การเห็นเป็นภาพเดียวด้วยสองตา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การเห็นเป็นภาพเดียวด้วยสองตา โดยเส้น/ผิว horopter หมายถึงเส้น/ผิวที่จุดต่าง ๆ ทั้งหมดที่อยู่บนเส้น/ผิวจะมองเห็นเป็นจุดเดียวด้วยตาทั้งสองเมื่อไม่ขยับ[1]

ในสาขาชีววิทยา การเห็นเป็นภาพเดียวด้วยสองตา[2] (อังกฤษ: binocular vision) หมายถึงการเห็นด้วยสองตาที่สัตว์สามารถรับรู้ภาพ 3 มิติเป็นภาพเดียวจากสิ่งแวดล้อม นักประสาทวิทยาคนหนึ่งได้กำหนดข้อดี 6 ประการในการมีสองตาเทียบกับตาเดียว คือ[3]

  1. มีตาสำรองในกรณีที่ข้างหนึ่งเสียหาย
  2. มีขอบเขตการเห็น/ภาพที่กว้างกว่า ยกตัวอย่างเช่น มนุษย์มีขอบเขตการเห็นในแนวนอนประมาณ 190 องศาด้วยสองตา โดยประมาณ 120 องศาจะเป็นส่วนที่เห็นด้วยทั้งสองตา และ 40 องศาที่อยู่ข้าง ๆ และเห็นด้วยตาข้างเดียว[4]
  3. ทำให้เห็นเป็น 3 มิติ (stereopsis) เพราะการเห็นไม่เหมือนกันของตาทั้งสองข้าง (binocular disparity) เนื่องจากมีตำแหน่งที่ต่างกันบนศีรษะ จึงทำให้สามารถรู้ใกล้ไกลได้ ซึ่งทำให้สัตว์สามารถมองเห็นผ่านการพรางตัวของสัตว์อื่น ๆ ได้
  4. ทำให้สามารถกำหนดมุมบรรจบของเส้นหรือแนวสายตาของตาทั้งสองโดยขึ้นอยู่กับการเบนตา จากภาพที่ตกลงบนจอตาทั้งสอง[5] ซึ่งจำเป็นเพื่อให้ได้ข้อดีที่ 3
  5. ทำให้สามารถเห็นวัตถุที่อยู่ข้างหลังสิ่งที่บัง เลโอนาร์โด ดา วินชีได้กล่าวถึงข้อดีนี้ไว้ว่า เสา/แถบแนวตั้งที่อยู่ใกล้ตามากกว่าวัตถุที่ต้องการมอง อาจจะบังวัตถุนั้นที่ตาซ้ายแต่อาจเห็นได้ด้วยตาขวา
  6. ทำให้สมองสามารถรวมข้อมูลจากตาซ้ายขวา (binocular summation) และช่วยให้เห็นวัตถุที่ลาง ๆ ได้ดีขึ้น[6]

ปรากฏการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการมองด้วยสองตาอื่น ๆ รวมทั้งการบอกได้ว่า แสงมากระทบข้างไหนของตา (utrocular discrimination)[7], ความถนัดในการเล็งมองด้วยตาข้างใดข้างหนึ่งโดยเฉพาะ แม้ตาจะเปิดทั้งคู่ (ocular dominance)[8], การกำหนดทิศของวัตถุโดยอาศัยข้อมูลเฉลี่ยจากตาทั้งสอง (allelotropia)[9], การรวมภาพจากสองตาโดยเห็นเป็นภาพเดียวแม้แต่ละข้างจะเห็นต่างกัน[10] และการแข่งขันระหว่างสองตา คือการเห็นสลับกันระหว่างตาซ้ายขวา ถ้าภาพที่มาจากตาทั้งสองต่างกันจนไม่สามารถรวมเป็นภาพเดียวกันได้[11]

การเห็นด้วยสองตาช่วยให้ทำกิจกรรมได้ดีขึ้นรวมทั้งการจับ การจับวัตถุที่โยน และการวิ่งเดิน[12] ทำให้สามารถเดินเข้าไปหาแล้วหลีกเลี่ยงอุปสรรคได้เร็วขึ้นอย่างมั่นใจ[13] จักษุแพทย์จะเป็นผู้ชำนาญเฉพาะทางเพื่อแก้ปัญหาการมองเห็นด้วยสองตา

