เสรี สุวรรณภานนท์
เสรี สุวรรณภานนท์ ม.ว.ม., ป.ช., ท.ภ. | |
---|---|
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 กรุงเทพมหานคร |
พรรค | ประชาสันติ (2554 - 2555) |
เสรี สุวรรณภานนท์ (เกิด 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499) สมาชิกวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2560 โดยเป็นประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เคยเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เป็นอดีตประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนประเทศ (สปท.) เป็นอดีตประธานกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ เป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2543 - 2549 โดยเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เป็นรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (คนที่หนึ่ง) อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539 (สสร.) และอดีตเลขาธิการสภาทนายความ
ประวัติ
เสรี สุวรรณภานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 จบการศึกษาจากโรงเรียนบางปะอินราชานุเคราะห์ 1, โรงเรียนวัดนวลนรดิศ ปริญญาตรีและปริญญาโท สาขานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เนติบัณฑิตไทย วิทยาลัยตลาดทุน รุ่นที่ 5
การทำงาน
เสรี สุวรรณภานนท์ เริ่มทำงานเป็นทนายความ และเป็นหัวหน้าสำนักกฎหมายเสรี เคยดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสภาทนายความ พ.ศ. 2534-2540 และในปี พ.ศ. 2539 ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2543 ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร และเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ต่อจากนั้นได้เข้ารับตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และมีตำแหน่งเป็นรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มให้มีการอภิปรายในการประชุมวุฒิสภา ด้วยการจัดระบบการจำกัดเวลาอภิปรายให้สมาชิกแต่ละคน และได้ใช้แนวทางนี้มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งต่อมา สภาผู้แทนราษฎรก็ใช้แนวทางการจำกัดเวลาให้สมาชิกได้อภิปรายเช่นกัน รวมทั้ง เป็นผู้ริเริ่มการกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการแต่ละคณะของวุฒิสภาให้มีความชัดเจน และต่อมา สภาผู้แทนราษฎรก็แก้ไขข้อบังคับให้มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการแต่ละคณะให้มีความชัดเจนเช่นกันและได้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 ได้เข้าร่วมงานการเมืองกับพรรคธรรมาธิปัตย์ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคประชาสันติ) โดยชักชวน ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เป็นหัวหน้าพรรค[1] แต่ต่อมา ปุระชัย ได้ออกไปจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ทำให้เสรี สุวรรณภานนท์ ได้เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาสันติแทน[2]
ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ของพรรคประชาสันติ โดยมีหมายเลขประจำพรรค คือ หมายเลข 33[3] แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง และได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคในเวลาต่อมา[4]
รางวัล
- พ.ศ. 2542 รับโล่เกียรติคุณในฐานะอาสาสมัครดีเด่น ประเภทแก้ไขปัญหาสังคมของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- พ.ศ. 2542 รับโล่เกียรติคุณ “คนดีของสังคม” จากสถานีวิทยุชุมชนร่วมด้วยช่วยกัน
- พ.ศ. 2550 รับรางวัล “คนดีศรีรามฯ” จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
- พ.ศ. 2550 ได้รับรางวัลแห่งเกียรติยศของนักธุรกิจ “BOSS OF THE YEAR 2007” (ผู้บริหารดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2550)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. 2563 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[5]
- พ.ศ. 2547 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[6]
- พ.ศ. 2558 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 2 ทุติยดิเรกคุณาภรณ์ (ท.ภ.)[7]
อ้างอิง
- ↑ "เสรี สุวรรณภานนท์" เปิดตัวพรรคประชาสันติ เม.ย.นี้จาก มติชน
- ↑ "ประชาสันติ"เปิดตัวผู้สมัคร"เสรี สุวรรณภานนท์"เบอร์ 1[ลิงก์เสีย] จาก สยามรัฐ
- ↑ รายชื่อผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พร้อมนโยบายของพรรคการเมือง เก็บถาวร 2011-06-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนจากเว็บไซต์ สำนักงาน กกต. สืบค้นวันที่ 3 มิถุนายน 2554
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคประชาสันติ (จำนวน 7 ราย)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๖๓, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑ ข หน้า ๑๔, ๒๒ มกราคม ๒๕๖๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2007-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๓๖, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๕๘ เก็บถาวร 2015-12-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๓๒ ข หน้า ๒๔, ๔ ธันวาคม ๒๕๕๘
แหล่งข้อมูลอื่น
- บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เก็บถาวร 2019-08-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
- บทความที่มีลิงก์เสียตั้งแต่ตุลาคม 2021
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2499
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- บุคคลจากกรุงเทพมหานคร
- ทนายความชาวไทย
- นักการเมืองไทย
- สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร
- สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญไทย
- สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
- พรรคประชาสันติ
- บุคคลจากโรงเรียนวัดนวลนรดิศ
- บุคคลจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.ภ.