ความจริงวิปลาส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Derealization)

ความจริงวิปลาส (อังกฤษ: derealization มักย่อว่า DR) เป็นความผันแปรทางการรับรู้ที่ประสบการณ์กับโลกภายนอกดูเหมือนไม่จริง อาการอื่น ๆ รวมทั้งรู้สึกว่าโลกรอบ ๆ ตัวเหมือนความฝัน อยู่ห่างไกล หรือบิดเบือน[1]) มันเป็นอาการแยกตัวออกจากความจริง (dissociation) ที่เกิดในภาวะต่าง ๆ รวมทั้งความเครียดรุนแรง การบาดเจ็บทางกายใจ ความซึมเศร้า และความวิตกกังวล[2]

ความจริงวิปลาสเป็นประสบการณ์ที่เป็นอัตวิสัยเกี่ยวกับความไม่จริงของโลกภายนอก เทียบกับบุคลิกวิปลาส (depersonalization) ที่รู้สึกว่าตนเองไม่เป็นจริง แต่นักวิชาการปัจจุบันโดยมากก็ไม่คิดว่าความจริงวิปลาส (สิ่งแวดล้อม) และบุคลิกวิปลาส (ตนเอง) เป็นภาวะที่แยกจากกัน ความจริงวิปลาสเรื้อรังอาจมาจากการทำหน้าที่ผิดปกติของสมองกลีบท้ายทอยและกลีบขมับ[3] ภาวะนี้สามัญในประชากรทั่วไปโดยมีความชุกตลอดชีวิตถึง 5% และ 31-66% เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เจ็บกายหรือใจ[4]

ลักษณะ[แก้]

ในภาวะนี้ อาจเรียกได้ว่ามีสิ่งที่จับต้องไม่ได้/ไม่มีตัวตนที่แยกบุคคลจากโลกภายนอก อาจเป็นเหมือนหมอกคลุมประสาทสัมผัส แผ่นกระจกฝ้า หรือม่านบาง ๆ บุคคลอาจบอกว่า สิ่งที่ตนเห็นรู้สึกไม่มีชีวิตชีวาและไร้อารมณ์ การเห็นบุคคลที่รักอาจมีการตอบสนองทางอารมณ์ลดลงอย่างสำคัญ ความรู้สึกว่าเคยเห็นแล้วทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเห็น (เดฌา-วูว์) หรือว่าไม่เคยเห็นทั้ง ๆ ที่เคยเห็น (jamais vu) เป็นเรื่องสามัญ สถานที่ที่คุ้นเคยอาจรู้สึกแปลก ไม่คุ้นเคย ไม่เป็นจริง อาจไม่สามารถปลงใจถึงสิ่งที่รับรู้ว่าเป็นจริงหรือไม่ อาจรู้สึกเหมือนอยู่ในภาพยนตร์ที่ใช้เทคนิคซูมกล้อง (dolly zoom) ที่ทำให้ขนาดและทัศนมิติของสิ่งที่เห็นผิดเพี้ยนไป การรับรู้ที่บิดเบือนเช่นนี้อาจกระจายไปยังประสาทสัมผัสอื่น ๆ รวมทั้งการได้ยิน การรู้รส และการได้กลิ่น

ความจริงวิปลาสมักเกิดในสถานการณ์ที่วิตกกังวลมาก หรือมีความคิดแทรกซอนที่ไม่สามารถหยุดคิดได้ ในกรณีเช่นนี้ ภาวะอาจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไปตามความวิตกกังวลที่เป็นมูลฐานโดยประกอบกับความคิดที่ก่อทุกข์ จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อถึงจุดวิกฤติโดยมักปรากฏเป็นความตื่นตระหนก (panic attack) ความวิตกกังวลจึงปรากฏอย่างชัดเจนอย่างปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งอาจขัดการดำเนินชีวิตและสร้างพฤติกรรมหลีกเลี่ยง (avoidant behavior) บุคคลที่ประสบกับภาวะความจริงวิปลาสอาจกังวลว่าอะไรเป็นเหตุ โดยยอมรับได้ยากว่า อาการน่าเป็นห่วงเช่นนี้เป็นผลของความวิตกกังวล เพราะมักคิดว่าต้องเป็นเหตุหนักกว่านั้น ซึ่งก็จะทำให้วิตกกังวลมากขึ้นและอาการความจริงวิปลาสแย่ลง ความจริงวิปลาสยังพบว่า ขัดการเรียนรู้ โดยปัญหาทางประชานจะปรากฏเมื่อพยายามระลึกถึงสิ่งที่เรียน และปรากฏเป็นความบกพร่องในการจินตนาการรูปในมิติต่าง ๆ (visuospatial deficit)[5] นี่อาจเข้าใจได้ในฐานะที่บุคคลรู้สึกเหมือนกับประสบเหตุการณ์เป็นบุคคลที่สาม ดังนั้นจึงไม่สามารถรับแล้วประมวลข้อมูลได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะทางการเห็น[6] ผู้ประสบกับภาวะนี้อธิบายความรู้สึกว่าเหมือนกับเห็นโลกผ่านจอโทรทัศน์