ประวัติคำภาษาอังกฤษ[แก้]

คำภาษาอังกฤษว่า binocular มาจากรากศัพท์ภาษาละตินสองคำ คือ bini แปลว่า คู่ และ oculus แปลว่า ตา[14]

ขอบเขตการเห็นและการขยับตา[แก้]

ขอบเขตการเห็นของนกพิราบ (ซ้าย) เทียบกับของนกเค้า (ขวา)

สัตว์บางชนิด ซึ่งปกติจะเป็นสัตว์ถูกล่าแต่ไม่เสมอไป จะมีตาอยู่ทางข้างทั้งสองของศีรษะเพื่อให้มีขอบเขตการเห็นกว้างที่สุด สัตว์ตัวอย่างรวมทั้งกระต่าย ควาย และแอนทิโลปเป็นต้น ในสัตว์เหล่านี้ ตาบ่อยครั้งจะสามารถขยับได้อย่างเป็นอิสระเพื่อเพิ่มขอบเขตการเห็น นกบางชนิดสามารถมองเห็นได้รอบตัวถึง 360 องศาแม้จะไม่ขยับตาเลย

สัตว์บางชนิด ซึ่งปกติจะเป็นสัตว์ล่าเหยื่อแต่ไม่เสมอไป จะมีตาอยู่ด้านหน้าของศีรษะ ทำให้สามารถมองเห็นเป็นภาพเดียวด้วยสองตา ซึ่งลดขอบเขตการเห็นโดยแลกกับการเห็นเป็น 3 มิติ ถึงกระนั้น ตาที่อยู่ด้านหน้าก็เป็นลักษณะสืบสายพันธุ์ที่ได้วิวัฒนาการมาอย่างพิเศษ ดังนั้น จึงมีกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลังเพียง 3 กลุ่มที่ยังมีชีวิตอยู่และมีตาที่จัดว่าส่องไปข้างหน้าจริง ๆ รวมทั้งไพรเมต (รวมมนุษย์) สัตว์กินเนื้อ และนกล่าเหยื่อ (รวมทั้งนกอินทรีและเหยี่ยว)

มีสัตว์ล่าเหยื่อบางชนิด โดยเฉพาะที่ตัวใหญ่ เช่นวาฬสเปิร์มและวาฬเพชฌฆาต ซึ่งมีตาอยู่ที่ข้างทั้งสองของศีรษะ แต่ก็ยังเป็นไปได้ว่า พวกมันก็มีเขตลานสายตาที่เห็นด้วยตาทั้งสองเช่นกัน[15] นอกจากนั้น สัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์ล่าเหยื่อ รวมทั้งค้างคาวผลไม้และไพรเมตจำนวนหนึ่ง ก็มีตาส่องไปทางด้านหน้าด้วย สัตว์เหล่านี้มักจำเป็นต้องรู้ใกล้ไกลเป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น การมองเห็นเป็นภาพเดียวด้วยสองตาจะทำให้สามารถจับผลไม้ที่ต้องการ หรือมองหาและจับกิ่งไม้ได้ดีขึ้น

ทิศทางหรือมุมมองของจุด ๆ หนึ่งในปริภูมิเทียบกับแนวมองตรงไปข้างหน้าจากตรงกลางศีรษะ เรียกตามภาษาอังกฤษว่า visual direction หรือ version ส่วนมุมของแนวมองของตาทั้งสองซึ่งบรรจบอยู่ที่จุดตรึงตาข้างหน้าเรียกว่า absolute disparity, binocular parallax, vergence demand หรือแค่ vergence ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร 3 อย่างคือตำแหน่งของตาทั้งสอง version และ vergence จะกำหนดโดยกฎ Hering's law of visual direction

นกกระเรียนมงกุฎเทาเป็นสัตว์ที่มีตาอยู่ด้านข้างแต่ก็สามารถมองไปทางด้านหน้าได้ด้วย

ในสัตว์ที่มีตามองไปข้างหน้า ตาทั้งสองมักจะขยับคู่กัน การขยับตาอาจเป็นทางเดียวกัน (conjunctive) ที่เรียกว่า version eye movement โดยแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ รวมทั้ง saccade, smooth pursuit, nystagmus, และ vestibulo-ocular reflex หรืออาจไปในทางตรงกันข้าม (disjunctive) ที่เรียกว่า vergence eye movement ความสัมพันธ์ระหว่างการขยับตาไปในทางเดียวกันหรือทางตรงกันข้ามกันในมนุษย์ (และในสัตว์ส่วนมาก) อธิบายได้โดยกฎ Hering's law of equal innervation

สัตว์บางชนิดสามารถใช้ตาได้ทั้งสองแบบ ยกตัวอย่างเช่น นกเอี้ยงและนกกิ้งโครงมีตาทางด้านข้างซึ่งทำให้มีขอบเขตการเห็นกว้าง แต่ก็สามารถขยับตาทั้งสองด้วยกันไปทางด้านหน้าเพื่อมีส่วนที่เห็นร่วมกัน และทำให้เห็นภาพ 3 มิติ อีกตัวอย่างที่หน้าทึ่งก็คือ กิ่งก่าคาเมเลียนที่มีตาบนแป้นหมุน โดยแต่ละตาจะขยับขึ้นหรือลง ซ้ายหรือขวาได้อย่างเป็นอิสระ แต่ก็ยังเล็งตาไปทางวัตถุเดียวกันเมื่อกำลังล่าเหยื่อได้ด้วย

การรวมข้อมูลจากตาทั้งสองข้าง (Binocular summation)[แก้]

การรวมข้อมูลจากตาทั้งสอง (Binocular summation) เป็นกระบวนการที่ลดขีดเริ่มเปลี่ยนของการเห็นสิ่งเร้าเมื่อใช้ตาทั้งสองแทนตาข้างเดียว[16] มีปรากฏการณ์ที่เป็นผลหลายอย่างเมื่อเปรียบการเห็นด้วยสองตาเทียบกับการเห็นด้วยตาเดียว[16] การรวมภาพจากสองตาทางประสาท (Neural binocular summation) เกิดเมื่อสมรรถภาพการเห็นด้วยสองตาดีกว่า การยับยั้งเหตุมองด้วยสองตา (Binocular inhibition) เกิดเมื่อสมรรถภาพการเห็นด้วยสองตาน้อยกว่าเมื่อมองด้วยตาข้างเดียว ซึ่งแสดงนัยว่า ตาที่ไม่ดีจะมีผลต่อตาดี และมีผลต่อการเห็นโดยรวม[16] การรวมข้อมูลจากตาทั้งสองจะถึงขีดสูงสุดถ้าตาทั้งสองข้างดีพอกัน ตาที่ดีไม่พอกันจะเห็นได้ดีลดลง มีโรคตาต่าง ๆ ที่เกิดจากตาดีไม่เท่ากัน เช่น ต้อกระจกข้างเดียว (unilateral cataract) และตามัว[16] ปัจจัยที่มีผลต่อการรวมภาพจากตาทั้งสองรวมทั้งความละเอียดของภาพ (spatial frequency) จำนวนจุดจอประสาทตาที่ได้สิ่งเร้า และช่วงระหว่างเวลาที่เห็นสิ่งเร้า[16]

ปฏิสัมพันธ์ของตาทั้งสอง[แก้]

นอกจากการวมข้อมูลจากตาทั้งสองแล้ว ตาแต่ละข้างยังอาจมีผลต่อกันและกันด้วยกลไกอย่างน้อยอีก 3 อย่าง

