โรคแคงเกอร์ในพืชสกุลส้ม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรคแคงเกอร์ในพืชสกุลส้ม
แผลบนใบพืช
ชื่อสามัญโรคแคงเกอร์มะนาว, โรคขี้กลากในส้ม
เชื้อก่อโรคXanthomonas axonopodis pv. citri
พืชอาศัยพืชสกุลส้ม ได้แก่ ส้ม มะนาว มะกรูด และส้มโอ
รหัส EPPOXANTCI
พื้นที่แพร่ระบาดไทย อินโดนีเซีย จีน อินเดีย รวมทั้งบราซิล อาร์เจนตินา อุรุกวัยและสหรัฐ
รอยโรคแคงเกอร์ในพืชสกุลส้ม บนผลมะนาว

โรคแคงเกอร์ในพืชสกุลส้ม, โรคแคงเกอร์มะนาว หรือ โรคขี้กลากในส้ม[1] (อังกฤษ: citrus canker) เป็นโรคที่มีผลต่อพืชหลายชนิดในสกุลส้ม ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas axonopodis ทำให้เกิดแผลบนใบ ลำต้น และผลของต้นส้ม มะนาว มะกรูด และส้มโอ ซึ่งคล้ายกับอาการของโรคแคงเกอร์ชนิดอื่นคือ เป็นหย่อมแผลตกสะเก็ดนูนของเนื้อเยื่อที่ตายเป็นสีน้ำตาลแก่ แม้ว่าโรคแคงเกอร์ในพืชสกุลส้มจะไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความอยู่รอดของต้นพืชในสกุลส้ม ทำให้ใบและผลร่วงก่อนเวลาอันควร ผลที่เป็นโรคแคงเกอร์นั้นกินได้อย่างปลอดภัย แม้ดูไม่น่ากิน

เชื่อกันว่าเชื้อแบคทีเรียของโรคนี้มีต้นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื้อนี้มีความทนทาน (ความสามารถในการอยู่รอด) สูงมากในพื้นที่ระบาด ความพยายามในการกำจัดโรคนี้อาจต้องใช้การรื้อทำลายทิ้งทั้งสวน[2] ปัจจุบันพบการระบาดของโรคแคงเกอร์ในพืชสกุลส้มในหลายทวีปตั้งแต่ไทย อินโดนีเซีย จีน อินเดีย รวมทั้งบราซิล อาร์เจนตินา อุรุกวัยและสหรัฐ[3][4] เป็นเชื้อที่ส่าคัญมากชนิดหนึ่งของการกักกันพืชในประเทศสหรัฐ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ซึ่งมีการตรวจสอบการนำเข้าผลส้มหรือกิ่งพันธุ์ส้มอย่างเข้มงวด[5]

ชีววิทยาและอนุกรมวิธาน[แก้]

Xanthomonas axonopodis
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
ชื่อทวินาม
Xanthomonas axonopodis
(C H Hasse, 1915)
ชื่อพ้อง

Pseudomonas citrii
Xanthomonas campestris pv. citri
Xanthomonas citri

การค้นพบ[แก้]

คลารา เอช. ฮาสเซ (Clara H. Hasse) ระบุว่าโรคแคงเกอร์ในพืชสกุลส้มไม่ได้เกิดจากเชื้อรา แต่เกิดจากการก่อโรคของแบคทีเรีย[6][7] งานวิจัยของเธอที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการวิจัยทางการเกษตร ปี 1915 ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองพืชสกุลส้มในหลายรัฐของสหรัฐในขณะนั้น[ต้องการอ้างอิง]

ลักษณะทางชีววิทยา[แก้]

Xanthomonas axonopodis เป็นแบคทีเรียแกรมลบรูปแท่งที่มีโพลาร์แฟลกเจลลา ความยาวจีโนมของแบคทีเรียชนิดนี้ประมาณ 5 คู่เมกะเบส กลุ่มชนิดของโรคแคงเกอร์ในพืชสกุลส้มของแบคทีเรีย X. axonopodis สามารถแบ่งออกในระดับ pathovar[8] ได้ดังนี้

