่งกล่าวถึงประเทศกัมพูชาในยุคการปกครองของเขมรแดง โดยอาศัยเค้าโครงเรื่องจากประสบการณ์จริงของนักข่าวหนังสือพิมพ์ที่เข้าไปทำข่าวในกัมพูชาขณะนั้น 3 คน ได้แก่ ซิดนีย์ ชานเบิร์ก นักข่าวชาวอเมริกัน ดิธ ปราน ล่ามและนักข่าวชาวเขมร และจอน สเวน นักข่าวชาวอังกฤษ ภาพยนตร์เรื่องนี้ซึ่งได้รับรางวัลออสการ์ครั้งที่ 57 เป็นผลงานการกำกับของโรแลนด์ จอฟเฟ นำแสดงโดยแซม วอเตอร์สตัน, ดร. เฮียง เอส. งอร์, จูเลียน แซนด์, และ จอห์น มัลโควิช
ภาพยนตร์เรื่องนี้ส่วนใหญ่ถ่ายทำในประเทศไทย ซึ่งมีลักษณะทางวัฒนธรรมและภูมิประเทศใกล้เคียงกับประเทศกัมพูชามากที่สุด เนื่องจากในช่วงเวลาที่ถ่ายทำภาพยนตร์นั้น แม้ประเทศกัมพูชาจะสิ้นสุดยุคการปกครองของเขมรแดงแล้ว แต่ประเทศก็ยังอยู่ในช่วงฟื้นฟูจากสงครามกลางเมืองในยุคก่อนหน้า และยังคงมีการปะทะกันระหว่างกองทหารของขั้วการเมืองต่างๆ ในกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง การเข้าไปใช้สถานที่จริงในการถ่ายทำภาพยนตร์จึงไม่ปลอดภัย
ชื่อภาษาไทยของภาพยนตร์ชุดนี้มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง ครั้งแรกใช้ชื่อว่า "สิ้นชาติ สิ้นแผ่นดิน" ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็น "แผ่นดินของใคร" และ "ทุ่งสังหาร" ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้อยู่ในขณะนี้ เหตุที่มีหลายชื่อก็เนื่องจากว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการเปลี่ยนผู้ถือครองลิขสิทธิ์ในประเทศไทยหลายครั้ง[3]
เนื้อเรื่อง
[แก้]เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2516 สาธารณรัฐเขมรทำสงครามต่อต้านกลุ่มเขมรแดง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการแทรกซึมตามเส้นทางโฮจิมินห์ของเวียดกงในสงครามเวียดนาม โดยมีสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล "ดิธ ปราน" ล่ามและนักข่าวของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ชาวเขมร เดินทางมารอรับ "ซิดนีย์ ชานเบิร์ก" นักข่าวชาวอเมริกันจากหนังสือพิมพ์เดียวกัน ที่สนามบินโปเชนตงในกรุงพนมเปญ แต่ด้วยเที่ยวบินที่ล่าช้าไป 3 ชั่วโมงและเกิดเหตุด่วนขึ้น ปรานจึงรีบออกไปหาข่าวและไม่ได้อยู่รอรับชานเบิร์ก เมื่อชานเบิร์กเข้าพักที่โรงแรมในกรุงพนมเปญแล้ว ปรานจึงเข้ามาบอกข่าวกับชานเบิร์กว่า เครื่องบินบี-52 ของอเมริกาทิ้งระเบิดลงที่เมืองเนียะเลือง ในเขตอำเภอเพียมรอก์ จังหวัดไพรแวง ด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นฐานที่มั่นของเขมรแดง ทั้งสองจึงไปทำข่าวในสถานที่เกิดเหตุ โดยลักลอบเดินทางไปด้วยเรือของตำรวจน้ำ ณ ที่นั้น ทั้งสองได้พบกับสภาพเมืองที่ถูกทำลายจนราบเป็นหน้ากลอง และมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก เมื่อทั้งสองจะถ่ายภาพประกอบข่าว ทหารของรัฐบาลได้ขัดขวางไม่ให้พวกเขาถ่ายภาพและจับกุมตัวไปสอบสวน ก่อนได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมาไม่นานเมื่อกองทัพสหรัฐฯ นำเฮลิคอปเตอร์พานักข่าวมาทำข่าวตามที่ฝ่ายรัฐบาลและอเมริกาได้จัดฉากไว้เพื่อกลบเกลื่อนความจริงที่เนียะเลือง ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้ชานเบิร์กรู้สึกไม่พอใจต่อการกระทำของฝ่ายสหรัฐฯ อย่างยิ่ง แต่ก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้
