ข้ามไปเนื้อหา

การเห็นภาพซ้อน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อาการเห็นภาพซ้อน)
การเห็นภาพซ้อน
ภาพซ้อนที่คนไข้เห็น
สาขาวิชาประสาทวิทยา, จักษุวิทยา

การเห็นภาพซ้อน หรือ การเห็นซ้อนสอง[1] (อังกฤษ: Diplopia, double vision) เป็นการเห็นภาพสองภาพของวัตถุเดียวกัน ที่อาจซ้อนกันตามแนวนอน แนวตั้ง แนวเฉียง หรือแนวหมุน[2] และปกติเป็นผลของความพิการของกล้ามเนื้อตา (extraocular muscles, EOMs) คือตาทั้งสองทำงานได้ดีแต่ไม่สามารถหันไปที่เป้าหมายได้อย่างถูกต้อง[3] โดยกล้ามเนื้อตาอาจมีปัญหาทางกายภาพ มีโรคที่แผ่นเชื่อมประสาทสั่งการและกล้ามเนื้อ (neuromuscular junction) มีโรคที่เส้นประสาทสมอง (เส้น 3, 4, และ 6) ที่สั่งการกล้ามเนื้อ และเป็นบางครั้ง มีปัญหาเกี่ยวกับวิถีประสาท supranuclear oculomotor หรือการบริโภคสิ่งที่เป็นพิษ[4]

การเห็นภาพซ้อนอาจเป็นอาการปรากฏแรก ๆ ของโรคทั่วร่างกาย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อและประสาท[5] และอาจทำการทรงตัวของร่างกาย การเคลื่อนไหว และการอ่านหนังสือ ให้พิการ[3][6]

แบบต่าง ๆ

[แก้]

ขั้นแรกในการวินิจฉัยอาการนี้ บ่อยครั้งก็เพื่อกำจัดประเภทใดประเภทหนึ่งจากสองประเภท (ซึ่งคนไข้อาจมีทั้งสอง) โดยปิดตาทีละข้างเพื่อตรวจดูว่า แต่ละข้างมีอาการอะไรเดี่ยว ๆ บ้าง[7]

เห็นด้วยสองตา

[แก้]

การเห็นภาพซ้อนด้วยสองตาเป็นผลของตาเหล่ คือตาซึ่งไม่มองไปที่เดียวกันไม่ว่าจะเป็นแบบเหล่เข้า (esotropia) หรือเหล่ออก (exotropia) คือ ในขณะที่รอยบุ๋ม (fovea) ของตาข้างหนึ่งจ้องดูที่วัตถุเป้าหมาย รอยบุ๋มอีกข้างหนึ่งกลับเล็งไปที่อื่น ๆ ดังนั้น ภาพจากวัตถุเป้าหมายจึงตกลงที่บริเวณจอตานอกรอยบุ๋ม

สมองจะคำนวณทิศทางของวัตถุ (visual direction) ขึ้นอยู่กับตำแหน่งจอตาที่ภาพตกลงเทียบกับรอยบุ๋ม ภาพที่ตกลงที่รอยบุ๋มจะมองว่าอยู่ข้างหน้าตรง ๆ ในขณะที่ภาพซึ่งตกลงนอกรอยบุ๋มจะมองว่าอยู่ไปทางด้านบน ด้านล่าง ด้านขวา หรือด้านซ้าย ขึ้นอยู่กับบริเวณจอภาพที่ได้รับภาพ ดังนั้น เมื่อตามองไม่ตรง สมองจะเห็นภาพสองภาพของวัตถุเดียว เพราะวัตถุมีภาพตกลงที่บริเวณจอตาที่ไม่ลงรอยและต่างกันของจอตาทั้งสอง แล้วจึงมีผลเป็นการเห็นภาพซ้อน

สหสัมพันธ์ของบริเวณต่าง ๆ โดยเฉพาะในจอตาข้างหนึ่ง กับบริเวณเดียวกันของตาอีกข้างหนึ่ง เรียกว่า ความสอดคล้องกันของจอตา (retinal correspondence) แต่ความสัมพันธ์นี้ก็เป็นเหตุต่ออาการที่เกี่ยวข้องกันคือการเห็นภาพซ้อนด้วยตาทั้งสอง (binocular diplopia) โดยปกติแล้ว เพราะภาพจากรอยบุ๋มจอตาข้างหนึ่งจะสอดคล้องกับของตาอีกข้างหนึ่ง สมองจึงแสดงภาพที่ตกลงที่รอยบุ๋มว่าอยู่ในตำแหน่งเดียวกันในปริภูมิ ดังนั้น เมื่อตามองไม่ตรง วัตถุที่ต่างกัน (ซึ่งจริง ๆ อยู่ในตำแหน่งต่างกัน) จึงสามารถเห็นได้ว่าอยู่ในที่เดียวกัน เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การเห็นสับสน (visual confusion)

