เกาะแคโรไลน์
เกาะแคโรไลน์ | |
---|---|
![]() ภาพถ่ายทางอากาศของนาซาแสดงส่วนประกอบของเกาะแคโรไลน์ ทิศเหนืออยู่ทางขวามือบนของภาพเกาะเล็กใหญ่สุด 2 เกาะ คือ เนกไอลิต (บน) และเซาท์ไอลิต (ล่าง) | |
| |
ที่ตั้ง | มหาสมุทรแปซิฟิก
|
กลุ่มเกาะ | หมู่เกาะไลน์ |
เกาะทั้งหมด | 39
|
คิริบาส
|
เกาะแคโรไลน์ (อังกฤษ: Caroline Island) หรือ แคโรไลน์อะทอลล์ (อังกฤษ: Caroline Atoll) บ้างเรียก เกาะมิลเลนเนียม (อังกฤษ: Millennium Island) และ เกาะเบสซีซา (อังกฤษ: Beccisa Island) เป็นเกาะปะการังวงแหวนไร้คนอาศัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะไลน์ใต้ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง
ชาวยุโรปพบเกาะนี้ครั้งแรกเมื่อประมาณ พ.ศ. 2149 สหราชอาณาจักรอ้างสิทธิเหนือเกาะใน พ.ศ. 2411 และกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศคิริบาสหลังได้รับเอกราชใน พ.ศ. 2522 เกาะแคโรไลน์แทบไม่มีคนบุกรุก และถือเป็นเกาะเขตร้อนในสภาพดั้งเดิมมากที่สุดเกาะหนึ่ง แม้มีการทำปุ๋ยขี้นก การเก็บเกี่ยวลูกมะพร้าวแห้งและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 เกาะนี้เป็นถิ่นอาศัยของปูมะพร้าวใหญ่สุดแห่งหนึ่งของโลกและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์นกทะเลโดยเฉพาะนกจำพวกนกนางนวลแกลบดำที่สำคัญอีกด้วย
ปัจจุบันเกาะนี้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า[1] เมื่อ พ.ศ. 2557 รัฐบาลคิริบาสจัดตั้งเขตห้ามทำประมง 12 ไมล์ทะเลรอบหมู่เกาะไลน์ใต้[2]
เกาะนี้ขึ้นชื่อจากบทบาทในการเฉลิมฉลองสหัสวรรษ หลังมีการปรับเปลี่ยนเส้นแบ่งเขตวันสากลใน พ.ศ. 2537 ทำให้เกาะแคโรไลน์เป็นหนึ่งในจุดแรก ๆ บนโลกที่ย่างเข้าวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2543 ในปฏิทิน
ภูมิศาสตร์และภูมิอากาศ[แก้]
เกาะแคโรไลน์ตั้งอยู่ใกล้ปลายทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่เกาะไลน์ ทอดข้ามเส้นศูนย์สูตรอยู่ทางใต้ห่างจากหมู่เกาะฮาวาย 1,500 กม. ในมหาสมุทรแปซิฟิกกลาง เป็นเกาะที่เกิดจากการทับถมของทรายและหินปูนบนแนวปะการัง เกาะมีรูปจันทร์เสี้ยวเล็กน้อย มีพื้นที่ 3.76 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะเล็ก 39 เกาะล้อมรอบลากูนแคบ ๆ ขนาด 8.7 × 1.2 กิโลเมตร หรือมีพื้นที่ 6.3 ตารางกิโลเมตร อะทอลล์มีขนาดซึ่งนับรวมแผ่นดิน ลากูนและปะการังแนวราบมีขนาดทั้งสิ้น 13 × 2.5 กิโลเมตร หรือพื้นที่ 24 ตารางกิโลเมตร เกาะเล็กมีความสูงเพียง 6 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตามวิถีของเส้นแบ่งเขตวันสากล เกาะแคโรไลน์เป็นจุดตะวันออกสุดบนโลก
