เจ้าคุณจอมมารดาเอม ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เจ้าคุณจอมมารดาเอม)
เจ้าคุณจอมมารดา
เอม
เกิดพ.ศ. 2359
ถึงแก่กรรม13 มีนาคม พ.ศ. 2428 (69 ปี)
สามีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
บุตร-ธิดาพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปรีดา
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงจันทร์
บิดาบุญมี

เจ้าคุณจอมมารดาเอม (พ.ศ. 2359 - 13 มีนาคม พ.ศ. 2428) เป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ครั้งดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้าน้อย ตามประวัติที่เล่าสืบกันมา ครั้งที่เจ้าฟ้าน้อยเสด็จผนวชตามพระราชประเพณีและจำพรรษาอยู่วัดระฆัง โปรดที่จะพายเรือออกบิณฑบาตโดยเรือพระที่นั่งลำเล็ก เข้าคลองบางกอกน้อย ซึ่งมีบ้านขุนนางคหบดีท่านหนึ่งตั้งโต๊ะใส่บาตรพระอยู่หน้าท่าน้ำเป็นประจำ และปรากฏบุตรีของเจ้าของบ้านเป็นผู้ลงมาตักบาตรเองเสมอ ๆ วันหนึ่งขณะที่เธอกำลังตักข้าวใส่บาตรพระภิกษุหนุ่มรูปงาม ท่าทางดูจะมิใช่สามัญชนทั่วไป พระภิกษุองค์นั้นก็ปิดฝาบาตรงับมือเธอโดยเจตนา เธอตกใจปล่อยมือจับทัพพีจนตกน้ำ แล้วรีบวิ่งหนีขึ้นเรือนไป ส่วนพระภิกษุหนุ่มดูจะพึงใจมาก บ่ายวันนั้นได้มีขบวนเชิญเครื่องทำขวัญและทัพพีอันใหม่มายังบ้านนั้น เจ้าสัวบุญมีเจ้าของบ้านเห็นวัสดุและลวดลายของทัพพีก็ทราบได้ทันทีว่าเจ้าของทัพพีเป็นใคร จึงเฝ้าถนอมรักษาบุตรีของตนไว้อย่างดีและมิให้ลงไปใส่บาตรพระอีก

ครั้นพระภิกษุเจ้าฟ้าน้อยลาผนวชแล้ว ทรงสู่ขอบุตรีของเจ้าสัวบุญมีนั้นไปเป็นหม่อมห้าม ชื่อแต่แรกว่าหม่อมเอม และได้เป็นเจ้าจอมมารดาเอมเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติและทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ให้ดำรงพระอิสสริยยศเสมอกษัตริย์ เฉลิมพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นผู้เจียมพระองค์อย่างยิ่ง ระมัดระวังที่จะไม่ตีพระองค์เสมอสมเด็จพระเชษฐา โดยเฉพาะมิได้ทรงสถาปนาเจ้าจอมคนใดขึ้นเป็นพระชายา เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชประสงค์มิให้พระราชโอรสและพระราชธิดามีพระฐานันดรศักดิ์เกินชั้นพระองค์เจ้า ดังนั้นเจ้าจอมมารดาเอมจึงเพียงแต่ได้เลื่อนเป็นเจ้าคุณจอมมารดาในรัชกาลต่อมา เมื่อพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ได้ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ อุปราชวังหน้า โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ขนานนามท่านอย่างเป็นทางการว่า “เจ้าคุณพระชนนี“ คนทั่วไปยังคงเรียกว่าเจ้าคุณจอมมารดาเอม

เจ้าคุณจอมมารดาเอม ถึงแก่อสัญกรรมในวันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2428 สิริรวมอายุได้ 69 ปี ก่อนที่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญจะทิวงคตในอีก 6 เดือนต่อมา

พระราชโอรสและพระราชธิดา[แก้]

เจ้าคุณจอมมารดาเอมมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 5 พระองค์คือ

บรรพบุรุษ[แก้]

