มัตสยะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Matsya)
มัตสยะ
อวตารของพระวิษณุ
ในสภาวะครึ่งคนครึ่งปลา
ชื่อในอักษรเทวนาครีमत्स्य
ชื่อในการทับศัพท์ภาษาสันสกฤตMatsya
ส่วนเกี่ยวข้องอวตารของพระวิษณุ
อาวุธเคาโมทกี, สุทรรศนจักร

มัตสยะ (สันสกฤต: मत्स्य มตฺสฺย แปลว่า ปลา) เป็นหนึ่งในอวตารสิบปางของพระวิษณุ ถือเป็นอวตารแรก โดยมีรูปลักษณ์เป็นปลาขนาดใหญ่ผู้คอยช่วยเหลือพระไววัสวัตมนู เหล่าสัปตฤๅษีและสัตว์โลกจากอุทกภัยใหญ่ แต่ในคติพราหมณ์ไทยเรียกว่า มัจฉา ถือเป็นอวตารที่สามของพระวิษณุ[1]

เอกสารแรกสุดเกี่ยวกับมัตสยะในฐานะปลาผู้ช่วยเหลือสัตว์โลกนั้นยกให้มัตสยะมีสถานะเท่าเทียมกับพระประชาบดีเทพสมัยพระเวท แต่ในยุคหลังพระเวท เรื่องราวของปลามัตสยะเกลื่อนกลืนไปกับพระพรหม และภายหลังก็กลายเป็นอวตารหนึ่งของพระวิษณุ[2][3][4] ตำนานมัตสยะได้รับการขยายความต่อ ๆ มาในเอกสารฮินดู จนปรากฏเป็นเนื้อหาเชิงสัญลักษณ์ที่เล่าขานว่า พระมนูปกป้องปลาเล็กตัวหนึ่งไว้จนเติบใหญ่ไปช่วยกอบกู้โลก[5][6]

ลักษณะของมัตสยะนั้น บางครั้งปรากฏเป็นปลายักษ์ กายสีทองนพเก้า ใหญ่ยาวล้านโยชน์ มีหงอนใหญ่สูงเท่าต้นยาง บางครั้งแสดงภาพเป็นพระวิษณุมีกายท่อนล่างเป็นปลา[7][5]

นิรุกติศาสตร์[แก้]

มตฺสฺย เป็นคำในภาษาสันสกฤต แปลว่า "ปลา" ปรากฏในคัมภีร์ ฤคเวท[8] ตรงกับคำในภาษาปรากฤตว่า มจฺฉ ที่แปลว่า "ปลา" เช่นกัน[8]

ตำนาน[แก้]

ทางซ้ายเป็นภาพมัตสยะลากเรือของพระมนูและเหล่าสัปตฤๅษี และทางขวาภาพมัตสยะกำลังปราบหัยครีพ โดยมีพระอินทร์และพระพรหมทอดพระเนตรอยู่

เมื่อเวลาใกล้สิ้นยุค ขณะพระพรหมบรรทมอยู่ มีอสูรตนหนึ่งนามว่าหัยครีพ (हयग्रीव) หรืออสูรหัวม้า ลอบขโมยพระเวทไปจากพระพรหม และลงไปแอบซ่อนในหอยสังข์ ทำให้เขามีอีกชื่อว่าศังขาสูร (शंखासुर) อยู่ใต้มหาสมุทร เมื่อพระวิษณุทราบจึงอวตารมาเป็นปลานามว่า ศะผะริ ต่อมาขณะพระสัตยพรตหรือพระไววัสวัตมนูกำลังสรงน้ำ ก็พบว่าในน้ำที่จะรดสรงนั้นมีปลาน้อยอยู่ในนั้น ปลาน้อยขอให้พระมนูเลี้ยงตนเองไว้เพราะเกรงจะถูกปลาใหญ่กิน[5] และให้สัญญาว่าจะช่วยพระมนูให้รอดพ้นจากภัยน้ำท่วมโลกที่กำลังจะมาถึง พระมนูตอบตกลง หลังจากนั้นทรงเลี้ยงปลานี้ไว้ในหม้อ ต่อมาให้คนขุดคูน้ำให้ปลานี้อาศัย เมื่อปลานี้ตัวโตพอที่จะพ้นจากอันตราย พระมนูจึงปล่อยปลาลงไปในมหาสมุทร[5][9] ปลากล่าวขอบคุณพระมนู แล้วบอกวันที่น้ำจะท่วมโลกแก่พระมนู โดยให้สร้างเรือไว้ ให้สามารถผูกเชือกไว้กับเขาของปลาได้ด้วย (ใน ศตบทพราหมณะ ระบุว่าบนเรือมีสัปตฤๅษีและบรรทุกเมล็ดพืชไว้ในนั้นด้วย)[2][5] เมื่อน้ำท่วมมาถึงพระมนูผูกเรือเข้ากับเขาของปลา ฝ่าพายุและภยันตรายต่าง ๆ จากห้วงมหรรณพ แล้วปลาก็พาเรือไปยังพื้นที่สูงบนภูเขาตอนเหนือ (คือเทือกเขาหิมาลัย) พระมนูรอดชีวิตเพียงคนเดียวจึงปฏิบัติตนใหม่อย่างเคร่งครัดพร้อมกับทำพิธียัชญะ เทพีอีทาปรากฏตัวขึ้นจากการทำพิธียัชญะ และทั้งสองเริ่มต้นเผ่าพันธุ์มนุษย์ขึ้นใหม่อีกครั้ง[5][10][11][12]