เกาะแคโรไลน์ประกอบด้วยเกาะเล็กขนาดใหญ่ 3 เกาะ ประกอบด้วย เนกไอลิต พื้นที่ 1.04 ตารางกิโลเมตรอยู่ทางตอนเหนือ, ลองไอลิต พื้นที่ 0.76 ตารางกิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงเหนือของลากูน และเซาท์ไอลิต พื้นที่ 1.07 ตารางกิโลเมตรทางตอนใต้[3] ส่วนเกาะเล็กขนาดเล็กอื่นที่เหลือส่วนใหญ่ได้ชื่อระหว่างการสำรวจระบบนิเวศของแอนจิลาและแคเมอรอน เคปเลอร์ ใน พ.ศ. 2531 แบ่งเป็นกลุ่มเกาะหลักสี่กลุ่มคือ เซาท์เนกไอลิตส์, เซ็นทรัลลีเวิร์ดไอลิตส์, เซาเทิร์นลีเวิร์ดไอลิตส์ และวินด์เวิร์ดไอลิตส์ (ดูแผนที่ประกอบ) กลุ่มเกาะของแคโรไลน์มีอายุสั้นตลอดช่วงการสังเกตหนึ่งศตวรรษ มีบันทึกว่าเกาะเล็กสุดหลายเกาะปรากฏหรือหายไปทั้งหมดหลังพายุใหญ่ ส่วนรูปร่างของเกาะเล็กขนาดใหญ่ก็เปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ[3][4]
ลากูนศูนย์กลางมีขนาดประมาณ 6 × 0.5 กิโลเมตร เป็นลากูนตื้นลึกสุดประมาณ 5–7 เมตร มีแนวปะการังและกลุ่มปะการังบนพื้นทรายแคบ ๆ ข้ามไปมา ปะการังแนวราบปกติขยายไปประมาณ 500 เมตร จากฝั่ง แม้บางแหล่งรายงานว่าขยายไปกว่าหนึ่งกิโลเมตรจากฝั่ง ทำให้การจอดเรือมีอันตรายยกเว้นเมื่อน้ำขึ้น [3] ไม่มีที่ขึ้นฝั่งธรรมชาติ ที่ทอดสมอหรือช่องน้ำลึกเข้าสู่ลากูนศูนย์กลาง น้ำซึ่งล้นเข้าสู่ลากูนจากช่องตื้นเมื่อน้ำขึ้นขังอยู่ในปะการังโดยรอบและยังเสถียรอยู่แม้มีน้ำขึ้นลงมหาสมุทร ปกติขึ้นฝั่งส่วนมากที่รอยแยกเล็ก ๆ ในปะการัง ณ มุมตะวันออกเฉียงเหนือของเซาท์ไอลิต[4]
ในบางส่วนของลากูนมีความหนาแน่นของหอยมือเสือยักษ์มากถึงสี่ตัวต่อตารางฟุต[2] ชนิดที่พบบ่อยสุด คือ หอยมือเสือแม็กซิมา (Tridacna maxima) และหอยมือเสือยักษ์ (Tridacna gigas)[2] นอกจากนี้ลากูนยังเป็นถิ่นอาศัยอนุบาลของปลาหลายชนิดรวมทั้งชนิดที่สำคัญและถูกจับอย่างหนัก เช่น ปลาฉลามครีบดำ (Carcharhinus melanopterus) ปลานโปเลียน (Cheilinus undulatus) ที่ใกล้สูญพันธุ์[5]
เกาะแคโรไลน์ไม่มีแหล่งน้ำจืดนิ่งแต่เนกไอลิตและเซาท์ไอลิตนั้นมีชั้นหินอุ้มน้ำใต้ดินอยู่ และมีการสร้างบ่อน้ำเพื่อเจาะเอาน้ำดื่มสำหรับนิคมชั่วคราว[6] ดินบนเกาะเลวพอ ๆ กัน ลักษณะเป็นกรวดปะการังและทรายเป็นหลัก โดยมีองค์ประกอบอินทรีย์ที่สำคัญอยู่เฉพาะศูนย์กลางของเกาะที่มีสภาพเป็นป่าเสถียรเท่านั้น การทับถมของปุ๋ยขี้นกทำให้บริเวณที่มีปุ๋ยนี้อุดมด้วยไนโตรเจน แต่แม้ในบริเวณที่มีอายุมากสุดและมีพืชพรรณมากที่สุดของเกาะ ดินก็ยังหนาไม่กี่เซนติเมตร[4]
เกาะแคโรไลน์มีลักษณะอากาศแบบทะเลเขตร้อน ซึ่งมีลักษณะร้อนชื้นตลอดปี บันทึกทางอุตุนิยมวิทยามีน้อย แต่ปกติอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 28 ถึง 32 องศาเซลเซียส ตลอดปี[7] อยู่ในบริเวณที่มีหยาดน้ำฟ้าผกผันมาก แต่ประมาณว่ามีปริมาณฝนเฉลี่ย 1,500 มม. ต่อปี น้ำขึ้นลงอยู่ในลำดับที่ 0.5 เมตร และลมค้าซึ่งปกติพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หมายความว่า มุมเกาะมีคลื่นลมแรงสุด[4]
เกาะแห่งนี้เป็นหนึ่งในเกาะที่ห่างไกลที่สุดแห่งหนึ่งบนโลก[8] อยู่ห่างจากเกาะฟลินต์ (Flint Island) เกาะใกล้สุด 230 กม. อยู่ห่างจากนิคมถาวรใกล้สุดบนคิริสมาสประมาณ 1,500 กิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงตาราวา เมืองหลวงของประเทศคิริบาส ประมาณ 4,200 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากชายฝั่งทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปใกล้สุด ประมาณ 5,100 กิโลเมตร
