ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าหญิงซะลี่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซะลี่น ซุพะย่า
ฉายาลักษณ์ พระองค์เจ้าหญิงซะลี่น จากหอจดหมายเหตุประวัติศาสตร์พม่า (Myanmar Historical Archive)
ว่าที่สมเด็จพระอัครมเหสีแห่งพระมหากษัตริย์พม่า[1]
ครองราชย์ค.ศ. 1866–1878
ก่อนหน้าพระนางจักราเทวี
พระมหากษัตริย์พม่าพระเจ้ามินดง
เจ้าหญิงแห่งชเวกูและซะลี่น
ครองราชย์ราว ค.ศ. 1853–1878
ผู้สำเร็จราชการพระเจ้ามินดง
ประสูติค.ศ. 1847
พระราชวังอมรปุระ
แม-มโย่มูน
สวรรคตค.ศ. 1879 (31–32 ชันษา)
อารามซะลี่น มัณฑะเลย์
พระรัชกาลนาม
สุศิริมรัตศวรัตนาเทวี
ราชวงศ์โก้นบอง
พระราชบิดาพระเจ้ามินดง
พระราชมารดาเจ้านางริมบึง
ศาสนาพุทธเถรวาท

สุสีริมรัตศวารัตนาเทวี (พม่า: သုသီရိမြတ်စွာရတနာဒေဝီ, บาลี: Susīrimratsvāratanādevi) หรือที่ขนานนามกันทั่วไปว่า เจ้าหญิงซะลี่น (พม่า: စလင်းမင်းသမီး) หรือ ซะลี่น ซุพะย่า (พม่า: စလင်းစုဖုရား, ออกเสียง: [səlɪ́ɰ̃ sṵpʰəjá]), ดำรงอิสริยยศ ตะบีนไดง์ (ว่าที่สมเด็จพระอัครมเหสีแห่งพระมหากษัตริย์พม่าในรัชกาลถัดไป) ในช่วงปลายของราชวงศ์โก้นบอง[2] ชาวยุโรปออกพระนามว่า "เซลินา โซเฟีย"[3] เป็นพระราชธิดาองค์โปรดของพระเจ้ามินดง ผู้ชำนาญวิชาคณิตศาสตร์ และทรงดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ากรมธนารักษ์ (เทียบเท่ากระทรวงการคลังของอังกฤษ) ในรัชกาลของพระเจ้ามินดง

พระประวัติ

[แก้]
อารามซะลี่น, มัณฑะเลย์ในปี ค.ศ. 1903

เจ้าหญิงซะลี่นประสูติในปี ค.ศ. 1847 เป็นราชบุตรีของพระเจ้ามินดง และเจ้าจอมริมบึงพระราชวังอมรปุระ ในราชธานีเดิม นครอมรปุระของพม่าในขณะนั้น[4] นามแรกประสูติที่ได้รับพระราชทานคือ แม-มโย่มูน (မယ်မျိုးမွန်) [5] เชื่อกันว่าพระนางเป็นพระราชมารดาของพระเจ้ามินดงกลับชาติมาประสูติอีกครั้ง พระนางได้รับการอุปถัมภ์ดูแลจากพระมเหสีตำหนักเหนือ คือ พระนางมยอกนันดอ ขนิษฐาต่างชนนีของเจ้าจอมริมบึง[6] เมื่อพระเจ้ามินดงทรงปราบดาภิเษกเสวยราชสมบัติ เจ้าหญิงซะลี่นทรงได้รับกัลปนาเมืองชเวกู และต่อมาคือเมืองซะลี่นพร้อมด้วยราชทินนามราชทาน คือ สิริรัตนาเทวี และราชอิสริยยศ ซุพะย่า

พระนางได้รับการสถาปนาและวางองค์เป็น ตะบีนไดง์ (พระชายาเอกแห่งมกุฎราชกุมาร, အိမ်ရှေ့ထိပ်ထား မိဖုရား), ภายหลังการลอบปลงพระชนม์มกุฎราชกุมารเจ้าชายกะนอง ในปี ค.ศ. 1866 โดยทรงได้รับเลือกให้ทรงพระยศว่าที่สมเด็จพระอัครมเหสีแห่งพระมหากษัตริย์พม่าในรัชกาลถัดไป[2]

ถึงแม้ทรงได้รับการสถาปนาและกำหนดวางองค์เป็นว่าที่สมเด็จพระอัครมเหสีแห่งพระมหากษัตริย์พม่าในรัชกาลถัดไป แต่พระนางโปรดปรานชีวิตทางธรรมมากกว่า ดังจะเห็นได้จากอารามซะลี่นมัณฑะเลย์ อันได้ทรงศรัทธาปสาทะอุทิศไว้ในพระบวรศาสนา[7] อย่างไรก็ตามสุดท้าย เจ้าหญิงซะลี่นมิได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีแห่งพระมหากษัตริย์พม่าในรัชกาลถัดไป เนื่องจากพระเจ้าสีป่อทรงราชาภิเษกสมรสและสถาปนาพระนางศุภยาลัตเป็นพระอัครมเหสี และขนิษฐาของนางคือ พระนางศุภยาจีเป็นพระมเหสี

ว่ากันว่าพระนางทรงออกบวชเป็นชีทันทีหลังการพระราชพิธีพระบรมศพของพระเจ้ามินดงเสร็จสิ้นและได้รับการฝังพระบรมศพแล้ว[2] พระนางสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1879 สิริพระชนม์มายุ 33 ชันษา ว่ากันว่าทรงถูกสำเร็จโทษด้วยอุบายพระนางศุภยาลัต[8]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย

[แก้]

เรื่องราวของพระนางได้รับการดัดแปลงเป็นตัวละครนามว่า เจ้านางทองพญา ในละครโทรทัศน์เรื่อง เพลิงพระนาง รับบทโดยศิริพิชญ์ วิมลโนช ในละครโทรทัศน์ เพลิงพระนาง (ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2539) และ เพลิงพระนาง (ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2560) รับบทโดยปาณิชดา แสงสุวรรณ[9]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Taṅʻ (Takkasuilʻ.), Cinʻ (2005). Sī po bhu raṅʻ nhaṅʻʹ Cu Phu Rā ̋latʻ (ภาษาพม่า). Ññoṇʻ ramʻ ̋Cā ʾupʻ tuikʻ.
  2. 2.0 2.1 2.2 Cocks, Samuel William (1919). A Short History of Burma (ภาษาอังกฤษ). Macmillan and Company, limited.
  3. Foucar, Emile Charles Victor (1946). They Reigned in Mandalay (ภาษาอังกฤษ). D. Dobson.
  4. White, Herbert Thirkell (2011). Burma (ภาษาอังกฤษ). Cambridge University Press. ISBN 978-1-107-60067-6.
  5. Foucar, Emile Charles Vicor (1963). Mandalay the Golden (ภาษาอังกฤษ). D. Dobson.
  6. Geary, Grattan (1886). Burma, After the Conquest: Viewed in Its Political, Social, and Commercial Aspects, from Mandalay (ภาษาอังกฤษ). S. Low, Marston, Searle, & Rivington.
  7. Amended List of Ancient Monuments in Burma (ภาษาอังกฤษ). Superintendent, Government Print. and Staty., Union of Burma. 1960.
  8. https://www.silpa-mag.com/history/article_42546
  9. https://www.dek-d.com/board/view/3730589

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ซะลี่น ซุพะย่า