ข้ามไปเนื้อหา

แมงกะพรุน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แมงกะพรุน
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 505–0Ma แคมเบรียน – ปัจจุบัน
แมงกะพรุนในชั้นไซโฟซัว ที่พบในทะเลทั่วไป
ภาพแสดงให้เห็นถึงเมดูซา และส่วนหนวดของแมงกะพรุน
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Cnidaria
ไฟลัมย่อย: Medusozoa
Petersen, 1979
อันดับ
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของแมงกะพรุนทั่วโลก

แมงกะพรุน หรือ กะพรุน[1] คือจัดอยู่ในประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ไฟลัมไนดาเรีย ไฟลัมย่อยเมดูโซซัว แบ่งออกเป็นอันดับได้ 5 อันดับ (ดูในตาราง) ลักษณะลำตัวใสและนิ่มมีโพรงทำหน้าที่เป็นทางเดินอาหารมีเข็มพิษที่บริเวณหนวดที่อยู่ด้านล่าง ไว้ป้องกันตัวและจับเหยื่อ เมื่อโตเต็มวัย ส่วนประกอบหลักในลำตัวเป็นน้ำร้อยละ 94-98 ด้านบนเป็นวงโค้งคล้ายร่ม ด้านล่างตอนกลางเป็นอวัยวะทำหน้าที่กินและย่อยอาหาร พบได้ในทะเลทุกแห่งทั่วโลก

แมงกะพรุนส่วนใหญ่จัดอยู่ในอันดับไซโฟซัว แต่ก็บางประเภทที่อยู่ในอันดับไฮโดรซัว อาทิ แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส (Physalia physalis) ซึ่งเป็นแมงกะพรุนที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก และแมงกะพรุนอิรุคันจิ (Malo kingi) ที่อยู่ในอันดับคูโบซัว ก็ถูกเรียกว่าแมงกะพรุนเช่นกัน

รูปร่าง

[แก้]

แมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่มีลำตัวโปร่งใส ร่างกายประกอบด้วยเจลาตินเป็นส่วนใหญ่ สามารถมองเห็นเข้าไปได้ถึงอวัยวะภายใน เป็นสัตว์ที่ไม่มีทั้งสมองหรือหัวใจ[2] ลำตัวด้านบนของแมงกะพรุนมีลักษณะคล้ายร่ม เรียกว่า "เมดูซา" ซึ่งศัพท์นี้ก็ใช้เป็นอีกชื่อหนึ่งของแมงกะพรุนด้วยเช่นกัน

แมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่ถือกำเนิดขึ้นมาแล้วกว่า 505 หรือ 600 ล้านปี[2][3] โดยถือกำเนิดก่อนไดโนเสาร์ถึง 230 ล้านปี หรือก่อนมนุษย์ราว 500,000 ปี โดยถือได้ว่าเป็นสัตว์ที่ถือกำเนิดมานานแล้วจำพวกหนึ่งที่มีวิวัฒนาการสูงสุด[4] มีวงจรชีวิตที่ขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ[5]

วงจรชีวิต

[แก้]
วงจรชีวิตของแมงกะพรุน

หลังจากผสมพันธุ์แล้ว แมงกะพรุนเมื่อได้ปฏิสนธิแล้ว หลังจากนั้นตัวอ่อนจะพัฒนาขึ้นมา มีลักษณะเหมือนขนหรือหนอนตัวเล็ก ๆ มีขนละเอียดรอบตัว เรียกว่า "ซิเลีย" จากนั้นจะพัฒนาไปเป็น "พลานูลา" จะคืบคลานไปหาที่ ๆ เหมาะสมเพื่อเกาะและเปลี่ยนรูปร่างกลายเป็น "โพลิป" ซึ่งมีสันฐานเหมือนดอกไม้ทะเลขนาดจิ๋ว คือ มีลำตัวที่เหมือนกับแจกันเกาะอยู่กับวัสดุต่าง ๆ ลำตัวหงายขึ้น โดยมีหนวดอยู่รอบปากด้านบน ซึ่งแตกต่างไปจากแมงกะพรุนตัวเต็มวัย เมื่อโพลิปได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และจำเพาะก็จะเกิดการแตกหน่อซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ซึ่งคือ แมงกะพรุนขนาดเล็กที่ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ จะหลุดและลอยไปตามกระแสน้ำ ที่เรียกว่า "อีฟีรา" หรือ "เมดูซา" มีลักษณะเหมือนแมงกะพรุนตัวเต็มวัย คือ ลำตัวคว่ำลง หนวดอยู่ด้านล่าง หากแมงกะพรุนในขั้นนี้ได้รับอาหารที่พอเพียง อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ก็จะเจริญเติบโตกลายเป็นแมงกะพรุนตัวเต็มวัย เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ต่อไปก็จะเข้าสู่วงจรเหล่านี้ใหม่อีกครั้ง[1]