สัตว์และพืช[แก้]

แม้มนุษย์มีผลกระทบเป็นครั้งคราวต่อเกาะแคโรไลน์เป็นเวลากว่าสามศตวรรษ แต่เกาะนี้ยังถือเป็นเกาะเขตร้อนสภาพใกล้เคียงดั้งเดิมหนึ่งในไม่กี่แห่งที่ยังเหลืออยู่[4] และยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นเกาะปะการังรูปวงแหวนแปซิฟิกที่บริสุทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่ง[9] สภาพแทบไม่ถูกรบกวนของเกาะทำให้เกาะแคโรไลน์ได้รับกำหนดให้เป็นแหล่งมรดกโลกและเขตสงวนชีวมณฑล มีการสำรวจนิเวศวิทยาบันทึกสัตว์และพืชของเกาะเป็นระยะในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้แก่ โครงการสำรวจชีววิทยามหาสมุทรแปซิฟิกเยี่ยมเกาะใน พ.ศ. 2508 การสำรวจเกาะไลน์ พ.ศ. 2517 หน่วยอนุรักษ์สัตว์ป่าของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติใน พ.ศ. 2531 และ พ.ศ. 2534[10]
เกาะแคโรไลน์มีพืชพรรณหนาแน่น เกาะเล็ก ๆ ส่วนมากมีเขตพืชพรรณวงแหวนสามวง ได้แก่ เขตนอกพรมพืชล้มลุก ซึ่งประกอบด้วย Heliotropium anomalum เป็นหลัก เขตในกว่าเป็นไม้พุ่ม ซึ่งมีงวงช้างทะเล (Heliotropium foertherianum) เป็นหลัก และบริเวณป่าใจกลางมักซึ่งมีไม้ต้น Pisonia grandis มากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการนำต้นมะพร้าวและมีอยู่ปริมาณค่อนข้างมากในเกาะเล็กขนาดใหญ่ ๆ แบบรูปพรรณพืชนี้เป็นเหมือนกันในเกาะเล็กขนาดใหญ่ ๆ ส่วนเกาะเล็กขนาดเล็กไม่มีป่าใจกลางและเกาะเล็กสุดจะมีเฉพาะไม้ล้มลุกเตี้ยเท่านั้น[4] พืชที่พบมากอื่น เช่น Suriana maritima และยอ (Morinda citrifolia)[11]
เกาะแคโรไลน์เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของนกทะเลหลายชนิด สำคัญที่สุดคือ นกนางนวลแกลบดำ (Onychoprion fuscata) ซึ่งมีจำนวนประมาณ 500,000 ตัว โดยพบมากบนเกาะเล็กฝั่งตะวันออก และนกโจรสลัดใหญ่ (Fregata minor) ซึ่งมีจำนวนประมาณ 10,000 ตัว เกาะแคโรไลน์และเกาะฟลินต์ที่อยู่ใกล้เคียงเป็นถิ่นอาศัยของปูมะพร้าว (Birgus latro) ใหญ่สุดแห่งหนึ่งในโลก[3] นอกจากนี้ สัตว์เฉพาะถิ่นอื่นมีหอยมือเสือซึ่งพบมากบริเวณลากูนศูนย์กลาง เต่าตนุ ปูเสฉวน และกิ้งก่าอีกหลายชนิด[11]
เต่าตนุ (Chelonia mydas) ซึ่งเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ทำรังบนหาดเกาะแคโรไลน์ แต่มีรายงานผู้ตั้งถิ่นฐานล่าสุดบุกรุกเข้าไปล่าสัตว์[11] นกชนิด Numenius tahitiensis ซึ่งอพยพมาจากอะแลสกาก็จัดเป็นสายพันธุ์เสี่ยงอีกด้วย
เกาะแห่งนี้มีพืชต่างถิ่นกว่า 20 ชนิดที่มนุษย์นำเข้ามา เช่น เถาเลื้อยอย่างเช่นผักบุ้งทะเลซึ่งเริ่มแพร่พันธุ์ มนุษย์นำแมวและหมาเลี้ยงร่วมกับผู้ตั้งถิ่นฐานจำนวนหนึ่งได้ขับประชากรนกทะเลออกจากเกาะเล็กโมนูอะตา-อะตา
ประวัติศาสตร์[แก้]
