ข้ามไปเนื้อหา

โมโนโซเดียมกลูตาเมต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โมโนโซเดียมกลูตาเมต
Crystalline monosodium glutamate
ชื่อ
IUPAC name
Sodium 2-Aminopentanedioate
เลขทะเบียน
3D model (JSmol)
เคมสไปเดอร์
ECHA InfoCard 100.005.035 แก้ไขสิ่งนี้ที่วิกิสนเทศ
เลขอี E621 (flavour enhancer)
UNII
  • InChI=1S/C5H9NO4.Na/c6-3(5(9)10)1-2-4(7)8;/h3H,1-2,6H2,(H,7,8)(H,9,10);/q;+1/p-1/t3-;/m0./s1 checkY
    Key: LPUQAYUQRXPFSQ-DFWYDOINSA-M checkY
  • InChI=1/C5H9NO4.Na/c6-3(5(9)10)1-2-4(7)8;/h3H,1-2,6H2,(H,7,8)(H,9,10);/q;+1/p-1/t3-;/m0./s1
    Key: LPUQAYUQRXPFSQ-SYBSRVMOBZ
  • [Na+].O=C([O-])[C@@H](N)CCC(=O)O
คุณสมบัติ
C5H8NNaO4
มวลโมเลกุล 169.111 g/mol
ลักษณะทางกายภาพ white crystalline powder
จุดหลอมเหลว 232 องศาเซลเซียส (450 องศาฟาเรนไฮต์; 505 เคลวิน)
74g/100mL
ความอันตราย
ปริมาณหรือความเข้มข้น (LD, LC):
16600 mg/kg (oral, rat)
หากมิได้ระบุเป็นอื่น ข้อมูลข้างต้นนี้คือข้อมูลสาร ณ ภาวะมาตรฐานที่ 25 °C, 100 kPa

โมโนโซเดียมกลูตาเมต (อังกฤษ: monosodium glutamate) มักเรียกกันว่า ผงชูรส[1] วัตถุเจือปนอาหารประเภทวัตถุปรุงแต่งรสอาหารที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย โมโนโซเดียมกลูตาเมตมีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาวไม่มีกลิ่น มีคุณสมบัติในการเป็นสารเพิ่มรสชาติอาหาร ทำให้อาหารมีรสชาติโดยรวมดีขึ้น เนื่องจากเมื่อโมโนโซเดียมกลูตาเมตละลายน้ำ จะแตกตัวได้โซเดียมและกลูตาเมตอิสระที่มีสมบัติในการเพิ่มรสชาติอาหาร โดยช่วยเพิ่มรสชาติของรสชาติพื้นฐาน 4 รสที่เรารู้จักกันดีคือ รสหวาน รสเค็ม รสเปรี้ยว และรสขม ให้เด่นชัดมากขึ้น ในการศึกษาทางเภสัชวิทยาเกี่ยวกับรสชาติพบว่าผงชูรสสามารถกระตุ้น Glutamate Receptor แล้วทำให้เกิดรสชาติเฉพาะตัวที่เรียกว่ารสอูมามิ (Umami) ซึ่งเป็นรสที่ 5 ที่มนุษย์สามารถรับรู้ได้และมีเอกลักษณ์แตกต่างจากรสชาติพื้นฐานทั้ง 4

โมโนโซเดียมกลูตาเมตเป็นสารประกอบประเภทกลูตาเมตซึ่งเป็นเกลือของ กรดกลูตามิก (Glutamic acid) อันเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของโปรตีนทั่วไป เช่น โปรตีนในเนื้อสัตว์ โปรตีนในนม และโปรตีนในพืช โดยกลูตาเมตจะจับอยู่กับกรดอะมิโนตัวอื่นๆ เกิดเป็นโครงสร้างของโปรตีน กลูตาเมตที่อยู่ในรูปของโปรตีนจะไม่มีกลิ่นรสและไม่มีคุณสมบัติทำให้เกิดรสอูมามิในอาหาร แต่เมื่อเกิดการย่อยสลายของโปรตีน เช่น เกิดกระบวนการหมัก การบ่ม การสุกงอมของผักและผลไม้ การทำให้สุกด้วยความร้อน จะทำให้กลูตาเมตในโปรตีนเกิดการสลายแยกตัวออกมาเป็นกลูตาเมตอิสระ ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้เกิดรสอูมามิในอาหาร นอกจากนี้ ยังได้มีการค้นพบว่าสารที่เกิดจากการย่อยสลายไรโบนิวคลีโอไทด์ในนิวเคลียสของเซลล์สิ่งมีชีวิตซึ่งได้แก่ ไอโนซิเนต(Inosinate) และกัวไนเลต(Guanylate)[2]ก็มีคุณสมบัติให้รสอูมามิเช่นเดียวกับกลูตาเมตอิสระ ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าไอโนซิเนตและกัวไนเลตมีคุณสมบัติในการเสริมรสอูมามิให้เด่นชัดมากขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับกลูตาเมต โดยผลการเสริมกันนี้มีลักษณะแบบ Synergistic Effect[3]

