ข้ามไปเนื้อหา

เฮ่อ หลง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เฮ่อ หลง
贺龙
จอมพล เฮ่อ หลง ใน ค.ศ. 1955
สมาชิกคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ดำรงตำแหน่ง
ตุลาคม ค.ศ. 1954 – 9 มิถุนายน ค.ศ. 1969
ประธานเหมา เจ๋อตง
รองนายกรัฐมนตรีจีน
ดำรงตำแหน่ง
ตุลาคม ค.ศ. 1954 – 9 มิถุนายน ค.ศ. 1969
หัวหน้ารัฐบาลโจว เอินไหล
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
賀龍

22 มีนาคม ค.ศ. 1896(1896-03-22)
ซางจื๋อ หูหนาน จักรวรรดิชิง
เสียชีวิต9 มิถุนายน ค.ศ. 1969(1969-06-09) (73 ปี)
ปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
พรรคการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน (1926–1969)
อาชีพนายพล นักการเมือง นักเขียน
ชื่อเล่น贺老总 (Hè lǎozǒng, "หัวหน้าเฒ่าเฮ่อ")
贺胡子 (Hè húzi, "เฮ่อผู้มีหนวด")
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ สาธารณรัฐประชาชนจีน
สังกัด กองทัพบกกองทัพปลดปล่อยประชาชน
ประจำการ สาธารณรัฐจีน (1914–1920)
กองทัพปฏิวัติแห่งชาติ (1920–1927)
พรรคคอมมิวนิสต์จีน (1927–1969)
ยศจอมพลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
บังคับบัญชา
ผ่านศึก
รางวัล เครื่องอิสริยาภรณ์ 1 สิงหาคม (ชั้นที่ 1) (1955)
เครื่องอิสริยาภรณ์เอกราชและเสรีภาพ (ชั้นที่ 1) (1955)
เครื่องอิสริยาภรณ์แห่งการปลดปล่อย (ชั้นที่ 1) (1955)

เฮ่อ หลง (จีนตัวย่อ: 贺龙; จีนตัวเต็ม: 賀龍; พินอิน: Hè Lóng; 22 มีนาคม ค.ศ. 1896 – 9 มิถุนายน ค.ศ. 1969) เป็นนักปฏิวัติคอมมิวนิสต์ชาวจีนและหนึ่งในสิบจอมพลของสาธารณรัฐประชาชนจีน เขามาจากครอบครัวยากจนในชนบทของมณฑลหูหนาน และครอบครัวของเขาไม่สามารถให้การศึกษาในระบบแก่เขาได้ เขาเริ่มต้นอาชีพนักปฏิวัติหลังล้างแค้นให้การเสียชีวิตของลุง การหลบหนีไปอยู่นอกกฎหมายทำให้เขาดึงดูดเหล่าผู้ภักดีจำนวนหนึ่งจนกลายเป็นกองทัพส่วนตัวขนาดเล็ก ต่อมากองกำลังของเขาได้เข้าร่วมกับก๊กมินตั๋ง และได้เข้าร่วมในการกรีธาทัพขึ้นเหนือ

เขาก่อกบฏต่อก๊กมินตั๋งหลังเจียง ไคเชกเริ่มปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง เมื่อเขาวางแผนและนำการก่อการกำเริบหนานชางที่ไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากหลบหนี เขาก่อตั้งโซเวียตขึ้นในชนบทของหูหนาน (และต่อมาในกุ้ยโจว) แต่ถูกบังคับให้ละทิ้งฐานเมื่อถูกกดดันจากการทัพโอบล้อมของเจียง เขาเข้าร่วมการเดินทัพทางไกลใน ค.ศ. 1935 กว่าหนึ่งปีหลังกองกำลังของเหมา เจ๋อตงและจู เต๋อถูกบังคับให้ทำเช่นนั้น เขาพบกับกองกำลังที่นำโดยจาง กั๋วเทา แต่เขากลับไม่เห็นด้วยกับจางเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของกองทัพแดงและนำกองกำลังของเขาเข้าร่วมและสนับสนุนเหมา

