ลมค้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลมค้า (ลูกศรสีเหลืองและน้ำตาล) และลมตะวันตก (ลูกศรสีน้ำเงิน)

ลมค้า (อังกฤษ: trade wind หรือ อังกฤษ: easterlies) เป็นลมประจำปีที่พัดจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก เป็นลมที่พัดอยู่ทั่วไปในบริเวณศูนย์สูตรของโลก (ระหว่างละติจูด 30° เหนือ ถึง 30° ใต้) ลมค้าจะพัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือในซีกโลกเหนือ และพัดจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ในซีกโลกใต้ พัดแรงขึ้นในระหว่างฤดูหนาวและเมื่อความผันแปรของระบบอากาศในอาร์กติกอยู่ใน "วอร์มเฟส" (warm phase) ลมค้าเป็นลมที่ถูกใช้โดยกัปตันของเรือกำปั่น (Sailing ship) ในการล่องข้ามมหาสมุทรเป็นเวลานานหลายศตวรรษ และทำให้มีการขยายอาณานิคมเข้าสู่ทวีปอเมริกา และกลายมาเป็นเส้นทางการค้าที่ถูกจัดขึ้นในมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิก

ในทางอุตุนิยมวิทยา ลมค้าทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมการพัดสำหรับพายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดียใต้ ทำให้พายุเหล่านี้พัดขึ้นฝั่งในทวีปอเมริกาเหนือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาะมาดากัสการ์ และด้านตะวันออกของทวีปแอฟริกา ลมค้ายังลำเลียงฝุ่นทวีปแอฟริกาไปทางตะวันตก ข้ามมหาสมุทรแอแลนติกเข้าสู่ทะเลแคริบเบียนและบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกาเหนือด้วย เมฆคิวมูลัสตื้น (Shallow cumulus clouds) จะเห็นได้อยู่ภายในขอบเขตของลมค้า และจะมีการเจริญสูงขึ้นโดยความผกผันของลมค้า ซึ่งเกิดจากการตกลงของอากาศในชั้นที่สูงขึ้นไปภายในสันกึ่งเขตร้อน ยิ่งลมค้ามีกำลังอ่อนลง ก็จะยิ่งสามารถคาดหวังปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้นในพื้นที่ใกล้กันได้

ประวัติศาสตร์[แก้]

เรือใบขนาดใหญ่ของสเปน

คำว่า trade winds มีที่มาจากคำในภาษาอังกฤษสมัยกลางช่วงต้นศตวรรษที่สิบสี่ โดยคำว่า "trade" มีความหมายว่า "เส้นทาง" (path) หรือ "ลู่ทาง" (track)[1] ชาวโปรตุเกสตระหนักถึงความสำคัญของลมค้านี้มานานแล้ว (Volta do mar ในภาษาโปรตุเกสหมายถึง "การย้อนกลับแห่งทะเล" และ "การย้อนกลับจากทะเล") ซึ่งชาวโปรตุเกสใช้ลมนี้ในการนำทางทั้งในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือและใต้มาตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 15[2] จากทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา ชาวโปรตุเกสล่องเรือออกจากทวีปแอฟริกา โดยล่องไปทางทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ และสามารถเลี้ยวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ไปยังบริเวณรอบหมู่เกาะอะโซร์ส และจากนั้นจึงกลับเข้าสู่ทางตะวันออกของแผ่นดินยุโรปอีกครั้ง ชาวโปรตุเกสยังรู้อีกว่าการจะเดินทางไปยังทวีปแอฟริกาใต้นั้น จะต้องล่องเรือออกไปไกลในมหาสมุทร โดยมุ่งหน้าไปยังบราซิลและที่ประมาณ 30 องศาใต้จึงไปทางตะวันออกอีกครั้ง (ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากการไปยังชายฝั่งแอฟริกาใต้นั้นหมายถึงการล่องเรือทวนลมในซีกโลกใต้) ในมหาสมุทรแปซิฟิก มีการหมุนเวียนลมอย่างเต็มที่ ประกอบด้วย ทั้งลมค้าที่พัดจากทิศตะวันออก และลมละติจูดสูงที่พัดจากทิศตะวันตก โดยชาวยุโรปไม่รู้จักลมในมหาสมุทรแปซิฟิกนี้จนกระทั่งการเดินทางของอันเดรส เด อูร์ดาเนตาในปี ค.ศ. 1565[3]

