ฮิปพอคราทีส
ฮิปพอคราทีสแห่งคอส | |
---|---|
![]() ภาพแกะโดยเปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์ ปี ค.ศ. 1638[1] | |
เกิด | ประมาณ 460 ปีก่อนคริสตกาล คอส กรีซโบราณ |
เสียชีวิต | ประมาณ 370 ปีก่อนคริสตกาล ลาริซซา กรีซโบราณ |
อาชีพ | แพทย์ |
ฮิปพอคราทีส (อังกฤษ: Hippocrates; กรีก: Ἱπποκράτης; Hippokrátēs; ราว 460–370 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นแพทย์ชาวกรีกโบราณ ได้ชื่อว่าเป็น "บิดาแห่งการแพทย์ตะวันตก"[2][3][4] และต้นตอของ "คำสัตย์สาบานฮิปพอคราทีส (Hippocrates oath) ในจรรยาบรรณแพทย์ เกิดที่เกาะโคส ประเทศกรีซ
ฮิปพอคราทีสได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูงในวงการแพทย์รุ่นโบราณว่าเป็นผู้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับวิชาการแพทย์ไว้มากกว่า 70 ชิ้นงาน โดยเฉพาะเรื่อง "ฮิปพอคราทีสคอร์ปัส" (Hippogrates corpus) แต่ในภายหลังก็เป็นที่ทราบกันว่าใน 70 เรื่องนี้มีไม่กี่ชิ้นที่เขียนโดยฮิปพอคราทีสเอง แต่เชื่อว่าชิ้นงานทั้งหลายดังกล่าวเกิดจากการสะสมตำราและเอกสารในห้องสมุดของโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งในสมัยนั้นซึ่งได้มาจากหลายแหล่ง เขียนโดยหลายคนที่มีความเห็นต่าง ๆ กัน แต่นำมารวมผิด ๆ ถูก ๆ ภายใต้ชื่อฮิปพอคราทีส
ฮิปพอคราทีสได้ทำคุณประโยชน์ทางการแพทย์ไว้อย่างใหญ่หลวงโดยการรักษาคนไข้อย่างมีแบบแผน ผิดกับแพทย์ทั่วไปในสมัยนั้นที่ตั้งตนเป็นผู้มีคาถาอาคมเป็นผู้วิเศษที่เชื่อว่าการเจ็บป่วยเป็นการถูกลงโทษโดยพระเจ้าต้องรักษาด้วยพิธีกรรม แต่ฮิปพอคราทีสกลับเห็นว่าเกิดจากสาเหตุทางธรรมชาติ[5][6] ฮิปพอคราทีสเป็นคนแรกที่ทำระเบียนบันทึกอาการและประวัติของคนไข้ วางกฎเกณฑ์วิธีการปฏิบัติตนของแพทย์กับคนไข้ ซึ่งยังคงถือปฏิบัติกันอยู่ถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ดีความสำเร็จของผู้เขียนรวมนิพนธ์ฮิปพอคราทีส ผู้ปฏิบัติวิชาแพทย์แบบฮิปพอคราทีส และผลงานของฮิปพอคราทีสเองถูกหลอมรวมกันไปอย่างแยกไม่ออก ทำให้มีข้อมูลตกทอดมาถึงปัจจุบันน้อยมากว่าสิ่งใดกันแน่ที่ฮิปพอคราทีสเป็นผู้คิด เขียน และทำจริง ๆ แม้กระนั้นฮิปพอคราทีสก็ได้รับการยกย่องเป็นแบบอย่างของการแพทย์ในยุคโบราณ โดยเฉพาะการเป็นผู้ทำให้เกิดความก้าวหน้าอย่างมากในการศึกษาวิชาแพทย์ทางคลินิกอย่างเป็นระบบ รวบรวมวิชาแพทย์ของคำสอนการแพทย์ในอดีตเอาไว้ และสั่งสอนเวชปฏิบัติแก่แพทย์ผ่านคำปฏิญาณฮิปพอคราทีส รวมนิพนธ์ และงานชิ้นอื่น ๆ[5][7]
คำสัตย์สาบานฮิปพอคราทีส[แก้]
โดยย่อคือ ณ ที่ใดก็ตามที่ข้าพเจ้าไป ข้าพเจ้าจะทำก็เพื่อประโยชน์ของคนไข้เท่านั้น ข้าพเจ้าจะไม่ทำให้เกิดความผิดพลาดใด ๆ และสิ่งที่ข้าพเจ้าได้ยินได้ฟังระหว่างการรักษาคนไข้ ข้าพเจ้าจะไม่นำไปเปิดเผยต่อบุคคลที่สาม นอกจากนี้ยังวลีคำคมในการรักษาโรคเชื่อว่าเป็นของฮิปพอคราทีสคือ "โรคที่สิ้นหวังแล้วก็ต้องรักษาด้วยวิธีสิ้นหวัง"
อ้างอิง[แก้]
- ↑ National Library of Medicine 2006
- ↑ Useful known and unknown views of the father of modern medicine, Hippocrates and his teacher Democritus., U.S. National Library of Medicine
- ↑ Hippocrates, Microsoft Encarta Online Encyclopedia 2006. Microsoft Corporation. Archived 2009-10-31.
- ↑ Strong, W.F.; Cook, John A. (July 2007), "Reviving the Dead Greek Guys", Global Media Journal, Indian Edition, ISSN: 1550-7521
- ↑ 5.0 5.1 Garrison 1966, p. 92–93
- ↑ Nuland 1988, p. 5
- ↑ Garrison 1966, p. 96
บรรณานุกรม[แก้]
- Garrison, Fielding H. (1966), History of Medicine, Philadelphia: W.B. Saunders Company
- National Library of Medicine (2006), Images from the History of Medicine, National Institutes of Health, สืบค้นเมื่อ December 17, 2006
- Nuland, Sherwin B. (1988), Doctors, Knopf, ISBN 0394551303