หลังจากตั้งถิ่นฐานและก่อตั้งสำนักงานใหญ่ในฉ่านซี เขาเป็นผู้นำกองโจรในภาคตะวันตกเฉียงเหนือทั้งในสงครามกลางเมืองจีนและสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง และประสบความสำเร็จโดยในการขยายพื้นที่ควบคุมของคอมมิวนิสต์ เขาบังคับบัญชากำลังพล 170,000 นายภายในสิ้นปี ค.ศ. 1945 จากนั้น กองกำลังของเขาจึงถูกย้ายไปอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของเผิง เต๋อหวย และกลายเป็นรองผู้บังคับบัญชาของเผิง เขาได้รับแต่งตั้งให้ควบคุมภาคตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1940 และใช้เวลาส่วนใหญ่ของคริสต์ทศวรรษ 1950 ในภาคตะวันตกเฉียงใต้เพื่อบริหารภูมิภาคนี้ทั้งในด้านพลเรือนและทหาร

เขาดำรงตำแหน่งพลเรือนและทหารหลายตำแหน่งหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนใน ค.ศ. 1949 ใน ค.ศ. 1955 ผลงานของเขาในการนำชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รับการยอมรับเมื่อเขาได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสิบจอมพล และเขายังดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีของจีนอีกด้วย เขาไม่สนับสนุนความพยายามของเหมา เจ๋อตงที่จะกวาดล้างเผิง เต๋อหวยใน ค.ศ. 1959 และยังพยายามที่จะฟื้นฟูเขา หลังการปฏิวัติทางวัฒนธรรมเริ่มต้นใน ค.ศ. 1966 เขาเป็นหนึ่งในผู้นำคนแรก ๆ ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนที่ถูกกวาดล้าง เขาเสียชีวิตใน ค.ศ. 1969 เมื่อผู้คุมฉีดกลูโคสให้ ทำให้โรคเบาหวานที่ไม่ได้รับการรักษาของเขามีภาวะแทรกซ้อน

ประวัติ

[แก้]

ชีวิตช่วงต้น

[แก้]
เฮ่อ หลงในวัยหนุ่ม
เฮ่อใน ค.ศ. 1925

เฮ่อ หลงเป็นหนึ่งในชนเผ่าถู่เจีย[1] เขาเกิดในซางจื๋อ หูหนาน และพี่น้องของเขารวมทั้งเฮ่อ อิง เติบโตมาในครอบครัวชาวนาฐานะยากจน แม้พ่อของเขาจะเป็นนายทหารผู้เยาว์ของราชวงศ์ชิงก็ตาม[2] พ่อของเขาเป็นสมาชิกของเกอเหล่าฮุ่ย (สมาคมพี่ชาย) สมาคมลับที่มีประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปถึงสมัยต้นราชวงศ์ชิง เมื่อครั้งยังหนุ่มเขาเป็นคนเลี้ยงวัวและไม่ได้รับการศึกษาในระบบ[3] เมื่ออายุได้ 20 ปี เขาฆ่าเจ้าหน้าที่ประเมินภาษีของรัฐบาลท้องถิ่นซึ่งฆ่าลุงของเขาเพราะไม่จ่ายภาษี[4] จากนั้นเขาก็หลบหนีและกลายเป็นคนนอกกฎหมาย ทำให้เกิดตำนานที่ว่าเขาเริ่มต้นอาชีพนักปฏิวัติด้วยมีดทำครัวเพียงสองเล่มเท่านั้น[3] หลังเริ่มชีวิตในฐานะคนนอกกฎหมาย เขาได้รับชื่อเสียงว่าเป็น "ผู้คล้ายโรบินฮูด" อาวุธประจำตัวของเขาคือมีดเชือดเนื้อ[2]