กัปตันของเรือกำปั่นนั้นได้มองหาเส้นทางที่คาดว่าจะมีลมพัดไปในทิศทางที่ต้องการเดินทางได้[4] จนในระหว่างยุคแห่งการล่องเรือ รูปแบบของลมประจำปีทำให้จุดต่าง ๆ ของโลกนั้นมีการเข้าถึงได้ง่ายและยากต่างกันไป และส่งผลโดยตรงต่อการสร้างอาณาจักรของยุโรป และส่งผลมาจนถึงภูมิศาสตร์การเมืองในปัจจุบัน

แผนที่ลมค้าของเอ็ดมันด์ แฮลลีย์ ค.ศ. 1686

ในช่วงศตวรรษที่ 18 ความสำคัญของลมค้าต่อเรือเดินสมุทรของอังกฤษในการใช้ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ทำให้มีการระบุความหมายของคำว่า "trade" เสียใหม่ทั้งในประชาชนทั่วไปและหมู่นักนิรุกติศาสตร์ ว่า "การค้า (กับต่างประเทศ)" ((foreign) commerce)[5] ระหว่าง ค.ศ. 1847–1849 แมตทิว ฟอนเทน มอรี นักสมุทรศาสตร์และนักทำแผนที่ชาวอังกฤษ ได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อจัดทำแผนที่กระแสน้ำและกระแสลมของมหาสมุทรทั่วโลก[6]

สาเหตุ[แก้]

แผนที่สามมิติแสดงเซลล์แฮดลีย์ในความสัมพันธ์กับลมค้าบนพื้นผิว

ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเซลล์แฮดลีย์ อากาศพื้นผิวจึงไหลไปทางเส้นศูนย์สูตร ขณะที่การไหลสูงขึ้นไป (flow aloft) นั้นไหลไปทางขั้วโลก โดยมีบริเวณความกดอากาศต่ำที่มีลมสงบและแปรปรวนน้อยอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตรที่รู้จักกันในชื่อ โดลดรัม (doldrum)[7], ร่องใกล้เส้นศูนย์สูตร[8], หน้าปะทะในเขตร้อน หรือ ร่องความกดอากาศต่ำ[9] เมื่อตั้งอยู่ภายในเขตมรสุม เขตของความกดอากาศต่ำและการลู่เข้าของลมนี้ยังถูกเรียกว่า ร่องมรสุม อีกด้วย[10] ที่ประมาณ 30 องศาในทั้งสองซีกโลก อากาศจะเริ่มตกลงสู่พื้นผิวโลกในแถบความกดอากาศสูงกึ่งเขตร้อน (subtropical high-pressure belts) เรียกว่า สันกึ่งเขตร้อน (subtropical ridges) การจมตัวของอากาศจะสัมพัทธ์กับความแห้ง เนื่องจากเมื่ออากาศตกลง อุณหภูมิจะสูงขึ้น แต่ความชื้นจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งจะลดความชื้นสัมพัทธ์ของมวลอากาศลง อากาศอบอุ่นและแห้งนี้ เรียกว่า มวลอากาศสูงกว่า (superior air mass) และมักจะอยู่เหนือมวลอากาศเขตร้อนของทะเล (อบอุ่นและชื้น) การเพิ่มของอุณหภูมิที่ความสูงนั้นเรียกว่า การผกผันของอุณหภูมิ ดังนั้นหากเกิดขึ้นในเขตลมค้า จะเรียกว่า การผกผันของลมค้า (trade wind inversion)[11]

อากาศพื้นผิวที่ไหลจากแถบความกดอากาศสูงกึ่งเขตร้อนเหล่านี้ไปยังเส้นศูนย์สูตร จะถูกเบนไปทางทิศตะวันตกในทั้งสองซีกโลกจากผลกระทบของแรงคอริออลิส[12] ลมเหล่านี้จะพัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือในซีกโลกเหนือ และจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ในซีกโลกใต้[13] และเนื่องจากลมจะได้รับการตั้งชื่อตามทิศทางที่มันพัด[14] ลมเหล่านี้ในซีกโลกเหนือจึงถูกเรียกว่า ลมค้าตะวันออกเฉียงเหนือ (northeasterly trade winds) และในซีกโลกใต้เรียกว่า ลมค้าตะวันออกเฉียงใต้ (southeasterly trade winds) โดยลมค้าในทั้งสองซีกโลกจะมาพบกันที่ร่องความกดอากาศต่ำ[7]

