สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ 1 แห่งเนเปิลส์
โจวันนาที่ 1 แห่งเนเปิลส์ | |||||
---|---|---|---|---|---|
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งเนเปิลส์ เคานท์เตสแห่งพรอว็องส์และฟอร์คาลกีเยร์ | |||||
![]() พระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ 1 จากภาพศิลปะเฟรสโกโดย นิกโคโล ดี ตอมมาโซ ราวปีค.ศ. 1360 | |||||
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งเนเปิลส์ เคานท์เตสแห่งพรอว็องส์และฟอร์คาลกีเยร์ | |||||
ครองราชย์ | 20 มกราคม ค.ศ. 1343 - 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1382 (39 ปี 112 วัน) | ||||
พระราชพิธีราชาภิเษก 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1344 (เพียงพระองค์เดียว) 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1352 (ร่วมกับกษัตริย์ลุยจิที่ 1) | |||||
ก่อนหน้า | พระเจ้าโรแบร์โต | ||||
ถัดไป | พระเจ้าคาร์โลที่ 3 | ||||
ผู้สำเร็จราชการ สมเด็จพระพันปีหลวงซานเชีย ฟิลิปป์ เดอ คาบาสโซเลส ฟิลิโป ดิ ซานกิเน็ตโต กิฟเฟรโด ดิ มาร์ซาโน | |||||
คู่อภิเษก | เจ้าชายอันดราสแห่งฮังการี แต่งค.ศ. 1333 - เป็นม่ายค.ศ. 1345 ลุยจิ เจ้าชายแห่งตารันโต แต่งค.ศ. 1347 - เป็นม่ายค.ศ. 1362 ไชเมที่ 4 ผู้อ้างสิทธิในกษัตริย์มาจอร์กา แต่งค.ศ. 1363 - เป็นม่ายค.ศ. 1375 ออตโต ดยุกแห่งเบราน์ชไวค์-กรูเบนฮาเกิน แต่งค.ศ. 1376 - พระนางสวรรคต | ||||
พระราชบุตร | คาร์โล มาร์แตล ดยุกแห่งคาลาเบรีย คาทารินาแห่งตารันโต ฟรานเชสกาแห่งตารันโต | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | ราชวงศ์กาเปเตียง-อ็องชู | ||||
พระราชบิดา | คาร์โล ดยุคแห่งคาลาเบรีย | ||||
พระราชมารดา | มารีแห่งวาลัวส์ | ||||
ประสูติ | ธันวาคม ค.ศ. 1325 เนเปิลส์ | ||||
สวรรคต | 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1382 ซานเฟเล | (56 ปี)||||
ฝังพระศพ | ซานตาชีอารา, เนเปิลส์ | ||||
ศาสนา | โรมันคาทอลิก |
สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ 1 แห่งเนเปิลส์ หรือ โจแอนนาที่ 1 (๋Joanna I) หรือทรงเป็นที่รู้จักในพระนาม โจฮันนาที่ 1 (Johanna I) (อิตาลี: Giovanna I; ธันวาคม ค.ศ. 1325[1] - 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1382) ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งราชอาณาจักรเนเปิลส์ [a] เคานท์เตสแห่งพรอว็องส์และฟอร์คาลกีเยร์ ในช่วงปีค.ศ. 1343 ถึง 1382 พระนางยังทรงเป็นเจ้าหญิงแห่งอาเชีย (Princess of Achaea) ระหว่างปีค.ศ. 1373 ถึง 1381 สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงเป็นพระราชธิดาองค์ใหญ่ในคาร์โล ดยุคแห่งคาลาเบรีย กับมารีแห่งวาลัวส์ ที่ทรงดำรงพระชนม์จวบจนเจริญพระชันษา พระราชบิดาของพระนางเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าโรแบร์โต ผู้ชาญฉลาด กษัตริย์แห่งเนเปิลส์ แต่พระราชบิดาของพระนางสิ้นพระชนม์ก่อนหน้าพระอัยกาในปีค.