  • ขนาดรูม่านตา - แสงที่เข้าไปยังตาข้างหนึ่งจะมีผลต่อรูม่านตาของตาทั้งสอง ซึ่งสามารถเห็นได้โดยดูตาของเพื่อนเมื่อเขาปิดตาข้างหนึ่ง คือเมื่อตาเปิดทั้งสองข้าง รูม่านตาของตาที่เห็นจะเล็ก แต่เมื่อปิดตาอีกข้างหนึ่ง รูม่านตาของตาที่ดูจะใหญ่
  • การปรับตาดูใกล้ไกลและการเบนตาไปในทิศตรงกันข้าม (vergence) - การปรับตาดูใกล้ไกลเป็นภาวะเกี่ยวกับการโฟกัสเลนส์ตา ถ้าตาข้างหนึ่งเปิดและอีกข้างปิด แล้วโฟกัสที่วัตถุซึ่งอยู่ใกล้ ๆ การปรับเลนส์ตาจะเหมือนกันทั้งสองข้าง นอกจากนั้น ตาที่ปิดมักจะเบนไปเล็งที่วัตถุ กระบวนการสองอย่างนี้เชื่อมกันโดยรีเฟล็กซ์ ดังนั้น กระบวนการหนึ่งจะทำให้กระบวนการอีกอย่างหนึ่งเกิด
  • Interocular transfer - การปรับตัวให้เข้ากับแสงของตาข้างหนึ่ง สามารถมีผลเล็กน้อยต่อการปรับตัวต่อแสงของตาอีกข้างหนึ่ง
  • ผลหลังจากเห็นการเคลื่อนไหว (motion aftereffect) ที่เกิดขึ้นที่ตาหนึ่ง ก็จะเกิดขึ้นที่ตาอีกข้างหนึ่งด้วย

การเห็นเป็นภาพเดียว[แก้]

ถ้าขอบเขตการเห็นของตาทั้งสองคาบเกี่ยวกัน มีโอกาสที่จะสับสนภาพของวัตถุเดียวกันที่มาจากตาซ้ายและขวา ซึ่งสมองอาจจัดการโดยสองวิธี คือ การระงับภาพจากตาหนึ่ง (suppression) โดยสมองจะให้เห็นแค่ภาพเดียว หรือว่าการรวมภาพทั้งสองเป็นภาพเดียว แต่ถ้าเห็นเป็นสองภาพ นี้เรียกว่าการเห็นภาพซ้อน

การรวมภาพจากตาทั้งสอง (ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกอย่างสามัญว่า "binocular fusion") จะเกิดในปริภูมิรอบ ๆ จุดที่ตรึงตา เป็นปริภูมิที่เรียกว่า Panum's fusional area โดยวัตถุที่อยู่นอกปริภูมินี้ จะเห็นเป็นภาพซ้อน

ความถนัดตา[แก้]

เมื่อตาแต่ละข้างมองเห็นภาพของตัวเอง ๆ นอกเขตปริภูมิ Panum's fusional area การรวมวัตถุข้างนอกเข้ากับที่อยู่ข้างในก็จะเป็นไปไม่ได้[17] นี่สามารถเห็นได้เมื่อชี้วัตถุไกล ๆ ด้วยนิ้วมือ ถ้าตรึงตาดูที่ปลายนิ้ว ก็จะเห็นรูปเดียว แต่จะเห็นวัตถุที่ไกลเป็นภาพซ้อน ถ้าตรึงตาดูวัตถุที่อยู่ไกล ก็จะเห็นเป็นภาพเดียว แต่จะเห็นปลายนิ้วมือเป็นภาพซ้อน เพื่อให้ชี้ได้ถูกต้อง ภาพที่มาจากตาข้างใดข้างหนึ่งต้องให้ความสำคัญมากกว่า (คือตาที่ถนัด) โดยไม่สนใจอีกข้างหนึ่ง (ตาที่ไม่ถนัด) และตาที่สามารถเล็งมองวัตถุที่ไกลได้เร็วและตรึงอยู่ที่นั่น ก็จะเรียกว่า เป็นตาที่ถนัด (dominant eye)[17]

ภาพ 3 มิติ[แก้]

ตาทั้งสองมีเขตการมองที่คาบเกี่ยวกันเพราะตาอยู่ที่ศีรษะด้านหน้า ไม่ใช่ด้านข้าง เขตที่คาบเกี่ยวกันนี้ทำให้ตาแต่ละข้างมองเห็นวัตถุเดียวกันแต่ต่างมุมกันเล็กน้อย เพราะความคาบเกี่ยวกันนี้ การเห็นเป็นภาพเดียวด้วยสองตาจึงทำให้สามารถรู้ความใกล้ไกล[18] เป็นความรู้สึกที่ได้เมื่อมองด้วยสองตาสำหรับคนที่มองเห็นด้วยสองตาได้เป็นปกติ[18] ภาพเดียวกันที่ตกลงที่จอตาทั้งสองข้างจะต่างกันเล็กน้อยเพราะตำแหน่งของตาที่ต่างกันบนศีรษะ ความต่างที่สองตา (binocular disparity) เยี่ยงนี้จะให้ข้อมูลหลักอย่างหนึ่งแก่สมองเพื่อใช้คำนวณความใกล้ไกลของสิ่งที่เห็น[18]