ประมาณ ค.ศ. 1918 เขาก่อตั้งกองทัพอาสาสมัครปฏิวัติที่สอดคล้องกับขุนศึกท้องถิ่นของหูหนาน[4] และใน ค.ศ. 1920 กองทัพส่วนตัวของเขาก็เข้าร่วมกองทัพปฏิวัติแห่งชาติ[5] ใน ค.ศ. 1923 เขาถูกการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพชาตินิยมที่ 20 ใน ค.ศ. 1925 เขาเปิดโรงเรียนฝึกทหารก๊กมินตั๋ง ขณะเขาบริหารโรงเรียนแห่งนี้ เขาก็ได้สนิทสนมกับนักเรียนของเขาบางคนซึ่งเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย[4] ระหว่างการกรีธาทัพขึ้นเหนือใน ค.ศ. 1926 เขาทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 กองทัพน้อยที่ 9 ของกองทัพปฏิวัติแห่งชาติ[6] เขาทำหน้าที่ภายใต้การนำของจาง ฟาขุยระหว่างการกรีธาทัพ[4]

เขาเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปลายปี ค.ศ. 1926[5] ใน ค.ศ. 1927 หลังการล่มสลายของรัฐบาลก๊กมินตั๋งฝ่ายซ้ายของวาง จิงเว่ย์ในอู่ฮั่นและการปราบปรามคอมมิวนิสต์ของเจียง ไคเชก เขาออกจากก๊กมินตั๋งและเข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์ โดยทำหน้าที่บัญชาการกองทัพน้อยที่ 20 กองย่อยที่ 1 ของกองทัพแดง[4]

การก่อการกำเริบเกิดขึ้นที่โบสถ์แองกลิกัน[1] อิทธิพลของศาสนาคริสต์ต่อวัฒนธรรมจีน[2]

เขากับจู เต๋อวางแผนและนำกำลังหลักของการก่อการกำเริบหนานชางใน ค.ศ. 1927 ในการก่อการกำเริบ เขากับจูนำกำลังผสม 24,000 นายพยายามยึดเมืองหนานชาง แต่พวกเขาไม่สามารถรักษาเมืองไว้เพราะก๊กมินตั๋งพยายามยึดเมืองคืนอย่างเลี่ยงไม่ได้ การทัพครั้งนี้ประสบปัญหาทางด้านการขนส่ง และฝ่ายคอมมิวนิสต์เสียกำลังพลไปถึงร้อยลพ 50 ในการสู้รบสองเดือน ทหารของเฮ่อส่วนใหญ่ที่รอดชีวิตยอมจำนน หนีทัพ และ/หรือกลับเข้าร่วมกับก๊กมินตั๋ง ท้ายที่สุด มีผู้รอดชีวิตเพียง 2,000 คนที่กลับมาสู้รบให้กับคอมมิวนิสต์ใน ค.ศ. 1928 เมื่อจูปฏิรูปกองกำลังของเขาในหูหนาน[7]

หลังจากกองทัพของเขาพ่ายแพ้ เขาหลบหนีไปยังลู่เฟิง กวางตุ้ง เขาใช้เวลาอยู่ในฮ่องกงระยะหนึ่ง แต่ต่อมาถูกพรรคคอมมิวนิสต์จีนส่งไปที่เซี่ยงไฮ้ จากนั้นจึงไปที่อู่ฮั่น[4] เจียง ไคเชกพยายามโน้มน้าวให้เขากลับมาเข้าร่วมก๊กมินตั๋งอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ล้มเหลว[ต้องการอ้างอิง]

กองโจรคอมมิวนิสต์

[แก้]
เฮ่อ หลงในกองทัพปฏิวัติแห่งชาติ (ค.ศ. 1939)

หลังการก่อการกำเริบหนานชางล้มเหลว เขาปฏิเสธข้อเสนอของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะส่งเขาไปศึกษาที่รัสเซียและเดินทางกลับไปยังหูหนาน ซึ่งเขาได้จัดตั้งกองกำลังใหม่ใน ค.ศ. 1930[6] กองกำลังของเขาควบคุมพื้นที่ชนบทอันกว้างใหญ่ในเขตชายแดนหูหนาน–หูเป่ย์ รอบพื้นที่ทะเลสาบหง และจัดระเบียบพื้นที่นี้ให้เป็นโซเวียตชนบท ในช่วงกลางปี ​​ค.ศ 1932 กองกำลังก๊กมินตั๋งได้โจมตีสหภาพโซเวียตในฐานะส่วนหนึ่งของการทัพโอบล้อมครั้งที่สี่ กองกำลังของเขาละทิ้งฐานทัพ เคลื่อนพลไปทางตะวันตกเฉียงใต้ และก่อตั้งฐานทัพใหม่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกุ้ยโจวในกลางปี ​​ค.ศ. 1933[8]

