เจ้าจอมเครือวัลย์ ในรัชกาลที่ 3

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าจอมเครือวัลย์
คู่สมรสพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
บุพการีพระยาอภัยภูธร (น้อย บุณยรัตพันธุ์)
ท่านผู้หญิงอภัยภูธร (อู่)

เจ้าจอมเครือวัลย์[1][2][3] หรือสะกดว่า เครือวัลิ[4] เป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีหลักฐานบางแห่งกล่าวว่าเจ้าจอมท่านนี้เป็นผู้สร้างวัดเครือวัลย์วรวิหาร ตั้งอยู่ในแขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร[2][3][4]

ประวัติ[แก้]

เจ้าจอมเครือวัลย์เป็นธิดาของเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย บุณยรัตพันธุ์) กับท่านผู้หญิงอู่ อภัยภูธร[1][4] มีพี่ชายต่างมารดาคนหนึ่งชื่อเจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) อัครมหาเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย[1] ครอบครัวสืบเชื้อสายมาแต่พราหมณ์พฤฒิบาศ[5] ปู่คือเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด บุณยรัตพันธุ์) เสนาบดีกรมวังในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช[6] ตระกูลบุณยรัตพันธุ์มีการส่งธิดาที่สะสวยมาสนองพระเดชพระคุณพระมหากษัตริย์แห่งจักรีอยู่เสมอ อาทิ เจ้าจอมมารดาสี ในรัชกาลที่ 2[7] และเจ้าจอมมารดาแก้ว ในรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นป้าของเจ้าจอมเครือวัลย์[8] และมีหลานสาวรับราชการเป็นพระสนมเช่นคือ เจ้าจอมใย ในรัชกาลที่ 5, เจ้าจอมสวน ในรัชกาลที่ 5[9] และเจ้าจอมสำอาง ในรัชกาลที่ 5[10]

เจ้าจอมเครือวัลย์ก็ได้ถวายตัวสนองพระเดชพระคุณเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยเช่นกัน แต่มิได้ประสูติพระราชบุตร ทั้งนี้เจ้าจอมเครือวัลย์มีใจศรัทธาในบวรพุทธศาสนาด้วยสร้างวัดและตั้งชื่อตามนามของเจ้าจอมเครือวัลย์ คือ วัดเครือวัลย์วรวิหาร[1][4] ดังปรากฏใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ความว่า "...ในคลองมอญวัด ๑ เจ้าจอมเครือวัลย์ บุตรีเจ้าพระยาอภัยภูธร สร้างใหม่ การยังไม่แล้ว ก็ถึงแก่กรรมเสีย จึงโปรดให้ทำต่อไป แล้วพระราชทานชื่อ วัดเครือวัลย์วรวิหาร..."[2][3] พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิสังขรณ์พระอารามนี้เรื่อยมา พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นพระราชานุเคราะห์สร้างต่าง ๆ รวมทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินทรงทอดผ้าพระกฐินเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2393[2][3] นอกจากนี้ยังปรากฏใน กลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ของนายมีมหาดเล็ก ที่กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ในการก่อสร้างวัดนี้ ความว่า[3]

วัดทั้งหลายคล้ายกันเป็นอันมาก
ไม่หนีจากอย่างเก่าเป็นอวสาน
แต่วัดเครือวัลย์ใหม่อำไพพาน
หนีบุราณแปลกเพื่อนไม่เหมือนใคร
เขียนชาดกยกเรื่องโพธิสัตว์
ทอดประทัดตีตารางสว่างไสว
เป็นห้องห้องช่องละชาติออกดาษไป
นับชาติได้ห้าร้อยสิบชาติตรา
ด้วยทรงพระศรัทธาเมตตาช่าง
ให้สินจ้างช่องละบาทดังปรารถนา
ด้วยบุญญาอานิสงส์ทรงศรัทธา
ไม่ต้องหาช่างเขียนเวียนมาเอง

เจ้าจอมเครือวัลย์ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อใดไม่เป็นที่ปรากฏ ทราบแต่เพียงว่าถึงแก่อนิจกรรมไปก่อนสร้างวัดเครือวัลย์วรวิหารสำเร็จ[2][3]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 กัลยา เกื้อตระกูล. พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระชายานารี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม ในรัชกาลที่ ๑-๗ กรุงเทพฯ : ยิปซี. 2552, หน้า 93
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 "วัดเครือวัลย์วรวิหาร". สำนักงบประมาณ. สืบค้นเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 "รักษ์วัดรักษ์ไทย : จิตรกรรมฝาผนังพระเจ้า 500 ชาติ สมบัติสำคัญของชาติ หนึ่งเดียวในไทย ณ วัดเครือวัลย์วรวิหาร". ASTV ผู้จัดการออนไลน์. 2 พฤษภาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ฐานบุ๊คส์, 2554, หน้า 284
  5. ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ฐานบุ๊คส์. 2554, หน้า 256-257
  6. กัลยา เกื้อตระกูล. พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระชายานารี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม ในรัชกาลที่ ๑-๗ กรุงเทพฯ : ยิปซี. 2552, หน้า 53-54
  7. กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2017-04-29.
  8. กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 47. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2017-04-29.
  9. ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ฐานบุ๊คส์. 2554, หน้า 350
  10. กัลยา เกื้อตระกูล. พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระชายานารี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม ในรัชกาลที่ ๑-๗ กรุงเทพฯ : ยิปซี. 2552, หน้า 209