ประวัติ

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1908 (พ.ศ. 2451) ศาสตราจารย์ ดร. คิคุนาเอะ อิเคดะ แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวอิมพีเรียล ประเทศญี่ปุ่น ได้ค้นพบว่าผลึกสีน้ำตาลที่สกัดได้จากสาหร่ายทะเลที่ชื่อว่าคมบุ (Japonica laminaria) นั้นคือ กรดกลูตามิก และเมื่อลองชิมพบว่ามีรสใกล้เคียงกับซุปสาหร่ายทะเล ซึ่งเป็นอาหารประจำวันของชาวญี่ปุ่นที่บริโภคกันมาหลายร้อยปี เขาได้ตั้งชื่อรสชาติของกรดกลูตามิกที่สกัดได้ว่า "อูมามิ" หลังจากนั้นได้จดสิทธิบัตรการผลิตกรดกลูตามิกในปริมาณมาก ๆ เป็นที่มาของอุตสาหกรรมผงชูรสในปัจจุบัน

ผงชูรสมีการขายในเชิงพานิชย์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1909 (พ.ศ. 2452) ภายใต้ชื่อการค้าเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า อายิโนะโมะโต๊ะ (Ajinomoto หมายถึง แก่นแท้ของรสชาติ) ในประเทศญี่ปุ่น โดยใช้วิธีการย่อยแป้งสาลีด้วยกรดเพื่อให้ได้กรดอะมิโนแล้วจึงแยกกลูตาเมตออกมาภายหลัง ผงชูรสที่ผลิตในเชิงพาณิชย์ในสมัยใหม่ผลิตขึ้นโดยการหมักด้วยจุลินทรีย์ในกลุ่ม Corynebacterium ในประเทศไทยใช้แป้งมันสำปะหลังและกากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบหลัก ตลาดผงชูรสโลกมีขนาด 1.5 ล้านต้น ในปี พ.ศ. 2544 และคาดว่ามีการเติบโตในอัตราปีละ 4% ในเชิงพานิชย์มีการใช้ผงชูรสเป็นวัตถุปรุงแต่งรสอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มวัตถุเจือปนอาหาร ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อนุญาตให้ใช้ได้ในอาหารที่บริโภคโดยคนทั่วไป และพบได้ในอาหารว่างประเภทขนมขบเคี้ยว อาหารแช่แข็ง และอาหารปรุงสำเร็จ เช่น เครื่องปรุงรสสำหรับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น ในภาษาจีน เรียกผงชูรสว่า เว่ยจิง

การใช้

[แก้]