ใน ค.ศ. 1934 เหริน ปี้ฉือเข้าร่วมกับเฮ่อในกุ้ยโจวพร้อมกับกองกำลังที่รอดชีวิตของเขาเองหลังถูกบังคับให้ละทิ้งกองทัพโซเวียตของเขาในการทัพโอบล้อมอีกครั้งหนึ่ง เหรินและเฮ่อรวมกำลังกัน โดยเฮ่อกลายเป็นผู้บัญชาการทหาร และเหรินกลายเป็นกรรมาธิการการเมือง[9] เขาเข้าร่วมการเดินทัพทางไกลในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1935 กว่าหนึ่งปีหลังกองกำลังที่นำโดยจู เต๋อและเหมา เจ๋อตงถูกบังคับให้อพยพทหารโซเวียตของตนในเจียงซี[5] ความสามารถของเขาในการต้านก๊กมินตั๋งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากตำแหน่งของเขาในพื้นที่รอบนอกที่อยู่ภายใต้การควบคุมของคอมมิวนิสต์[2] ขณะกำลังเดินทัพทางไกล กองกำลังของเขาได้พบกับกองกำลังคอมมิวนิสต์ที่นำโดยจาง กั๋วเทาในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1936 แต่ทั้งเขาและเหรินต่างไม่เห็นด้วยกับจางเกี่ยวกับทิศทางของการเดินทัพทางไกล และในที่สุดเขาก็สามารถนำกองกำลังของเขาเข้าสู่ฉ่านซีเพื่อเข้าร่วมกับเหมา เจ๋อตงในปลายปีนั้น ใน ค.ศ. 1937 เขาก่อตั้งกองทหารของเขาไว้ทางตะวันตกเฉียงเหนือของฉ่านซีและก่อตั้งสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ที่นั่น[9] เนื่องจากกองทัพที่สองของกองทัพแดงจีนภายใต้การบังคับบัญชาของเฮ่อเป็นหนึ่งในกองกำลังคอมมิวนิสต์ไม่กี่กองที่เดินทางมาถึงเหยียนอานโดยยังคงสภาพเกือบสมบูรณ์ กองกำลังของเขาจึงสามารถรับหน้าที่ปกป้องเมืองหลวงแห่งใหม่หลังจากที่พวกเขามาถึงได้[2]

เมื่อกองทัพแดงถูกจัดระเบียบใหม่เป็นกองทัพลู่ที่แปดใน ค.ศ. 1937 เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 120[5] ตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 1938 ถึง 1940 เขาต่อสู้กับทั้งกองทัพญี่ปุ่นและกองโจรที่สังกัดก๊กมินตั๋งในหูเป่ย์[9] ความรับผิดชอบของเขาเพิ่มขึ้นในช่วงสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง และใน ค.ศ. 1943 เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองกำลังคอมมิวนิสต์ในชานซี, ฉ่านซี, กานซู่, หนิงเซี่ย และมองโกเลียใน[5] เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเป็นผู้นำกองกำลังประมาณ 175,000 นายทั่วภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาได้แก่ จาง จงซฺวิ่น, สฺวี่ กวงต๋า และเผิง เช่าฮุย[10]

