อุทิศ นาคสวัสดิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ นักดนตรี นักแต่งเพลงไทย ผู้ส่งเสริมดนตรีไทย นักเขียน นักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์ นักเขียนบทละคร และนักเศรษฐศาสตร์ผู้วางรากฐานทางสาขาเศรษฐศาสตร์เกษตรและการจัดการฟาร์ม

ประวัติ[แก้]

ศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ เป็นบุตรของนายสังวาลย์ และนางอบเชย นาคสวัสดิ์ เกิดเมื่อ 29 มีนาคม พ.ศ. 2466 ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนเทเวศร์วิทยาลัย จากนั้นไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ (มหาวิทยาลัยแม่โจ้) และวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) จนได้รับอนุปริญญาสาขาวิชาสหกรณ์เมื่อ พ.ศ. 2485 รับราชการเป็นเจ้าหน้าที่สหกรณ์ อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วลาออกมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนจบปริญญาตรี และปริญญาโทในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ แล้วเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้น ได้รับทุนรัฐบาลไทยไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกเมื่อ พ.ศ. 2500 และรับราชการต่อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จน พ.ศ. 2523 จึงลาออกจากราชการ

ศาสตราจารย์ ดร.อุทิศได้ฝึกดนตรีไทยกับบิดาซึ่งเป็นครูสอนดนตรีไทย ตั้งแต่อายุ 7 ปี จากนั้นเรียนซอสามสายจากพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) และเป็นศิษย์ของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) โดยหลวงประดิษฐ์ได้ทำพิธีมอบให้เป็นครูอ่านโองการได้ เมื่อราว พ.ศ. 2497 อุทิศได้เป็นอนุกรรมการจัดบทเรียน บทขับร้อง สำหรับวิทยุโรงเรียนกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดรายการดนตรีไทยออกอากาศทางโทรทัศน์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2503 นอกจากนั้น ยังได้แต่งเพลงไทยไว้เป็นจำนวนมาก เช่น ตับพระยาโคตรตระบอง ตับราชาธิราช ตอนประหารชีวิตพ่อลาวแก่นท้าว ศึกมังรายมังกะยอชวา ตับเรื่องพระจ้าสามตา มาร์ชชาวไทย เพลงแรงสามัคคี เชิญรำวง เขมรไทรโยค เขมรพวง แขกเงาะ เพลงยูนนานรำลึก เพลงพม่าแปลงเถา ครุ่นคำนึงเถา โยสลัมเถา เป็นต้น ได้ประดิษฐ์ระนาดอะลูมิเนียม ระบบครึ่งเสียง 14 เสียง เมื่อ พ.ศ. 2515

ด้านชีวิตครอบครัว ได้สมรสกับนางวิไล นาคสวัสดิ์ เมื่อ พ.ศ. 2493 มีบุตรสาว 4 คน และบุตรชาย 1 คน ทุกคนเป็นนักดนตรี ศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ ป่วยด้วยโรคของต่อมไทรอยด์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2523 จากนั้นป่วยด้วยโรคมะเร็งลุกลามขึ้นสมอง จนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2525 รวมอายุได้ 59 ปี

เกี่ยวข้องกับ 6 ตุลา 19[แก้]

ศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เขาเป็นนักจัดการรายวิทยุและโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และยังทำงานเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บทบาทของอุทิศคือการเผยแพร่ทัศนะโจมตีขบวนการนักศึกษา ผ่านการออกอากาศรายการประจำวันชื่อ ‘เพื่อแผ่นดินไท’ บางครั้งอุทิศโจมตีและประณามขบวนการนักศึกษาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ หลายต่อหลายครั้งเขาจะกล่าวหาว่านักศึกษาเป็นญวน และเรียกร้องให้ประชาชนร่วมมือพร้อมใจกันออกมาต่อต้านนักศึกษา โดยอ้างว่าทนไม่ได้ที่นักศึกษากระทำการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ทำร้ายจิตใจคนไทย และยังให้สัมภาษณ์ว่าในธรรมศาสตร์มีอุโมงค์สำหรับซ่องสุมอาวุธเพื่อใช้โจมตีเจ้าหน้าที่ ตัวอย่างสำคัญคือบันทึกเสียงทีวีช่อง 5 ในช่วงบ่ายของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่อุทิศจัดรายการอยู่ สะท้อนให้เห็นความคิด อารมณ์ ความรู้สึกในเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างคมชัด

นอกจากนั้นอุทิศยังพูดว่า บรรดาผู้ที่ไปชุมนุมในธรรมศาสตร์นั้นใช้รองเท้าแตะเป็นจำนวนมาก แสดงว่าเป็นผู้ก่อการร้ายคอมฯ เพราะผู้ก่อการร้านคอมฯใช้รองเท้าแตะ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้คนในเมืองไทย 40 ล้านคน (จำนวนคนขณะนั้น) ซึ่งใช้รองเท้าแตะก็เป็นผู้ก่อการร้ายหมด

ศาสตราจารย์ ดร.อุทิศได้เชิญ พันตำรวจโทสล้าง บุนนาค รองผู้กำกับการ 2 มายังรายการ สล้างมีบทบาทสำคัญในการคุมกำลังตำรวจเพื่อรักษาความสงบบริเวณสนามหลวงและหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อุทิศเริ่มต้นสัมภาษณ์สล้างว่า รู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นภาพแขวนคอ (ละครล้อเลียนโดยกลุ่มนักศึกษา) ก่อนที่สล้างจะตอบว่า “รู้สึกทนไม่ได้ที่สถาบันอันเป็นที่รักของคนไทยถูกย่ำยี”

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำตักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๑ ตอนที่ ๒๒๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๘, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๗
  2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๗ ตอนที่ ๑๒๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๔, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๓
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๑๕๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๐๗๓, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๔