ผงชูรสมีคุณสมบัติทำให้อาหารมีรสชาติโดยรวมดีขึ้น โดยธรรมชาติแล้วผงชูรสจะใช้ได้ดีมากกับอาหารที่มีรสเค็มหรือเปรี้ยว การใช้ผงชูรสในอาหารต้องใส่ในปริมาณที่เหมาะสม ประมาณร้อยละ 0.1 - 0.8 โดยน้ำหนัก เช่น อาหารหนัก 500 g หากเติมผงชูรสประมาณ 0.5 - 4 g หรือประมาณ 1 ช้อนชา ก็เพียงพอจะให้รสอูมามิในอาหาร การใส่มากเกินไปจะทำให้รสชาติอาหารโดยรวมแย่ลง และมีรสชาติที่ผิดแปลกไปซึ่งผู้บริโภคจะสามารถรับรสที่ผิดแปลกนี้ได้ทันที ซึ่งเรียกว่า Self Limiting อันเป็นลักษณะเช่นเดียวกับ เกลือแกง ที่ให้รสเค็ม และน้ำส้มสายชู ที่ให้รสเปรี้ยวก็จะต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสมเช่นกัน[4] ยิ่งไปกว่านั้นอาหารที่เติมผงชูรสในปริมาณที่พอเหมาะจะช่วยให้ลดปริมาณการเติมเกลือแกงในอาหารลงได้โดยที่ยังคงความอร่อยของอาหารอยู่[5] ทำให้ผู้บริโภคที่มีความจำเป็นต้องจำกัดปริมาณโซเดียมในอาหาร เช่น คนชรา สามารถบริโภคอาหารได้มากขึ้นและได้รับปริมาณโซเดียมน้อยลงอันเป็นผลดีต่อสุขภาพกายและใจ[6]

การผลิต

[แก้]

จากการค้นพบคุณสมบัติในการทำให้เกิดรสอูมามิของกลูตาเมตอิสระนี้เอง จึงได้มีวิวัฒนาการเทคโนโลยีการผลิตโมโนโซเดียมกลูตาเมตในระดับอุตสาหกรรม เพื่อนำไปใช้ในการปรุงประกอบอาหารประเภทต่างๆให้มีรสชาติอร่อยตามที่ผู้บริโภคต้องการ ซึ่งในปัจจุบันผลิตโดยการหมักเชื้อจุลินทรีย์ การใช้เชื้อจุลินทรีย์ในการผลิตกรดกลูตามิคนั้น มีหลักการทั่วไปเช่นเดียวกับการนำเชื้อจุลินทรีย์มาใช้ในการผลิตอาหารและยา เช่น น้ำส้มสายชู ซีอิ้ว น้ำปลา เบียร์ ไวน์ ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น กล่าวคือนำจุลินทรีย์มาเลี้ยงในอาหารเลี้ยงเชื้อซึ่งประกอบด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและการผลิตสารชีวภาพ ได้แก่ อาหารที่เป็นแหล่งคาร์บอน (เช่น แป้ง กากน้ำตาลจากอ้อย กากน้ำตาลจากบีท น้ำตาลกลูโคส น้ำตาลทรายหรือน้ำตาลซูโครส) แหล่งไนโตรเจน (เช่น เกลือแอมโมเนียม ยูเรีย เกลือไนเตรต soybean meal) เกลือแร่ (เช่น แมกนีเซียม โพแทสเซียม) และวิตามิน (เช่น biotin)

  1. กระบวนการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลกลูโคส (Liquefaction and Saccharification): แป้งมันสำปะหลัง (Tapioca starch) ใช้เอนไซม์อะมัยเลส และอะมัยโลกลูโคลซิเดส ย่อยแป้งเป็นน้ำตาลกลูโคส ที่ 60 องศาเซลเซียส
  2. กระบวนการหมักเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสเป็นกรดกลูตามิก (Fermentation): เติมเชื้อจุลินทรีย์ (Corynebacterium glutamicum ปัจจุบันเป็น Brevibacterium lactofermentum) ลงในสารละลายน้ำตาลกลูโคส (Glucose solution) เพื่อเปลี่ยนกลูโคสเป็นกรดกลูตามิก โดยมีการเติมกรดหรือด่างเพื่อ pH ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต และเติมยูเรีย (Urea) หรือ แอมโมเนีย (NH4) เพื่อเป็นแหล่งไนโตรเจนของเชื้อจุลินทรีย์
  3. กระบวนการตกผลึกกรดกลูตามิก (Precipitation): เมื่อกระบวนการหมักเสร็จสสิ้น ในน้ำหมัก (Broth)จะมีสารละลายกรดกลูตามิกอยู่เป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นจะปรับ pH ด้วยกรดไฮโดรคลอริก (HCl) เพื่อให้กรดกลูตามิกตกผลึกเบื้องต้น
  4. กระบวนการทำให้เป็นกลาง (Neutralization): โดยการเติม โซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) เพื่อให้กรดกลูตามิกเป็นโมโนโซเดียมกลูตาเมต (ผงชูรส) ที่สภาวะเป็นกลาง
  5. กระบวนการกำจัดสีและสิ่งเจื่อปน (Decolorization): โดยการผ่านสารละลายไปในถังถ่านกัมมันต์ (Activated Carbon) และตกผลึก (Crystalization)ได้ผลึกโมโนโซเดียมบริสุทธิ์
  6. กระบวนการทำแห้งและแบ่งบรรจุ (Drying and Packing): เป่าผลึกโมโนโซเดียมบริสุทธิ์ด้วยลมร้อน(ที่กรองละอองฝุ่นออกแล้ว) จนกระทั่งผลึกแห้ง แล้วคัดแยกขนาด ตามจุดประสงค์การใช้งานแล้วแบ่งบรรจุ ลงในบรรุภัณฑ์ตามมาตรฐาน

