ข้ามไปเนื้อหา

โทโง เฮฮาจิโร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โทโง เฮฮาจิโร
27 มกราคม ค.ศ. 1848 – 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1934
(86 ปี)

ฉายา/ราชทินนาม "เนลสันแห่งบูรพา"
เกิดที่ ปราสาทคาโงชิมะ แคว้นซัตสึมะ ญี่ปุ่น
อนิจกรรมที่ โตเกียว จักรวรรดิญี่ปุ่น
เหล่าทัพ จักรวรรดิญี่ปุ่น กองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น
ยศสูงสุด จอมพลเรือ
บัญชาการ กองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น
การยุทธ สงครามอังกฤษ-ซัตสึมะ
สงครามโบชิง
สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง
สงครามรัสเซีย–ญี่ปุ่น
บำเหน็จ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันสูงส่งยิ่งดอกเบญจมาศ ชั้นสังวาล
อาชีพอื่น พระอาจารย์ในมกุฎราชกุมารฮิโรฮิโตะ

จอมพลเรือ มาร์ควิส โทโง เฮฮาจิโร (ญี่ปุ่น: 東郷 平八郎โรมาจิTōgō Heihachirō) เป็นหนึ่งในจอมพลเรือแห่งกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น และถือเป็นหนึ่งในวีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกองทัพเรือญี่ปุ่น จนได้รับฉายาว่า "เนลสันแห่งบูรพา"

ประวัติ

[แก้]

โทโงเกิดเมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1848 ที่ตำบลคาจิยะ ของเมืองคาโงชิมะในแคว้นซัตสึมะ (ปัจจุบันคือจังหวัดคาโงชิมะ) เป็นบุตรชายคนที่สามจากสี่คนของ โทโง คิจิซาเอมง ซามูไรผู้รับใช้ตระกูลชิมาซุ กับ โฮริ มาซูโกะ

ตำบลคาจิยะถือเป็นหนึ่งในบริเวณของคาโงชิมะที่ถูกปกครองโดยเหล่าซามูไร ซึ่งมีบุคคลจากที่นี่มากมายกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการปฏิรูปเมจิ เช่นไซโง ทากาโมริ หรือโอกูโบะ โทชิมิจิ เป็นต้น ซึ่งพวกเขาล้วนอยู่ฝ่ายสนับสนุนราชสำนักเนื่องจากตระกูลชิมาซุเป็นขั้วอำนาจทางการเมืองและการทหารในสงครามโบชิง ที่ต่อต้านรัฐบาลเอโดะในช่วงการปฏิรูปเมจิ

ความขัดแย้งระหว่างราชสำนักกับฝ่ายโชกุน (1863-1869)

[แก้]
เจ้าหน้าที่บนเรือรบ คาซูงะ โทโงในวัย 21 ปี สวมชุดสีขาวยืนทางขวา (สิงหาคม 1869)

ประสบการในสนามรบครั้งแรกของโทโง เริ่มต้นเมื่อเขาอายุได้ 15 ปี ในเหตุการณ์การระดมยิงคาโงชิมะ (สิงหาคม 1863) ซึ่งเมืองคาโงชิมะ ได้ถูกระดมยิงปืนใหญ่จากกองเรือราชนาวีอังกฤษ เพื่อตอบโต้ไดเมียวแห่งแคว้นซัตสึมะ เกี่ยวกับคดีฆาตกรรม ชาลส์ เลนน็อกซ์ ริชาร์ดสัน พ่อค้าชาวอังกฤษ และญี่ปุ่นปัดที่จะรับผิดชอบใด ๆ

ในปีถัดมา ซัตสึมะได้จัดตั้งกองเรือของตนเอง ซึ่งโทโง และพี่น้องอีก 2 คน ก็ได้ร่วมกับกองเรือนี้ด้วย ต่อมาในเดือนมกราคม 1868 ระหว่างสงครามโบชิงโทโงได้รับมอบหมายให้ประจำการบนให้เรือรบไอน้ำพายล้อ นาม คาซูงะ ซึ่งได้ร่วมต่อสู้ในยุทธนาวีอาวะใกล้กับเมืองโอซากะ เพื่อต่อต้านกองเรือของโชกุนโทกูงาวะ ซึ่งเป็นครั้งแรกของกองเรือญี่ปุ่นที่รบด้วยเรือทันสมัย

เมื่อความขัดแย้งแพร่กระจายไปยังภาคเหนือของญี่ปุ่น โทโงในฐานะเจ้าหน้าที่ชั้น 3 บนเรือคาซูงะ ได้ร่วมสมรภูมิครั้งสุดท้ายกับเรือลำนี้ ในการกวาดล้างกองกำลังบางส่วนของโชกุนโทกูงาวะที่ยังหลงเหลืออยู่และกำลังถอยร่นไปฮกไกโด ในยุทธนาวีที่อ่าวมิยาโกะ และยุทธนาวีฮาโกดาเตะ

