เทศบาลตำบลวังกะ

พิกัด: 15°09′26.9″N 98°27′00.6″E / 15.157472°N 98.450167°E / 15.157472; 98.450167
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เทศบาลตำบลวังกะ
ชุมชนบริเวณสะพานอุตตมานุสรณ์ (สะพานมอญ)
ชุมชนบริเวณสะพานอุตตมานุสรณ์ (สะพานมอญ)
ทต.วังกะตั้งอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี
ทต.วังกะ
ทต.วังกะ
ที่ตั้งสำนักงานเทศบาลตำบลวังกะ
พิกัด: 15°09′26.9″N 98°27′00.6″E / 15.157472°N 98.450167°E / 15.157472; 98.450167
ประเทศ ไทย
จังหวัดกาญจนบุรี
อำเภอสังขละบุรี
จัดตั้ง • 24 ธันวาคม 2528 (สุขาภิบาลวังกะ)
 • 25 พฤษภาคม 2542 (เทศบาลตำบลวังกะ)
การปกครอง
 • นายกเทศมนตรีวิจารณ์ กุลชนะรัตน์
พื้นที่
 • ทั้งหมด11.11 ตร.กม. (4.29 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2565)[1]
 • ทั้งหมด9,528 คน
 • ความหนาแน่น857.60 คน/ตร.กม. (2,221.2 คน/ตร.ไมล์)
รหัส อปท.05710801
ที่อยู่
สำนักงาน
เลขที่ 339 หมู่ที่ 3 ถนนหนองตะแคง–เจดีย์สามองค์ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 71240
เว็บไซต์www.wangka.go.th
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

วังกะ เป็นเทศบาลตำบลซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของหมู่ 1–3 ของตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ทำการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ หรือเขื่อนเขาแหลมขึ้นมาเพื่อกักเก็บน้ำและเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า การสร้างเขื่อนนี้ได้ทำให้เกิดน้ำท่วมบริเวณอำเภอสังขละบุรีเดิม รวมไปถึงชุมชนมอญวังกะถูกน้ำท่วมถึง วัดวังก์วิเวการามเดิมต้องจมอยู่ใต้น้ำ ไร่น้ำถูกน้ำท่วมถึง ส่งผลให้ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในชุมชนต้องอพยพย้ายขึ้นไปอยู่ในพื้นที่สูง โดยอพยพไปยังเนินเขาที่อยู่ริมแม่น้ำซองกาเลียซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามสถานที่ตั้งใหม่ของตัวอำเภอหน่วยราชการและหมู่บ้านฝั่งอำเภอ โดยได้มีการสร้างวัดวังก์วิเวการามขึ้นมาใหม่ รวมถึงมีการสร้างสะพานไม้เพื่อข้ามไปยังตัวอำเภอซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ ส่วนชุมชนที่จมอยู่ใต้เขื่อนประชาชนย้ายออกและไม่มีประชาชนอยู่ในเขตสุขาภิบาลสังขละบุรีเลย จึงยุบสุขาภิบาลสังขละบุรีลงในปี พ.ศ. 2528 พร้อมกับจัดตั้งสุขาภิบาลวังกะขึ้นแทน[2] ในท้องที่บ้านวังกะ บ้านนิเถะ และบ้านไหล่น้ำที่มีประชาชนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐาน ต่อมาได้รับการจัดตั้งเป็นเทศบาลตำบลใน พ.ศ. 2542[3]

ทั้งนี้การสร้างเขื่อนได้ส่งผลเป็นอย่างมากต่อชาวมอญที่อพยพเหล่านี้ เนื่องจากชาวมอญเหล่านี้เป็นชาวต่างด้าวที่ไม่สามารถมีที่ดินเป็นของตนเอง อีกทั้งยังไม่ได้รับการชดเชยที่ดินจากการสร้างเขื่อนทำให้คนเหล่านี้ไร้ที่ดิน (การไฟฟ้ามอบที่ดินชดเชย 614 ไร่ให้แก่วัดเท่านั้น) ด้วยความอนุเคราะห์ของหลวงพ่ออุตตมะ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการามขณะนั้น ท่านได้แบ่งที่ดินของวัดวังก์วิเวการามให้ชาวมอญได้อยู่อาศัยซึ่งมีกว่าจำนวน 400 ครอบครัว ทำให้ชาวมอญสามารถมีที่อยู่อาศัยสืบถึงปัจจุบัน

พื้นที่เทศบาลอยู่ในศูนย์ราชการอำเภอสังขละบุรี ห่างจากศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรีประมาณ 218.3 กิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 337 กิโลเมตร มีพื้นที่รับผิดชอบ 11.11 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 6,943.75 ไร่ ในปัจจุบันชุมชนวังกะถือเป็นสถานที่สำคัญในการท่องเที่ยววิถีชีวิตชาติพันธุ์มอญแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยภายในชุมชนนอกจากท่องเที่ยวเรียนรู้ไปกับวิถีชีวิตของชาวบ้านภายในชุมชนแล้วนั้น ยังมีสถานที่ที่น่าสนใจให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมความสวยงาม คือ สะพานไม้อุตตมานุสรณ์ วัดใต้น้ำ วัดวังวิการาม เจดีย์พุทธคยา ทั้งนี้ภายในชุมชนทั้งนี้จากการที่นักท่องเที่ยวเข้ามาในชุมชนวังกะมากขึ้นได้ทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งในชุมชนหันมาประกอบธุรกิจท่องเที่ยว นำมาสู่การเกิดอาชีพและการสร้างรายได้แก่ชาวชุมชนวังกะในปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. ประชากรในเขตท้องถิ่นเทศบาลตำบลวังกะ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. 2565 โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย.
  2. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยุบสุขาภิบาลสังขละบุรี และจัดตั้งสุขาภิบาลวังกะ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 102 (195 ง): 6284–6286. วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2528
  3. "พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. ๒๕๔๒" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 116 (9 ก): 1–4 – โดยทาง ให้บรรดาสุขาภิบาลตามกฎหมายว่าด้วยสุขาภิบาลที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีฐานะเป็นเทศบาลตำบลตามกฎหมายว่าด้วยเทศบาลในพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542