เขาประสบความสำเร็จในการขยายพื้นที่ฐานทัพคอมมิวนิสต์ตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนหนึ่งของความสำเร็จของเฮ่อเกิดจากความสับสนทางสังคมที่เกิดจากการรุกอิจิโกะของญี่ปุ่นในพื้นที่ของจีนซึ่งเป็นผลกระทบจากปฏิบัติการของญี่ปุ่น เขาสามารถขยายพื้นที่ปฏิบัติการของคอมมิวนิสต์ได้บ่อยครั้งโดยการเป็นพันธมิตรกับกองกำลังกองโจรอิสระในพื้นที่ซึ่งกำลังต่อสู้กับญี่ปุ่นเช่นกัน ประสบการณ์ในการต่อสู้กับก๊กมินตั๋งและญี่ปุ่นทำให้เขาตั้งคำถามถึงการเน้นย้ำอย่างไม่มีเงื่อนไขของเหมาเกี่ยวกับความสำคัญของสงครามกองโจรทางอุดมการณ์โดยไม่คำนึงถึงยุทธวิธีแบบเดิมและการจัดระเบียบทางทหาร[11]

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1945 หนึ่งเดือนหลังญี่ปุ่นยอมจำนน การบังคับบัญชากองกำลังของเฮ่อถูกโอนไปให้เผิง เต๋อหวย ซึ่งปฏิบัติการภายใต้ชื่อ "กองทัพสนามตะวันตกเฉียงเหนือ" เขากลายเป็นรองผู้บัญชาการของเผิง แต่ใช้เวลาที่เหลือของสงครามกลางเมืองจีนส่วนใหญ่อยู่ในสำนักงานใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนส่วนกลาง ในเหยียนอานและบริเวณใกล้เคียง[10] หลังญี่ปุ่นยอมจำนนใน ค.ศ. 1945 เขาได้รับเลือกให้เป็นกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และอิทธิพลของเขาก็เพิ่มขึ้นทั้งในกองทัพและระบบการเมืองคอมมิวนิสต์ ในช่วงใกล้สิ้นสุดสงครามกลางเมืองจีน เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพสนามที่ 1 ซึ่งปฏิบัติการอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้[11] หลังคอมมิวนิสต์ชนะสงครามกลางเมืองใน ค.ศ. 1949 เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในคริสต์ทศวรรษ 1950 ทั้งในบทบาทพลเรือนและทหารในภาคตะวันตกเฉียงใต้[9]

เฮ่อ หลงกับเติ้ง เสี่ยวผิง (ซ้าย) และจู เต๋อ (ขวา) (ค.ศ. 1949)

สาธารณรัฐประชาชน

[แก้]
เฮ่อ หลง (กลาง) กับจอมพล เนี่ย หรงเจิน (ซ้าย) และหลัว หรงหวนที่เทียนอันเหมิน (ค.ศ. 1959)

ความสำเร็จทางการทหารของเขาได้รับการยอมรับเมื่อเขาได้รับการเลื่อนยศเป็น 1 ใน 10 จอมพลใน ค.ศ. 1955[11] และเขาเคยดำรงตำแหน่งพลเรือนหลายตำแหน่ง เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี เขาเป็นหัวหน้าคณะกรรมการกีฬาแห่งชาติ และทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนกีฬากับสหภาพโซเวียตและประเทศต่างในยุโรปตะวันออก[12]: 139  เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เดินทางไปมาบ่อยที่สุด และเป็นผู้นำคณะผู้แทนจำนวนมากในต่างแดน พบปะกับผู้นำของประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย, สหภาพโซเวียต และเยอรมนีตะวันออก[8]

หลังเหมา เจ๋อตงกวาดล้างเผิง เต๋อหวยใน ค.ศ. 1959 เหมาก็แต่งตั้งเฮ่อเป็นหัวหน้าสำนักงานเพื่อสืบสวนอดีตของเผิงและหาเหตุผลวิพากษ์วิจารณ์เผิง เขาตอบรับตำแหน่งแต่ก็เห็นใจเผิงและรออยู่กว่าหนึ่งปีกว่าจะส่งรายงานของเขา ชื่อเสียงของเหมาเสื่อมถอยลงเมื่อเป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางว่าการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้าของเหมาเป็นหายนะ และในที่สุดเขาก็นำเสนอรายงานที่เป็นไปในทางบวกและพยายามปกป้องเผิง[13] เผิงได้รับการฟื้นฟูบางส่วนใน ค.ศ. 1965 แต่ถูกกวาดล้างอีกครั้งในช่วงต้นของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมใน ค.ศ. 1966[14] เขาถูกกล่าวหาว่าก่อกบฏในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1964 หลังการเดินทางไปสหภาพโซเวียตกับโจว เอินไหล โซเวียตไม่พอใจกับแนวทางของจีน การปฏิวัติทางวัฒนธรรมตามมาในเวลาไม่นานเพื่อกำจัดลัทธิคอมมิวนิสต์และฝ่ายขวาในจีน