ศึกษาต่อที่อังกฤษ

[แก้]
โทโงในวัย 29 ปี ระหว่างศึกษาต่อที่อังกฤษ

โทโงได้ศึกษาในวิชานาวิกศาสตร์เป็นเวลา 7 ปีในอังกฤษ ในฐานะเจ้าหน้าที่ฝึกหัด ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1871 ถึง 1878 พร้อมกับนักศึกษาที่มาจากญี่ปุ่นอีกหลายคน โทโงได้ไปเยือนกรุงลอนดอน ที่ในห้วงเวลานั้นเป็นเมืองใหญ่แถวหน้าของโลก ที่นั้น มีหลายสิ่งที่ดูแปลกในสายตาชาวญี่ปุ่น อาทิ บ้านเรือนที่ทำจากหิน อาคารบ้านเรือนต่าง ๆ ที่สร้างติดกันอย่างหนาแน่น การตกแต่งห้องพักแบบยุโรป ร้านขายเนื้อแสดงเนื้อไว้ที่บานหน้าต่าง พวกเขาต้องใช้เวลาอยู่หลายวันกว่าจะคุ้นชินกับอาหารที่นั่น

กลุ่มนักศึกษาญี่ปุ่นถูกแยกและส่งไปอาศัยกับครอบครัวชาวอังกฤษเพื่อการเรียนรู้และฝึกฝนภาษาอังกฤษ ประเพณี ตลอดจนมารยาท ต่อมา ในปี 1872 โทโงได้ถูกย้ายไปอยู่ที่พลิมัท ที่นั่นเขาได้เป็นนักเรียนนายเรือบนเรือหลวงวุร์สเตอร์ (อังกฤษ: HMS Worcester) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรจากวิทยาลัยฝึกสอนการเดินเรือเทมส์ ระหว่างเป็นนักเรียนนายเรือ เพื่อนนักเรียนของเขามักจะเรียกเขาว่า "เจ๊กจอห์นนี่" (Johnny Chinaman) เนื่องชาวอังกฤษไม่ค่อยคุ้นเคยกับคนตะวันออก และยังแยกไม่ค่อยออกระหว่างคนในหมู่ชาติเอเชีย โทโงไม่ชอบคำคำนี้ และหลายครั้ง มักจะจบเรื่องลงด้วยการชกต่อย ระหว่างที่เป็นนักเรียนนายเรือนี้ โทโงยังได้นิสัยการจุ่มขนมปังลงในถ้วยชาอีกด้วย

ช่วงปี 1875 โทโงได้แล่นเรือเป็นระยะทางกว่ารอบโลกในฐานะลูกเรือสามัญประจำเรือฝึกหัดแฮมป์เชอร์ ของอังกฤษ ออกเรือในเดือนกุมภาพันธ์ และแล่นโดยไม่ได้แวะจอดเป็นระยะเวลา 70 วันจนเทียบท่าที่เมลเบิร์น ในออสเตรเลีย ระหว่างเดินเรือ เขาต้องรับประทานเพียงเนื้อสัตว์โรยเกลือและขนมปังกรอบ เขาพบสัตว์ประหลาดมากมายที่ทวีปออสเตรเลีย รวมระยะทางที่แล่นไป-กลับกว่าสามหมื่นไมล์ทะเล

โทโงที่พึ่งสำเร็จการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ในเคมบริดจ์ (แม้ว่าจะไม่ได้เรียนที่มหาวิทยาลัย) ได้เดินทางไปยังพอร์ตสมัท เพื่อฝึกฝนด้านการเรือ ก่อนที่จะไปเข้าศึกษาที่วิทยาลัยราชนาวีกรีนิช ซึ่งระหว่างอยู่ที่พอร์ตสมัท กองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นได้สั่งต่อเรือรบ 3 ลำจากอังกฤษ โทโงได้ใช้โอกาสนี้ในการฝึกฝน โดยไปกำกับดูแลการต่อเรือรบ ฟูโซ โดยอาศัยประสบการณ์เมื่อทำงานที่อู่ต่อเรือ ซามูดาบราเธอร์

โทโงกลับมาถึงญี่ปุ่นในวันที่ 22 พฤษภาคม 1878 ซึ่งเขาโดยสารมากับเรือรบลำใหม่ที่กองทัพเรือญี่ปุ่นสั่งซื้อมาจากอังกฤษ นามว่า ฮิเอ ภายหลังกลับมาถึงราวสองเดือน เขาได้รับยศ เรือโท

เกียรติยศ

[แก้]

ลำดับยศ

[แก้]

ยศทหารเรือแห่งกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น

  • นักเรียนนายเรือ – 11 ธันวาคม 1870
  • เรือตรี – 1 สิงหาคม 1871
  • เรือโท – 3 กรกฎาคม 1878
  • เรือเอก – 27 ธันวาคม 1878
  • นาวาตรี – 27 ธันวาคม 1879
  • นาวาโท – 20 มิถุนายน 1885
  • นาวาเอก – 10 กรกฎาคม 1886
  • พลเรือตรี – 16 กุมภาพันธ์ 1895
  • พลเรือโท– 14 พฤษภาคม 1898
  • พลเรือเอก – 6 มิถุนายน 1904
  • จอมพลเรือ – 21 เมษายน 1913

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

ญี่ปุ่น

[แก้]

ต่างประเทศ

[แก้]

บรรดาศักดิ์

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]