พระทัตตาเตรยะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระทัตตาเตรยะ
พระทัตตาเตรยะ
พระทัตตาเตรยะ ภาพวาดโดย Raja Ravi Varma
ส่วนเกี่ยวข้องอวตารและร่างประสมของตรีมูรติ, พระวิษณุการสำแดงของปรพรหมัน[1][2][3]
ที่ประทับหลายแห่งตามการตีความ
สัญลักษณ์Japamala, Kamandalu, ตรีศูล, บัณเฑาะว์, สังข์ และสุทรรศนจักร[4][5][6]
เทศกาลทัตตาชยันตี
ข้อมูลส่วนบุคคล
คู่ครองพระแม่อนฆา
บุตร - ธิดาNimi (รายงานจากศานติบรรพในมหาภารตะ)
บิดา-มารดา
พี่น้องพระจันทร์กับทุรวาส

"พระทัตตาเตรยะ" (สันสกฤต: दत्तात्रेय, Dattātreya) เป็นบุตรของพระฤาษีอัตริและพระนางอนุสูยา เป็นอวตารแห่งพระตรีมูรติทั้ง 3 องค์ได้แก่ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ ในนารายณ์สิบปาง และเป็นอาจารย์ของท้าวการตวีรยะ อรชุน คู่ปรับของปรศุราม

ตามตำนานในปุราณะ "ทัตตาเตรยะ" เป็นบุตรของ "ฤษีอัตริ" และ "นางอนสุยา" (ฤษิก) ฤษีอัตริผู้นี้ เชื่อว่าเป็นผู้รจนาพระเวทท่านหนึ่งและอยู่ในกลุ่ม "สัปตฤษี" หรือฤษีทั้งเจ็ดตนผู้เป็นบรรพชนของคนและสิ่งทั้งหลายในโลก

ตำนานเล่าว่า "ฤษีอัตริ" ชราภาพแล้ว และนางอนสูยาเป็น "ปดิวรดา" คือผู้ภักดีในสามี พระตรีมูรติทั้งสามองค์ คือพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ จึงได้ลงมา "อวตาร" รวมกันเป็นบุตรคนเดียวของท่าน (บางตำนานก็ว่า ทั้งสามพระองค์อวตารมาเป็น "บุตรทั้งสาม" โดยทัตตะเป็นพระวิษณุอวตาร)

คนในแคว้นมหาราษฎร์ (หรือคนมาราฐา) เชื่อกันว่าบ้านเกิดของพระทัตตาเตรยะคือ "เมืองมหูร" (Mahur) ทางทิศตะวันออกของแคว้นมหาราษฎร์ ดังนั้น ตำนานนี้คงแพร่หลายอยู่ในชาวมาราฐาก่อน และแพร่ไปสู่ส่วนอื่นๆ เช่น รัฐอานธรประเทศ และเตลังคนา เรื่อยไปจนถึงรัฐทมิฬนาฑู

รูปเคารพของพระทัตตาเตรยะที่นิยมสร้างกันในแคว้นมหาราษฎร์และอันธรประเทศ เป็นรูปนักบวช (สันยาสี) มีสามเศียร (ซึ่งคือพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ) มีหกกร แต่ละกรถือข้าวของของพระตรีมูรติทั้งสาม คือจักรและสังข์ (ของพระวิษณุ) ตรีศูลและกลองบัณเฑาะว์ (พระศิวะ) และประคำกับหม้อน้ำกมัณฑลุ (ของพระพรหม)

รูปเคารพของพระทัตตาเตรยะ เป็นรูปลักษณะนักบวช มีสามเศียร (ซึ่งคือพระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหมณ์) ทรงมีหกพระกร แต่ละกรถือเครื่องทรงอาวุธของเทพเจ้าทั้งสาม นั้นคือ คือตรีศูล กลองบัณเฑาะว์ ของพระศิวะ จักร สังข์ ของพระวิษณุ และประคำกับหม้อน้ำ ของพระพรหม และจะมีพระโค และสุนัข 4 ตัวอยู่ล้อมรอบ (ในบางตำรา กล่าวว่า สุนัขทั้ง 4 ตัวนั้น คือพระเวททั้ง 4 อันได้แก่ ฤคเวท  สามเวท ยชุรเวท  และอาถรรพเวท)