ทั่วไปแล้ว สมองจะป้องกันไม่เห็นภาพซ้อน สมองบางครั้งอาจไม่สนใจภาพที่มาจากตาข้างหนึ่ง เป็นกระบวนการที่เรียกว่า suppression (การระงับ) สมรรถภาพในการระงับมักจะพบโดยเฉพาะในวัยเด็กที่สมองยังกำลังพัฒนาอยู่ ดังนั้น เด็กตาเหล่เกือบทั้งหมดจะไม่บ่นถึงการเห็นภาพซ้อน เทียบกับผู้ใหญ่ตาเหล่ที่เกือบทั้งหมดจะรายงานว่ามีอาการ

แม้ความสามารถเช่นนี้ดูเหมือนจะดีกับการปรับตัวให้เข้ากับตาเหล่ในเด็ก แต่จริง ๆ นี่จะกันตาที่มีปัญหาไม่ให้พัฒนาได้อย่างถูกต้องแล้วเป็นผลให้เกิดตามัว ผู้ใหญ่บางคนก็สามารถระงับการเห็นภาพซ้อนได้ด้วย แต่จะไม่เท่ากับเด็กและใช้เวลานานกว่าก่อนจะทำได้ และดังนั้น จึงไม่เสี่ยงต่อความพิการทางการเห็นอย่างถาวรเท่ากับเด็ก

การเห็นภาพซ้อนในบางกรณีจะหายไปเองโดยไม่ต้องรักษา แต่ในกรณีอื่น ๆ เหตุที่ทำให้เห็นภาพซ้อนจะคงอยู่

คนไข้บางคนที่เห็นภาพซ้อน คือไม่เห็นเป็นภาพเดียวด้วยสองตาโดยไม่ระงับภาพที่มาจากตาอีกข้างหนึ่ง อาจขยับตาแบบกระตุก ๆ ที่ไม่ปกติใกล้จุดที่ตรึงตา (เช่นในคนไข้ Horror fusionis)

เห็นด้วยตาข้างเดียว

[แก้]

การเห็นภาพซ้อนยังสามารถเกิดเมื่อมองด้วยตาข้างเดียว ซึ่งเรียกว่า การเห็นภาพซ้อนด้วยตาข้างเดียว (monocular diplopia) หรือถ้าคนไข้เห็นมากกว่าสองภาพก็อาจเรียกว่า การเห็นภาพหลายภาพด้วยตาข้างเดียว (monocular polyopia) แม้จะมีโอกาสบ้างว่า อาการจะมีเหตุที่ร้ายแรง แต่ก็ยังมีโอกาสน้อยกว่าการเห็นภาพซ้อนด้วยตาสองข้าง[7] การวินิจฉัยแยกแยะของการเห็นภาพหลายภาพรวมทั้งกระจกตารูปกรวย (keratoconus) เลนส์ตาที่ไม่สามารถปรับได้เต็มที่ (subluxation of the lens) ความผิดปกติทางโครงสร้างของตา รอยโรคในเปลือกสมองส่วนการเห็นด้านหน้า หรือโรคอื่น ๆ (non-organic conditions) แต่แบบจำลองนำแสงแบบเลี้ยวเบน (diffraction-based) ก็แสดงว่า ความผิดปกติในการนำแสงต่าง ๆ โดยเฉพาะสายตาเอียง ก็ทำให้เกิดอาการนี้ได้ด้วย[8]

เป็นชั่วคราว

[แก้]

การเห็นภาพซ้อนด้วยสองตาแบบชั่วคราวอาจเกิดเพราะเมาเหล้า หรือเพราะความบาดเจ็บต่อศีรษะเช่นการกระทบกระเทือน ดังนั้น ถ้าการเห็นเป็นภาพซ้อนไม่หายเร็ว คนไข้ควรจะหาจักษุแพทย์ให้เร็วที่สุด การเห็นภาพซ้อนด้วยสองตาแบบชั่วคราวยังอาจเป็นผลข้างเคียงของเบ็นโซไดอาเซพีน หรือสารโอปิออยด์ โดยเฉพาะถ้าใช้ในขนาดเกินกว่าเพื่อรักษา นอกจากนั้น ยังเป็นผลของยากันชักเฟนิโทอิน Zonisamide หรือ Lamotrigine, ยานอนหลับ Zolpidem, ยาระงับความรู้สึกแบบดิสโซซิเอตีฟคีตามีน, และยาแก้ไอ Dextromethorphan การเห็นภาพซ้อนชั่วคราวอาจมีเหตุจากความเหนื่อย กล้ามเนื้อตาล้า หรือตั้งใจทำให้เกิด ถ้าการเห็นภาพซ้อนปรากฏพร้อมกับอาการอื่น ๆ เช่น ความล้า หรือความเจ็บปวดไม่ว่าจะเป็นแบบฉับพลันหรือเรื้อรัง คนไข้ควรจะหาจักษุแพทย์ให้เร็วที่สุด