  • โรคแคงเกอร์ในพืชสกุลส้มชนิดเอเชีย (แคงเกอร์ เอ; Canker A) คือ X. axonopodis pv. citri เกิดจากกลุ่มของสายพันธุ์ที่พบในเอเชีย ซึ่งเป็นกลุ่มเชื้อที่แพร่หลาย (ครอบคลุมชนิดของพืชอาศัย–ที่สุด[5]) และรุนแรงที่สุด
  • แคนโครซิส บี (Cancrosis B) เกิดจากกลุ่มของ X. axonopodis pv. aurantifolii พบในอเมริกาใต้เป็นโรคที่เกิดจากเลมอน, มะนาวแป้น, ส้มซ่า และส้มโอ
  • แคนโครซิส ซี (Cancrosis C) เกิดจากสายพันธุ์ภายใน X. axonopodis pv. aurantifolii เช่นกัน ติดเชื้อเฉพาะในมะนาวและส้มซ่าเท่านั้น
  • สายพันธุ์ เอ* (A* strains) ค้นพบในโอมาน ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และอินเดีย แพร่เชื้อได้เฉพาะมะนาวแป้นเท่านั้น

ลักษณะอาการและพยาธิวิทยา[แก้]

เชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas axonopodis สามารถเข้าทำลายได้ทุกส่วนของต้น ทั้งใบ กิ่ง และผล ซึ่งใบอ่อนมีความอ่อนไหวมากที่สุดเนื่องจากปากใบที่กว้างกว่า[3][4] มักพบเชื้อนี้เข้าทำลายในช่วงที่ฝนตกติดต่อกันและอากาศชื้น โดยเข้าทำลายที่ใบจากทางปากใบหรือผ่านปากแผลที่เกิดจากหนอน เช่น หนอนชอนใบส้ม (Phyllocnistis citrella)[3][4][9] อาการเริ่มแรกที่ใบและใบอ่อนมักพบเป็นจุดฉ่ำน้ำขนาด 2–3 มิลลิเมตร สีขาวหรือเหลืองอ่อน[10] และกลายเป็นแผลตกสะเก็ดนูนสีน้ำตาลอ่อนถึงแก่ ปกติแล้วจะมีรัศมี (วงแหวน) สีเหลืองรอบแผล แผลจะขยายตัวอย่างช้า ๆ และใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เป็นวงซ้อน ๆ กัน ไม่มีรูปทรงแน่นอน ต่อมาทั้งส่วนนั้นจะเหลืองแห้งและหลุดร่วง ส่วนอาการที่เกิดตามกิ่งอ่อนและผลจะพบแผลตกสะเก็ดนูนขึ้นสีน้ำตาลเช่นเดียวกัน แผลที่กิ่งและผลอาจแตกเป็นแผลทำให้เกิดยางไหล ลุกลามไปยังใบทำให้ใบหลุดร่วงและกิ่งแห้งตายไปในที่สุด[11] ท่าให้ต้นพืชทรุดโทรม และแคระแกรน[5] โดยธรรมชาติไม่พบอาการของโรคที่ราก[10]

ในห้องปฏิบัติการที่มีการควบคุม อาการโรคจะปรากฏขึ้นภายใน 14 วันหลังฉีดเชื้อเข้าในต้นพืชตัวอย่างที่อ่อนแอ ในสภาพแวดล้อมภาคสนามพบว่ามีความหลากหลายทั้งเวลาในการแสดงอาการและอาการที่ชัดเจนต่างจากโรคทางใบอื่น ๆ อาจกินเวลาหลายเดือนหลังจากการติดเชื้อ และผันแปรตามปัจจัยอื่น ๆ เช่น อุณหภูมิที่ต่ำลงจะเพิ่มเวลาแฝงของโรค[3] เป็นต้น แบคทีเรียโรคแคงเกอร์ในพืชสกุลส้มสามารถคงอยู่ได้ในแผลเก่าและพื้นผิวพืชอื่น ๆ เป็นเวลาหลายเดือน โดยเฉพาะที่กิ่งสามารถเป็นแหล่งแพร่เชื้อในฤดูกาลปลูกต่อไปได้[3]