ก่อนประวัติศาสตร์[แก้]
เชื่อว่าเกาะแคโรไลน์กำเนิดจากจุดร้อนภูเขาไฟที่ถูกกัดกร่อนและกลายเป็นที่อยู่ของแนวปะการังและค่อย ๆ เติบโตขึ้นเหนือผิวมหาสมุทร แม้ยังเข้าใจกระบวนการทางธรณีวิทยานี้เพียงเล็กน้อย แต่การวางตัวของหมู่เกาะไลน์ (ประมาณจากเหนือไปใต้) แสดงให้เห็นว่ากลุ่มเกาะเหล่านี้น่าจะกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 40 ล้านปีมาแล้ว ก่อนที่แผ่นแปซิฟิกจะเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนตัว และจุดร้อนเดียวกันนี้ยังก่อให้เกิดกลุ่มเกาะตูอาโมตูอีกด้วย[12]
มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชาวพอลินีเชียบนเกาะเล็กใหญ่ ๆ ก่อนมีการติดต่อกับชาวยุโรป[4] คณะสำรวจเกาะนี้ยุคแรก ๆ ค้นพบสุสานและลานแผ่นแบบและมีมาราเอ (marae) ซึ่งเป็นลานชุมชนและลานศักดิ์สิทธิ์ บนฝั่งตะวันตกของเนกไอลิต ตราบจนปัจจุบัน นักโบราณคดียังไม่ได้สำรวจสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้
การพบและบันทึกแรก ๆ[แก้]
เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน อาจพบเกาะแคโรไลน์เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2064[13][14]
บันทึกการเห็นเกาะแคโรไลน์ต่อมาของชาวยุโรปคือ บันทึกของเปดรู ฟือร์นังดึช ดือ ไกรอช นักสำรวจชาวโปรตุเกสที่ล่องเรือในนามของสเปน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2149 บันทึกของเขาเรียกเกาะนี้ว่า "ซานเบร์นาร์โด" (San Bernardo)[4] ต่อมาวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2338 กัปตันวิลเลียม รอเบิร์ต บรอตัน แห่งเรือหลวง พรอวิเดนซ์ ค้นพบเกาะนี้และตั้งชื่อเกาะว่าแคโรไลนา (ต่อมาเป็นแคโรไลน์) เพื่อยกย่องธิดาของเซอร์เซอร์ฟิลิป สตีเวนส์ แห่งกระทรวงทหารเรือ[4] ต่อมาเรือล่าปลาวาฬสัญชาติอังกฤษ ซะพลาย พบเกาะนี้อีกครั้งใน พ.ศ. 2364 และตั้งชื่อว่า "เกาะธอนตัน" ตามชื่อกัปตันเรือ เกาะแห่งนี้ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกเช่น "เกาะเฮิสต์" (Hirst Island) "เกาะคลาร์ก" (Clark Island) และ "เกาะอินดิเพนเดนซ์" (Independence Island) การเดินทางถึงครั้งแรก ๆ ซึ่งมีบันทึกเกี่ยวกับเกาะ คือ การเดินทางของยูเอสเอส ดอลฟิน ใน พ.ศ. 2368 (ร้อยโท ไฮรัม พอลดิง เป็นผู้บันทึก) และเรือล่าวาฬใน พ.ศ. 2378 (เฟรเดอริก ดีเบลล์ เบนเนตต์ บันทึกในหนังสือ คำบรรยายของการล่องเรือล่าปลาวาฬรอบโลกระหว่างปี ค.ศ. 1833–1836 (Narrative of a Whaling Voyage Round the Globe From the Year 1833–1836)