ขณะที่ลมค้าพัดผ่านเขตร้อน มวลอากาศจะร้อนขึ้นในละติจูดที่ต่ำลง เนื่องจากการมีแสงแดดส่องโดยตรง ลมค้าที่พัดอยู่บนบก (แผ่นดินใหญ่) จะแห้งและร้อนกว่าลมค้าที่พัดอยู่ในมหาสมุทร และลมที่พัดไปทางเหนือบนขอบตะวันตกของสันกึ่งเขตร้อน[15] มวลอากาศเหนือทะเลเขตร้อนในบางครั้งถูกเรียกว่าเป็นมวลอากาศค้า (trade air masses) ด้วย[16] ภูมิภาคเดียวของโลกที่ไม่มีลมค้าคือในมหาสมุทรอินเดียเหนือ[17]

ผลกระทบกับลมฟ้าอากาศ[แก้]

เมฆซึ่งก่อตัวเหนือภูมิภาคที่อยู่ภายในลมค้า โดยทั่วไปแล้วจะประกอบด้วยเมฆคิวมูลัสความสูงไม่เกิน 4 กิโลเมตร (13,000 ฟุต) ส่วนยอดที่สูงขึ้นเกิดจากความผกผันของลมค้า[18] ลมค้ามีจุดเริ่มต้นมาจากทิศทางของขั้วโลก (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือในซีกโลกเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ในซีกโลกใต้) ในช่วงฤดูหนาว และมีกำลังแรงในช่วงฤดูหนาวมากกว่าฤดูร้อน[19] ตัวอย่างเช่น ฤดูลมแรงของประเทศกายอานา ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ในละติจูดต่ำในทวีปอเมริกาใต้ จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน[20] เมื่อเฟสของความผิดปกติของอากาศในอาร์กติก (AO) เป็น "warm phase" ลมค้าในเขตร้อนจะมีกำลังแรงขึ้น ขณะที่ "cold phase" ของ AO จะทำให้ลมค้ามีกำลังอ่อนลง ทำให้มีพื้นที่ฝนตกมากขึ้นอย่างกว้างขวางบนแผ่นดินที่อยู่ภายในเขตร้อน เช่น อเมริกากลาง[21]

ในช่วงกลางฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ (เดือนกรกฎาคม) ลมค้าที่เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกทางใต้ของสันกึ่งเขตร้อนที่เคลื่อนตัวไปทางเหนือจากทะเลแคริบเบียนเข้าสู่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปอเมริกาเหนือ (รัฐฟลอริดาและชายฝั่งด้านอ่าว) เมื่อฝุ่นจากทะเลทรายสะฮาราที่เคลื่อนที่อยู่เข้าใกล้กับทางใต้รอบนอกของสันบนแผ่นดิน จะทำให้ฝนไม่ตกและท้องฟ้าจะเปลี่ยนสีจากสีน้ำเงินเป็นสีขาว ทำให้สีของดวงอาทิตย์ขณะตกเป็นสีแดง ลักษณะแบบนี้ส่งผลเสียต่อคุณภาพอากาศ เนื่องจากมีการเพิ่มจำนวนขึ้นของอนุภาคในอากาศ[22] แม้ว่าภาคตะวันออกของสหรัฐในทวีปอเมริกาเหนือจะมีอากาศที่บริสุทธิ์บ้าง แต่ฝุ่นจากแอฟริกาส่วนมากจะส่งผลกระทบกับรัฐฟลอริดา[23] นับแต่ปี ค.ศ. 1970 การระบาดของฝุ่นละอองนั้นรุนแรงขึ้นเนื่องจากช่วงแห้งแล้งในแอฟริกา[24]

ลมค้าเป็นลมที่พัดออกจากบริเวณความกดอากาศสูงกึ่งโซนร้อนไปยังบริเวณความกดอากาศต่ำที่เส้นศูนย์สูตร ในซีกโลกเหนือจะพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนในซีกโลกใต้จะพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็วประมาณ 16-24 กิโลเมตร/ชั่วโมง เนื่องจากลมค้านี้พัดสม่ำเสมอ มีกำลังแรงปานกลาง และมีทิศทางที่แน่นอน จึงมีประโยชน์ต่อการเดินเรือเป็นอย่างมาก ลมค้าตะวันออกเฉียงใต้ช่วยพัดพากระแสน้ำอุ่นจากฝั่งแปซิฟิกตะวันออกไปยังฝั่งแปซิฟิกตะวันตก ทำให้บริเวณฝั่งตะวันตก (อินโดนีเซีย, ออสเตรเลีย) มีความชุ่มชื้นและฝนตกชุก ในขณะที่ฝั่งตะวันออก (เปรู, ชิลี) ทำให้มีสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์