การก่อโรค[แก้]

แบคทีเรีย Xanthomonas axonopodis มีความสามารถในการเกาะเป็นกลุ่มหนาแน่นที่เรียกว่า ฟิล์มชีวภาพ ยึดติดแน่นกับพืชอาศัย (โฮสต์) ฟิล์มชีวภาพเป็นผลมาจากการผลิตพอลีแซคคาไรด์นอกเซลล์ (แซนแทน) ซึ่งเป็นตัวเสริมศักยภาพก่อโรคและเพิ่มอัตราการอยู่รอดของการอิงอาศัยบนสิ่งมีชีวิตอื่น (เอพิไฟต์) ของแบคทีเรีย X. axonopodis pv. citri ก่อนการพัฒนาเป็นโรคแคงเกอร์ในพืชสกุลส้ม นอกจากนี้แบคทีเรียยังหลั่งโปรตีนสร้างเอฟเฟกต์เสมือนตัวกระตุ้นการคัดลอกรหัส (TALe) ผ่านระบบหลั่งสารคัดหลั่งประเภทที่ 3 (T3SS) โปรตีนนี้ทำหน้าที่โต้ตอบกับกลไกภายในเซลล์ของพืชอาศัยเพื่อเหนี่ยวนำการคัดลอกรหัสของยีนที่ควบคุมฮอร์โมนพืช เช่น จิบเบอเรลลิน และออกซิน[12][13]

วงจรโรค[แก้]

แบคทีเรีย Xanthomonas axonopodis สามารถอยู่รอดข้ามฤดูเพาะปลูกในบริเวณที่มีการแพร่ระบาดซึ่งปรากฏเป็นแผลเปื่อยบนใบหรือลำต้น แบคทีเรียจะค่อย ๆ ไหลซึมออกจากแผลเมื่อมีความชื้นอิสระ ในขณะฝนตกลมสามารถพัดพาเชื้อเหล่านี้ไปยังพืชอาศัยที่อ่อนแอต้นอื่น ๆ แบคทีเรียจะแพร่เชื้อเข้าสู่พืชเหล่านี้ผ่านทางปากใบและปากแผล การตัดแต่งกิ่งหรือการเล็มใบสามารถตัดหรือเปิดออกถึงเนื้อเยื่อมีโซฟิลล์ ทำให้เกิดบาดแผลซึ่งพืชอาจติดเชื้อได้โดยตรง ฝนยังสามารถทำให้เกิดน้ำคั่งบนผิวใบ ดันให้น้ำผ่านเข้าทางปากใบ และช่วยการติดเชื้อผ่านช่องเปิดธรรมชาตินี้ การติดเชื้อสามารถเกิดขึ้นได้บนผล ใบ กิ่ง และต้นอ่อน ใบและลำต้นอ่อนไหวต่อการติดเชื้อมากที่สุดเมื่ออยู่ในระยะหกสัปดาห์แรกของการงอกใหม่ โดยเฉพาะใบอ่อนเนื่องจากปากใบที่กว้างกว่า[3][4] มักพบการติดเชื้อในผลในช่วง 90 วันหลังจากกลีบดอกร่วง (ช่วงการติดผล)[14] วงรอบ ๆ ของรอยโรคบนผลเกิดจากการติดเชื้อซ้ำ ๆ หลายรอบ และยังสามารถบ่งชี้อายุของการติดเชื้อจากรอยโรคที่แตกต่างกันบนผลเดียวกันได้

สภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการก่อโรค[แก้]