พ.ศ. 2389 คอลลีและลูเซ็ตต์ บริษัทสัญชาติตาฮีตี พยายามสร้างชุมชนเลี้ยงปศุสัตว์และปลูกมะพร้าวขนาดเล็กบนเกาะ ซึ่งประสบความสำเร็จทางการเงินจำกัด ส่วนใน พ.ศ. 2411 เรือหลวง เรนเดีย ของบริเตนอ้างสิทธิเหนือแคโรไลน์ ซึ่งบันทึกผู้อยู่อาศัย 27 คนในนิคมแห่งหนึ่งบนเซาท์ไอลิต เมื่อ พ.ศ. 2415 รัฐบาลบริติชให้เช่าเกาะนี้แก่บริษัทโฮลเดอร์บราเธอส์ จำกัด โดยมีจอห์น ที. แอรันเดล เป็นผู้จัดการ (เป็นชื่อชื่อเกาะเล็กเกาะหนึ่งด้วย)[6] จอห์น ที. แอรันเดลและคณะรับสัญญาเช่าใน พ.ศ. 2424 จนใน พ.ศ. 2428 แอรันเดลตั้งไร่ใหญ่มะพร้าว แต่ต้นมะพร้าวติดโรคและไร่ใหญ่ล้มเหลวไป[4] อีกทั้งบริษัทโฮลเดอร์บราเธอส์ จำกัด ที่มีแอรันเดลเป็นผู้จัดการนั้น ยังทำฟาร์มปุ๋ยขี้นกใน พ.ศ. 2417 ด้วย โดยพบฟอสเฟตกว่า 10,000 ตัน จนหมดไปจากเกาะในราว พ.ศ. 2438[4] นิคมบนเกาะอยู่จนกระทั่ง พ.ศ. 2447 ชาวพอลินีเชีย 6 คนสุดท้ายย้ายออกจากเกาะนี้ไปนีวเว[4]
คณะสำรวจนักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันเดินทางจากเปรูมาเกาะแคโรไลน์ด้วยเรือยูเอสเอส ฮาร์ตเฟิร์ด เพื่อมาชมสุริยุปราคาเต็มดวงวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2426 คณะสำรวจชาวฝรั่งเศสก็สังเกตสุริยุปราคาจากเกาะแคโรไลน์เช่นกัน และกองทัพเรือสหรัฐทำแผนที่เกาะ[6] โยฮันน์ พาลีซา สมาชิกคณะสำรวจคนหนึ่ง ค้นพบดาวเคราะห์น้อยในปีเดียวกันซึ่งเขาตั้งชื่อว่า แคโรไลนา เพื่อรำลึกถึงการเยือนเกาะแคโรไลน์[15]
คริสต์ศตวรรษที่ 20[แก้]
เอส.อาร์. แมกซ์เวลล์แอนด์คอมปานีเช่าเกาะนี้และตั้งถิ่นฐานใหม่ใน พ.ศ. 2459 ครั้งนี้สร้างขึ้นเพื่อส่งออกเนื้อมะพร้าวแห้งโดยเฉพาะ มีการถางป่าอย่างกว้างขวางในเซาท์ไอลิตเพื่อปลูกต้นมะพร้าวซึ่งไม่ใช่พืชท้องถิ่น[4] ทว่า การลงทุนธุรกิจนี้ประสบหนี้สิน และนิคมของอเกาะเริ่มมีประชากรลดลง เมื่อ พ.ศ. 2469 เหลือผู้อยู่อาศัยเพียง 10 คน และใน พ.ศ. 2479 นิคมเหลือครอบครัวชาวตาฮิตีเพียง 2 ครอบครัวก่อนย้ายออกไปในปลายคริสต์ทศวรรษ 1930[6]
เกาะแคโรไลน์ไม่มีคนอาศัยและไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ ตลอดสงครามโลกครั้งที่สองและหลังจากนั้น เกาะยังอยู่ภายใต้เขตอำนาจของบริเตน ซึ่งข้าหลวงใหญ่แปซิฟิกตะวันออกของบริเตนเข้าควบคุมอีกครั้งใน พ.ศ. 2486 และปกครองโดยเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะเซ็นทรัลและเซาเทิร์นไลน์ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2515 หมู่เกาะเซ็นทรัลและเซาเทิร์นไลน์รวมทั้งเกาะแคโรไลน์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมหมู่เกาะกิลเบิร์ตและเอลลิส ซึ่งได้อัตตาณัติใน พ.ศ. 2514 โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปลดปล่อยอาณานิคมของบริเตน[16]
พ.ศ. 2522 หมู่เกาะกิลเบิร์ตกลายเป็นรัฐเอกราชคิริบาส หมู่เกาะแคโรไลน์เป็นจุดตะวันออกสุดของคิริบาส ทั้งเกาะมีรัฐบาลสาธารณรัฐคิริบาสเป็นเจ้าของ มีกระทรวงกลุ่มไลน์และฟีนิกซ์ซึ่งมีสำนักงานใหญ่บนคิริสมาสเป็นผู้ดูแล สหรัฐสละการอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือเกาะของสหรัฐ (ภายใต้รัฐบัญญัติหมู่เกาะปุ๋ยขี้นก) ในสนธิสัญญาตาราวาใน พ.ศ. 2522 และวุฒิสภาสหรัฐให้สัตยาบันใน พ.ศ. 2526[17]