การเห็นเป็น 3 มิติมีปัจจัยสองอย่าง คือ ธรรมชาติของสิ่งเร้าที่ให้ข้อมูล 3 มิติ และกระบวนการในสมองที่ประมวลข้อมูลนั้น[18] ระยะห่างระหว่างสองตาของผู้ใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 6.5 ซม.[18] ความต่างบนจอตา (Retinal disparity) ก็คือความห่างของภาพวัตถุต่าง ๆ ที่ตกลงบนจอประสาทตาด้านซ้ายและขวา ซึ่งให้ข้อมูลความใกล้ไกล[18] แต่เป็นความใกล้ไกลโดยเปรียบเทียบระหว่างวัตถุต่าง ๆ ไม่ใช่ความใกล้ไกลที่แม่นยำหรือสัมบูรณ์ วัตถุสองอย่างยิ่งใกล้กันเท่าไร ความต่างบนจอตาก็จะเล็กลงเท่านั้น ถ้าวัตถุห่างกัน ความต่างบนจอตาก็จะใหญ่ขึ้น ถ้าวัตถุอยู่ใกล้ไกลเท่ากัน ก็จะไม่มีความต่างที่จอตา[18]

Allelotropia[แก้]

ภาพดั้งเดิมที่แสดง "กฏทิศทางการเห็นของเฮอริง" (Hering's law of visual direction) ตาซ้ายมองเห็นต่างจากตาขวาเพราะมีทิศทางการเห็น (visual direction) ที่ต่างกัน แต่ภาพที่เห็นกลับรวมเป็นภาพเดียว และมีทิศทางการเห็นทิศทางเดียว เหมือนกับมีตาไซคลอปส์อยู่ในระหว่างตา

เพราะตาทั้งสองอยู่ในตำแหน่งที่ต่างกันของศีรษะ วัตถุที่มองซึ่งไม่ได้อยู่ที่จุดตรึงตราหรืออยู่บนผิว horopter จะมีทิศทางการเห็น (visual direction) ที่ต่างกันในตาแต่ละข้าง แต่เมื่อภาพสองภาพที่มองเห็นด้วยตาเดี่ยว ๆ รวมเข้าด้วยกันเป็นภาพเดียว เป็นภาพที่เรียกว่าภาพไซคลอปส์ (Cyclopean image, ตามยักษ์ไซคลอปส์ที่มีตาเดียว) วัตถุที่ว่าก็จะมีทิศทางการเห็นอันใหม่ โดยทั่วไปจะเป็นค่าเฉลี่ยของทิศทางการเห็นจากแต่ละตา ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า allelotropia[9] ส่วนจุดเริ่มต้นของทิศทางการเห็นใหม่ (ที่มีจุดปลายที่วัตถุ) จะอยู่ประมาณระหว่างตาทั้งสอง ซึ่งเรียกว่า ตาไซคลอปส์ (cyclopean eye) ตำแหน่งของตาไซคลอปส์ปกติจะไม่ได้อยู่ระหว่างตาทั้งสองพอดี แต่มักจะอยู่ใกล้ตาที่ถนัดมากกว่า

การแข่งขันระหว่างสองตา[แก้]

เมื่อมีภาพที่ต่างกันสองภาพแสดงให้ตาแต่ละข้างในเขตการเห็นเดียวกัน จะมีการรับรู้ภาพข้างหนึ่งพักหนึ่ง แล้วสลับไปยังอีกภาพหนึ่ง แล้วกลับไปอีกภาพหนึ่งเรื่อย ๆ ตราบที่ยังสนใจดูภาพอยู่ การสลับการรับรู้ระหว่างภาพจากสองตาเรียกว่า การแข่งขันระหว่างสองตา[19] มนุษย์มีสมรรถภาพจำกัดในการประมวลภาพหนึ่ง ๆ อย่างสมบูรณ์ จึงเป็นเหตุให้เกิดปรากฏการณ์นี้นี้

มีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลต่อระยะเวลาที่เห็นภาพ ๆ หนึ่ง รวมทั้งบริบท ความเปรียบต่าง การเคลื่อนไหว รายละเอียด และภาพเนกาทีฟ[19] งานวิจัยปี 2551 แสดงว่า สีหน้าอาจทำให้ใส่ใจรูปหนึ่ง ๆ เพิ่มขึ้น[19] เช่น เมื่อแสดงใบหน้าที่ออกสีหน้าที่ตาข้างหนึ่ง และแสดงใบหน้าที่สีหน้าเฉย ๆ อีกด้านหนึ่ง ก็จะทำให้เห็นใบหน้าที่ออกสีหน้ามากกว่า หรือไม่เห็นใบหน้าที่มีสีหน้าเฉย ๆ เลย[19]

โรค[แก้]

เพื่อคงสภาพการเห็นเป็น 3 มิติโดยเป็นภาพเดียว ตาจะต้องเล็งมองได้อย่างถูกต้อง กล้ามเนื้อตา 6 มัดเป็นตัวควบคุมตำแหน่งของตาในเบ้าตา ความยาวที่ต่างกัน จุดยึดที่ต่างกัน หรือกำลังที่ต่างกันของกล้ามเนื้อมัดเดียวกันในสองตาแม้เพียงเล็กน้อย อาจทำให้ตาข้างหนึ่งมักหมุนไปยังตำแหน่งในเบ้าตาที่ไม่สอดคล้องกับอีกข้างหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อเหนื่อย ซึ่งเรียกว่า ตาเหล่แฝง (phoria) และอาจปรากฏถ้าทดสอบโดยปิดตาข้าหนึ่ง (cover-uncover test)

เมื่อตรวจโดยวิธีนี้ ให้ดูตาทั้งสองของคนที่จะตรวจ ให้ปิดตาข้างหนึ่งด้วยการ์ด แล้วให้บุคคลนั้นมองปลายนิ้วของคุณ โดยให้เปลี่ยนตำแหน่งของนิ้ว นี่เพื่อล้มรีเฟล็กซ์ที่ปกติจะปรับตาที่ปิดให้ไปในตำแหน่งที่ถูกต้อง เมื่อหยุดขยับมือและนิ้ว ให้เปิดตาของบุคคลนั้นแล้วดูตา

คุณอาจจะเห็นมันเปลี่ยนตำแหน่งอย่างรวดเร็วจากตาเหล่ออกหรือเข้า ไปสู่ตำแหน่งที่ถูกต้อง ถ้าตาที่ปิดขยับเข้าจากการเบนออก บุคคลนี้มี exophoria (ตาเหล่ออกแฝง) ถ้าขยับออกจากการเบนเข้า บุคคลนี้มี esophoria (ตาเหล่เข้าแฝง) ถ้าตาไม่ขยับเลย บุคคลนี้มีตาปกติ (orthophoria) คนโดยมากจะมีตาเหล่แฝงไม่เข้าก็ออกบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ

ถ้าเปิดตาแล้วตาขยับลง บุคคลมีตาเหล่ขึ้นแฝง (hyperphoria) ถ้าตาขยับขึ้น บุคคลมีตาเหล่ลงแฝง (hypophoria) ตาเหล่แฝงในแนวตั้งเช่นนี้มีน้อยมาก ยังเป็นไปได้ด้วยที่ตาที่เปิดจะขยับโดยหมุนในเบ้าตา แต่ตาเหล่หมุนแฝง (cyclophoria) เช่นนี้ปกติจะไม่เห็นด้วยการทดสอบวิธีนี้[ต้องการอ้างอิง] และเป็นอะไรที่เกิดน้อยกว่ายิ่งกว่าตาเหล่ขึ้นลงแฝง

วิธีการทดสอบนี้ยังสามารถใช้ตรวจโรคมองด้วยสองตาที่เป็นปัญหายิ่งขึ้น คือ ตาเหล่แบบชัดแจ้ง เบื้องต้น ผู้ตรวจจะดูตาแรกเมื่อปิดตาที่สอง ถ้าตาขยับจากเบนออกเป็นเบนเข้า บุคคลนั้นมีตาเหล่ออก (exotropia, wall-eyed) ถ้าตาขยับจากเบนเข้าเป็นเบนออก บุคคลนั้นมีตาเหล่เข้า (esotropia, cross-eyed) ทั้งสองเป็นตาเหล่ที่อาจเกิดร่วมกับตามัว