การประเมินความปลอดภัย

[แก้]

เนื่องจากผงชูรสถูกจัดเป็นวัตถุเจือปนอาหารชนิดหนึ่ง จึงต้องมีการประเมินความปลอดภัยจากองค์กรวิชาการระหว่างประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2530 คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยวัตถุเจือปนอาหารขององค์การอาหารและเกษตร และ องค์การอนามัยโลก แห่งสหประชาชาติ หรือที่มีชื่อย่อว่า JECFA ได้รับการร้องขอจาก CODEX ALIMENTARIUS[7][8] ให้ทำรวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผงชูรสมาศึกษา ทบทวน และประเมินความปลอดภัย โดย JECFA ให้ความเห็นว่า ผงชูรสเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่มีพิษต่ำ จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดปริมาณบริโภคต่อวัน (ADI Not Specified)[9] ซึ่งเป็นการจัดลำดับความปลอดภัยที่ดีที่สุด เนื่องจากระดับที่คาดว่าอาจจะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ สูงกว่าระดับที่บริโภคกันโดยทั่วไปหลายเท่า (โดยทั่วไป ADI จะกำหนดไว้ต่ำกว่าระดับที่อาจจะไม่ปลอดภัยอยู่ที่ 100 เท่า) แต่อย่างไรก็ตาม JECFA ได้ให้ข้อคิดเห็นว่าควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสมเพียงพอที่จะให้ผลตามวัตถุประสงค์ นอกจากนี้ข้อมูลทางเภสัชวิทยาพบว่าสมองมีกลไกในการควบคุมระดับกลูตาเมตที่ดีมากรวมทั้งปริมาณกลูตาเมตในกระแสเลือดไม่ได้เพิ่มขึ้นมากภายหลังจากรับประทานอาหารที่มีผงชูรสหรือกลูตาเมต เนื่องจากกลูตาเมตส่วนใหญ่ถูกเมตาบอลิสมภายในเซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร กลูตาเมตส่วนเกินและถูกขับออกจากร่างกายโดยไม่มีทำให้เกิดการสะสมของกลูตาเมตในกระแสเลือด[10][11][12]

ในประเทศไทยสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT) ได้รวบรวมบทความจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ เภสัชวิทยา โภชนการ พิษวิทยา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร และผู้เชี่ยวชาญด้านคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับทั้งประโยชน์และโทษของผงชูรสจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นวิทยาศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักฐานทางวิชาการเกี่ยวกับผงชูรสในหลายมุมมอง จึงเป็นที่มาของหนังสือ การทบทวนความปลอดภัยอาหาร โมโนโซเดียมกลูตาเมต ปัจจุบันผงชูรสเป็นหนึ่งในวัตถุเจือปนอาหารที่ได้มีการควบคุมการใช้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 โดยมีหน่วยงานควบคุมคือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา[13]

แม้ว่าผงชูรสถูกจัดเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่มีความปลอดภัย แต่เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ทราบข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง จึงทำให้บางครั้ง ผงชูรสถูกวิจารณ์ว่าเป็นสิ่งอันตรายเกินจริง และเกิดข่าวลือต่างๆ ที่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับ เช่น การกล่าวหาว่าการบริโภคผงชูรสเป็นสาเหตุของ ผมร่วง ตาบอด เป็นหมัน เนื้องอกในสมอง มะเร็ง หรือแม้กระทั่งโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง(AIDS) เป็นต้น ในขณะที่บางมีงานวิจัยเกี่ยวกับผลของผงชูรสต่อร่างกาย เช่น ผลการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคผงชูรสและโรคอ้วนโดยมหาวิทยาลัย นอร์ท แคโรไลนา ณ แชเปิล ฮิล [14] และผลการศึกษาในเรื่องเดียวกันจาก INTERMAP Cooperative Research Group [15] เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาดังกล่าวขัดแย้งกับผลงานวิจัยอีกหลายงานวิจัยที่ยืนยันว่าไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคผงชูรสกับดัชนีมวลกาย (BMI) การเพิ่มขึ้นของน้ำหนัก พลังงานที่ได้รับ ปริมาณคอเรสเตอรอล ระดับอินซูลิน และไตรกลีเซอไรด์ในเลือด[16][17][18][19][20][21] ซึ่งเป็นไปได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างผงชูรสกับโรคอ้วนที่ปรากฏ อาจมีผลมาจากความแตกต่างของฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือน[22][23][24] จึงนับได้ว่าผงชูรสเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่มีการศึกษามากที่สุดชนิดหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตามการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาไม่ได้ครอบคลุมถึงผงชูรสปลอม ดังนั้นหากต้องการบริโภคผงชูรส ควรเลือกบริโภคควรสังเกตจากตราประทับ อย. และเลือกผงชูรสที่บรรจุในภาชนะปิดผนึกเรียบร้อยเพื่อความปลอดภัย

อาการไวต่อผงชูรส

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1968 มีรายงานในวารสาร New England Journal of Medicine บรรยายถึงกลุ่มอาการที่เกิดหลังจากรับประทานอาหารจีน 15-30 นาทีหรืออาจช้าถึง 2 ชั่วโมง แต่หายไปเองโดยไม่มีผลระยะยาวตามมา อาการเหล่านี้ได้แก่ "ชาตามต้นคอ แล้วค่อยๆลามมาที่แขนสองข้าง หลัง และมีอาการอ่อนเพลีย ใจสั่น" ซึ่งภายหลังเรียกกลุ่มอาการนี้ว่า กลุ่มอาการภัตตาคารจีน (Chinese Restaurant Syndrome; CRS)[25]

  1. การประเมินของ JECFA (พ.ศ. 2530): ในการทดลองที่วางแผนอย่างดีและการใช้เทคนิด controlled double-blind crossover พบว่าไม่มีความสัมพันธุ์ระหว่างกลุ่มอาการภัตตาคารจีนและการบริโภคผงชูรสแม้ในผู้ที่เข้าร่วมการทดลองซึ่งอ้างว่าตนเคยมีอาการดังกล่าว ส่วนรายการจากการสำรวจ ที่พบว่ามีอาการเหล่านั้น เกิดจากการออกแบบการทดลองและใช้แบบสอบถามที่ไม่เหมาะสม[26]
  2. รายงาน FASEB (พ.ศ. 2538): รายงานของ FASEB ต่อสำนักงานอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ FDA ยืนยันว่าการบริโภคผงชูรส ในปริมาณที่เหมาะสมนั้นทำได้โดยปลอดภัยและยังไม่พบอาการระยะยาวที่เป็นอันตราย อย่างไรก็ตามรายงานนี้กล่าวว่า อาการระยะสั้น ที่เรียกกันว่า MSG Symptom Complex นั้นอาจเกิดในคนสองกลุ่ม กลุ่มที่ 1 เกิดกับกลุ่มคนที่มีปฏิกิริยาหลังจากทานผงชูรสในปริมาณมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทานอาหารที่มีผงชูรสในขณะที่ท้องว่าง โดยปริมาณมากนี้ กำหนดไว้ที่ 3 กรัมขึ้นไปต่อมื้อ และอีกกลุ่มที่มีอาการที่เกิดจากผงชูรสคือคนที่มีโรคหอบหืดประจำตัวรุนแรง อาการ MSG Symptom Complex ที่ชี้แจงโดยการศึกษานี้รวมไปถึงอาการ ชา แสบร้อน ผิวตึง ปวดแน่นหน้าอก ปวดหัว คลื่นใส้ หัวใจเต้นเร็ว ง่วงซึม และอ่อนแรง ในกรณีคนเป็นโรคหอบหืดอาจจะมีอาการหายใจลำบากด้วย แต่การศึกษาเรื่องเฉพาะเจาะจงในกลุ่มนี้ยังไม่ปรากฏผลที่แน่นอนเชื่อถือได้ [27] อย่างไรก็ตาม มีผู้นิยมผงชูรสวิจารณ์ว่า การทดลองของ FASEB นี้ให้ผู้ทดสอบรับประทานผงชูรสที่อยู่ในรูปแค๊ปซูลหรือสารละลาย ซึ่งไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับการบริโภคผงชูกับพร้อมอาหารได้[28]
  3. รายงาน ANSFA: รายงานเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2545 พบว่ามีประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ของประชาการมีอาการผิดปกติหลังรับประทานอาหาร แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าความผิดปกติดังกล่าวนั้น มีสาเหตุมาจากผงชูรส เพราะว่าในการทดลองไม่ได้บอกถึงปริมาณของผงชูรสที่ใช้อย่างไรก็ตามรายงานนี้ยืนยันได้กว่าคนที่มีอาการแพ้ผงชูรสนั้นมีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์[29]
  4. งานวิจัยของไทย: สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข (พ.ศ. 2526) (ภก.ศ.(พิเศษ)ดร.ภักดี โพธิศิริ, ยุพิน ลาวัณย์ประเสริฐ, ศ.นพ.วิชัย ตันไพจิตร และ ผศ.ดร.ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต)[30][31][32] รายงานในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดการตอบรับต่อกลุ่มอาการ “ภัตตาคารจีน” กับการบริโภคโมโซเดียมกลูตาเมต พบว่าในกลุ่มตัวอย่างคนไทยมีไม่ถึง 1% มีเกิดอาการดังกล่าว หลังจากรับประทานอาหารที่มีผงชูรส

จากอดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีการศึกษาวิจัยทางวิชาการใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าการบริโภคผงชูรสในอาหารจะมีผลต่อทางชีวเคมี หรือทางจุลกายวิภาค เช่นการเกิดกลุ่มอาการภัตตาคารจีน อย่างไรก็ตามการรับประทานผงชูรสในจำนวนที่มากเกินไปอาจจะทำให้เกิดการทนต่อสารอาหารไม่ได้ (food intolerance)ซึ่งเป็นอาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาทางระบบภูมิคุ้มกันแต่อย่างใด จึงแตกต่างจากการแพ้ (allergy) แม้ว่าจะมีอาการคล้ายคลึงกัน และมักเกิดจากหลายสาเหตุซึ่งบางครั้งก็ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเกิดมาได้อย่างไร

การใช้ฉลากเตือนและการคุ้มครองผู้บริโภค

[แก้]

แม้ว่าผงชูรสสามารถทำให้อาหารมีรสชาติดีขึ้นและการศึกษาทดลองทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบันได้รับรองการใช้ผงชูรสในปริมาณเหมาะสมว่า จะไม่ทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภคนอกไปจากกลุ่มคนประมาณ 1% ที่อาจมีปฏิกิริยาชั่วคราวจากการบริโภคผงชูรส ผงชูรสนั้นไม่มีประโยชน์ในแง่ของสารอาหาร และการเลือกบริโภคผงชูรสถือเป็นความสมัครใจของผู้บริโภคที่ต้องได้รับข้อมูลข่าวสารครบถ้วน

ในประเทศสหรัฐอเมริกา ระเบียบของ FDA ระบุว่า เมื่อมีการเติมผงชูรสลงในอาหาร จะต้องมีการระบุชื่อ "ผงชูรส"ไว้ชัดเจนในรายการส่วนประกอบอาหาร [33] แต่มีข้อวิจารณ์กันอย่างแพร่หลายว่า FDA ไม่ได้บังคับให้อุตสาหกรรมอาหารของอเมริกาแจ้งให้ผู้บริโภคทราบอย่างชัดเจนถึงการใช้กรดกลูตามิคอิสระอันได้จากขบวนการผลิตอุตสาหกรรม (Processed Free Glutamic Acid) ซึ่งคำว่า ผงชูรส หรือ Monosodium Glutamate (MSG) เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของกลูตามิคอิสระเหล่านี้เท่านั้น ตัวอย่างกรดกลูตามิคอิสระอันได้จากขบวนการผลิตอุตสาหกรรมที่มีคุณลักษณะเหมือนผงชูรส ได้แก่ "Autolyzed yeast" "calcium caseinate" "yeast food" "yeast extract" และ "hydrolyzed soy protein" ที่เมื่อนำไปใส่บนฉลากอาหารแล้ว ผู้บริโภคอาจโดนชักนำให้เข้าใจผิดว่าอาหารชนิดนั้นๆไม่ได้ใส่ "ผงชูรส" [34]