ในปี พ.ศ. 2518 กรุงพนมเปญใกล้จะเสียให้แก่ฝ่ายเขมรแดง รัฐบาลสหรัฐฯ จึงสั่งปิดสถานทูตและอพยพพลเมืองสหรัฐฯ ในกัมพูชา ชานเบิร์กได้ช่วยอพยพปรานและครอบครัวให้ไปอยู่ที่สหรัฐฯ แต่ตัวชานเบิร์กเองต้องการจะติดตามดูเหตุการณ์จนถึงที่สุด ปรานจึงตัดสินใจส่งเพียงครอบครัวของตนไปที่สหรัฐฯ และอยู่ช่วยชานเบิร์กทำข่าวที่พนมเปญต่อไป เมื่อกองทัพเขมรแดงบุกเข้ามาถึงกรุงพนมเปญ ทั้งชานเบิร์กและปรานก็ได้ไปทำข่าวการฉลองชัยชนะและสันติภาพของเขมรแดง พวกเขาได้พบกับ "อัล ร็อกออฟ" และ "จอน สเวน" เพื่อนนักข่าวชาวต่างประเทศ ซึ่งได้พาปรานกับชานเบิร์กไปดูอีกด้านหนึ่งของกรุงพนมเปญที่ยังคงปรากฏภาพของความรุนแรงจากฝ่ายเขมรแดงในวันนั้น ทั้งหมดได้ถูกทหารเขมรแดงจับกุมตัวไปยังสถานที่แห่งหนึ่งขณะกำลังสำรวจโรงพยาบาลที่รับรักษาผู้บาดเจ็บจากสงคราม ปรานได้พยายามเจรจากับหัวหน้าทหารเขมรแดงอยู่นานหลายชั่วโมงเพื่อขอให้ปล่อยตัวนักข่าวชาวตะวันตกทุกคนจนสำเร็จ
หลังจากถูกปล่อยตัวแล้ว ปรานและกลุ่มนักข่าวชาวตะวันตกทุกคนกลับมาในกรุงพนมเปญอีกครั้ง ทั้งหมดเก็บข้าวของของตนเองออกมาจากโรงแรมเท่าที่จะทำได้ และเดินทางออกนอกเมืองตามคำสั่งของเขมรแดง ซึ่งสั่งให้ประชาชนทุกคนทิ้งเมืองและอพยพไปสู่ชนบท พวกเขาไปอยู่รวมกันที่สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงพนมเปญ อันเป็นสถานที่ที่ชาวต่างชาติทั้งหมดและชาวเขมรที่ต้องการลี้ภัยมาอยู่รวมกัน ทั้งหมดได้เป็นพยานในการพบเห็นบุคคลสำคัญของรัฐบาลเก่า เช่น สีสุวัตถิ์ สิริมตะ เป็นกลุ่มสุดท้ายก่อนที่จะถูกเขมรแดงจับตัวไป กลุ่มของชานเบิร์กพยายามหาทางช่วยให้ปรานสามารถอพยพออกจากกัมพูชาได้ โดยสเวนช่วยปลอมหนังสือเดินทางของสหราชอาณาจักร ส่วนชานเบิร์กกับร็อกออฟช่วยถ่ายรูปปรานสำหรับติดในหนังสือเดินทาง โดยใช้อุปกรณ์ทุกอย่างเท่าที่จะหาได้ แต่ที่สุดแล้วก็ไม่สำเร็จ เนื่องจากรูปถ่ายของปรานใช้การไม่ได้ ปรานจึงต้องอยู่ในกัมพูชาภายใต้การปกครองของเขมรแดงต่อไป
หลังจากชานเบิร์กออกมาจากกัมพูชาแล้ว เขาได้ให้ความช่วยเหลือครอบครัวของปรานซึ่งอพยพจากกัมพูชามาก่อนหน้านั้นและพำนักอยู่ที่ซานฟรานซิสโก และพยายามขอความช่วยเหลือจากองค์กรด้านมนุษยธรรมต่างๆ ทั่วโลกในการตามหาปราน ส่วนปรานได้กลายเป็นแรงงานเกณฑ์ภายใต้การปกครองของ"อังการ์" หรือรัฐบาลเขมรแดง ต้องใช้ชีวิตอย่างแร้นแค้นแสนสาหัส และต้องแกล้งทำตัวเป็นคนไม่รู้หนังสือ เพื่อเอาตัวรอดจากคำสั่งฆ่าผู้มีความรู้ซึ่งถือว่าเป็นชนชั้นศัตรูของรัฐบาลใหม่ เขาเกือบเสียชีวิตจากการลงโทษและถูกทรมานเพราะแอบดูดเลือดจากคอวัวกินเนื่องจากทนความอดอยากไม่ไหว โชคยังดีที่เขาได้รับการปล่อยตัว ปรานจึงพยายามลอบหนีออกจากค่ายกักกัน แต่ก็ถูกเขมรแดงจับตัวได้ที่หมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งระหว่างทาง เขาได้พบกับหลุมศพของคนที่ตายจากการถูกเขมรแดงสังหารด้วยข้อหาทรยศชาติจำนวนมากด้วย
