เริงจิตรแจรง อาภากร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เริงจิตร์แจรง อาภากร)

เริงจิตรแจรง อาภากร

เกิดหม่อมเจ้าเริงจิตรแจรง
7 มิถุนายน พ.ศ. 2448
วังนางเลิ้ง จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต19 สิงหาคม พ.ศ. 2536 (88 ปี)
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
คู่สมรสหม่อมเจ้าไขแสงรพี รพีพัฒน์ (หย่า)
พระจักรานุกรกิจ (วงศ์ สุจริตกุล) (หย่า)
บุตรหม่อมราชวงศ์เติมแสงไข กรรณสูต
บุพการี

คุณหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร (พระนามเดิม หม่อมเจ้าเริงจิตร์แจรง อาภากร[1]; 7 มิถุนายน พ.ศ. 2448 — 19 สิงหาคม พ.ศ. 2536)[2] เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ประสูติแต่หม่อมกิม อาภากร ณ อยุธยา

ประวัติ[แก้]

ชีวิตช่วงต้น[แก้]

หม่อมเจ้าเริงจิตรแจรง อาภากร มีพระนามลำลองว่า ท่านหญิงปุ๊[3]เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ประสูติแต่หม่อมกิม อาภากร ณ อยุธยา เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2448 ที่วังนางเลิ้ง มีเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมหม่อมมารดาสององค์คือ จารุพัตรา ศุภชลาศัย กับหม่อมเจ้าสุคนธ์จรุง และมีเจ้าพี่เจ้าน้องต่างมารดาอีกแปดองค์ เมื่อเริงจิตรแจรงชันษาประมาณ 5-6 ขวบ ทรงเรียนหนังสือที่โรงเรียนนายเรือ ต่อมาเจ้าจอมมารดาโหมด ในรัชกาลที่ 5 ผู้เป็นย่าได้จ้างครูมาสอนหนังสือไทยแก่หลาน ๆ ที่วังนางเลิ้ง ส่วนภาษาอังกฤษทรงเรียนกับพระบิดาโดยตรง และทรงศึกษาภาษาจีนกับซินแส ทรงศึกษาอย่างเป็นทางการที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ทรงศึกษาประมาณสี่ปี จนจบมัธยมปีที่ 6

หม่อมเจ้าเริงจิตรแจรงเป็นพระธิดาองค์เดียวที่พระบิดาเป็นผู้ทรงเลี้ยงดู ส่วนพระธิดาองค์อื่น ๆ นั้น เจ้าจอมมารดาโหมด เป็นผู้รับไปเลี้ยง

เสกสมรส[แก้]

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2464 หม่อมเจ้าเริงจิตรแจรง อาภากร ได้เสกสมรสกับหม่อมเจ้าไขแสงรพี รพีพัฒน์ (พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) มีธิดาคนเดียวคือ หม่อมราชวงศ์เติมแสงไข กรรณสูต (26 มิถุนายน พ.ศ. 2468 – 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497) สมรสกับปรีดา กรรณสูต[4] (1 กันยายน พ.ศ. 2463 – 8 ธันวาคม พ.ศ. 2551) มีบุตรธิดาสี่คน คือ

  1. รุจน์ กรรณสูต (4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 – 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2506)
  2. จรัลธาดา กรรณสูต (ชื่อเดิม บุรินทร์; เกิด 22 สิงหาคม พ.ศ. 2492)
  3. แสงสูรย์ กรรณสูต (เกิด 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2495)
  4. ดาลัต กรรณสูต (เกิด 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496)

เริงจิตรแจรงหย่าร้างกับหม่อมเจ้าไขแสงรพี หลังจากนั้นจึงลาออกจากฐานันดรศักดิ์เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2487[2] เพื่อสมรสกับพลเรือตรีวงศ์ สุจริตกุล (พลเรือโท พระจักรานุกรกิจ)[5] อดีตเจ้ากรมอู่ทหารเรือ[6] แต่ไม่มีบุตรธิดาด้วยกันและทรงหย่าในเวลาต่อมา

สิ้นชีพิตักษัย[แก้]

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 คุณหญิงเริงจิตรแจรงได้ไปพำนักอยู่กับหลานที่บ้านบางเขน และเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ศรีนิล สุวรรณรัตน์ ข้าหลวงได้ไปเฝ้า เห็นว่ามีอาการประชวรมากจึงนำคุณหญิงเริงจิตรแจรงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เป็นเวลา 5 สัปดาห์ จึงย้ายมารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ปีเดียวกัน

