เฮียเฮียะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เฮียเฮียะ
เฮียเฮียะ (艾叶 หรือ 艾草)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Asterids
อันดับ: Asterales
วงศ์: Asteraceae
สกุล: Artemisia
สปีชีส์: A.  argyi
ชื่อทวินาม
Artemisia argyi
H.Lév. & Vaniot
ภาพวาดประกอบ
เฮียเฮียะ (艾草) เพาะปลูกในสิิงคโปร์

เฮียเฮียะ หรือ เหี่ยเฮี๊ยะ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Artemisia argyi; จีนตัวย่อ: 艾叶; จีนตัวเต็ม: 艾葉; พินอิน: ài yè ไอ้เย่; แปลตามตัว ใบไอ้; จีนแต้จิ๋ว: hian7 hiêh8, /hĩã.hiεʔ/) เป็นชื่อในตำรับยาภาษาจีนที่ใช้ใบของพืชที่เรียก ไอ้เฉ่า (จีนตัวย่อ: 艾草; จีนตัวเต็ม: 艾葉; พินอิน: ài cǎo) หรือ โกฐจุฬาจีน[1] ภาษามลายูเรียกอูลัมมักวัน เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปีอยู่ในสกุลโกฐจุฬาลัมพา และเป็นพืชท้องถิ่นในจีน ญี่ปุ่น และไซบีเรีย[2] มีกลิ่นหอมแรง ใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาตับ ม้าม และ ไต[3]และใช้กินเป็นอาหารจีนเจ้อเจียงที่เรียก ชิงถฺวาน (青团) และอาหารจีนแคะ เฉ่าอากุ้ย (草仔粿)[4]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

เฮียเฮียะ (A. argyi) เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นตั้งตรงสีเทา สูงประมาณหนึ่งเมตรมีกิ่งสั้น และมีเหง้า

ก้านใบเป็นรูปไข่ ใบรูปหอกกว้าง หยักเว้าลึก ขอบใบจัก สีเทาเขียวและปกคลุมด้วยต่อมผลิตน้ำมันขนาดเล็ก ใบด้านบนมีขนนิ่ม ๆ อยู่ประปราย ด้านล่างสีเทาขาว มีขนหนาแน่นจำนวนมาก ใบความยาวประมาณ 6 เซนติเมตร เป็นใบประกอบสามส่วน ใบประดับเรียบง่ายเป็นรูปใบหอกยาว

ช่อดอกเป็นช่อใบแคบ ดอกไม้แต่ละดอกมีสีเหลืองซีด มีลักษณะเป็นทรงกระบอก และฐานดอกกระจุกเป็นครึ่งทรงกลม ดอกกลางเป็นกะเทย ส่วนดอกข้างดอกเป็นตัวเมีย กลีบดอกแคบและพับเป็นทรงกระบอก[2]

ทั้งต้นมีกลิ่นหอมแรง[5]

การแพร่กระจายและถิ่นที่อยู่[แก้]

เฮียเฮียะเป็นพืชทนแล้ง (xerophile) ปรับตัวให้เจริญเติบโตในที่แห้งแล้ง ได้แก่บนเนินเขาที่แห้งแล้ง ริมฝั่งแม่น้ำสูงชัน ขอบของป่าโอ๊ค แนวชายฝั่ง ที่รกร้างว่างเปล่า ตามริมถนนและทางรถไฟ เจริญเติบโตได้ดีกว่าและมีกลิ่นหอมมากขึ้นเมื่อในพื้นที่แห้งแล้งและดินเลว[6]

การใช้ประโยชน์[แก้]

ในทางวัฒนธรรม[แก้]

ชาวจีนภาคใต้ (ตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี) ใช้ร่วมกับใบว่านน้ำแขวนประตูในช่วงเทศกาลเรือมังกรเพื่อปัดเป่าวิญญาณร้าย ส่งกลิ่นหอมระเรื่อ และสามารถใช้กินเป็นอาหารในเทศกาลเช็งเม้ง

การใช้เป็นอาหาร[แก้]