ในประเทศแคนาดา กฎหมายฉลากอาหาร ค.ศ. 1954 กำหนดให้ผงชูรส เป็นสารปรุงแต่งอาหารที่ต้องระบุไว้บนฉลาก [35] และในทำนองเดียวกัน มาตรฐาน 1.2.4 ของประเทศ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์กำหนดว่า ผงชูรสในอาหารต้องได้รับการปิดฉลากอย่างเหมาะสม ได้แก่ "class name" คือ flavour enhancer "name of the food additive" คือ MSG หรือใช้เลขทะเบียนสากล (International Numbering System) คือ 621 [1]

สำหรับประเทศไทย ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 95 พ.ศ. 2528 กำหนดว่า หากมีการใช้ผงชูรสในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป จะต้องระบุในฉลากด้วยว่า ใช้วัตถุปรุงแต่งรสอาหาร โมโนโซเดียม กลูตาเมท เพื่อเป็นการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค

อ้างอิงและเชิงอรรถ

[แก้]
  1. ผงชูรสอาจหมายถึงสารเคมีหลายชนิด มิได้หมายถึงโมโนโซเดียมกลูตาเมตเท่านั้น
  2. Yamguchi S, Ninomiya K. What is umami. In: Teranishi R, Hornstein I, Engel K-H, eds. Food Reviews International. Vol. 14 (2&3). New York: Marcel Dekker; 1998. p. 123-38.
  3. Kuninaka A. The Nucleotides, a Rationale of Research on Flavor Potentiation. Symposium on Flavor Potentiation, Arthur D. Little: MA: Cambridge; 1964. p. 4-9.
  4. Yamaguchi S, and Takahashi C. Agric Biol Chem 1984a;48:1077-1081.
  5. Yamaguchi S et al. J Food Sci 1984;49(1):82-85.
  6. Bellisle F et al. Physical and Behavior 1991;49(5):860-873.
  7. Understanding The Codex Alimentarius. Revised and Updated, World Health Organization and Food and Agriculture Organization of the United Nations, Rome: 2005.
  8. Joint FAO/WHO Food Standards Programme, Codex Alimentrius Commission. Procedural Manual. 15th ed. Rome:2005.
  9. WHO Food Additive Series No. 22. Toxicological evaluation of certain food additives. Cambridge University Press; 1988
  10. Stegink LD, Reynolds WA, Filer LJ Jr, Baker GL, Daabees TT, Pitkin RM. Comparative metabolism of glutamate in the mouse, monkey, and man. In: Filer LJ Jr, Garattini S, Kare MR, Reynolds WA, Wurtman RJ, eds. Glutamate acid: advances in biochemietry and physiology. New York: Raven Press: 1979. p. 85-102.
  11. Stegink LD, Filer LJ Jr, Baker GL. Plasma glutamate concentrations in adult subjects ingesting monosodium L-glutamate in consomme. Am J Clin Nutr 1985;42:220-5.
  12. Oûhara Y, Iwata S, Ichimura M. Sasaoka M. Effect of administration routes of monosodium glutamate on plasma glutamate levels in infant, weanling and adult mice. J Toxicol Sci 1977;2:281-90.
  13. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2547
  14. MSG Use Linked to Obesity. ScienceDaily (August 14, 2008) http://www.sciencedaily.com/releases/2008/08/080813164638.htm
  15. He, Ka; Zhao, Liancheng; Daviglus, Martha L; Dyer, Alan R; Van Horn, Linda; Garside, Daniel; Zhu, Linguang; Dongshuang, Guo; Wu, Yangfeng; Zhou, Beifan; Stamler, Jeremiah (August 2008). "Association of monosodium glutamate intake with overweight in Chinese adults: the INTERMAP Study". Obesity (The Obesity Society) 16 (8): pp. 1875–1880. doi:10.1038/oby.2008.274. PMID 18497735. http://www.nature.com/oby/journal/v16/n8/abs/oby2008274a.html.
