เลขยันต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยันต์มหาสะท้อน

เลขยันต์ เป็นไสยศาสตร์แขนงหนึ่งของไทยที่สืบมาจากลัทธิพราหมณ์โดยได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาด้วย เป็นการเขียนยันต์ในลักษณะตารางหรือลายเส้นเป็นตัวเลข อักขระ หรือรูปภาพที่เขียน สักลงผิวหนัง หรือแกะสลักลงบนแผ่นผ้า ผิวหนัง ไม้ โลหะ เป็นต้น เลขยันต์ไทยในทุกภาคเขียนขึ้นโดยผ่านอักษรพระธรรมเช่นอักษรธรรมล้านนา อักษรธรรมอีสาน อักษรขอม

ประวัติ[แก้]

แนวคิดในการประกอบพิธีกรรมในยุคตันตระอาจเป็นแนวคิดต้นแบบเลขยันต์[1] ต่อมาในสมัยสุโขทัยไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเลขยันต์เกิดขึ้นในเมื่อไร แต่พบ "ตัวเฑาะว์" (ปัจจุบันใช้ในลักษณะเป็นเลขยันต์) ในใบลานเงินค้นพบในกรุเจดีย์วัดพระบรมธาตุ จังหวัดกำแพงเพชร (สันนิษฐานว่าเจดีย์สร้างระหว่าง พ.ศ. 1890–1919) จึงอาจถือว่าเป็นยันต์ที่เก่าแก่ที่สุดที่ถูกค้นพบ และยังพบจารึกข้อธรรมอีกหลายจารึกที่อาจจะเป็นพัฒนาการของยันต์ในกาลต่อมา

ในสมัยอยุธยาได้ใช้อักษรขอมในการเขียนเลขยันต์ไทย มีการบันทึกเลขยันต์อย่างเป็นระบบในสมุดไทย (สมุดข่อย) เอกสารเหล่านี้ยังตกทอดมาสู่ยุคปัจจุบัน มีการบันทึกเลขยันต์แทรกอยู่ในสมุดไทยอย่างน้อย 4 หมวด ได้แก่ ตำราไสยศาสตร์โดยตรง ตำราโหราศาสตร์ ตำราแพทย์แผนไทย ตำราพิชัยสงคราม พบในพงศาวดารครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2041 ในสมัยอยุธยานี้วิชาเลขยันต์ถูกจัดเป็นระบบ มีการบันทึก เผยแพร่และนิยมศึกษากันในสังคมในยุคนี้ พบว่าโบราณาจารย์ผู้ประดิษฐ์ยันต์ได้นำเอาหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนามาผูกเป็นเลขยันต์เป็นจำนวนมาก พร้อมกันนั้นเลขยันต์ยังมีความสัมพันธ์กับวิธีการทำกรรมฐานแบบโบราณด้วย และมีการใช้ในลักษณะเครื่องรางของขลัง ประเภทป้องกันตัว เช่น ลงในตะกรุด พิสมร แผ่นทองแดง ใบลาน ลงผ้ายันต์ ลงธง บางส่วนเป็นยันต์ประกอบการแพทย์แผนโบราณ เช่น ลงหม้อยา ลงหินบดยารักษาโรค บางส่วนเป็นยันต์ที่เกี่ยวกับโหราศาสตร์

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 1 พระพุทธศาสนาได้รับการทำนุบำรุง คัมภีร์ต่าง ๆ ได้รับการชำระรวมถึงวิชาเลขยันต์ด้วย ชายไทยยุคนั้นนิยมเรียนคาถาอาคมและเลขยันต์ มีการนำเลขยันต์มาสร้างเป็นเครื่องรางวัตถุมงคลออกเผยแพร่ โดยเฉพาะสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา เครื่องรางจากเลขยันต์ของพระเกจิที่มีชื่อเสียงเช่น ตะกรุดจากตำราพระยันต์โสฬสมงคล ของหลวงปู่เอี่ยม วัดสพานสูง (พ.ศ. 2360–2439) เขี้ยวเสือแกะประกอบยันต์กอหญ้าของหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย (พ.ศ. 2363–2452) ตะกรุดพระยันต์ยมสลักเกลาของหลวงปู่กุน วัดพระนอน (พ.ศ. 2403–2463) และหมากทุยบรรจุกระดาษยันต์ของหลวงปู่เอี่ยมวัดหนัง (พ.ศ. 2375–2469) เป็นต้น