เกาะนี้มีคนอาศัยอีกช่วงสั้น ๆ ระหว่าง พ.ศ. 2530 ถึง พ.ศ. 2534 โดยรอน ฟอลคอเนอร์ และแอน ภรรยา พร้อมลูก 2 คนซึ่งพัฒนานิคมพึ่งพาตนเองเป็นส่วนใหญ่บนเกาะ หลังการโอนความเป็นเจ้าของ ฟอลคอเนอร์ถูกรัฐบาลคิริบาสฟ้องขับไล่ออกจากเกาะ หนังสือ ทูเกเธอร์อะโลน (ISBN 1-86325-428-5) ซึ่งฟอลคอเนอร์เขียน บันทึกนิยายการพำนักของพวกเขาบนเกาะแคโรไลน์[18]
มีการให้เช่าเกาะแก่อูรีมา เฟลิกซ์ ผู้ประกอบการชาวเฟรนช์พอลินีเชีย ในคริสต์ทศวรรษ 1990 เขาสร้างที่อยู่อาศัยเล็ก ๆ บนเกาะเล็กเกาะหนึ่งและมีรายงานว่าวางแผนพัฒนาเกาะ เกาะยังมีผู้เก็บเกี่ยวมะพร้าวแห้งชาวพอลินีเซียเวียนมาเป็นบางครั้งภายใต้ความตกลงกับรัฐบาลคิริบาสในตาราวา[10]
การเปลี่ยนเส้นแบ่งเขตวัน[แก้]
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ประเทศคิริบาสประกาศเปลี่ยนเขตเวลาของหมู่เกาะไลน์โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2537 การเปลี่ยนเขตเวลานี้เลื่อนเส้นแบ่งเขตวันสากลไปทางทิศตะวันออก 1,000 กิโลเมตรในคิริบาส โดยวางคิริบาสทั้งหมดอยู่ในฝั่งตะวันตกของเส้นแบ่งเขตวัน แม้ข้อเท็จจริงว่าลองจิจูด 150 องศาตะวันตกซึ่งตรงกับเวลา UTC−10 แทนเขตเวลาอย่างเป็นทางการ UTC+14 ปัจจุบันหมู่เกาะแคโรไลน์อยู่ในเขตเวลาเดียวกับหมู่เกาะฮาวาย (เขตเวลามาตรฐานฮาวาย–อะลูเชียน) แต่เร็วกว่า 1 วัน[19] การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกาะแคโรไลน์เป็นดินแดนตะวันออกสุดในเขตเวลาเร็วสุด (บางนิยามว่า เป็นจุดตะวันออกสุดบนโลก) และเป็นแผ่นดินจุดแรก ๆ ที่เห็นอาทิตย์ขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2543 เมื่อ 5:43 น. ตามเวลาท้องถิ่น
เหตุผลการย้ายที่แถลงไว้เป็นคำสัญญาระหว่างการรณรงค์ของเตบูโรโร ติโต (Teburoro Tito) อดีตประธานาธิบดีคิริบาส เพื่อขจัดความสับสนที่ประเทศคิริบาสทอดข้ามเส้นแบ่งเขตวัน ฉะนั้นจึงมีวันต่างกันสองวันเสมอ ทว่า ข้าราชการคิริบาสไม่ฝืนใจที่พยายามฉวยสถานภาพใหม่ของประเทศที่เป็นดินแดนแรกที่เห็นรุ่งอรุณใน พ.ศ. 2543[20] ประเทศแปซิฟิกอื่น รวมทั้งประเทศตองงาและหมู่เกาะแชทัมของนิวซีแลนด์ประท้วงการย้ายนี้ โดยคัดค้านว่าละเมิดการอ้างเป็นดินแดนแห่งแรกที่เห็นรุ่งเช้าใน พ.ศ. 2543[21]
ใน พ.ศ. 2542 เพื่อใช้ประโยชน์จากความสนใจของสาธารณะขนานใหญ่ต่อการเฉลิมฉลองการย่างเข้า พ.ศ. 2543 ยิ่งขึ้น จึงมีการเปลี่ยนชื่อเกาะแคโรไลน์เป็นเกาะมิลเลนเนียม แม้เป็นเกาะที่ไม่มีคนอาศัย แต่มีการจัดการเฉลิมฉลองพิเศษบนเกาะ มีการแสดงของวงการบันเทิงพื้นเมืองชาวคิริบาสและประธานาธิบดีติโตเข้าร่วมด้วย[22] มีนักร้องและนักเต้นชาวคิริบาสเดินทางจากเมืองหลวงกรุงตาราวา กว่า 70 คน[23] และมีนักข่าวประมาณ 25 คน มีการแพร่สัญญาณการเฉลิมฉลองครั้งนี้ผ่านดาวเทียมทั่วโลกและมีผู้ชมประมาณหนึ่งพันล้านคน[22]