สถานรักษาพยาบาลทั่วไปมักจะรู้จักและวินิจฉัยโรคบุคลิกภาพ-ความจริงวิปลาส (Depersonalization-derealization disorder) ค่อนข้างน้อย แม้ในกลุ่มประชากรทั่วไปโรคอาจชุกถึง 5% และในบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บทางกายใจอาจสูงถึง 37%[6] อาการอาจรวมบุคลิกวิปลาส (depersonalization) ความรู้สึกเหมือนกับเป็นคนคอยเฝ้าสังเกต เหมือนกับกลายเป็นตัวตนต่างหากอีกอย่างในโลก โดยทุกอย่างที่กำลังเกิดขึ้น ที่กำลังประสบ ที่กำลังรับรู้ ผ่านการรู้การเห็นของบุคคลอื่นเหมือนกับมองโลกโดยใช้ตาของบุคคลที่หนึ่งภายในเกม (เช่น ในวิดีโอเกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง)[ต้องการอ้างอิง]

เหตุ[แก้]

ภาวะนี้อาจเป็นไปตามภาวะทางประสาทเช่น โรคลมชัก (โดยเฉพาะโรคลมชักเหตุสมองกลีบขมับ) ไมเกรน และการบาดเจ็บที่ศีรษะแบบเบา ๆ[7] การไร้อารมณ์ทางตาและการตอบสนองต่อสิ่งที่เห็นทางอารมณ์น้อยลงคล้ายกับภาวะความจริงวิปลาส ซึ่งแสดงว่ามีปัญหากับกระบวนการที่อารมณ์มาประกอบการรับรู้ การรับรู้ที่เปลี่ยนไปอาจทำให้เห็นโดยรู้สึกว่าไม่จริงหรือว่าเฉย ๆ/ไร้อารมณ์[3] งานศึกษาทางประสาทสรีรภาพบางงานพบปัญหาที่เกิดจากสมองกลีบหน้า-กลีบขมับ ซึ่งมีสหสัมพันธ์อย่างสูงกับโรคที่สมองกลีบขมับเช่นโรคลมชัก

ความจริงวิปลาสอาจปรากฏเป็นผลโดยอ้อมของโรคระบบการทรงตัว (ในหูชั้นใน) บางอย่างเช่น หูชั้นในอักเสบ ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากความวิตกกังวลเหตุเวียนศีรษะ คำอธิบายอีกอย่างก็คือ การทำหน้าที่ผิดปกติของระบบการทรงตัวมีผลต่าง ๆ รวมทั้งการปรับการทำงานของระบบประสาท noradrenergic (ที่ใช้สารสื่อประสาท norepinephrine) และ serotonergic (ที่ใช้สารสื่อประสาทเซโรโทนิน) เพราะไปโทษอาการที่เกิดจากระบบการทรงตัวอย่างผิด ๆ ว่ากำลังตกอยู่ในอันตรายแล้วมีผลให้วิตกกังวลหรือตื่นตระหนก แล้วก่อภาวะความจริงวิปลาส อนึ่ง ภาวะนี้ยังสามัญในอาการทางกายเหตุจิต (psychosomatic symptom) ที่เห็นในโรควิตกกังวลประเภทต่าง ๆ รวมทั้งโรคคิดว่าตนป่วย (hypochondriasis)[8] อย่างไรก็ดี ภาวะนี้ปัจจุบันจัดว่าเป็นปัญหาทางจิตต่างหากอย่างหนึ่งเพราะมันเกิดกับโรคหลายอย่างและก็เกิดเองต่างหากด้วย

งานศึกษาบางงานได้สัมพันธ์ความจริงวิปลาสและอาการดิสโซสิเอทีฟกับความแตกต่างทางสรีรภาพและทางจิตของบุคคลและสิ่งแวดล้อมของบุคคล มีข้อสังเกตว่า การตื่นนอนง่ายบวกกับภาวะบางอย่างเกี่ยวกับการนอน เช่น ภาวะเหมือนฝันเมื่อตื่น ประสาทหลอนช่วงก่อนหลับหรือหลังตื่น ภาวะกลัวจัดในการหลับระยะ (NREM) และความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนอื่น ๆ อาจเป็นเหตุ หรืออาจทำให้ภาวะนี้ดีขึ้นโดยส่วนหนึ่ง[9] ความจริงวิปลาสยังอาจเป็นอาการของความผิดปกติในการนอน (sleep disorder) และความผิดปกติทางจิต เช่น โรคบุคลิกวิปลาส (DPD), ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง (BPD), โรคอารมณ์สองขั้ว, โรคจิตเภท, dissociative identity disorder และโรคทางจิตใจอื่น ๆ[10]