แม้อาการตามัวจะมีนิยามที่ต่าง ๆ กัน[16] แต่นิยามซึ่งสามัญที่สุดก็แสดงว่า ตามัวเป็นอาการของตาข้างเดียวซึ่งมองเห็นแย่กว่า 20/20 โดยไม่ปรากฏเหตุทางโครงสร้างร่างกายหรือโรค และจะเกิดร่วมกับอาการต่อไปนี้ก่อนถึงอายุ 6 ขวบ คือ amblyogenic anisometropia, ตาเหล่เข้าหรือออกข้างเดียวเป็นประจำ (constant unilateral esotropia or exotropia), amblyogenic bilateral isometropia, ตาเอียงสองข้างหรือข้างเดียวเหตุตามัว (amblyogenic unilateral or bilateral astigmatism), image degradation[16] ถ้าตาที่ปิดเป็นตาซึ่งไม่มัว ตาที่มัวก็จะเป็นตาเดียวที่บุคคลนั้นเห็น และอาการตาเหล่จะปรากฏเมื่อคนไข้ขยับตาเพื่อมองนิ้วของผู้ตรวจ นอกจากนั้น ยังมีตาเหล่ขึ้น (hypertropia) ตาเหล่ลง (hypotropia) และตาเหล่หมุน (cyclotropia)

ความผิดปกติเนื่องกับการเห็นด้วยสองตารวมทั้ง

  • การเห็นภาพซ้อน (diplopia, double vision)
  • การเห็นสับสน (visual confusion) เป็นการเห็นภาพสองภาพตรงที่เดียวกัน
  • การระงับ (suppression) ที่สมองไม่สนใจลานสายตาทั้งหมดหรือบางส่วนจากตาข้างหนึ่ง
  • horror fusionis เป็นการเลี่ยงการเห็นเป็นภาพเดียวกันของสมองโดยขยับตาให้ไม่ตรง
  • anomalous retinal correspondence (ความไม่สอดคล้องของจอตา) ที่สมองสัมพันธ์ภาพจากรอยบุ๋มจอตาของตาข้างหนึ่ง ว่ามาจากส่วนรอบ ๆ รอยบุ๋มจอตาอีกข้างหนึ่ง

ความผิดปกติเนื่องกับการมองด้วยสองตาเป็นโรคตาที่สามัญที่สุดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งปกติจะสัมพันธ์กับอาการต่าง ๆ เช่นปวดหัว ตาล้า/ตาเพลีย (asthenopia) ปวดตา เห็นไม่ชัด และการเห็นภาพซ้อนเป็นบางครั้งบางคราว[20]

คนไข้ที่มาหาจักษุแพทย์ประมาณ 20% จะมีความผิดปกติเนื่องกับมองด้วยสองตา[20] วิธีวินิจฉัยที่มีประสิทธิผลมากที่สุดก็คือ การตรวจการเบนของตาเมื่อมองใกล้ ๆ (near point of convergence test, NPC)[20] เมื่อตรวจด้วย NPC แพทย์จะขยับวัตถุที่ให้มอง เช่นนิ้ว เข้าไปใกล้ ๆ หน้าของคนไข้จนกระทั่งเห็นว่า ตาได้ได้เบนออกหรือคนไข้เริ่มเห็นภาพซ้อน[20]

จนกระทั่งถึงระดับหนึ่ง ระบบการเห็นจะสามารถชดเชยการเห็นที่ไม่เหมือนกันของตาทั้งสองข้าง แต่ถ้าปัญหาการมองด้วยสองตามากเกิน เช่น ระบบต้องปรับตัวให้เข้ากับการเบี่ยงเบนของตาไม่ว่าจะเป็นแบบแนวนอน แนวตั้ง แบบหมุน หรือการเห็นขนาดวัตถุไม่เหมือนกันของตาทั้งสองข้าง (aniseikonic) มากเกินไป ก็จะทำให้ไม่เห็นเป็นภาพเดียวด้วยสองตา และโดยที่สุดจึงทำให้ตาเหล่หรือทำอาการตาเหล่ให้แย่ลง