บรรพบุรุษของเจ้าคุณจอมมารดาเอมนั้น มีประวัติว่า เป็นนายสำเภาจีนแซ่อ๋อง ชื่ออ๋องเฮงฉ่วนเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่รับสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 แห่งอาณาจักรอยุธยา ได้รับราชการมีความดีความชอบหลายครั้ง จนถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ต่อมาได้โปรดเกล้าฯให้เป็น เจ้าพระยาพระคลัง คนทั่วไปจะเรียกว่าเจ้าพระยาพระคลังจีน ตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านถนนตาล หลังวัดพนัญเชิง มีภรรยาและบุตรธิดาหลายคน คนหนึ่งชื่อเจ้าสัวอ๋องไซ ยังคงสืบต่อทำการเดินเรือสำเภาค้าขายระหว่างเมืองไทยกับเมืองจีน ก่อนกรุงแตกได้คุมขบวนเรือข้าว 32 ลำ ตั้งใจว่าจะไปขายที่กำปงโสมเมืองเขมรเพราะได้ข่าวว่าปีนั้นเกิดทุพภิกขภัยรุนแรง ขณะจอดเทียบท่าเมืองตราดได้ข่าวว่า ในเขมรเกิดการจลาจลบ้านเมืองไม่ปลอดภัยทั้งทางบกและทางทะเล และกรุงศรีอยุธยาเองถูกพม่าข้าศึกมาล้อมไว้ตั้งแต่ตนออกเดินทางมาแล้ว จึงถอนเรือกลับมาดูเหตุการณ์อยู่ที่จันทบุรี จังหวะเวลาเดียวกับที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงนำกองกำลังเข้าตีเมืองจันทบุรีได้สำเร็จ เจ้าสัวอ๋องไซได้ข่าวดังนั้นจึงนำเรือเข้าเทียบท่าถวายข้าวทั้งสิ้นให้พระเจ้าตาก ซึ่งทรงใช้เป็นยุทธปัจจัยในการรวบรวมผู้คนขึ้นจนเป็นกองทัพ สามารถกอบกู้เอกราชของชาติไทยได้ในที่สุด เจ้าสัวอ๋องไซมีความดีความชอบมาก จึงโปรดเกล้าฯให้เป็นที่พระยารัตนราชเศรษฐี รับราชการว่าที่กรมท่าซ้ายและเป็นเจ้าท่าเปิดระวางเรือสำเภาที่เข้าเทียบท่ากรุงธนบุรีทุกลำแต่ผู้เดียว กับทั้งได้พระราชทานที่ดินตำบลหนึ่งใกล้วัดสามเพ็ง(วัดปทุมคงคา) ให้สร้างบ้านเรือนอยู่เป็นหมู่ใหญ่ในบริเวณนั้น ซึ่งภายหลังต่อมาได้กลายเป็นศาลเจ้าปุนเถ้ากงไปในทุกวันนี้ บุตรหลานของพระยารัตนราชเศรษฐี(อ๋องไซ)สามารถปักหลักค้าขายในกรุงธนบุรีและบางกอกสืบต่อกันอย่างมั่นคง บุตรคนหนึ่งชื่อเจ้าสัวบุญมาก มีบุตรคนหนึ่งชื่อเจ้าสัวบุญมี ผู้เป็นบิดาท่านเจ้าคุณจอมมารดาเอม

เจ้าคุณจอมมารดาเอมเป็นต้นราชสกุลฝ่ายหญิง โดยชั้นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มี 1 ราชสกุลคือ ราชสกุลนวรัตน และชั้นพระราชนัดดา ในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ มี 9 ราชสกุลคือ ราชสกุลวิไลยวงศ์ ราชสกุลกาญจนะวิชัย ราชสกุลสุทัศนีย์ ราชสกุลวรวุฒิ ราชสกุลรุจวิชัย ราชสกุลวิบูลยพรรณ ราชสกุลรัชนี และราชสกุลวิสุทธิ

ลำดับสาแหรก[แก้]