พ.ศ. 2488 การยกเลิกการเรียนการสอนภาษาขอมที่เป็นระบบอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้พระและฆราวาสรู้อักษรขอมน้อยลงจนไม่สามารถอ่านอักษรขอมเลขยันต์ได้

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดความนิยมเรื่องสักยันต์ เพราะมีพระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงในการสักยันต์ในยุคนั้นได้แก่ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า และหลวงปู่ทอง วัดราชโยธา ในกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

ปัจจุบันความนิยมในตัวเลขยันต์ (เครื่องราง) มีลักษณะเป็นกระแสไสยพาณิชย์ มีการใช้เลขยันต์ในฐานะเป็นสินค้า มีผลิตภัณฑ์เลขยันต์ออกสู่ตลาด[2]

องค์ประกอบ[แก้]

เลขยันต์มี 3 ส่วน คือส่วนที่เป็นรูปวาด ได้แก่ รูปโครงยันต์หรือตัวเรือนยันต์ (ล้านนาเรียกโขงยันต์) มีลักษณะเป็นกรอบภายในมีช่องที่ขีดแบ่งไว้ (เส้นขีดภายในโขงยันต์คือกระดูกยันต์) เว้นเป็นพื้นที่ว่างไว้เพื่อลงอักขระ โครงยันต์มักเป็นรูปทรงเรขาคณิต เช่นรูปทรงกลม สี่เหลี่ยม ขนมเปียกปูน[3]

ส่วนที่สองคืออักษร ที่พบในยันต์เป็นอักษรพระธรรมในแต่ละถิ่น โดยใช้บันทึกเป็นภาษาบาลีและภาษาถิ่น ส่วนที่สามคือตัวเลขเป็นตัวเลขในอักษรธรรมต่าง ๆ ซึ่งมักมีเลขสองแบบคือ เลขโหรา ใช้บันทึกแทนดวงดาวในทางโหราศาสตร์ และ เลขในธรรม ใช้บันทึกเกี่ยวกับจำนวนเช่นอาจหมายถึงดวงดาวในทางโหราศาสตร์ หมายถึง หัวข้อธรรมในพระศาสนา หรือความหมายต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดขึ้นมา อย่างไรก็ดีหากพบเพียงองค์ประกอบเดียวก็ยังคงเรียกว่าเลขยันต์

การเขียนเลขยันต์[แก้]

ผู้เขียนเลขยันต์ต้องผ่านขั้นตอนการเรียนลบผงเป็นบาทฐาน คัมภีร์ลบผงที่ถือเป็นแม่บทสำคัญมีอยู่ด้วยกัน 5 คัมภีร์ ได้แก่ คัมภีร์ปถมัง คัมภีร์อิธะเจ คัมภีร์ตรีนิสิงเห คัมภีร์มหาราชและคัมภีร์พุทธคุณ (รัตนมาลา) ซึ่งแต่ละคัมภีร์มีความแตกต่างกันไปในด้านเนื้อหาและขั้นตอนการเขียน การลบ รวมทั้งอุปเท่ห์การนำใช้[4]

เวลาลงยันต์จักต้องสำรวมจิตให้มีสมาธิแน่วแน่ มือที่ลงต้องเที่ยงตั้งสติให้ตรงยันต์ทุกชนิด เมื่อเวลาลากยันต์นั้นก็จะต้องลากให้จบกับสูตรพอดีและท่านบังคับไว้ให้เขียนทีเดียว หากไม่เช่นนั้นแล้วอักขระเลขยันต์นั้นจะไม่ศักดิ์สิทธิ์ แต่หากหยุดกลางคันก็ต้องใช้สูตรในการต่อยันต์ สิ่งสำคัญคือห้ามมิให้ลงอักขระหรือเลขก้าวก่ายกันกับเส้นยันต์เป็นอันขาด เรียกกันว่าเป็นยันต์ตาบอดใช้การไม่ได้[5] การลงยันต์ยังต้องประกอบพิธีไหว้ครูด้วย ขณะลงยันต์ต้องสวดคาถา เมื่อเขียนยันต์เสร็จจึงปลุกเสก