ภาพพระทัตตาเตรยะทรงยืนโดยมีโคหนึ่งตัวให้พิงและมีสุนัขสี่ตัวอยู่รายรอบ บางตำราตีความว่าสุนัขคือพระเวททั้งสี่ (ฤค ยชุ สามะ และอถรวะ) แต่บางตำราก็ว่า พระเวทไม่ควรแทนที่ด้วยสัญลักษณ์ของสัตว์ชั้นต่ำ (ในวัฒนธรรมฮินดู) อย่างสุนัข รูปนี้จึงควรตีความเพียงว่า คำสอนของพระทัตตะนั้นไม่มีแบ่งชนชั้น ไม่ว่าจะเป็นสัตว์แสนประเสริฐอย่างโคไปจนถึงสุนัข ความหมายของสุนัขทั้งสี่ที่แท้จริง สายสัจธรรมสมาธิซึ่งท่านมหาคุรุศรีทัตตัตเตรย์หรือคุรุทัตตะ เป็นปรมาจารย์สอนธรรมโลกุตตรที่ถ่ายทอดโดยมหาคุรุมาจนถึงปัจจุบันนั้นหมายถึงธาตุทั้งสี่ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) ที่ร่างประกอบให้จิตวิญญาณอาศัย

พระทัตตาเตรยะเป็นเทพเจ้าในรูปนักบวช จึงไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับ "ความรัก" แต่มีบทบาทครู เชื่อว่าท่านได้สอนสั่งธรรมชั้นสูงขั้นโลกุตระ เฉกเช่นพระกฤษณะสอน "ภควัทคีตา" แก่อรชุนในทุ่งกุรุเกษตร ด้วยเหตุนี้ท่านจึงถูกเรียกด้วยความเคารพว่า "คุรุทัตตะ" หรือ "ทัตตคุรุ" (สันสกฤต: जय गुरुदत्ता, Gurudatta) คำสอนของคุรุทัตตะปรากฏในคัมภีร์ชื่อ "อวธูตคีตา" (ใช้คำว่า "คีตา" แบบเดียวกับภควัทคีตาและคีตาอื่นๆ) "อวธูต" แปลว่า ผู้เสรี หรือเป็นอิสระ บางครั้งหมายถึงนักบวชจำพวกหนึ่ง ซึ่งไม่สังกัดลัทธินิกายใดและมีอิสระจากประเพณีธรรมเนียมปฏิบัติทั้งหลาย คัมภีร์เล่มนี้นักวิชาการเห็นว่ามีทัศนะสอดคล้องกับปรัชญาสำนักเวทานตะ และมีส่วนคล้ายคำสอนของฝ่ายตันตระทั้งพุทธและฮินดู

นอกจากที่มาในเชิงเทวตำนาน พระทัตตาเตรยะอาจเป็นบุคคลจริงๆ ในประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจเป็นนักบวชผู้ก่อตั้งสายการปฏิบัติหลายสาย เช่นนิกาย "นาถ" อันเป็นนิกายของนักบวชฮินดูที่แพร่หลายช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14-18 ในภาคเหนือของอินเดียเรื่อยไปจนถึงเนปาล และอาจนับเป็นสาขาหนึ่งของไศวะนิกาย

กระนั้น นักบวชของนาถบางองค์มีความเกี่ยวพันกับพุทธศาสนาฝ่ายตันตระด้วย คือได้รับการนับถือเป็นคุรุจากชาวพุทธ เช่น โครักขนาถ (ในคัมภีร์ฝ่ายตันตระเรียกว่ามหาสิทธาโครักษะ) และเป็นที่มาของชื่อเมือง "โครักขปุระ"(บางคนไพล่ไปเขียน โครักขะ เป็น "กูรข่า" ทำให้สับสนเข้าใจผิดกันไปหมด)

นักวิชาการอินเดียบางท่านเห็นว่า การที่คุรุทัตตะกลายเป็นต้นวงศ์ของพวกนาถนั้น ก็เพราะมีการเพิ่มความเชื่อนี้เข้าไปในศตวรรษที่สิบแปด แต่สายการปฏิบัติจริงๆ ของคุรุทัตตะได้สืบทอดมาในกลุ่มคนมาราฐาโดยเฉพาะ เรียกว่าสาย "คุรุจริต" เพราะอิงคัมภีร์ที่ชื่อ "คุรุจริต" (เรื่องราวของคุรุ) ประพันธ์ขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 14 โดยนักบวชชื่อสวามี นรสิงหะ สรัสวตี ซึ่งสืบสายธรรมอีกส่วนมาจากสำนักของท่านศังกราจารย์