ที่สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2519 ชานเบิร์กได้รับรางวัลพูลิตเซอร์จากการทำข่าวสงครามกลางเมืองกัมพูชา เขาได้อุทิศรางวัลนี้ให้แก่ปรานด้วย ในงานเลี้ยงคืนนั้น ชานเบิร์กได้เจอกับร็อกออฟขณะเข้าห้องน้ำ เขาโทษว่าชานเบิร์กไม่ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการหาทางช่วยเหลือปรานออกมาจากกัมพูชา คำพูดนี้ทำให้ชานเบิร์กโทษตัวเองว่า ปรานยังอยู่ในกัมพูชาก็เพราะเขาต้องการให้ปรานอยู่ที่นั่นด้วยความเห็นแก่ตัว
ที่กัมพูชา หลังจากปรานถูกจับกุมตัวอีกครั้ง เขาก็ได้ทำงานเป็นพี่เลี้ยงให้กับลูกชายของ "พัด" หัวหน้าเขมรแดงของหมู่บ้านที่ควบคุมตัวปรานไว้ พัดให้ความไว้วางใจแก่ปรานเต็มที่แม้จะรู้ว่าปรานมีความรู้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสก็ตาม เมื่อพัดเห็นว่าสถานการณ์ของรัฐบาลเขมรแดงเลวร้ายลงจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายภายในพรรคและการรุกรานของเวียดนาม เขาจึงฝากฝังลูกชายไว้ให้ปรานดูแลก่อนที่จะถูกทหารเขมรแดงดัวยกันสังหารในช่วงที่กองทัพเวียดนามใกล้จะรุกเข้ามาถึงหมู่บ้านของพัด ปรานได้พาลูกชายของพัดและนักโทษชายคนอื่นๆ อีก 4 คน หลบหนีออกจากกัมพูชาโดยมุ่งขึ้นไปทางชายแดนตอนเหนือ ระหว่างทางเพื่อนร่วมทางสามคนได้แยกกันไปอีกทางหนึ่ง ส่วนนักโทษที่เหลือกับลูกชายของพัดเสียชีวิตจากกับระเบิดที่ฝังไว้ในป่า ปรานจึงรอดชีวิตจนมาถึงศูนย์ผู้อพยพบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เพียงคนเดียว
เมื่อชานเบิร์กรู้ข่าวว่าปรานยังมีชีวิตอยู่และปลอดภัยดี เขาจึงรีบแจ้งข่าวให้ครอบครัวของปรานรู้ และรีบเดินทางมาประเทศไทยเพื่อพบกับปรานที่ศูนย์ผู้อพยพ ทั้งสองได้พบกันอีกครั้งในปี พ.ศ. 2522 อันเป็นเวลา 4 ปีหลังจากการลาจากในเหตุการณ์พนมเปญแตกครั้งนั้น
นักแสดง
[แก้]- แซม วอเตอร์สตัน ... ซิดนีย์ ชานเบิร์ก
- เฮียง เอส. งอร์ ... ดิธ ปราน
- จอห์น มัลโควิช ... อัล ร็อกออฟ
- จูเลียน แซนด์ส ... จอน สเวน
- เครก ที. เนลสัน ... พันตรีรีฟ, ผู้ช่วยทูตทหารสหรัฐฯ
- สปอลดิง เกรย์ ... กงสุลสหรัฐฯ ประจำสาธารณรัฐเขมร
- บิล แพเตอร์สัน ... ดร. แม็คเอนไทร์
- อาทอล ฟูการ์ด ... ดร. ซุนเดส์วัล
- เกรแฮม เคนเนดี ... โดกัล
- กาเทอรีน กราปุม เจ็ย ... เซอร์ เมือม (ภรรยาของปราน)
- โอลิเวอร์ ปีเอร์ปาโอลี ... ติโตนี่ (ลูกชายของปราน)
- เอ็ดเวิร์ด เอนเทโร เจ็ย ... สะรุน
- ทอม เบิร์ด ... ที่ปรึกษาด้านการทหารชาวสหรัฐฯ
- สีสุวัตถิ์ มุนีรักษ์ ... พัด (ผู้นำเขมรแดง, หมู่บ้านที่ 2)
- ลำพูน ตั้งไพบูลย์ ... ลูกชายของพัด
- ไอร่า วีลเลอร์ ... เอกอัครราชทูตเวด (สถานทูตฝรั่งเศส)
- เดวิด เฮนรี ... ฟรานซ์
- Patrick Malahide ... Morgan
- Nell Campbell ... Beth
- โจแอน แฮร์ริส ... ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์
- โจแอนนา เมอร์ลิน ... พี่สาวของซิดนีย์ ชานเบิร์ก
- เจย์ บาร์นีย์ ... พ่อของซิดนีย์ ชานเบิร์ก
- Mark Long ... Noaks
- Sayo Inaba ... Mrs. Noaks
- เมา เลง ... สีสุวัตถิ์ สิริมตะ
- ชินซอร์ ซาร์ ... Arresting Officer
- ฮวด มิง ตรัน ... ผู้นำเขมรแดง, หมู่บ้านที่ 1
- Thach Suon ... Sahn
- Neevy Pal ... Rosa
รางวัล
[แก้]รางวัลออสการ์ ค.ศ. 1984
[แก้]- สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (เฮียง เอส. งอร์)
