ข้ามไปเนื้อหา

โอกูโบะ โทชิมิจิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โอกูโบะ โทชิมิจิ
大久保 利通
เกิด10 สิงหาคม ค.ศ. 1830(1830-08-10)
คาโงชิมะ, แคว้นซัตสึมะ, ญี่ปุ่น
เสียชีวิต14 พฤษภาคม ค.ศ. 1878(1878-05-14) (47 ปี)
โตเกียว, จักรวรรดิญี่ปุ่น
สาเหตุเสียชีวิตถูกลอบสังหาร
สัญชาติญี่ปุ่น
อาชีพนักการเมือง, ซามูไร
โอกูโบะ โทชิมิจิ
ชื่อภาษาญี่ปุ่น
คันจิ大久保 利通
ฮิรางานะおおくぼ としみち
การถอดเสียง
โรมาจิŌkubo Toshimichi

โอกูโบะ โทชิมิจิ (ญี่ปุ่น: 大久保 利通โรมาจิおおくぼ としみちทับศัพท์: Ōkubo Toshimichi, 10 สิงหาคม ค.ศ. 183014 พฤษภาคม ค.ศ. 1878) เป็นรัฐบุรุษของญี่ปุ่นผู้มีพื้นเพจากการเป็นซามูไรแห่งแคว้นซัตสึมะ และเป็นหนึ่งใน 3 ขุนนางผู้ใหญ่แห่งการฟื้นฟูสมัยเมจิ เขาได้รับการยอมรับในฐานะหนึ่งในผู้วางรากฐานของประเทศญี่ปุ่นสมัยใหม่

ปฐมวัย

[แก้]
โอกูโบะเมื่อครั้งยังเป็นซามูไรในวัยหนุ่ม

โอกูโบะ โทชิมิจิ เกิดที่เมืองคาโงชิมะ แคว้นซัตสึมะ (ปัจจุบันคือจังหวัดคาโงชิมะ) โดยเป็นบุตรชายคนโตจากทั้งหมด 5 คน ของโอกูโบะ จูเอมง ซามูไรระดับล่างผู้เป็นข้ารับใช้ของชิมัตสึ นาริอากิระ ไดเมืยวแห่งแคว้นซัตสึมะ เขาได้รับการศึกษาในสำนักศึกษาของท้องถิ่นแห่งเดียวกันร่วมกับไซโง ทากาโมริ ซึ่งมีอายุมากกว่าเขาเพียง 3 ปี ในปี ค.ศ. 1846 โอกูโบะได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอาลักษณ์ประจำแคว้นซัตสึมะ

ซามูไรแคว้นซัตสึมะ

[แก้]

ชิมัตสึ นาริอากิระ ได้สังเกตเห็นความสามารถของโอกูโบะและได้แต่งตั้งให้เขาเป็นเจ้าพนักงานบริหารภาษีของแคว้นในปี ค.ศ. 1858 ต่อมาเมื่อนาริอากิระเสียชีวิต โอกูโบะก็ได้เข้าร่วมแผนการโค่นล้มรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ ทั้งนี้ เขามีจุดยืนสนับสนุนแนวคิด "โทบากุ" (倒幕) หรือการล้มล้างอำนาจรัฐบาลโชกุนอย่างสิ้นเชิง ซึ่งต่างจากซามูไรในแคว้นเดียวกันส่วนมากที่สนับสนุนแนวคิด "โคบูกัตไต" (公武合体, ประสานราชสำนักกับรัฐบาลโชกุน) และ '"ฮัมบากุ" (ต่อต้านรัฐบาล) ในการขับเคลื่อนขบวนการ "ซนโนโจอิ" (เทิดทูนจักรพรรดิ ขับคนป่าเถื่อน)

สงครามอังกฤษ-ซัตสึมะในปี ค.ศ. 1863 พร้อมด้วยกรณีริชาร์ดสัน และการรัฐประหารในเกียวโตในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ทำให้โอกูโบะเชื่อแน่ว่าการทำ "โทบากุ" ได้ถูกกำหนดไว้แล้ว ในปี ค.ศ. 1866 เขาจึงได้ร่วมกับไซโง ทากาโมริ และตัวแทนจากแคว้นโจชูชื่อ คิโดะ ทากาโยชิ จัดตั้งพันธมิตรซัตโจขึ้นเป็นการลับ เพื่อดำเนินการล้มล้างรัฐบาลโชกุน

การฟื้นฟูสมัยเมจิ

[แก้]

ในวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1868 กองกำลังของแคว้นโจชูและแคว้นซัตสึมะได้ร่วมกันเข้ายึดพระราชวังหลวงที่เกียวโต และประกาศเริ่มการฟื้นฟูสมัยเมจิ คณะกุมอำนาจปกครองซึ่งประกอบด้วยโอกูโบะ ไซโก และคิโดะ ได้จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้น การได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีมหาดไทยทำให้โอกูโบะมีอำนาจอย่างสูงยิ่งในการควบคุมรัฐบาลท้องถิ่นและกิจการตำรวจทั่วทั้งประเทศ ในชั้นต้นนั้นรัฐบาลใหม่ต้องอาศัยรายได้จากดินแดนของตระกูลโทกูงาวะซึ่งรัฐบาลใหม่ได้ยึดครองไว้ ต่อมาโอกูโบะจึงแต่งตั้งผู้ปกครองดินแดนเหล่านี้ใหม่ทั้งหมด ซึ่งส่วนมากล้วนเป็นคนรุ่นหนุ่ม ส่วนหนึ่งก็เป็นเพื่อนของเขา เช่น มัตสึตากะ มาซาโยชิ ที่เหลือก็เป็นผู้ได้รับการศึกษาระดับสูงจากยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาซึ่งมีอยู่น้อยนิด นอกจากนี้โอกูโบะยังได้ใช้อำนาจของเสนาบดีมหาดไทยในการพัฒนาสาธารณูปโภคเช่น การตัดถนนใหม่ สร้างสะพานและท่าเรือ เพื่อส่งเสริมการอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลโชกุนปฏิเสธที่จะทำมาตลอด

คณะการทูตอิวากูระ (จากขวา) โอกูโบะ โทชิมิจิ, อิโต ฮิโรบูมิ, อิวาคูระ โทโมมิ, ยามางูจิ นาโอโยชิ, คิโดะ ทากาโยชิ

ในฐานะเสนาบดีการคลัง โอกูโบะได้ตราพระราชบัญญัติปฏิรูปภาษีที่ดิน กฎหมายการห้ามพกพาดาบในที่สาธารณะ (廃刀令 Haitōrei) และยกเลิกการล่วงละเมิดคนชั้นล่างของสังคม (ซึ่งเรียกโดยรวมว่า "บูรากูมิง") อย่างเป็นทางการ ส่วนในด้านการต่างประเทศ เขาได้ดำเนินให้มีการทบทวนสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมฉบับต่าง ๆ และเข้าร่วมคณะการทูตอิวากูระในการเดินทางรอบโลกระหว่าง ค.ศ. 1871- 1873

โดยตระหนักว่าญี่ปุ่นในเวลานั้นยังไม่อยู่ในฐานะที่จะท้าทายกับมหาอำนาจชาติตะวันตกได้ โอกูโบะได้เดินทางกลับญี่ปุ่นในวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1873 ซึ่งขณะนั้นภายในประเทศญี่ปุ่นได้มีการถกเถียงเรื่องนโยบายการรุกรานเกาหลีอย่างเผ็ดร้อน เขายังได้เข้าร่วมการประชุมที่โอซากะในปี ค.ศ. 1875 เพื่อพยายามนำความสมานฉันท์ภายในหมู่สมาชิกคณะคณาธิปไตยเมจิกลับคืนมา

อย่างไรก็ตาม โอกูโบะประสบความล้มเหลวในการชักจูงให้ไซโง ทากาโมริ มองไปยังอนาคตของญี่ปุ่นในวันข้างหน้า ไซโงเริ่มเห็นว่านโยบายใหม่ในการทำให้ญี่ปุ่นมีความทันสมัยเป็นสิ่งที่ผิด และในการกบฏซัตสึมะในปี ค.ศ. 1877 กบฏฝ่ายซัตสึมะบางส่วนก็เข้าร่วมรบภายใต้การนำของไซโงเพื่อต่อต้านกองทัพของรัฐบาลใหม่ด้วย ในฐานะเสนาบดีมหาดไทย โอกูโบะได้บัญชาการกองทัพและทำสงครามปราบปรามไซโงผู้เป็นเพื่อนเก่า เมื่อการกบฏจบลงด้วยความพ่ายแพ้ โอกุบะจึงถูกซามูไรแคว้นซัตสึมะจำนวนมากมองว่าเขาเป็นคนทรยศ ในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1878 โอกูโบะจึงถูกชิมาดะ อิจิโร และซามูไรจากแคว้นคานาซาวะ 6 คน ลอบสังหารในระหว่างเดินทางไปยังพระราชวังโตเกียว โดยที่เกิดเหตุนั้นอยู่ห่างจากประตูซากูราดามง ซึ่งเป็นสถานที่ลอบสังหารอิอิ นาโอซูเกะ เมื่อ 18 ปีก่อน ไม่ไกลนัก

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]