ศ. 1328 สามปีต่อมา กษัตริย์โรแบร์โตทรงแต่งตั้งเจ้าหญิงโจวันนาเป็นองค์รัชทายาทและทรงมีพระราชบัญชาให้เหล่าขุนนางถวายความจงรักภักดีต่อพระนาง ดังนั้นเพื่อทำให้สถานะของเจ้าหญิงโจวันนาแน่ชัดขึ้น กษัตริย์โรแบร์โตจึงทรงทำข้อตกลงกับพระนัดดาของพระองค์ คือ พระเจ้ากาโรยที่ 1 แห่งฮังการี เกี่ยวกับการเสกสมรสระหว่างเจ้าหญิงโจวันนากับเจ้าชายอันดราสแห่งฮังการี พระราชโอรสองค์รองของกษัตริย์ฮังการี กษัตริย์กาโรยที่ 1 มีพระราชประสงค์ที่จะครอบครองมรดกของพระปิตุลาให้ตกเป็นของเจ้าชายอันดราส แต่กษัตริย์โรแบร์โตกลับสถาปนาเจ้าหญิงโจวันนาให้เป็นรัชทายาทแต่เพียงผู้เดียวในวันที่สวรรคต ปีค.ศ. 1343 พระองค์ยังทรงประกาศแต่งตั้งสภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ปกครองราชอาณาจักรจนกว่าสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาจะมีพระชนมายุครบ 21 พรรษา แต่ในความเป็นจริงแล้วคณะผู้สำเร็จราชการไม่สามารถบริหารราชอาณาจักรได้หลังกษัตริย์สวรรคต
พระชนม์ชีพส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาส่งผลกระทบอย่างมากต่อเสถียรภาพทางการเมืองของราชอาณาจักรเนเปิลส์ (การลอบปลงพระชนม์เจ้าชายอันดราส พระสวามีองค์แรกในค.ศ. 1345 การรุกรานของพระเจ้าลอโยชที่ 1 แห่งฮังการี ซึ่งล้างแค้นให้กับการสิ้นพระชนม์ของพระอนุชา และการอภิเษกสมรสอีกสามครั้งต่อมาของพระนาง ได้แก่ ลุยจิ เจ้าชายแห่งตารันโต, ไชเมที่ 4 ผู้อ้างสิทธิในกษัตริย์มาจอร์กา และออตโต ดยุกแห่งเบราน์ชไวค์-กรูเบนฮาเกิน) และได้บ่อนทำลายจุดยืนของพระนางกับสันตะสำนัก นอกจากนี้ในช่วงเหตุการณ์ศาสนเภทตะวันตก พระนางทรงเลือกสนับสนุนอาวีญงปาปาซี ต่อต้านสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 6 ผู้ทรงตอบโต้พระนางกลับ โดยประกาศว่าพระนางเป็นพวกนอกรีตและโค่นพระนางออกจากราชบัลลังก์ ในวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1380
ด้วยพระโอรสธิดาของพระนางสิ้นพระชนม์ก่อนหน้าพระนาง รัชทายาทของพระนางจึงเป็นพระขนิษฐาเพียงพระองค์เดียวของพระนางคือ มาเรียแห่งคาลาเบรีย ซึ่งได้เสกสมรสครั้งแรกกับ พระญาติของพระนางโจวันนาเองคือ คาร์โล ดยุคแห่งดูราซโซ โดยไม่ได้ขอพระบรมราชานุญาตจากพระนาง คาร์โลและมาเรียกลายเป็นผู้นำฝ่ายการเมืองที่ต่อต้านสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนา ด้วยทรงพยายามคืนดีกับพวกตระกูลดูราซโซ เพื่อที่จะรักษาราชบัลลังก์ของพระนางไว้ พระนางโจวันนาทรงจัดแจงการเสกสมรสของพระนัดดา คือ มาร์การิตาแห่งดูราซโซ กับพระญาติชั้นหนึ่งของมาร์การิตา (และเป็นพระญาติชั้นสองของพระนางโจวันนา) คือ คาร์โลแห่งดูราซโซ ผู้ซึ่งต่อมาจับกุมพระนางโจวันนาได้ในที่สุด และได้สั่งการให้ปลงพระชนม์อดีตพระราชินีนาถโจวันนาในวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1382[5][6]
