เลิศ อัศเวศน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เลิศ อัศเวศน์
เกิด30 มีนาคม พ.ศ. 2465
จังหวัดสมุทรสาคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต3 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 (99 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
นามปากกาอัศเวศน์
อาชีพนักเขียน, นักข่าว, นักหนังสือพิมพ์
สัญชาติไทย ไทย
ช่วงปีที่ทำงานพ.ศ. 2477 - 2564
คู่สมรสประสพสุข อัศเวศน์ (แสวงกิจ)
บุตร3 คน

เลิศ อัศเวศน์ (30 มีนาคม พ.ศ. 2465 – 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2564) นักหนังสือพิมพ์ชาวไทย ผู้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย

ประวัติ[แก้]

เลิศ อัศเวศน์ เกิดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2465 บิดาชื่อนายอิ๊ด มารดาชื่อนางอิ่ม เลิศเป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้อง 8 คน ภรรยาชื่อ ประสพสุข (แสวงกิจ) อัศเวศน์ มีบุตร 3 คน คือ ชาคริต อัศเวศน์ (ธุรกิจก่อสร้าง) ปริศฎา อัศเวศน์ (สถาปนิก) ปาริชาต อัศเวศน์ (ข้าราชการ)

เลิศเกิดที่บ้านตลาดน้ำริมคลองอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ห่างจากตำหนักประสูติภูมิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ไม่ถึง 300 เมตร และเป็นถิ่นกำเนิดของเอกศิลปินหลายท่าน เช่น หลวงประดิษฐไพเราะ - เอื้อ สุนทรสนาน - ดร. อุทิศ นาคสวัสดิ์ (ม. เกษตรศาสตร์) - ดร. สุขุม อัศเวศน์ (ม. เชียงใหม่) - ทูล ทองใจ - (นักร้องลูกทุ่ง) - อุทัย แก้วละเอียด (ศิลปินแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2552) - พิษณุ ศุภนิมิตร (ม. ศิลปากร)

ชีวิตในวัยเยาว์ในช่วงอายุ 8-14 ปี (พ.ศ. 2473-2477) สยามประเทศประสบภาวะข้าวยากหมากแพงเศรษฐกิจตกต่ำหนักหน่วง ร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ของพ่อแม่มีอันต้องปิดลงอีกทั้งมีหนี้สินล้นพ้นตัว ความเป็นอยู่ในครอบครัวย่ำแย่มาก ในวันอาทิตย์โรงเรียนหยุดเลิศไปรับจ้างขนดินปั้นหม้อตาลขึ้นไปวางในเตาเผา ได้ค่าแรงวันละ 30 สตางค์

ใน พ.ศ. 2488 ขณะอายุ 23 ปี เลิศเริ่มต้นเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ประชามิตรรายวัน ซึ่งมีกุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นบรรณาธิการ ต่อมาเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อิสระธรรม เจริญ ไชยชนะ เป็นเจ้าของ ต่อมา เทพย์ สาริกบุตร ตัวแทนคณะรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ได้ซื้อกิจการโรงพิมพ์อิสระธรรม ออกจำหน่ายหนังสือพิมพ์หลักไทย โดยเลิศดำรงตำแหน่งบรรณาธิการ

ใน พ.ศ. 2492 เขาได้รู้จักกับกำพล วัชรพล อดีตจ่าโทแห่งราชนาวี และเป็นผู้โน้วน้าวจูงใจชักนำกำพล ให้เข้าสู่อาชีพนักหนังสือพิมพ์ โดยพิมพ์จำหน่าย "ข่าวภาพรายสัปดาห์" ฉบับแรก เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2493

เลิศได้รับการประกาศจากสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยนายบัณฑิต รัชวัฒนะธานินทร์ นายกสมาคมฯ กล่าวรายงานนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานมอบโลห์เกียรติคุณเป็นผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์มาด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นนักหนังสือพิมพ์ดีเด่นควรยกย่อง เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2536 นอกจากนี้เขายังเป็นกรรมการบริหารมูลนิธิไทยรัฐอีกด้วย

เลิศ อัศเวศน์ ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 จากภาวะแทรกซ้อนของโรคโควิด-19 และได้ทำการฌาปนกิจศพที่วัดเทพลีลา เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เวลา 15.00 น. สิริอายุ 100 ปี[1][2]

การศึกษา[แก้]

อายุ 8-14 ขวบ เข้าเรียนที่โรงเรียน(ศาลา)วัดอัมพวันเจติยาราม

อายุ 12-14 ปี โรงเรียนเกษตรกรรม ประจำอำเภออัมพวา

อายุ 15-17 ปี โรงเรียนฝึกหัดครู ประจำจังหวัดสมุทรสงคราม

อายุ 18-19 ปี โรงเรียนมัธยมวัดปทุมคงคา จบชั้นมัธยมปีที่ 8 จากนั้นไม่ได้ศึกษาต่อ

การทำงาน[แก้]

ขณะเรียนชั้น ม .7 (2494) เลิศแต่งนิยายเยาวชน 9 เรื่อง ขายให้สำนักพิมพ์เพลินจิต จัดพิมพ์จำหน่ายเล่มละ 5 สตางค์ โดย ครู เหม เวชกร วาดภาพประกอบ