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Merriam Webster". noun. the line or surface in which are situated all the points which are seen single while the point of sight, or the adjustment of the eyes, remains unchanged.
  2. "binocular vision", ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑ ฉบับ ๒๕๔๕, (สัตววิทยา) การเห็นเป็นภาพเดียวด้วยสองตา
  3. Fahle, M (1987). "Wozu zwei Augen? [Why two eyes?]". Naturwissenschaften. 74: 383–385. Bibcode:1987NW.....74..383F. doi:10.1007/BF00405466.
  4. Henson, D.B. (1993). Visual Fields. Oxford: Oxford University Press.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  5. Longuet-Higgins, H. C. (1982). "The role of the vertical dimension in stereoscopic vision". Perception. 11: 377–386. doi:10.1068/p110377.
  6. Blake, Randolph; Fox, Robert (August 1973). "The psychophysical inquiry into binocular summation". Perception & Psychophysics. 14 (1): 161–85. doi:10.3758/BF03198631.
  7. Blake, R.; Cormack, R. H. (1979). "On utrocular discrimination". Perception & Psychophysics. 26: 53–68. doi:10.3758/BF03199861.
  8. Miles, W. R. (1930). "Ocular dominance in human adults". Journal of General Psychology. 3: 412–430. doi:10.1080/00221309.1930.9918218.
  9. 9.0 9.1 Hariharan-Vilupuru, S.; Bedell, H. E. (2009). "The perceived visual direction of monocular objects in random-dot stereograms is influenced by perceived depth and allelotropia". Vision Research. 49: 190–201. doi:10.1016/j.visres.2008.10.009. PMID 18992271.
  10. Panum, P. L. (1858). Über die einheitliche Verschmelzung verschiedenartiger Netzhauteindrucke beim Sehen mit zwei Augen. Kiel. {{cite book}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  11. Wheatstone, C (1838). "Contributions to the physiology of vision.—Part the First. On some remarkable, and hitherto unobserved, phænomena of binocular vision". Philosophical Transactions of the Royal Society of London. 128: 371–394. doi:10.1098/rstl.1838.0019.
  12. Heinen, T; Vinken, PM (2011). "Monocular and binocular vision in the performance of a complex skill". Journal of Sports Science & Medicine. 10 (3): 520–527.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  13. Hayhoe, M; Gillam, B; Chajka, K; Vecellio, E (2009). "The role of binocular vision in walking". Visual Neuroscience. 26 (1): 73–80. doi:10.1017/S0952523808080838. PMC 2857785. PMID 19152718.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  14. Harper, D (2001). "binocular". Online etymological dictionary. สืบค้นเมื่อ 2008-04-02.{{cite web}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  15. Fristrup, K. M.; Harbison, G. R. (2002). "How do sperm whales catch squids?". Marine Mammal Science. 18: 42–54. doi:10.1111/j.1748-7692.2002.tb01017.x.
  16. 16.0 16.1 16.2 16.3 16.4 16.5 16.6 Pardhan, S.; Whitaker, A. (2000). "Binocular summation in the fovea and peripheral field of anisometropic amblyopes". Current Eye Research. 20 (1): 35–44. doi:10.1076/0271-3683(200001)20:1;1-h;ft035.
  17. 17.0 17.1 Bingushi, K.; Yukumatsu, S. (2005). "Disappearance of a monocular image in Panum's limiting case". Japanese Psychological Research. 47 (3): 223–229. doi:10.1111/j.1468-5884.2005.00291.x.
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 18.4 18.5 18.6 Blake, R; Sekuler, R (2006). Perception (5th ed.). New York, NY: McGraw-Hill.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  19. 19.0 19.1 19.2 19.3 Bannerman, R. L.; Milders, M.; De Gelder, B.; Sahraie, A. (2008). "Influence of emotional facial expressions on binocular rivalry". Ophthalmic & Physiological Optics. 28 (4): 317–326. doi:10.1111/j.1475-1313.2008.00568.x.
  20. 20.0 20.1 20.2 20.3 Hamed, M.; Goss, D. A.; Marzieh, E. (2013). "The relationship between binocular vision symptoms and near point of convergence. Indian". Journal of Ophthalmology. 61 (7): 325–328. doi:10.4103/0301-4738.97553.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]