ช่วงต้นพระชนม์ชีพ[แก้]
เจ้าหญิงโจวันนาเป็นพระราชบุตรองค์ที่สองในเจ้าชายคาร์โล ดยุคแห่งคาลาเบรีย (ซึ่งเป็นพระราชโอรสที่รอดพระชนม์เพียงพระองค์เดียวของพระเจ้าโรแบร์โต ผู้ชาญฉลาด กษัตริย์แห่งเนเปิลส์) กับมารีแห่งวาลัวส์ (พระขนิษฐาในพระเจ้าฟีลิปที่ 6 แห่งฝรั่งเศส[7] ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดถึงวันที่ประสูติ แต่คาดว่าพระนางอาจประสูติในปี 1326 หรือ 1327[7][8] โดนาโต อัคชิเอียโอลี นักประวัติศาสตร์ยุคเรอแนซ็องส์ อ้างว่า พระนางประสูติในฟลอเรนซ์ แต่ตามข้อคิดเห็นของแนนซี โกลด์สโตน นักวิชาการระบุว่า จริงๆแล้วพระนางอาจประสูติในระหว่างที่พระราชบิดาและพระราชมารดาเสด็จประพาสระหว่างเมืองต่างๆ[7] เจ้าหญิงเอลอยซา หรือ หลุยส์ พระเชษฐภคินีของพระนางสิ้นพระชนม์ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1326 และเจ้าชายคาร์โล มาร์แตล พระอนุชาเพียงองค์เดียวของพระนางสิ้นพระชนม์ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1327 หลังจากประสูติมาได้เพียง 8 วัน[7]
เจ้าชายคาร์โลแห่งคาลาเบรียสิ้นพระชนม์โดยไม่มีใครคาดคิดในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1328[9] การสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ทำให้กษัตริย์โรแบร์โตต้องเผชิญกับปัญหาการสืบราชบัลลังก์ เนื่องจากพระราชบุตรที่ประสูติหลังจากเจ้าชายคาร์โลสิ้นพระชนม์ไปแล้วก็ยังเป็นพระราชธิดา พระนามว่า เจ้าหญิงมาเรีย[7][10] แม้ว่ากฎมณเฑียรบาลของเนเปิลส์จะไม่ได้ห้ามสตรีครองบัลลังก์ แต่การมีสมเด็จพระราชินีนาถปกครองนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ปกติ[11] มีการทำข้อตกลงระหว่างสันตะสำนักและกษัตริย์โรแบร์โต ผู้ชาญฉลาด พระอัยกาของพระนาง ว่า มีการยอมรับเชื้อสายที่เป็นสตรีของพระเจ้าการ์โลที่ 1 แห่งเนเปิลส์ให้สามารถสืบราชบัลลังก์ได้ แต่มีข้อแม้ว่าสมเด็จพระราชินีนาถจะต้องอภิเษกสมรสและอนุญาตให้พระสวามีร่วมปกครองอาณาจักรด้วย[12] นอกเหนือจากนี้ราชวงศ์เนเปิลส์นั้นเป็นราชนิกุลสาขาของราชวงศ์กาแปแห่งฝรั่งเศสและกฎหมายของฝรั่งเศสเองได้ตัดสิทธิครองราชย์ของสตรี เรียกว่า กฎหมายแซลิก[10][13] พระนัดดาของกษัตริย์โรแบร์โตคือ พระเจ้ากาโรลที่ 1 แห่งฮังการี ได้ถูกกษัตริย์โรแบร์โตตัดสิทธิ์จากพระราชมรดกในปี 1296 แต่พระองค์ก็ไม่ได้ละทิ้งสิทธิที่พระองค์มีต่อ "Regno" (หรือ ราชอาณาจักรเนเปิลส์)[14] สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 22 ปฏิเสธข้อเรียกร้องของกษัตริย์กาโรยแห่งฮังการีมาเป็นเวลานานหลายปี