ในคุรุจริตเล่าว่า ท่านคุรุทัตตะผู้เป็นต้นสายธรรม ได้ "อวตาร" มาเป็นคุรุ ชื่อ "ศรีปาทะ ศรีวัลลภะ" แห่งนิกายทัตตาเตรยะ จากนั้นผู้สืบทอดคนต่อไปคือ สวามีนรสิงหะ สรัสวตี ตามด้วย สวามีสมารถ แห่งอกลโกฏ (ใครไปแถบนั้น มักเห็นรูปท่านตามรถราและอาคาร ชาวมาราฐานับถือกันมาก) และบางครั้งก็ยังอ้างว่า ได้สืบมายังท่านไสบาบาแห่งศิรทิ (ซึ่งเป็น 'ฟาร์กี' หรือนักบวชมุสลิมสายซูฟี คนละองค์กับ 'สาธุ' นักบวชฮินดูที่เกล้าผมมุ่นเป็นมวยสูงอยู่ในอินเดียใต้)

คุรุทั้งหมดนี้ในนิกายถือกันว่าเป็นอวตารของคุรุทัตตะทั้งสิ้น ที่จริงสายธรรมคุรุจริตมีอายุไม่เก่าแก่ เพราะมีคุรุสืบมาเพียงสี่คน และเป็นไปได้ว่าเป็นการเชื่อมโยงเอาในภายหลัง นอกจากสองสายปฏิบัติข้างต้น ยังมีการอ้างถึงคุรุทัตตะในสายปฏิบัติอื่นๆ อีกมากมาย เช่น สายทศนามี สายภักติ (นักบุญในสายนี้หลายคนเอ่ยถึงคุรุทัตตะ) สายมหานุภาวะ ฯลฯ เรียกได้ว่าคุรุทัตตะเป็นที่นิยมอย่างยิ่ง

ความนิยมดังกล่าวอาจเพราะ คุรุทัตตะนั้นมีความ "คลุมเครือ" มากพอที่จะสามารถนำไปเชื่อมโยงกับสายการปฏิบัติของตน คือดูเป็นนักบวชลึกลับ มีปาฏิหาริย์ แถมยังเป็นถึง "ตรีมูรติอวตาร" ไม่ใช่คุรุธรรมดาๆ คล้ายๆ กับการอ้างถึง "หลวงปู่เทพโลกอุดร" ในประเทศไทย

ส่วนความรู้เกี่ยวกับตรีมูรติแบบคุรุทัตตะนั้นคงมาถึงประเทศไทย ในราว ปี พ.ศ. 2530-2540 เพราะปรากฏว่า เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ได้สร้างตรีมูรติในรูปแบบคุรุทัตตะทำด้วยทองคำ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในปี พ.ศ. 2545 ซึ่งในพิธีมีพราหมณ์อินเดียทั้งจากเทพมณเฑียรและวัดแขกสีลมเข้าร่วมด้วย

ดังนั้น เทวสถานโบสถ์พราหมณ์จึงถือเอาตรีมูรติ ในรูปคุรุทัตตะเป็นมาตรฐาน เมื่อกรุงเทพมหานครได้ทำการบูรณะเสาชิงช้าในปี พ.ศ. 2550 ได้มีการจัดสร้างพระตรีมูรติแบบเดียวกับที่หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ทางโบสถ์พราหมณ์จึงไม่ได้เข้าร่วมพิธีกรรมเทวาภิเษกแต่อย่างใด พระตรีมูรติที่อยู่หน้าเซ็นทรัลเวิลด์ นั้นแท้จริงแล้วไม่ใช่พระตรีมูรติ แต่เป็น พระสทาศิวะ หรือ พระปัญจมุขี (พระศิวะ 5 เศียร) แต่เนื่องจากผู้สร้าง ผู้บวงสรวง และผู้จัดตั้งนั้นมีความเข้าใจผิด โดยจัดสร้างอย่างผิดๆ เพราะไม่มีพระตรีมูรติในตำราหรือคำภีร์ไหนที่มี 5 เศียรเลย พระตรีมูรติที่ถูกต้องจะต้องมี 3 เศียรเท่านั้น

อ้างอิง[แก้]

  1. Tulsidas, Goswami (2020). Srimad Bhagavata Mahapurana. Gorakhpur: Gita Press.
  2. Gorakhpur, Gita Press (2015). Sankshipta Markandeya Puran. Gorakhpur: Gita Press.
  3. J. L., Shastri; G. P., Bhatt; G. V., Tagare. Brahmanda Purana: Ancient Indian Tradition And Mythology.
  4. Tulsidas, Goswami (2020). Srimad Bhagavata Mahapurana. Gorakhpur: Gita Press.
  5. Gorakhpur, Gita Press (2015). Sankshipta Markandeya Puran. Gorakhpur: Gita Press.
  6. J. L., Shastri; G. P., Bhatt; G. V., Tagare. Brahmanda Purana: Ancient Indian Tradition And Mythology.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]