- สาขาถ่ายภาพยอดเยี่ยม (คริส เมนเกส)
- สาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม (จิม คลาร์ก)
ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล:
- สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (เดวิด พัตต์นัม)
- สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (แซม วอเตอร์สตัน)
- สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (โรแลนด์ จอฟเฟ)
- สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (บรูซ โรบินสัน)
รางวัลลูกโลกทองคำ ค.ศ. 1984
[แก้]- สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (เฮียง เอส. งอร์)
ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล:
- สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประเภทดรามา (เดวิด พัตต์นัม)
- สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ประเภทดรามา (แซม วอเตอร์สตัน)
- สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (โรแลนด์ จอฟเฟ)
- สาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (บรูซ โรบินสัน)
- สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ไมค์ โอลด์ฟิลด์)
- Best Film (เดวิด พัตต์นัม) - ได้รับรางวัล
- Best Direction (โรแลนด์ จอฟเฟ) - ได้รับการเสนอชื่อ
- Actor in a Leading Role (เฮียง เอส. งอร์) - ได้รับรางวัล
- Actor in a Leading Role (แซม วอเตอร์สตัน) - ได้รับการเสนอชื่อ
- Most Promising Newcomer to Leading Film Roles (เฮียง เอส. งอร์) - ได้รับรางวัล
- Best Adapted Screenplay (บรูซ โรบินสัน) - ได้รับรางวัล
- Best Film Music (ไมค์ โอลด์ฟิลด์) - ได้รับการเสนอชื่อ
- Best Cinematography (คริส เมนเกส) - ได้รับรางวัล
- Best Production Design (รอย วอล์เกอร์) - ได้รับรางวัล
- Best Editing (จิม คลาร์ก) - ได้รับรางวัล
- Best Sound (เอียน ฟุลเลอร์, คลีฟ วินเทอร์,บิล โรว์) - ได้รับรางวัล
- Best Special Visual Effects (เฟรด เครเมอร์) - ได้รับการเสนอชื่อ
- Best Makeup and Hair (ทอมมี่ แมนเดอร์สัน) - ได้รับการเสนอชื่อ
อื่น ๆ
[แก้]- Eddie Award (จิม คลาร์ก) - ได้รับการเสนอชื่อ
- Boston Society of Film Critics Award for Best Film - ได้รับรางวัล
- Boston Society of Film Critics Award for Best Actor (เฮียง เอส. งอร์) - ได้รับรางวัล
- Boston Society of Film Critics Award for Best Supporting Actor (จอห์น มัลโควิช) - ได้รับรางวัล
- Boston Society of Film Critics Award for Best Cinematography (คริส เมนเกส) - ได้รับรางวัล
- British Society of Cinematographers Award for Best Cinematography (คริส เมนเกส) - ได้รับรางวัล
- César Award for Best Foreign Film (โรแลนด์ จอฟเฟ) - ได้รับการเสนอชื่อ
- David di Donatello for Best Foreign Producer (เดวิด พัตต์นัม) - ได้รับรางวัล
- David di Donatello for Best Foreign Director (โรแลนด์ จอฟเฟ) - ได้รับการเสนอชื่อ
- David di Donatello for Best Foreign Film - ได้รับการเสนอชื่อ
- Directors Guild of America Award for Outstanding Director - Feature Film (โรแลนด์ จอฟเฟ) - ได้รับการเสนอชื่อ