แม้สื่อและรัฐบาลอ้าง แต่เกาะแคโรไลน์มิใช่แผ่นดินจุดแรกที่เห็นรุ่งอรุณของวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2543 ตามเวลาท้องถิ่น เกียรตินั้นเป็นของจุดของดินแดนระหว่างระหว่างธารน้ำแข็งดิบเบิล (Dibble Glacier) กับอ่าววิกตอร์ (Victor Bay) บนชายฝั่งแอนตาร์กติกาตะวันออก ณ พิกัด 66°03′S 135°53′E / 66.050°S 135.883°E ซึ่งเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นก่อน 35 นาที[24] เนื่องจากจุดนี้อยู่ใกล้วงกลมแอนตาร์กติก และพื้นที่ที่อยู่เลยวงกลมแอนตาร์กติกได้รับผลจากแสงอาทิตย์ตลอดเวลาในเดือนธันวาคม นิยามของจุดที่แน่ชัดจึงเป็นปัญหาการแยกแยะระหว่างดวงอาทิตย์ตกและดวงอาทิตย์ขึ้นทันทีในมุมมองของผลการหักเหบรรยากาศ
คริสต์ศตวรรษที่ 21 และอนาคต[แก้]
เกาะแคโรไลน์อยู่เหนือระดับน้ำทะเลเพียง 6 เมตร จึงจะเป็นอันตรายหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น รัฐบาลคิริบาสประเมินว่า น้ำทะเลอาจท่วมเกาะใน พ.ศ. 2568[23] สหประชาชาติจัดให้เกาะแคโรไลน์อยู่ในกลุ่มเกาะที่อยู่ในอันตรายมากที่สุดจากการเพิ่มของระดับน้ำทะเล[25]
สมุดภาพ[แก้]
ชายฝั่งลากูนทางใต้ของเกาะแคโรไลน์
รอนและแอน ฟอลคอเนอร์ ซึ่งอาศัยอยู่บนอะทอลล์แห่งนี้ในช่วงปี พ.ศ. 2531–2535
บราเทอส์ไอลิต เกาะแคโรไลน์
ต้นคอร์เดียบนนอร์ทแอรันเดลไอลิต เกาะแคโรไลน์
ชาร์กไอลิต เกาะแคโรไลน์
ไม้จำพวกต้นรักทะเลบนวินด์เวิร์ดไอลิต เกาะแคโรไลน์
อ้างอิง[แก้]
- ↑ Edward R. Lovell, Taratau Kirata & Tooti Tekinaiti (September 2002). "Status report for Kiribati's coral reefs" (PDF). Centre IRD de Nouméa. สืบค้นเมื่อ 15 May 2015.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Warne, Kennedy (September 2014). "A World Apart – The Southern Line Islands". National Geographic. สืบค้นเมื่อ 15 May 2015.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 "Line Islands - Millennium". Oceandots.com. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2010-12-23. สืบค้นเมื่อ 2006-06-11.
- ↑ 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 4.11 4.12 Kepler, Angela K.; Cameron B. Kepler (February 1994). "The natural history of the Caroline Atoll, Southern Line Islands" (PDF). Atoll Research Bulletin. 397–398.
- ↑ Katie L. Barott; และคณะ (3 June 2010). "The Lagoon at Caroline/Millennium Atoll, Republic of Kiribati: Natural History of a Nearly Pristine Ecosystem" (PDF). PLoS ONE. 5 (6). สืบค้นเมื่อ 22 January 2017. Explicit use of et al. in:
|last1=
(help) - ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 Bryan, E.H. (1942). American Polynesia and the Hawaiian Chain. Honolulu: Tongg Publishing Company.
- ↑ "Republic of Kiribati". Atlapedia Online. สืบค้นเมื่อ 2006-07-12.
- ↑ "More Isolated Islands". Island Directory Tables. U.N. Earthwatch. สืบค้นเมื่อ 2006-06-12.
- ↑ "Islands by Human Impact Index". U.N. Earthwatch Island Directory Tables. สืบค้นเมื่อ 2006-07-05.