อ้างอิง[แก้]

  1. Carol G. Braham; Enid Pearsons; Deborah M. Posner; Georgia S. Maas & Richard Goodman (2001). Random House Webster's College Dictionary (second ed.). Random House. p. 1385. ISBN 978-0-375-42560-8.
  2. Hermann R. Muelder (2007). Years of This Land - A Geographical History of the United States. Read Books. p. 38. ISBN 978-1-4067-7740-6. สืบค้นเมื่อ 2009-11-09.
  3. Derek Hayes (2001). Historical atlas of the North Pacific Ocean: maps of discovery and scientific exploration, 1500–2000. Douglas & McIntyre. p. 18. ISBN 978-1-55054-865-5.
  4. Cyrus Cornelius Adams (1904). A text-book of commercial geography. D. Appleton and company. p. 19.
  5. Oxford English Dictionary (2 ed.). p. 225.
  6. Derek Hayes (2001). Historical atlas of the North Pacific Ocean: maps of discovery and scientific exploration, 1500-2000. Douglas & McIntyre. p. 152. ISBN 978-1-55054-865-5. สืบค้นเมื่อ 2009-11-08.
  7. 7.0 7.1 Sverre Petterssen (1941). Introduction to Meteorology. Mcgraw-Hill Book Company, Inc. p. 110. ISBN 978-1-4437-2300-8.
  8. Glossary of Meteorology (June 2000). "Doldrums". American Meteorological Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-25. สืบค้นเมื่อ 2009-11-09.
  9. Glossary of Meteorology (June 2000). "Intertropical Convergence Zone". American Meteorological Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-02. สืบค้นเมื่อ 2009-11-09.
  10. Glossary of Meteorology (June 2000). "Monsoon Trough". American Meteorological Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-17. สืบค้นเมื่อ 2009-11-09.
  11. Glossary of Meteorology (June 2000). "Superior air". American Meteorological Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-06. สืบค้นเมื่อ 2009-10-28.
  12. Glossary of Meteorology (2009). "trade winds". Glossary of Meteorology. American Meteorological Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-11. สืบค้นเมื่อ 2008-09-08.
  13. Ralph Stockman Tarr; Frank Morton McMurry; Almon Ernest Parkins (1909). Advanced geography. State Printing. p. 246.
  14. JetStream (2008). "How to read weather maps". National Weather Service. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-05. สืบค้นเมื่อ 2007-05-16.
  15. Glossary of Meteorology (June 2000). "Tropical air". American Meteorological Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-06. สืบค้นเมื่อ 2009-10-28.
  16. Glossary of Meteorology (June 2000). "Trade air". American Meteorological Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-06. สืบค้นเมื่อ 2009-10-28.
  17. John E. Oliver (2005). Encyclopedia of world climatology. Springer. p. 128. ISBN 978-1-4020-3264-6.
  18. Bob Rauber (2009-05-22). "Research-The Rain in Cumulus over the Ocean Campaign". สืบค้นเมื่อ 2009-11-08.
  19. James P. Terry (2007). Tropical cyclones: climatology and impacts in the South Pacific. Springer. p. 8. ISBN 978-0-387-71542-1.
  20. G. E. Pieter & F. Augustinus (2004). "The influence of the trade winds on the coastal development of the Guianas at various scale levels: a synthesis". Marine Geology. 208 (2–4): 145–151. Bibcode:2004MGeol.208..145A. doi:10.1016/j.margeo.2004.04.007. hdl:1874/12170.
  21. John E. Oliver (2005). Encyclopedia of world climatology. Springer. p. 185. ISBN 978-1-4020-3264-6.
  22. Science Daily (1999-07-14). African Dust Called A Major Factor Affecting Southeast U.S. Air Quality. Retrieved on 2007-06-10.
  23. Science Daily (2001-06-15). Microbes And The Dust They Ride In On Pose Potential Health Risks. Retrieved on 2007-06-10.
  24. Usinfo.state.gov (2003). Study Says African Dust Affects Climate in U.S., Caribbean. เก็บถาวร 2007-06-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Retrieved on 2007-06-10.