แต่ด้วยกษัตริย์โรแบร์โตแห่งเนเปิลส์ทรงสนับสนุนคณะฟรันซิสกัน (ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาทรงมองว่าเป็นพวกนอกรีต) และการที่กษัตริย์เนเปิลส์ทรงละเลยในการจ่ายเงินสนับสนุนประจำปีให้สันตะสำนักก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างพระสันตะปาปาและเนเปิลส์[15] พระอนุชาสองพระองค์ของกษัตริย์โรแบร์โต ได้แก่ ฟิลิปโปที่ 1 เจ้าชายแห่งตารันโต และเจ้าชายโจวันนี ดยุกแห่งดูราซโซ สามารถที่จะอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ต่อต้านสมเด็จพระราชินีนาถได้[13]
กษัตริย์โรแบร์โตทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะปกป้องสิทธิในบัลลังก์ให้ตกอยู่แก่เชื้อสายของพระองค์ พระองค์จึงสถาปนาเจ้าหญิงโจวันนาและเจ้าหญิงมาเรียเป็นรัชทายาทของพระองค์ในพระราชพิธีที่ปราสาทนูโอโวในเนเปิลส์ วันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1330[16][17] เจ้าชายโจวันนี ดยุกแห่งดูราซโซและอักเนสแห่งเปรีกอร์ พระชายา ทรงยอมรับการตัดสินพระทัยของกษัตริย์โรแบร์โต (ด้วยทรงหวังว่าหนึ่งในพระโอรสทั้งสามจะเสกสมรสกับเจ้าหญิงโจวันนา) แต่ฟิลิปโปที่ 1 เจ้าชายแห่งตารันโตและแคทเทอรีนแห่งวาลัวส์ พระชายา ตัดสินพระทัยที่จะไม่เคารพพระราชโองการ[15] เมื่อเจ้าหญิงโจวันนาทรงได้รับพระราชทานสิทธิในการสืบบัลลังก์ต่อจากพระอัยกาในวันที่ 30 พฤศจิกายน เจ้าชายโจวันนีและอักเนสทรงอยู่ท่ามกลางเหล่าขุนนางเนเปิลส์ในการถวายความจงรักภักดีต่อรัชทายาทหญิง แต่เจ้าชายฟิลิปโปและแคทเทอรีนปฏิเสธไม่เข้าร่วมพระราชพิธี[18] แม้ว่าสมเด็จพระสันตะปาปาจะสามารถเกลี้ยกล่อมเจ้าชายฟิลิปให้ได้เพียงส่งตัวแทนไปยังเนเปิลส์เพื่อถวายความจงรักภักดีต่อเจ้าหญิงโจวันนาแทนพระองค์เองในวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1331[18]
กษัตริย์กาโรยที่ 1 แห่งฮังการีทรงทูลขอให้สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเกลี้ยกล่อมกษัตริย์โรแบร์โตให้ฟื้นฟูดินแดนศักดินาทั้งสองแห่งของเจ้าชายชาลส์ มาร์เตล พระราชบิดาของพระองค์ในดินแดน "เร็กโน" (Regno) หรือ ราชรัฐซาแลร์โน และมองเตแห่งซันตันเจโล ให้คืนแก่พระองค์และพระราชโอรส[16] พระองค์ยังทรงผลักดันการเป็นพันธมิตรผ่านการอภิเษกสมรสโดยทรงสู่ขอเจ้าหญิงโจวันนาให้เป็นคู่ครองของหนึ่งในพระราชโอรสของพระองค์[16] สมเด็จพระสันตะปาปาทรงสนับสนุนแผนการนี้และทรงเร่งเร้าให้กษัตริย์โรแบร์โตยอมรับข้อตกลงนี้[18] แคทเทอรีนแห่งวาลัวส์ ผู้ซึ่งเป็นม่ายไม่นานทรงทราบแผนการ พระนางจึงรีบเดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าฟีลิปที่ 6 แห่งฝรั่งเศส พระเชษฐาต่างมารดาของพระนาง เพื่อให้ทรงเข้าแทรกแซงและขัดขวางแผนการอภิเษกสมรสนี้[18] พระนางทรงเสนอให้พระโอรสของพระนางทั้งสองคือ โรแบร์โต เจ้าชายแห่งตารันโตและเจ้าชายลุยจิ เป็นคู่อภิเษกสมรสของเจ้าหญิงโจวันนาและเจ้าหญิงมาเรีย[18] สมเด็จพระสันตะปาปาทรงแน่วแน่ในแผนการเดิมโดยมีโองการของพระสันตะปาปาในวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1331 มีพระบัญชาให้เจ้าหญิงโจวันนาและพระขนิษฐาต้องอภิเษกสมรสกับพระราชโอรสของกษัตริย์กาโรยที่ 1 แห่งฮังการี[19] ในช่วงแรก พระราชโอรสองค์โตของกษัตริย์กาโรยคือ เจ้าชายลอโยชแห่งฮังการี ทรงได้รับการเลือกให้เป็นพระสวามีในอนาคตของเจ้าหญิงโจวันนา[20] เจ้าชายอันดราสแห่งฮังการี พระอนุชาองค์รองของเจ้าชายลอโยช เป็นเพียงตัวเลือกสำรอง และจะขึ้นมาเป็นลำดับหนึ่งก็ต่อเมื่อพระเชษฐาสิ้นพระชนม์ก่อนกำหนด[20] แต่เมื่อมีการตกลงเจรจากัน กษัตริย์กาโรยทรงตัดสินพระทัยเปลี่ยนให้เจ้าชายอันดราสอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงโจวันนาแทน[20]

หลังจากเจ้าหญิงมารีแห่งวาลัวส์ พระราชชนนีของเจ้าหญิงโจวันนาสิ้นพระชนม์ในปีค.ศ. 1332 ขณะเสด็จจาริกแสวงบุญที่เมืองบารี[22] พระมเหสีองค์ที่สองในกษัตริย์โรแบร์โต (พระอัยยิกาเลี้ยงของเจ้าหญิงโจวันนา) คือ ซานเชียแห่งมายอร์กา ทรงเข้ามารับผิดชอบต่อการศึกษาของเจ้าหญิงโจวันนาแทน[8] สมเด็จพระราชินีซานเชียทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ที่มีศรัทธาแรงกล้าต่อคณะฟรันซิสกัน และทรงดำรงพระชนม์ชีพเหมือนแม่ชีคณะกลาริส แต่สมเด็จพระสันตะปาปาปฏิเสธที่จะให้การเสกสมรสของพระนางกับกษัตริย์โรแบร์โตเป็นโมฆะ[8][18] พยาบาลประจำองค์พระราชินีซานเชีย คือ ฟิลิปปาแห่งคาทาเนีย เป็นผู้มีอิทธิพลสูงสุดในการอบรมศึกษาเจ้าหญิงโจวันนา[23] สมเด็จพระราชินีซานเชียและฟิลิปปาเป็นสองสตรีผู้ทรงอิทธิพลในราชสำนักกษัตริย์โรแบร์โต กษัตริย์ไม่ทรงสามารถตัดสินพระทัยได้ถ้าไม่ได้ตรัสถามพระราชินีและพยาบาลของพระนาง ทั้งนี้เป็นคำกล่าวของโจวันนี บอกกัชโช นักเขียนคนสำคัญของอิตาลีในสมัยนั้น[24]
เจ้าหญิงโจวันนาทรงเจริญพระชันษาในราชสำนักที่มีวัฒนธรรมของพระอัยกา แม้ว่าจะไม่ทรงได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการ[8] หรืออาจจะทรงได้รับการศึกษา ซึ่งหลักฐานไม่ได้กล่าวถึงอย่างแม่นยำนัก เนื่องจากเอกสารของอานเจวินไม่ได้ระบุว่าใครคือเป็นผู้อบรมสั่งสอนพระนาง[25] พระนางอาจศึกษาจากหนังสือในหอสมุดหลวง ซึ่งมีงานเขียนของลิวี, เปาโล ดา เปรูเจีย, สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 1 และมาร์โก โปโล[25] อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเมื่อพระนางทรงเจริญพระชันษา พระนางทรงมีความสามารถด้านภาษาละติน (ในขณะที่ลายพระหัตถ์ที่เหลือของพระนางสามารถพิสูจน์ได้ว่า [b]) ฝรั่งเศส อิตาลีและภาษาถิ่นพรอว็องส์ ดอมินิโก ดา กราวินา นักพงศาวดาร ยืนยันว่าทั้งสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนา และเจ้าหญิงมาเรีย พระขนิษฐา ได้รับ "การเรียนรู้ทางศิลปะและคุณธรรมจรรยาทุกประการจากทั้งฝ่าพระบาทพระเจ้าโรแบร์โตและจากสมเด็จพระราชินีซานเชีย"[28]