ภูมิภาค[แก้]

เลขยันต์ภาคกลางอันสืบสายวิชามาแต่กรุงศรีอยุธยาที่ดูเหมือนจะสืบเนื่องมาจากลัทธิพราหมณ์แท้เพราะอ้างอิงถึงพระอิศวร พระนารายณ์อยู่เสมอ เลขยันต์ยุคก่อนเสียกรุงครั้งที่หนึ่งจึงประกอบด้วยยันต์ที่เกี่ยวกับเทพเจ้าของพราหมณ์อยู่มาก มีจุดเด่นของเลขยันต์ของสายภาคกลาง คือนิยมใช้อักขระขอมในการเขียนยันต์ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ชนชั้นที่เป็นคนประดิษฐ์เลข ยันต์ไทยเป็นหลักคือพระภิกษุ เนื่องจากเป็นชนชั้นที่ใช้ภาษาบาลีและอักษรขอมเป็นหลัก และเลขยันต์นั้นใช้สำหรับบันทึกเรื่องราวทางศาสนา อีกจุดเด่นของภาคกลางคือมีการนำยันต์มาทำเป็นผงพุทธคุณ

เลขยันต์ภาคใต้ได้รับอิทธิพลหลักจากสำนักวัดเขาอ้อ มีจุดเด่นคือ นิยมใช้อักษรไทยในการประกอบเลขยันต์ นิยมใช้ อักขระชุดนอโมธงชัย

เลขยันต์ในภาคอีสานนี้ได้รับอิทธิพลจาก 3 แหล่ง คือ จากสายวิชาลาว สายวิชาของชนพื้นถิ่นอีสานใต้ เช่นเขมร และสายวิชาภาคกลาง จุดเด่นของเลขยันต์ภาคอีสานคือ นิยมเขียนด้วยอักษรธรรมอีสาน นิยมบันทึกเลขยันต์ในสมุดใบลาน เลขยันต์ที่พบส่วนใหญ่ในภาคอีสานมักลงเป็นอักขระมากกว่ารูปยันต์ เครื่องรางที่มีเอกลักษณ์คือสมุดก้อมที่เขียนเลขยันต์ถูกใช้เป็นเครื่องรางนำพกติดตัว และนิยมใช้อักขระชุดธาตุ คือ นะมะพะทะฯ และธาตุแก้วคือ "นะมะอะอุ"

เลขยันต์ภาคเหนือ มีจุดเด่นคือ นิยมลงด้วยอักษรธรรมล้านนา เลขยันต์กลุ่มที่พบหนาแน่นที่สุดในตำราสายล้านนาคือ ยันต์เทียน และมีการพบผ้ายันต์ขนาดใหญ่หลายแบบที่มีขนาดใหญ่กว่าผ้ายันต์ภาคอื่น[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. "เลขยันต์ แผนผังอันศักดิ์สิทธิ์". ไทยรัฐ.
  2. เอก นาครทรรพ. "การศึกษาหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในเลขยันต์ไทย" (PDF). มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  3. อาจารย์ ญาณโชติ, คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์, (กรุงเทพมหานคร: ศิลปะบรรณาคาร), หน้า 71–73.
  4. ณัฐธัญ มณีรัตน์. "คัมภีร์ตรีนิสิงเห: การตรวจสอบชำระและบทบาทในสังคมไทย". คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  5. เทพย์ สาริกบุตร, เคล็ดลับไสยศาสตร์, (กรุงเทพมหานคร: ศิลปาบรรณาคาร, 2514), หน้า 186–189.
  6. เอก นาครทรรพ. "การศึกษาหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในเลขยันต์ไทย" (PDF). มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.