เจียง ชิงประณามเฮ่อในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1966 ว่าเป็น "พวกขวาจัด" และแบ่งฝักแบ่งฝ่ายภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน ภายหลังคำกล่าวหาของเจียง เขาและผู้สนับสนุนก็ถูกตราหน้าว่าเป็นพวกต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีนและถูกกวาดล้างอย่างรวดเร็ว[15] ผู้ข่มเหงเขาเลือกเขาออกมาโดยกล่าวหาว่าเขาเป็น "โจรที่ใหญ่ที่สุด[11] เขาเป็นสมาชิกคณะกรรมการกิจการทหารที่มีตำแหน่งสูงสุดเป็นอันดับสองในช่วงที่เขาถูกกวาดล้าง และวิธีการที่เขากับผู้ใกล้ชิดของเขาถูกกวาดล้างนั้นได้วางรูปแบบการกวาดล้างผู้นำกองทัพปลดปล่อยประชาชนหลายคนในเวลาต่อมาตลอดช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม[15]

หลังถูกกวาดล้าง เขาถูกกักบริเวณในบ้านอย่างไม่มีกำหนดเป็นเวลาสองปีครึ่งสุดท้ายของชีวิต เขาบรรยายสภาพความเป็นอยู่ของเขาในช่วงถูกคุมขังว่าเป็นการทรมานอย่างช้า ๆ โดยผู้จับกุมเขา "ตั้งใจทำลายสุขภาพของเขาเพื่อจะได้ฆ่าเขาโดยไม่ต้องเสียเลือด" ในช่วงหลายปีที่เขาถูกคุมขัง ผู้คุมได้จำกัดการเข้าถึงน้ำของเขา ตัดความร้อนในบ้านในช่วงฤดูหนาว และปฏิเสธไม่ให้เขาเข้าถึงยารักษาโรคเบาหวาน[16] เขาเสียชีวิตใน ค.ศ. 1969 หลังเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากภาวะทุพโภชนาการรุนแรงที่เกิดขึ้นขณะถูกกักบริเวณในบ้าน เขาเสียชีวิตหลังเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลไม่นาน หลังจากการฉีดกลูโคสซึ่งทำให้โรคเบาหวานเรื้อรังของเขามีปัญหา[17]

เขาได้รับการฟื้นฟูบางส่วนหลังเสียชีวิตโดยเหมาใน ค.ศ. 1974 และฟื้นฟูอย่างสมบูรณ์หลังเติ้ง เสี่ยวผิงขึ้นสู่อำนาจในปลายคริสต์ทศวรรษ 1970[ต้องการอ้างอิง] สนามกีฬาแห่งหนึ่งในฉางชาได้รับการตั้งชื่อตามเขาใน ค.ศ. 1987

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Winchester 1
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Lew 11
  3. 3.0 3.1 Whitson & Huang 28
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 Leung 49
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 China at War 162
  6. 6.0 6.1 Whitson & Huang 34
  7. China at War 147
  8. 8.0 8.1 Leung 49-50
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 Leung 50
  10. 10.0 10.1 Domes 43
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 China at War 163
  12. Minami, Kazushi (2024). People's Diplomacy: How Americans and Chinese Transformed US-China Relations during the Cold War. Ithaca, NY: Cornell University Press. ISBN 9781501774157.
  13. Rice 185-186
  14. Domes 116-117
  15. 15.0 15.1 Central Intelligence Agency ii
  16. Chung 391
  17. The Cambridge History of China 213

บรรณานุกรม

[แก้]