การตั้งใจทำให้เกิด

[แก้]

คนบางคนสามารถแยกการทำงานของตาออกได้โดยตั้งใจ ไม่ว่าจะโดยมองอะไรที่ใกล้ ๆ (ทำให้ตาเหล่เข้า) หรือโดยปล่อยตาไม่ตรึงตาที่อะไร นอกจากนั้นแล้ว การมองวัตถุที่อยู่หลังอีกวัตถุหนึ่ง วัตถุหน้าสุดจะเห็นเป็นภาพซ้อน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อยกนิ้วขึ้นข้างหน้าขณะที่อ่านข้อความจากจอภาพคอมพิวเตอร์ ในกรณีเหล่านี้ การเห็นภาพซ้อนจึงไม่มีอันตราย และอาจทำให้สนุก การปล่อยตาเช่นนี้ จะทำให้เห็นภาพ 3 มิติอย่างเช่น ออโตสเตอริโอแกรมได้[9]

คนหลายคนที่เห็นปกติสามารถเห็นภาพซ้อนด้วยตาข้างเดียวอย่างตั้งใจได้ เช่นที่ทำในการทดลองแบบไม่ให้ตรึงตาและใช้ภาพเส้นที่มีความเปรียบต่างต่าง ๆ กันมาก[8]

เหตุ

[แก้]

การเห็นภาพซ้อนมีเหตุหลายหลากที่เกี่ยวกับตา การติดเชื้อ ภูมิต้านตนเอง ประสาท และเนื้องอก

การรักษา

[แก้]

วิธีการรักษาการเห็นภาพซ้อนด้วยสองตาจะขึ้นอยู่กับเหตุ แพทย์ก่อนอื่นจะต้องพยายามกำหนดและรักษาเหตุของอาการ การรักษาอาจรวมการฝึกตา[3] การปิดตาด้วยผ้า[3] การใส่แว่นปริซึม[12] และในกรณีที่รุนแรง การผ่าตัด[6] หรือการฉีดโบทูลินั่ม ท็อกซินเพื่อแก้ปัญหากล้ามเนื้อตา[13]

ถ้ารักษาไม่ได้ อาจจะใช้วิธีสุดท้ายเป็นการบังลานสายตาบางส่วนของคนไข้

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. Diplopia - (แพทยศาสตร์) การเห็นซ้อนสอง, การเห็นภาพซ้อน. ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (Computer file). 1.1. ราชบัณฑิตยสถาน. 2545.
  2. Barbara Cassin; Melvin L. Rubin (30 September 2011). Dictionary of Eye Terminology (6 ed.). Gainesville, Florida: Triad Publishing. ISBN 978-0937404737.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 O'Sullivan, S.B; Schmitz, T.J. (2007). Physical Rehabilitation. Philadelphia, PA: Davis.
  4. Blumenfeld, Hal (2010). Neuroanatomy through Clinical Cases. Sunderland, MA: Sinauer.
  5. Rucker, JC. (2007). "Oculomotor disorders". Semin Neurol. 27 (3): 244–56. doi:10.1055/s-2007-979682. PMID 17577866.
  6. 6.0 6.1 Kernich, C.A. (2006). "Diplopia". The Neurologist. 12 (4): 229–230. doi:10.1097/01.nrl.0000231927.93645.34. PMID 16832242.
  7. 7.0 7.1 Karmel, Miriam (November 2009), "Deciphering Diplopia", EyeNet, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-12-08, สืบค้นเมื่อ 2017-12-15
  8. 8.0 8.1 Archer, Steven M (MD) (December 2007), "Monocular Diplopia Due To Spherocylindrical Refractive Errors", Trans Am Ophthalmol Soc., 105: 252–271, PMC 2258122, PMID 18427616
  9. "Instructions on how to view stereograms such as magic eye".
  10. Fraunfelder, FW; Fraunfelder, FT (September 2009). "Diplopia and fluoroquinolones". Ophthalmology. 116 (9): 1814–7. doi:10.1016/j.ophtha.2009.06.027. PMID 19643481.
  11. Brady, Christopher J (MD). "Diplopia". Merck Manual. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 November 2017. สืบค้นเมื่อ 15 December 2017.
  12. Phillips, PH (2007). "Treatment of diplopia". Semin Neurol. 27 (3): 288–98. doi:10.1055/s-2007-979680. PMID 17577869.
  13. Taub, M.B. (2008). "Botulinum toxin represents a new approach to managing diplopia cases that do not resolve". Journal of the American Optometric Association. 79 (4): 174–175. doi:10.1016/j.optm.2008.01.003.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]