สภาพอากาศที่เหมาะที่สุดต่อการกระจายตัวของ X. axanopodis คือ สภาพอากาศที่มีฝนชุกประกอบกับลมแรง[1] โดยกล่าวกันว่าแบคทีเรียนี้สามารถกระจายตัวได้โดยทันทีจากฝนตกและลมกระโชก แต่ปริมาณของ X. axanopodis จะลดลงอย่างนวดเร็วเมื่อลมที่พัดฝนกระจายตัวหรือเบาบางลง สภาพอากาศที่เหมาะรองลงมาคือ สภาพอากาศร้อน โดยเฉพาะช่วงอุณหภูมิ 28–30°ซ[10][15] (สูงสุดที่ 38°ซ) ตัวอย่างกรณีของโรคแคงเกอร์ในพืชสกุลส้มจะรุนแรงกว่าในพื้นที่ที่มีฝนตกชุกและมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูง เช่น ในรัฐฟลอริดาซึ่งมักเกิดโรคแคงเกอร์อย่างรวดเร็วที่สุดคือ ช่วงกลางถึงปลายฤดูใบไม้ผลิ (โดยเฉพาะในระยะพืชแตกใบอ่อน[1]) รองลงมาคือในช่วงฤดูใบไม้ร่วง แต่เกิดอย่างช้า ๆ ในฤดูหนาว[16]

ในกรณีที่แบคทีเรียนี้การเข้าทำลายทางปากแผล ความชื้นมีอิทธิพลในการติดเชื้อน้อยมาก[10]

การตรวจหาเชื้อ[แก้]

โรคนี้สามารถตรวจพบได้ในพุ่มใบและบนผลโดยมีลักษณะเป็นแผล การตรวจหาแต่เนิ่น ๆ และวิธีการตรวจหาที่รวดเร็วจะทำให้แก้ไข, ป้องกัน, ก่าจัด หรือกักกันได้ทันสถานการณ์[5]

การตรวจหาเชื้อที่ใช้โดยทั่วไปโดยการแยกเชื้อและปลูกเชื้อกลับบนต้นอ่อนส้ม (หรือพืชสกุลส้มชนิดอื่น ๆ) ให้ต้นอ่อนส้มแสดงอาการ ซึ่งต้องใช้เวลาในการตรวจหาเชื้อนานถึง 14–21 วัน การทดสอบวินิจฉัยเพิ่มเติมทำได้โดยการตรวจหาแอนติบอดี, การวิเคราะห์โครงสร้างกรดไขมัน และวิธีทางพันธุกรรมโดยใช้ปฏิกิริยาลูกโซ่พอลีเมอเรส (PCR) เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและอาจช่วยในการระบุสายพันธุ์โรคแคงเกอร์ในพืชสกุลส้มได้

ความอ่อนไหวต่อโรค[แก้]

พืชสกุลส้มแต่ละชนิดมีระดับความอ่อนไหวหรือความทนทานต่อโรคแคงเกอร์แตกต่างกัน พืชบางชนิดทนทานต่อโรคนี้มาก บางชนิดอ่อนแอต่อโรคนี้ แต่โดยทั่วไปในมะนาวทุกพันธุ์ปลูกมักพบโรคนี้[11] จากข้อมูลผลการทดสอบโรคแคงเกอร์ในพืชสกุลส้มซึ่งทำแบบกว้าง ๆ โดยไม่เจาะจงทดสอบทุกชนิดและพันธุ์ปลูก พบความอ่อนไหวต่อโรคดังนี้