เป็นอาหารพื้นเมืองทางตอนใต้ของจีน บริเวณมณฑลเจ้อเจียง เช่น ขนมนึ่งใส่เฮียเฮียะ ที่กินก่อนและหลังเทศกาลเช็งเม้ง โดยการบดนวดแป้งข้าวเหนียวไปพร้อมกับใบเฮียเฮียะสด อาจผสมด้วยถั่วลิสง งา น้ำตาล และไส้อื่นๆ (ในบางพื้นที่จะมีการใส่ถั่วเขียวเพิ่ม) แล้วนึ่ง เรียก ชิงถฺวาน และในอาหารจีนแคะก่อนนึ่ง ใช้ก้อนแป้งอัดลงแม่พิมพ์พร้อมใส้เป็นรูปต่าง ๆ เรียก เฉาอากุ้ย

ในลุ่มน้ำตงเจียงในกวางตุ้ง ชาวบ้านเก็บใบเฮียเฮียะสดและยอดอ่อนในฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิเพื่อบริโภคเป็นผัก ในอาหารของชาวจีนแคะในเหมย์โจวใช้ใบแห้งหมัก และยัดลงในท้องไก่ ใส่ขิงหั่นบาง ๆ แล้วนึ่ง หรือต้มแกงไก่ รวมกับเนื้อลำไย และอื่นๆ

การใช้เป็นยาสมุนไพร[แก้]

โดยการเก็บใบเฮียเฮียะ ในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนเมื่อขณะออกดอก และตากในที่ร่ม

ในการแพทย์แผนจีน ถือว่ามีคุณสมบัติขม ฉุน และอุ่น และสัมพันธ์กัการบรักษาตับ ม้าม และ ไต[3]ใบใช้เป็นยาแก้ไอขับเสมหะ[7]ใช้เป็นยาห้ามเลือด บรรเทาปวด[8] ช่วยการเพิ่มปริมาณเลือดไปยังบริเวณอุ้งเชิงกรานและกระตุ้นการมีประจำเดือน ช่วยรักษาภาวะมีบุตรยาก ประจำเดือน โรคหอบหืด และไอ[9]

อาจใช้ในการรมยา (moxibustion) ซึ่งเป็นรูปแบบการรักษาด้วยการเผาสมุนไพรเฮียเฮียะ (โกศจุฬาลัมพา) ในรูปกรวยหรือแท่ง หรือเป็นลูกกลมอัดที่เสียบไว้กับปลายเข็มฝัง[9] เพื่อรมบริเวณจุดฝังเข็มตามตำแหน่งของเส้นลมปราณ

ใช้ในยาต้มแบบอย่างเดียว หรือกับสารอื่น ๆ

ใบสดสามารถบดและปั่นและคั้นน้ำผลไม้[9] ชาวโอรังอัซลีในรัฐเปรัก ประเทศมาเลเซียใช้ใบสดเคี้ยวแก้ไอ[10]

น้ำมันระเหยสามารถสกัดจากใบและใช้ในการรักษาโรคหอบหืดและหลอดลมอักเสบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฉีดพ่นลงบนหลังลำคอและช่วยบรรเทาอาการได้อย่างรวดเร็ว[11] ใบมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียและแสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพในการต่อต้าน Staphylococcus aureus, Bacillus dysenteriae, Bacillus subtilis, Bacillus typhi, Escherichia coli และ Pseudomonas[12]

การวิจัย[แก้]