นอกจากนี้แล้ว จากการศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนียพบว่า แมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่มีการนอนหลับพักผ่อนเช่นเดียวกับสัตว์ชั้นสูงหรือสัตว์ที่มีโคร่งร่างซับซ้อนชนิดอื่น ๆ ด้วย ทั้งที่เป็นสัตว์ที่ไม่มีสมองหรือระบบประสาทส่วนกลาง แต่ทว่ามีการพัฒนาของเซลล์ประสาท[4]

พิษ

[แก้]

แมงกะพรุนหลายชนิดมีพิษ โดยบริเวณหนวดและแขนงที่ยื่นรอบปาก เรียกว่า "มีนีมาโตซีส" หรือเข็มพิษ ใช้สำหรับฆ่าเหยื่อ หรือทำให้เหยื่อสลบก่อนจับกินเป็นอาหาร ซึ่งโดยมากเป็น ปลา และใช้สำหรับป้องกันตัว ปริมาณของนีมาโตซีสอาจมีจำนวนถึง 80,000 เซลล์ ใน 1 ตารางเซนติเมตรเท่านั้น ภายในนีมาโตซีสนี้เองมีน้ำพิษที่เป็นอันตรายทำให้เกิดอาการคัน เป็นผื่น บวมแดง เป็นรอยไหม้ ปวดแสบปวดร้อน และเป็นแผลเรื้อรังได้ หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ขึ้นอยู่กับแมงกะพรุนแต่ละชนิด ในชนิด Chironex fleckeri ซึ่งเป็นแมงกะพรุนกล่องชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีเซลล์เข็มพิษมากถึง 4-5,000,000,000 ล้านเซลล์ ในหนวดทั้งหมด 60 เส้น[6] [7] ซึ่งมีผลทางระบบโลหิต โดยไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง ทำให้โลหิตเป็นพิษ และเสียชีวิตลงได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม[2]

การจำแนกและคุณลักษณะ

[แก้]
แมงกะพรุนไฟ ที่จัดอยู่ในชั้นไซโฟซัว

โดยทั่วไปแล้ว แมงกะพรุนมีหลายชนิดที่สามารถรับประทานได้ โดยชาวประมงจะเก็บจากทะเล และผ่าออกทำการตากแห้งและหมักกับเกลือ, สารส้ม และโซเดียม[8] ก่อนจะนำออกขาย โดยประกอบอาหารได้หลายประเภท อาทิ ยำ และเป็นส่วนประกอบสำคัญของเย็นตาโฟ ซึ่งแมงกะพรุนชนิดที่รับประทานได้ คือ แมงกะพรุนหนัง (Rhopilema spp.) และ แมงกะพรุนจาน (Aurelia spp.) ซึ่งชาวจีนมีการรับประทานแมงกะพรุนมาไม่ต่ำกว่า 1,000 ปีแล้ว คุณค่าทางอาหารของแมงกะพรุน คือ มีโปรตีนสูงและแคลอรีต่ำ เป็นโปรตีนประเภทคอลลาเจนสามารถรับประทานได้ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าคอลลาเจนจากแมงกะพรุนอาจจะมีส่วนรักษาโรคไขข้ออักเสบ และโรคหลอดลมอักเสบ ตลอดจนทำให้ผิวหนังนุ่มนวลด้วย [9]

แมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่พบได้ในท้องทะเลทั่วทุกภูมิภาคของโลก ทั้งส่วนที่หนาวเย็นเป็นน้ำแข็งเช่น มหาสมุทรอาร์กติก หรือในที่ ๆ ลึกเป็นพัน ๆ เมตรที่แสงสว่างส่องลงไปไม่ถึง คาดการว่ามีแมงกะพรุนทั้งหมดราว 30,000 ชนิด แต่ชนิดที่เป็นที่รู้จักกันดีราว 2,000 ชนิด และเป็นแมงกะพรุนที่มีพิษราว 70 ชนิด ที่มีอันตรายต่อมนุษย์[2]