ความอ่อนไหวต่อโรค ชนิดและพันธุ์ปลูก
อ่อนไหวสูง เกรปฟรูต (Citrus x paradisi), มะนาวแป้น (C. aurantiifolia), มะกรูด (C. hystrix), เลมอน (C. limon)
อ่อนไหว มะนาวตาฮิติ (C. latifolia), ส้มสามใบ (Poncirus trifoliata และ P. trifoliata พันธุ์ผสม), ส้มจีน, ส้มแก้ว, แทนเจโล (C. reticulata พันธุ์ผสม), ส้มเช้ง (C. sinensis), ส้มซ่า (C. aurantium)
ทนทาน มะงั่ว (C. medica), ส้มแมนดาริน (C. reticulata)
ทนทานสูง มะปี๊ด (สกุล X Citrofortunella), ส้มจี๊ด (สกุล Fortunella)
ข้อมูล: [17][18][3]

การแพร่กระจายและการควบคุมการระบาด[แก้]

โรคแคงเกอร์ในพืชสกุลส้มสามารถแพร่กระจายได้ตามกระแสลม น้ำค้าง ฝน จากแมลง และมนุษย์ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเคลื่อนย้ายกิ่งที่มีโรคโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์โดยอุปกรณ์ที่ปนเปื้อน และโดยการขนส่งพืชที่ติดเชื้อหรือพืชที่ดูเหมือนมีสุขภาพดีจากแหล่งหนึ่งไปยังสถานที่อื่น ๆ เป็นระยะทางไกลได้ เนื่องจากเวลาแฝงของโรค พืชอาจดูเหมือนแข็งแรง แต่แท้จริงแล้วติดเชื้อได้ ในประเทศไทยช่วงการระบาดมักเป็นช่วงฤดูฝน ในเดือนพฤษภาคม–กันยายน[11]

ไม่มีการรักษาทางเคมีที่มีประสิทธิภาพสำหรับต้นไม้ที่ติดเชื้อโรคแคงเกอร์ อย่างไรก็ตามการตัดกิ่ง ใบ หรือผลที่ติดเชื้อออก โดยตัดให้ต่ำกว่าแผลเปื่อย 1 นิ้ว หลังจากการตัดแต่ละครั้ง ให้ฆ่าเชื้อเครื่องมือตัดแต่งกิ่งโดยการแช่น้ำยาฟอกขาว (คลอรีน) หนึ่งส่วนต่อน้ำ 9 ส่วน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายการติดเชื้อไปยังส่วนที่แข็งแรงของต้นไม้ การตัดแต่งกิ่งกิ่งที่ติดเชื้ออาจยืดอายุต้นไม้ได้ แต่ไม่อาจหยุดการติดเชื้อได้ และอาจเป็นการเพิ่มความเครียดให้ต้นไม้นั้น การกำจัดต้นพืชที่มีอาการรุนแรงทิ้ง เช่น ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ยืนต้นตาย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของการติดเชื้อไปยังต้นไม้ที่แข็งแรงรอบข้าง ต้นไม้ที่ไม่ได้รับความเครียดจากความแห้งแล้ง แมลงศัตรูพืช หรือการขาดสารอาหารมักจะมีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่า[19][20]