  16. Essed, N. H., van Staveren, W.A., Kok, F.J., and de Graaf, C.(2007), ”No effect of 16 weeks flavor enhancement on dietary intake and nutritional status of nursing home elderly” Appetite, Jan;48(1): 29-36
  17. Bellisle, F., Dalix A.M., Chapppuis, A.S., Rossi, F., Fiquet, P., Gaudin, V., Assoun, M., and Slama, G.,(1996), ”Monosodium glutamate affects mealtime food selection in diabetic patients.” Appetite, Jun;26(3):267-275
  18. Schiffman, S.S., (2000) “Intensification of sensory properties of foods for the elderly” J. Nutr. 130(4S Suppl):927S-930S
  19. Olson, R. E., Nichaman, M.Z., Nittka, J., and Eagles, J.A.,(1970), ”Effect of Amino Acid Diets upon Serum Lipids in Man” Am J Clin Nutr. 23(12):1614-25
  20. Bazzano, G., D’Elia, J.A., and Olson, R.E. (1970), “Monosodium glutamate:feeding of large amounts in man and gerbils” Science. 169(951):1208-9
  21. Kondoh, Y., and Torii, K. 2008, "MSG intake suppresses weight gain, fat deposition, and plasma leptin levels in male Sprague-Dawley rats" Physiol Behav 95(1-2):135-144
  22. FAO, ILRI, IFPRI. (1999). “Livestock to 2020 The Next Food Revolution”
  23. Popkin, B., et al., (2003). “Dynamics of the Nutrition Transition toward the Animal Foods Sector in China and its Implications: A Worried Perspective1” Journal of Nutrition. 133: 3898S-3906S
  24. Sobal, J., et al., (1989). “Socioeconomic Status and Obesity: A Review of the Literature” Psychological Bulletin 105(2): 260-275
  25. Kwok RH M. Chinese restaurant syndrome. N Engl J Med 1968;278-96.
  26. WHO Food Additives Series No. 5 (1974). Toxicological evaluation of some food additives including anticaking agents, antimicrobials, antioxidants, emulsifiers and thickening agents. World Health Organization, Geneva.
  27. USFDA (2003). MSG: A Common Flavor Enhancer. http://www.fda.gov/FDAC/features/2003/103_msg.html
  28. Raiten DJ, Talbot JM, Fisher KD. Executive summary from the report: Analysis of adverse reactions to monosodium glutamate (MSG). J Nutr 1995;125:2891S- 906S.
  29. Technical Report Series No. 20 (2003). Monosodium Glutamate, A Safety Assessment. Food Standards Australia New Zealand. Canberra, Australia and Wellington, New Zealand.
  30. Tanphaichitr V, Srianujata S, Pothisiri P, Sammasut R, Kulapongse S. Postprandial responses to Thai foods with and without added monosodium L-glutamate. Nutr Rep Int 1983;28:783-92.
  31. Tanphaichitr V, Srianujata S, Leelahagul P, Kulapongse S, Patchjamisiri S, Pothisiri P. Effect of monosodium L-glutamate intake on protein-calorie status in healthy Thai adults. Nutr Rep Int 1985;32:1073-80.
  32. Tanphaichitr V, Leelahagul P, Suwan K. plasma amino acid patterns and visceral protein status in users and nonusers of monosodium glutamate. J Nutr 2000(suppl); 130:1005s-6s.
  33. USFDA (1995). FDA and Monosodium Glutamate (MSG) http://www.cfsan.fda.gov/~lrd/msg.html เก็บถาวร 2009-02-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  34. USFDA (1995). FDA and Monosodium Glutamate (MSG) http://www.cfsan.fda.gov/~lrd/msg.html เก็บถาวร 2009-02-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  35. Calgary Allergy Network. CANADIAN FOOD LABELLING LAWS: WHEN IS A LABEL NOT A LABEL? http://www.calgaryallergy.ca/Articles/English/foodlabelhp.htm