- Guild of German Art House Cinemas Award for Best Foreign Film (โรแลนด์ จอฟเฟ) - ได้รับรางวัล
- London Film Critics Circle Award for Director of the Year (โรแลนด์ จอฟเฟ) - ได้รับรางวัล
- Los Angeles Film Critics Association Award for Best Supporting Actor (จอห์น มัลโควิช) - ได้รับรางวัลที่ 2
- Los Angeles Film Critics Association Award for Best Cinematography (คริส เมนเกส) - ได้รับรางวัล
- National Board of Review: Top Ten Films - ได้รับรางวัล
- National Society of Film Critics Award for Best Supporting Actor (จอห์น มัลโควิช) - ได้รับรางวัล
- National Society of Film Critics Award for Best Cinematography (คริส เมนเกส) - ได้รับรางวัล
- New York Film Critics Circle Award for Best Cinematographer (คริส เมนเกส) - ได้รับรางวัล
- New York Film Critics Circle Award for Best Film - ได้รับรางวัลที่ 2
- Political Film Society Special Award - ได้รับรางวัล
- Writers Guild of America Award for Best Adapted Screenplay (บรูซ โรบินสัน) - ได้รับรางวัล
การถ่ายทำ
[แก้]ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถ่ายทำในประเทศไทยเกือบทั้งหมด โดยเริ่มในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ในหลายพื้นที่ อาทิ ถนนท่าดินแดงในเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร, จังหวัดนครปฐม, จังหวัดภูเก็ต, อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี, อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, ปราสาทหินพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่[4] เบื้องหลังการถ่ายทำดังกล่าวได้ถูกบันทึกไว้โดยสมพล สังขะเวส ผู้ช่วยผู้กำกับฝ่ายไทย ในหนังสือชื่อ "The Killing Fields บันทึกถึงทุ่งสังหาร" [5]อนึ่ง สมพลยังได้แปลนิยายที่ดัดแปลงจากบทภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ซึ่งเขียนโดย คริสโตเฟอร์ ฮัดสัน โดยตีพิมพ์ภายใต้ชื่อ "The Killing Fields ล้างชาติ ล้างแผ่นดิน"[6] ซึ่งมีรายละเอียดบางอย่างที่ได้ตัดออกไปจากฉบับภาพยนตร์ที่ฉายจริง เนื่องจากข้อจำกัดในด้านความยาวของภาพยนตร์ที่ออกฉาย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Walker, John (1985). The Once and Future Film: British Cinema in the Seventies and Eighties. London: Methuen. p. 117. ISBN 0-413-53540-1.
- ↑ ทุ่งสังหาร ที่บ็อกซ์ออฟฟิศโมโจ
- ↑ "Killing Fields". BangkokDVD. 24 ธันวาคม 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กันยายน 2012.
- ↑ เริ่มถ่ายทำภาพยนตร์ The Killing Fields ที่กรุงเทพฯ, หน้า 185. กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485–2554 โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ISBN 978-974-228-070-3
- ↑ The Killing Fields บันทึกทุ่งสังหาร สมพล สังขะเวส
- ↑ "ตำนานสังหารที่โลกไม่เคยลืม - mascoops.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2019. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2019.