แม้ว่าสารฆ่าเชื้อราหรือสารฆ่าเชื้อแบคทีเรียสามารถรักษาโรคแคงเกอร์บางชนิดได้ แต่โดยทั่วไปวิธีที่ง่ายและได้ผลเมื่อพบเห็นโรคเกิดขึ้น คือ การเก็บใบ กิ่ง และผลที่ติดเชื้อไปเผาทำลาย เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค[11]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "โรคแคงเกอร์ หรือ โรคขี้กลากในส้ม (Canker)". Kaset Go แอปชุมชนออนไลน์ของเกษตรกร. 2021-03-15.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)[ลิงก์เสีย]
  2. "Citrus canker - DAWE". www.awe.gov.au.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 โฆสิตเจริญกุล, ณัฏฐิมา. "โรคแคงเกอร์ของพืชตระกูลส้ม". ebook.lib.ku.ac.th (ภาษาอังกฤษ).{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Citrus Canker. U.S. Department of Agriculture, 9 มีนาคม 2022.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 ณัฎฐิมา โฆษิตเจริญกุล, ทิพวรรณ กันหาญาติ, บูรณี พั่ววงษ์แพทย์, รุ่งนภา ทองเคร็ง. การตรวจสอบเชื้อแบคทีเรีย Xanthomomnas axonopodis pv. citri ด้วยเทคนิค Real-time PCR. กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร, 2556.
  6. PSEUDOMONAS CITRI, THE CAUSE OF CITRUS CANKER (archive.org book reader)PSEUDOMONAS CITRI, THE CAUSE OF CITRUS CANKER (archive.org text version), Clara Hasse, Journal of Agricultural Research, 1915-10, Volume 4, p. 97.
  7. CITRUS CANKER, Frederick Wolf, Journal of Agricultural Research, 1916-10, Volume 6, p. 68.
  8. Gottwald, T.R, Graham, J.H. and Schubert, J.S. (2002). Citrus canker: The pathogen and its impact. Online. Plant Health Progress doi:10.1094/PHP-2002-0812-01-RV
  9. Sapapporn N., Thanikkun N. Bioactive compound produced by isolated Pseudomonas sp. for controlling citrus canker pathogen Xanthomonas sp. www.research.kpru.ac.th, 2017.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 ไพโรจน์ จ๋วงพานิช, วิวัฒน์ แดงสุภา. การศึกษาเบื้องต้นโรคแคงเกอร์ของส้ม. แผนกกีฎวิทยาและโรคพืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 โรคแคงเกอร์มะนาว (Canker) เก็บถาวร 2022-08-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. กรมวิชาการเกษตร, 2560.
  12. Pereira, Andre; Carazzolle, Marcelo; Abe, Valeria; Oliveira, Maria; Domingues, Mariane; Silva, Jacqueline; Benedetti, Celso (2014). "Identification of putative TAL effector targets of the citrus canker pathogens shows functional convergence underlying disease development and defense response". BMC Genomics. 15 (15): 157. doi:10.1186/1471-2164-15-157. PMC 4028880. PMID 24564253.
  13. Rigano, Luciano; Siciliano, Florencia; Enrique, Ramón; Sendín, Lorena; Filippone, Paula; Torres, Pablo; Qüesta, Julia; Marano, Maria Rosa (2007). "Biofilm formation, epiphytic fitness, and canker development in Xanthomonas axonopodis pv. citri". Molecular Plant-Microbe Interactions. 10 (20): 1222–1230. doi:10.1094/MPMI-20-10-1222. PMID 17918624.
  14. Das, A.K. (January 2003). "Citrus canker - A review" (PDF). Journal of Applied Horticulture. 5: 52–60. doi:10.37855/jah.2003.v05i01.15.
  15. "Citrus canker". Citrus canker (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  16. Bock, Clive H; Parker, P.E; Gottwald, Tim R (2005). "Effect of simulated wind-driven rain on duration and distance of dispersal of Xanthomonas axonopodis pv. citri from canker-infected citrus tree". Plant Disease. 89 (89): 71–80. doi:10.1094/PD-89-0071. PMID 30795287.
  17. Gottwald, Tim R.; Graham, James H.; Schubert, Timothy S. (2017-08-08). "Citrus Canker: The Pathogen and Its Impact". Plant Health Progress. 3: 15. doi:10.1094/php-2002-0812-01-rv. S2CID 85240202.
  18. Gottwald, T.R. et al. (2002). Citrus canker: The pathogen and its impact. Online. Plant Health Progress
  19. Damon L. Smith, Jennifer Olson. Seiridium canker of Junipers and Cypress. Oklahoma State University, Plant Disease and Insect Advisory, Vol. 7, No. 26. July 15, 2008.
  20. Jennifer Olson. Biscongiauxia (Hypoxylon) Dieback and Canker of Pecan. Oklahoma State University, Jul 8, 2013.

ลิ้งค์ภายนอก[แก้]

แม่แบบ:Citrus