- ↑ 10.0 10.1 Scott, Derek A. (ed) (1993). A Directory of Wetlands in Oceania. Slimbridge, UK: International Waterfowl and Wetlands Research Bureau. ISBN 0-9505731-2-4.CS1 maint: extra text: authors list (link)
- ↑ 11.0 11.1 11.2 Teataata, Aobure (1998). "Caroline Atoll". Protected Areas and World Heritage Programme Profiles. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2008-02-10.
- ↑ "Pacific Ocean - Line Islands". Oceandots.com. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2010-12-23. สืบค้นเมื่อ 2006-06-11.
- ↑ "Morison Rates Magellan Above Columbus as a Seaman". New York Times.
- ↑ Matthew James. The Great Explorers.
- ↑ Schmadel, L.D. (2000). Dictionary of Minor Planet Names (4th ed.). Berlin: Springer-Verlag Telos. ISBN 3-540-66292-8.
- ↑ Gwillim Law (2005). "Island Groups of Kiribati". Statoids.
- ↑ "Treaty of Friendship Between the United States of America and the Republic of Kiribati". 1979.
- ↑ Falconer, Ron (2004). Together Alone. Australia: Bantam Books. ISBN 1-86325-428-5.
- ↑ Harris, Aimee (August 1999). "Date Line Politics". Honolulu Magazine. p. 20. สืบค้นเมื่อ 2006-06-10. Italic or bold markup not allowed in:
|publisher=
(help) - ↑ Kristof, Nicholas D. (March 23, 1997). "Tiny Island's Date-Line Jog in Race for Millennium". New York Times. สืบค้นเมื่อ 2006-06-10. Italic or bold markup not allowed in:
|publisher=
(help) - ↑ Letts, Quentin (January 25, 1996). "Pacific braces for millennium storm over matter of degrees". The Times. สืบค้นเมื่อ 2006-06-10. Italic or bold markup not allowed in:
|publisher=
(help) - ↑ 22.0 22.1 "2000 greeted with song, dance". Japan Times. Associated Press. January 1, 2000. Italic or bold markup not allowed in:
|publisher=
(help) - ↑ 23.0 23.1 "Millennium Island greets Y2K warmly". ClimateArk.org. Associated Press. December 30, 1999. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ February 13, 2005. สืบค้นเมื่อ 2006-06-11.
- ↑ "Islands of Kiribati". U.N. Earthwatch Islands Directory. สืบค้นเมื่อ 2006-06-11.
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
พิกัดภูมิศาสตร์: 9°56′13.13″S 150°12′41.40″W / 9.9369806°S 150.2115000°W
- Bennett, Frederick Debell (1970). Narrative of a Whaling Voyage Round the Globe From the Year 1833–1836. New York: Da Capo Press. ISBN 90-6072-037-7.
- Bryan, E. H. (1942). American Polynesia and the Hawaiian Chain. Honolulu: Tongg Publishing Company. (Text of "Caroline Island" chapter online at: "Caroline Island (Millennium Island), Line Islands, Republic of Kiribati". Jane's Oceania Home Page.)
- Falconer, Ron (2004). Together Alone. Australia: Bantam Books. ISBN 1-86325-428-5.
- Kepler, A. K.; Kepler, C. B. (February 1994). "The natural history of the Caroline Atoll, Southern Line Islands" (PDF). Atoll Research Bulletin. 397–398. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2009-09-18. Unknown parameter
|deadurl=
ignored (help) - Scott, D. A. (1993). A Directory of Wetlands in Oceania. Slimbridge, UK: International Waterfowl and Wetlands Research Bureau. ISBN 0-9505731-2-4. (Text of "Caroline Island" profile online at: "Caroline Atoll". Protected Areas and World Heritage Programme Profiles. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2008-02-10. Unknown parameter
|deadurl=
ignored (help))
ข้อมูลเพิ่มเติม[แก้]
![]() |
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: เกาะแคโรไลน์ |
- National Geographic - Southern Line Islands Expedition, 2014
- UNEP Protected Areas Program Profile at the Wayback Machine (archived February 13, 2008)
- Living Archipelagos Profile
- Oceandots: Caroline Island at the Wayback Machine (archived December 23, 2010)
- "High-resolution photo map of Caroline Island". คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2010-12-23. สืบค้นเมื่อ 2009-03-14. Unknown parameter
|deadurl=
ignored (help) - Millennium Celebrations on Millennium Island at Jane's Oceania Home Page
- An Astronomer's Voyage to Fairy-Land, from The Young Folks' Library, Volume XI, by Prof. E.S. Holden
- The Looking for Nemo Expedition, by Wayne and Karen Brown.