  • ในการวิจัยใบของเฮียเฮียะ (A. argyi) พบสารประกอบระเหย 96 ชนิด ได้แก่ อัลฟา-ทูจีน, 1,8-ซินีโอล, การบูร และอาร์เตมิเซียแอลกอฮอล์[13]
  • ดอกมีสารประกอบระเหยเกือบ 50 ชนิด และการใช้ดอกไม้เพื่อการรักษาอาจได้ผลดีพอ ๆ กับการใช้ใบ[14]
  • สารสกัดจากเมทานอลที่เตรียมจากทุกส่วนยกเว้นรากของพืชช่วยลดการกลายพันธุ์ของเชื้อ Salmonella typhimurium ได้[15]
  • สารสกัดจากเฮียเฮียะ มีฤทธิ์ต้านเชื้อรากับ Botrytis cinerea และ Alternaria alternata ที่ทำให้ผักและผลไม้ในที่เก็บเน่าได้ง่าย[16]
  • สารฟลาโวนที่แยกได้จากสารสกัดจากเฮียเฮียะ พบว่ามีฤทธิ์ต้านเนื้องอก[17]
  • มีการศึกษาตรวจสอบประสิทธิภาพทางคลินิกของการรมยา (moxibustion) เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของใบของสายพันธุ์ต่าง ๆ ของเฮียเฮียะ (A. argyi) และตรวจสอบวิธีการนำยาที่มีประสิทธิภาพที่สุด และเพื่อเพิ่มผลการรักษาแบบนี้[18]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ยาจีนแผนโบราณ ชื่อ-Thaicn.com". th.thaicn.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-02. สืบค้นเมื่อ 2021-08-02.
  2. 2.0 2.1 AgroAtlas
  3. 3.0 3.1 Acupuncture Today
  4. "จุดชมธรรมชาติเฟิ่นฉี่หู (Fenqihu Scenic Area)". Taiwan Tourism (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  5. Flora of China
  6. Genders. R. Scented Flora of the World. Robert Hale. London. 1994 ISBN 0-7090-5440-8[ต้องการเลขหน้า]
  7. ภาสกิจ วัณณาวิบูล. รู้เลือกรู้ใช้ 100 ยาจีน. กทม. ทองเกษม. 2555
  8. ศุภนิมิต ทีฆชุณหเสถียร. ยาจีนปรับสมดุลเลือด. กทม. ซีเอ็ดยูเคชัน. 2554
  9. 9.0 9.1 9.2 Acupuncture Today: Mugwort Leaf
  10. Samuel, A.J.S.J., Kalusalingam, A., Chellappan, D.K., Gopinath, R., Radhamani, S., Husain, H. A., Muruganandham, V., Promwichit, P. 2010. Ethnomedical survey of plants used by the orang asli in kampong bawong, Perak, West Malaysia. Joutnal of Ethnobiology and Ethnomedicine. 6:5
  11. Duke. J. A. and Ayensu. E. S. Medicinal Plants of China. Reference Publications, Inc. 1985 ISBN 0-917256-20-4[ต้องการเลขหน้า]
  12. Yeung. Him-Che. Handbook of Chinese Herbs and Formulas. Institute of Chinese Medicine, Los Angeles 1985[ต้องการเลขหน้า]
  13. Pan, JG; Xu, ZL; Ji, L (1992). "Chemical studies on essential oils from 6 Artemisia species". Zhongguo Zhong Yao Za Zhi. 17 (12): 741–4, 764. PMID 1304756.
  14. Li, N; Mao, Y; Deng, C; Zhang, X (2008). "Separation and identification of volatile constituents in Artemisia argyi flowers by GC-MS with SPME and steam distillation". Journal of Chromatographic Science. 46 (5): 401–5. PMID 18492349.
  15. Nakasugi, Toru; Nakashima, Mika; Komai, Koichiro (2000). "Antimutagens in Gaiyou (ArtemisiaargyiLevl. Et Vant.)". Journal of Agricultural and Food Chemistry. 48 (8): 3256–66. doi:10.1021/jf9906679. PMID 10956099.
  16. Wenqiang, Guan; Shufen, Li; Ruixiang, Yan; Yanfeng, Huang (2006). "Comparison of composition and antifungal activity ofArtemisia argyi Lévl. Et Vantinflorescence essential oil extracted by hydrodistillation and supercritical carbon dioxide". Natural Product Research. 20 (11): 992–8. doi:10.1080/14786410600921599. PMID 17032625.
  17. Seo, Jeong-Min; Kang, Hyun-Mi; Son, Kwang-Hee; Kim, Jong Han; Lee, Chang Woo; Kim, Hwan Mook; Chang, Soo-Ik; Kwon, Byoung-Mog (2003). "Antitumor Activity of Flavones Isolated fromArtemisia argyi". Planta Medica. 69 (3): 218–22. doi:10.1055/s-2003-38486. PMID 12677524.
  18. "Analysis and study on modern pharmacy and pharmacology of moxibustion". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-02. สืบค้นเมื่อ 2021-08-02.