ครั้นน้ำลดลง มัตสยะจึงลงไปปราบหัยครีพและแย่งพระเวทกลับคืนมาได้[13]

คติพราหมณ์ไทย[แก้]

ในคติพราหมณ์ไทย เรียกว่า มัจฉาวตาร เป็นอวตารลำดับที่สามของพระนารายณ์[14] ในหนังสือ นารายณ์สิบปาง ฉบับโรงพิมพ์หลวง ต่อจากเหตุการณ์ที่พระนารายณ์อวตารเป็นกัจฉปาวตารไปปราบผีเสื้อน้ำที่ลักไตรเพทไปให้อสุรมัจฉาร้อยโกฏิ อสุรมัจฉานำไตรเพทไปฝากสังขอสูร (หรือสะกดว่า สังขะอสูร) พระนารายณ์จึงอวตารเป็นปลากรายทองนามว่ามัจฉาวตารลงไปปราบสังขอสูร ปรากฏว่าสังขอสูรกลืนไตรเพทลงท้อง มัจฉาจึงสังหารสังขอสูรแล้วง้างปากล้วงเอาไตรเพทคืน หลังจากนั้นพระนารายณ์ทรงสาปปลากรายไว้ว่ามนุษย์จะเอาไปกินเป็นอาหารก็ยากนัก และสาปหอยสังข์ว่าถ้ามนุษย์จะทำการมงคลในภายหน้า ก็ให้สังข์อยู่พิธีนั้น ใครนำน้ำรดสังข์ก็จะป้องกันเสนียดจัญไร เพราะสังข์เคยกลืนไตรเพทไว้ในอุทร

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวว่า มัจฉาวตารของไทยมีเนื้อหาค่อนข้างดี[15] และทรงสังเกตว่าลำดับการอวตารถูกเรียงผิดไปจากคติอินเดีย เพราะไทยเรียงไว้เป็นอวตารลำดับที่สามทั้ง ๆ ที่เป็นเหตุการณ์สิ้นกัลป์ก่อนและเริ่มกัลป์ใหม่ รวมทั้งกรณีที่มัจฉาวตารนี้ไม่กล่าวถึงเหตุการณ์น้ำท่วมโลกไว้เลย หากแต่กล่าวถึงการปราบอสูรเพื่อชิงพระเวทคืนเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องยิบย่อยในมัตสยาวตารของอินเดีย[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ. "พระเป็นเจ้าของพราหมณ์ อวตาร". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 Krishna 2009, p. 33.
  3. Rao pp. 124-125
  4. "Matsya". Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica Inc. 2012. สืบค้นเมื่อ May 20, 2012.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 Bonnefoy 1993, pp. 79–80.
  6. George M. Williams 2008, pp. 212–213.
  7. Rao p. 127
  8. 8.0 8.1 Monier Monier-Williams, Sanskrit-English Dictionary and Etymology, Oxford University Press, pages 776-777
  9. Alain Daniélou (1964). The Myths and Gods of India: The Classic Work on Hindu Polytheism from the Princeton Bollingen Series. Inner Traditions. pp. 166–167 with footnote 1. ISBN 978-0-89281-354-4.
  10. Aiyangar 1901, pp. 120–1.
  11. "Satapatha Brahmana Part 1 (SBE12): First Kânda: I, 8, 1. Eighth Adhyâya. First Brâhmana". www.sacred-texts.com. สืบค้นเมื่อ 2019-12-28.
  12. Dikshitar 1935, pp. 1–2.
  13. Narada Purana 1952, pp. 1978–9.
  14. "นารายณ์สิบปาง". นามานุกรมวรรณคดีไทย. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ. "ลิลิตนารายณ์สิบปาง พระราชนิพนธ์ คำนำ". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

อ่านเพิ่มเติม[แก้]