คุณหญิงเริงจิตรแจรงสิ้นชีพิตักษัยด้วยอาการสงบที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2536 เวลา 11.15 น. สิริชันษา 88 ปีเศษ

วันที่ 20 สิงหาคม ปีเดียวกัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำสรงศพ พร้อมด้วยเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ณ ศาลากวีนิรมิต วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบทองทึบประกอบศพ ฉัตรเบญจาตั้งประดับ ปี่ กลองชนะ ประโคมเวลาพระราชทานน้ำสรงศพ และรับศพอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเวลากลางคืนกำหนด 7 คืน และเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน เวลา 17.00 น. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เสด็จไปในการพระราชทานเพลิงศพ

การทำงาน[แก้]

หม่อมเจ้าเริงจิตรแจรงเคยทำไร่ และทำฟาร์มที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ทรงปลูกพริก ปลูกถั่ว และเลี้ยงม้า ทรงทำเป็นเวลา 6 ปี จึงเสด็จกลับมาประทับที่กรุงเทพมหานคร

คุณหญิงเริงจิตรแจรงพำนักอยู่ที่บ้าน ถนนราชวิถี ตรงข้ามสวนจิตรลดา ต่อมาเมื่อได้หย่ากับพลเรือโท พระจักรานุกรกิจแล้ว จึงได้ย้ายมาอยู่ที่บ้าน ซอยเริงพยงค์ ถนนประดิพัทธ์ แยกสะพานควาย เริงจิตรแจรงทำสวนกล้วยไม้อยู่ที่บ้าน ซอยเริงพยงค์ และเปิดร้านขายดอกไม้ ชื่อ "ท่านหญิงฟลอรีส" ที่ปากซอยเริงพยงค์

ต้นปี พ.ศ. 2519 ได้เลิกกิจการทำสวนกล้วยไม้ ได้ย้ายมาพำนักที่หมู่บ้านอรรถกฤต ซอย 1 อารีย์สัมพันธ์ 4 ถนนพหลโยธิน โดยมีข้าหลวง 2 คน คือศรีนิล และศรีนวล สุวรรณรัตน์ ผลัดกันอยู่ประจำครั้งละ 1 คน ในบั้นปลายชีวิตโปรดการทำงานบ้านเอง และเลี้ยงสุนัขเป็นงานอดิเรกตลอดมา ทรงดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติสุข ท่ามกลางหมู่มิตรสหายจำนวนมากที่เคารพและศรัทธานอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในงานกุศลต่าง ๆ เช่น มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชน และงานกุศลเกือบทุกงานที่เกี่ยวเนื่องกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบิดา

คุณหญิงเริงจิตรแจรงโปรด "ราชนาวีสโมสร" มาก เสวยกลางวันเป็นประจำที่โต๊ะหมายเลข 19 ห้องสินธูทัศนา 2 ราชนาวีสโมสร อีกทั้งยังโปรดทอดเนตรนกพิราบที่หน้าต่างด้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา

คุณหญิงเริงจิตรแจรงโปรดการเล่นเทนนิส และออกสังคม เป็นนักธุรกิจ ตัวแทนค้าและเช่าอสังหาริมทรัพย์[4]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

ลำดับสาแหรก[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ พระนามพระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชนัดดา. กรุงเทพ : บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 4, พ.ศ. 2548. 136 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-746-7
  2. 2.0 2.1 ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-818-8
  3. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.จ.ไกรสิงห์ วุฒิชัย ณ เมรุวัดธาตุทอง วันพุธ ที่ 23 มิถุนายน 2519. [ม.ป.ท.]: มงคลการพิมพ์; 2519.
  4. 4.0 4.1 กิติวัฒนา (ไชยันต์) ปกมนตรี, หม่อมราชวงศ์. สายพระโลหิตในพระพุทธเจ้าหลวง. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มดี, พ.ศ. 2551. 290 หน้า. ISBN 978-974-312-022-0
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง ลาออกจากฐานันดรศักดิ์, เล่ม 61, ตอน 57 ง, 12 กันยายน พ.ศ. 2487, หน้า 1798
  6. ประวัติกรมอู่ทหารเรือ
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๗๓ ก ฉบับพิเศษ หน้า ๖, ๔ พฤษภาคม ๒๕๓๒
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๙๕๘, ๒๓ มิถุนายน ๒๔๘๔