สารต่าง ๆ รวมทั้งกัญชา[11] สารก่ออาการโรคจิต (psychedelics) สารดิสโซสิเอทีฟ ยาแก้ซึมเศร้า กาเฟอีน ไนตรัสออกไซด์ อัลบูเทอรอล และนิโคตินล้วนสามารถก่อภาวะความจริงวิปลาส[ต้องการอ้างอิง] โดยเฉพาะเมื่อใช้มากเกิน มันยังสามารถเกิดเพราะการเลิกแอลกฮอล์/เหล้า หรือหยุดยาเบ็นโซไดอาเซพีน[12] การหยุดใช้โอปิแอตยังอาจก่อภาวะความจริงวิปลาส ซึ่งอาจกลายเป็นอาการเรื้อรัง หรืออาจเกิดทีหลัง ซึ่งแสดงความต่าง ๆ ระดับสูงของปรากฏการณ์นี้ในระหว่างบุคคล

วิธีรักษาโรคตื่นตระหนกที่ไม่ใช้ยาแบบ interoceptive exposure[A] อาจใช้ก่อภาวะความจริงวิปลาสและบุคลิกวิปลาสที่สัมพันธ์กันได้[14]

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. interoceptive exposure เป็นเทคนิคการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมที่ใช้รักษาโรคตื่นตระหนก[13] โดยให้ทำสิ่งที่ก่อความรู้สึกทางกายคล้ายกับเมื่อตื่นตระหนก เช่น หายใจเร็วและการเกร็งกล้ามเนื้อ เป็นวิธีกำจัดการตอบสนองแบบมีเงื่อนไข (conditioned response) โดยเป็นอาการตื่นตระหนกเนื่องกับความรู้สึกทางกายของคนไข้

อ้างอิง[แก้]

  1. DSM-5 (2013), Depersonalization/Derealization Disorder, Diagnostic Criteria, p. 302.
  2. "Depersonalization-derealization disorder - Symptoms and causes". Mayo Clinic (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2019-10-10.
  3. 3.0 3.1 Sierra, M; Lopera, F; Lambert, MV; Phillips, ML; David, AS (2002). "Separating depersonalisation and derealisation: the relevance of the "lesion method"". J. Neurol. Neurosurg. Psychiatry. 72 (4): 530–2. doi:10.1136/jnnp.72.4.530. PMC 1737835. PMID 11909918.
  4. Hunter, EC; Sierra, M; David, AS (2004). "The epidemiology of depersonalization and derealisation. A systematic review". Social Psychiatry and Psychiatric Epidemiology. 39 (1): 9–18. doi:10.1007/s00127-004-0701-4. PMID 15022041.
  5. Guralnik, Orna; Giesbrecht, Timo; Knutelska, Margaret; Sirroff, Beth; Simeon, Daphne (December 2007). "Cognitive Functioning in Depersonalization Disorder". The Journal of Nervous and Mental Disease. 195 (12): 983. doi:10.1097/NMD.0b013e31815c19cd. ISSN 0022-3018.
  6. 6.0 6.1 Etzel, Cardenas (1998). "Derealization Disorders Revisited: Disintegrated Experience" (PDF). APA.
  7. Lambert, MV; Sierra, M; Phillips, ML; David, AS (2002). "The spectrum of organic depersonalization: a review plus four new cases". The Journal of Neuropsychiatry and Clinical Neurosciences. 14 (2): 141–54. doi:10.1176/appi.neuropsych.14.2.141. PMID 11983788.
  8. Simon, NM; Pollack, MH; Tuby, KS; Stern, TA (June 1998). "Dizziness and panic disorder: a review of the association between vestibular dysfunction and anxiety". Ann Clin Psychiatry. 10 (2): 75–80. doi:10.3109/10401239809147746. PMID 9669539.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  9. Lynn, Lillienfeld (2008). "Challenging Conventional Wisdom- Socio-cognitive Framework for DID & Dissociative Disorders" (PDF). Current Directions in Psychological Science – โดยทาง Sage.
  10. Simeon, D; Knutelska, M; Nelson, D; Guralnik, O (September 2003). "Feeling unreal: a depersonalization disorder update of 117 cases". J Clin Psychiatry. 64 (9): 990–7. doi:10.4088/JCP.v64n0903. PMID 14628973.
  11. Johnson, BA (February 1990). "Psychopharmacological effects of cannabis". Br J Hosp Med. 43 (2): 114–6, 118–20, 122. PMID 2178712.
  12. Mintzer, MZ; Stoller, KB; Griffiths, RR (November 1999). "A controlled study of flumazenil-precipitated withdrawal in chronic low-dose benzodiazepine users". Psychopharmacology. 147 (2): 200–9. doi:10.1007/s002130051161. PMID 10591888.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  13. "Interoceptive hypersensitivity and interoceptive exposure in patients with panic disorder: specificity and effectiveness". 2006. PMID 16911803. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  14. Lickel, J; Nelson, E; Lickel, AH; Deacon, Brett (2008). "Interoceptive Exposure Exercises for Evoking Depersonalization and Derealization: A Pilot Study". Journal of Cognitive Psychotherapy. 22 (4): 321–30. doi:10.1891/0889-8391.22.4.321.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)

อ้างอิงอื่น ๆ[แก้]

  • American Psychiatry Association (2013). "Dissociative Disorders". Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (5th ed.). Arlington: American Psychiatric Publishing. pp. 291–307. ISBN 978-0-89042-555-8.