ขณะที่แมงกะพรุนชนิดที่มีพิษ จะถูกเรียกรวม ๆ กันว่า แมงกะพรุนไฟ (Crysaora spp.) ส่วนใหญ่มีลำตัวสีแดงหรือสีส้ม จะมีพิษที่บริเวณหนวดที่มีน้ำพิษ ใช้สำหรับเพื่อล่าเหยื่อและป้องกันตัว สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ที่ถูกต่อยได้ บริเวณที่ถูกต่อยนั้นจะปรากฏรอยคล้ายรอยไหม้เป็นผื่น จากนั้นในอีก 20-30 นาทีต่อมา จะบวมนูนขึ้นเป็นทางยาวตามผิวหนัง ต่อไปจะเกิดเป็นแผลเล็ก ๆ และแตกออกเป็นแผลเรื้อรัง กล้ามเนื้อเกร็งและบังคับไม่ได้ จุกเสียด หายใจไม่ออก และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งสิ่งที่สามารถปฐมพยาบาลพิษของแมงกะพรุนไฟได้เป็นอย่างดี คือ ใบของผักบุ้งทะเล (Ipomoea pes-caprae) ใช้ร่วมกับน้ำส้มสายชูขยี้บริเวณที่ถูกพิษ จะช่วยทุเลาอาการได้ และหากมีอาการปวดสามารถรับประทานยาจำพวก แอสไพรินได้ ก่อนจะนำส่งสถานพยาบาล[10] หรือการปฐมพยาบาลแบบง่ายที่สุด คือ ใช้น้ำทะเลราดบริเวณที่ถูกต่อย เพื่อให้เข็มพิษของแมงกะพรุนนั้นหลุดไป จากนั้นจึงใช้น้ำส้มสายชูราดลงไป ก็จะทำลายพิษได้ ห้ามใช้น้ำจืดเด็ดขาด เพราะจะทำให้พิษกระจายตัวและออกมาจากถุงพิษมากขึ้น [11]

มีสัตว์บางประเภทที่ถูกเรียกว่า แมงกะพรุน เช่นกัน แต่พบอาศัยอยู่ในน้ำจืด คือ แมงกะพรุนน้ำจืด (Craspedacusta spp.) จัดเป็นแมงกะพรุนขนาดเล็ก พบในแหล่งน้ำจืดของสหรัฐอเมริกาและทวีปเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยด้วย แต่ถูกจัดให้อยู่ในชั้นไฮโดรซัว[12]

แมงกะพรุนชนิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ แมงกะพรุนขนสิงโต (Cyanea capillata) ที่เมื่อแผ่ออกแล้วอาจมีความกว้างได้ถึงเกือบ 3 เมตร และยาวถึง 37 เมตร ปกติพบในอาร์กติก, มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ และมหาสมุทรแปซิฟิคเหนือ[13]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 หน้า 134, วงจรชีวิตของกะพรุน คอลัมน์ คลินิกสัตว์ทะเล โดย ดร.วรเทพ มุธุวรรณ. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 3 ฉบับที่ 31: มกราคม 2013
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 "ท่องโลกกว้าง: แมงกะพรุนแห่งท้องทะเล". ไทยพีบีเอส. 17 June 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-04. สืบค้นเมื่อ 17 June 2014.
  3. [1]เก็บถาวร 2015-06-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน บรรพบุรุษรุ่นแรกของ พืชและสัตว์ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
  4. 4.0 4.1 หน้า 7, แมงกะพรุนก็มีช่วงนอนหลับไหลอย่างสนิท. "ทันโลก". ไทยรัฐปีที่ 68 ฉบับที่ 21804: วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 11 ปีระกา
  5. ไนดาเรีย
  6. "พิษแมงกะพรุน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-08. สืบค้นเมื่อ 2013-06-29.
  7. "แมงกะพรุน (jellyfish)". กรมประมง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-11. สืบค้นเมื่อ 2013-06-29.
  8. "ทะเลสตูลคึกคักจับแมงกะพรุนส่งนอก". นิคาออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-09. สืบค้นเมื่อ 2011-08-22.
  9. "แมงกะพรุน (Jelly fish)" (HTML). สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
  10. "แมงกระพุนมีพิษกับไม่มีดูความแตกต่างอย่างไร?". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-02. สืบค้นเมื่อ 2011-08-22.
  11. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผศ.ดร., บทสัมภาษณ์ในรายการ 101 องศาข่าว ทาง F.M. 101 Mhz: วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554
  12. ชัยวุฒิ กรุดพันธ์, "แมงยุ้มแยะ" กะพรุนน้ำจืด แห่งเมืองอุบล คอลัมน์ Aqua Life หน้า 45-47 นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 1 ฉบับที่ 10 ประจำเดือนเมษายน 2011
  13. British Jellyfish

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]