ในเดือน สิงหาคม 2488 เข้าทำงานเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ-ประชามิตรรายวัน ซึ่งคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการ ได้ค่าจ้างรายวัน ๆ ละ 9 บาท เขาผ่านงานหนังสือพิมพ์รายวัน 5 หัวชื่อ คือ ผู้สื่อข่าวสุภาพบุรุษ-ประชามิตร, ผู้ช่วยบรรณาธิการอิสระธรรม, บรรณาธิการหลักไทย, บรรณาธิการข่าวภาพ, หัวหน้ากองอำนวยการไทยรัฐ

งานหนังสือพิมพ์[แก้]

เขาให้สัมภาษณ์ นิตยสารไทยโพสต์ซันเดย์ ว่า "ผมลงทุนปั้นชีวิตด้วยปากกาหนึ่งด้าม กับหัวสมองโตเท่ากำปั้นอีกหนึ่งหัวแค่นั้นเอง" เอกลักษณ์ของ เลิศ อัศเวศน์ คือ ทุ่มชีวิตให้กับงานหนังสือพิมพ์แต่อย่างเดียว โดยไม่เคยเปลี่ยนเป็นอื่นเลย "ผมพร้อมที่จะวางมือทันทีเมื่อการบุกเบิกสำเร็จเสร็จสรรพ"

เลิศ เป็นผู้โน้มน้าวชักนำ นายกำพล วัชรพล เข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์[3] เริ่มต้นพิมพ์ "ข่าวภาพรายสัปดาห์"( 1 มกราคม พ.ศ. 2493) จากนั้นพัฒนาเป็น "ข่าวภาพรายสามวัน (1 ตุลาคม พ.ศ. 2494) โดยเขาเป็นบรรณาธิการ แล้วก็เป็น "ข่าวภาพรายวัน (1 มิถุนายน พ.ศ. 2495) จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการปฏิวัติ (20 ตุลาคม พ.ศ. 2501) ออกคำสั่งปิดตาย "ข่าวภาพรายวัน" กำพล วัชรพล ได้เช่าหัวชื่อ "เสียงอ่างทอง" หนังสือพิมพ์รายวันออกในต่างจังหวัดมาพิมพ์ในกรุงเทพฯ (1 พฤษภาคม พ.ศ. 2502) แล้วก็พัฒนาเปลี่ยนเป็น "ไทยรัฐ" (25 ธันวาคม พ.ศ. 2505)

เลิศ เป็นผู้ริเริ่มชักนำเพื่อนร่วมวิชาชีพก่อตั้งสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เริ่มต้นด้วยความปรารถนาให้มีสถาบันวิชาฃีพเฉพาะทางนักข่าวเกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อขจัดมิจฉาชีพแปลกปลอมออกไปจากวงการนักข่าว หรือป้องกันแก้ไขปัญหาพฤติกรรมนักข่าวบางคนที่เป็นนักรีดไถหรือกระทำการแบล๊คเมล์ โดยสถาบันวางมาตรการตราจรรยาบรรณ ทำการออกบัตรประจำตัวของนักข่าว ผู้ที่ฝ่าฝืนจรรยาบรรณจะต้องถูกยึดบัตรมิอาจประกอบอาชีพนักข่าวอย่างเด็ดขาด โดยนายเอกชัย วิทยะ บันทึกลงในเว็บไซด์ของเขาว่าเลิศ อัศเวศน์[4] กล่าวเปิดประชุมเป็นคนแรกได้เสนอมาตรการดังกล่าว (มาตรการนี้ถูกให้สมญาว่า "บัญญัติ 10 ประการ") การประชุมปฐมฤกษ์มีขึ้น ณ ศาลานเรศวร สวนลุมพินี ในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2498 ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน 1,250 รูปมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมิได้นัดหมายกัน([5]

สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ประกาศ เกียรติคุณยกย่อง ให้ เลิศ อัศเวศน์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2536

เลิศ ปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาฝ่ายบริหาร นสพ.ไทยรัฐ และกรรมการ มูลนิธิ ไทยรัฐ ในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งครบรอบวันเกิดปีที่ 89 ปี มีผู้กล่าวซึ่งยังมิได้มีข้อมูลยืนยันว่า เลิศ อัศเวศน์ เป็นนักหนังสือพิมพ์อายุมากที่สุดของประเทศที่ยังประจำทำงานอยู่[6]

งานการประพันธ์[แก้]

นอกเหนืองานหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นงานประจำ เขายังมีงานเสริมด้วยการเขียนนวนิยาย - สารคดี ขายให้สำนักพิมพ์ คลังวิทยา วังบูรพา ต่อเนื่องกัน 17 เล่ม เล่มที่ขายดีได้แก่ โลกของ ซูซี่ วอง --อาจารย์วิภาวี -- ร้อยพิศวาส - เปลวสวาท - แจ๊คลีน เคนเนดี้ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง - พะเนียงรัก (สร้างเป็นภาพยนตร์ โดย รังสี ทัศนพยัคฆ์) ส่วนที่พิมพ์เองขายเอง ได้แก่ ชุดหนังสือ "โรงซ่อมสุขภาพ "จำนวน 51 เล่ม

อ้างอิง[แก้]