กษัตริย์กาโรยที่ 1 แห่งฮังการีเสด็จมาเนเปิลส์เป็นการส่วนพระองค์เพื่อทำการเจรจากับพระปิตุลาของพระองค์ในเรื่องการเสกสมรสระหว่างเจ้าหญิงโจวันนากับเจ้าชายอันดราสในฤดูร้อนปีค.ศ. 1333[29] พระองค์ไม่ทรงใช้พระราชทรัพย์ในการเดินทางเลย เพื่อเป็นการแสดงถึงอำนาจและความมั่งคั่งของพระองค์[30] กษัตริย์ทั้งสองจึงเข้าเจรจากัน[31] เจ้าชายอันดราสและเจ้าหญิงโจวันนาจะต้องหมั้นกันตามข้อตกลง แต่กษัตริย์โรแบร์โตและกษัตริย์กาโรยที่ 1 ยังทรงกำหนดอีกว่า ถ้าเจ้าชายอันดราสมีพระชนมายุยืนยาวกว่าเจ้าหญิงโจวันนา ก็ให้เสกสมรสกับเจ้าหญิงมาเรีย ผู้เป็นพระขนิษฐาต่อ และพระโอรสองค์ที่เหลือของกษัตริย์กาโรยที่ 1 คือเจ้าชายลอโยช หรือ อิชต์วาน จะได้เสกสมรสกับเจ้าหญิงโจวันนา เมื่อยามเจ้าชายอันดราสสิ้นพระชนม์ก่อน[31] สัญญาการอภิเษกสมรสได้มีการลงนามอย่างพิธีการในวันที่ 26 กันยายน[32] วันถัดมากษัตริย์โรแบร์โตสถาปนาเจ้าหญิงโจวันนาและเจ้าชายอันดราสให้ครองศักดินาดัชชีคาลาเบรียและราชรัฐซาแลร์โน[33] สมเด็จพระสันตะปาปาทรงได้รับการแบ่งสันปันส่วนผลประโยชน์สำหรับการอภิเษกสมรสในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1333[31] แต่การอภิเษกสมรสก็ไม่ได้เสร็จสมบูรณ์พร้อมเป็นเวลาหลายปี เนื่องมาจากเจ้าชายอันดราสยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ[34] แต่มันก็ทำให้เกิดความขัดแย้งในกลุ่มตระกูลสาขาของราชวงศ์อ็องชู[35]
เจ้าชายอันดราสเจริญพระชันษาในเนเปิลส์ แต่พระองค์และผู้ติดตามชาวฮังการียังคงถูกมองว่าเป็นพวกต่างชาติ[36] เหล่าญาติวงศ์เนเปิลส์ (โอรสของฟิลิปโปแห่งตารันโต และโจวันนีแห่งดูราซโซ) หรือแม้กระทั่งเจ้าหญิงโจวันนาเองต่างเย้ยหยันเจ้าชายอันดราส[37] ทั้งนักเขียนร่วมสมัยและนักเขียนในยุคหลังมองตรงกันว่า ในช่วงแรกกษัตริย์โรแบร์โตทรงตั้งพระทัยที่จะให้เจ้าชายอันดราสเป็นรัชทายาท[38] ยกตัวอย่างเช่น ตามงานเขียนของโจวันนี วีลานี ระบุว่า กษัตริย์ "มีพระราชประสงค์ให้พระราชนัดดา ผู้เป็นโอรสกษัตริย์ฮังการีขึ้นสืบราชบัลลังก์หลังจากพระองค์สวรรคต"[31] แต่มีภาพเขียนใน Anjou Bible ได้วาดภาพที่เห็นได้ชัดว่า มีเพียงโจวันนาเท่านั้นที่ได้สวมมงกุฎช่วงปลายทศวรรษ 1330[17][39] เป็นการระบุว่า กษัตริย์อาจจะไม่สนพระทัยในเรื่องสิทธิ์ราชบัลลังก์ของเจ้าชายอันดราส[17][39] ตามพระราชพินัยกรรมของพระองค์ พระองค์ระบุให้ โจวันนาเป็นรัชทายาทหนึ่งเดียวแห่งเนเปิลส์, พรอว็องซ์, ฟอร์คัลกีแยร์และปีดมอนต์ และรวมถึงสิทธิในราชบัลลังก์เยรูซาเลมให้ตกแก่พระนาง[40] พระองค์ยังระบุให้เจ้าหญิงมาเรียครองบัลลังก์ต่อถ้าหากพระนางโจวันนาสวรรคตโดยไร้ทายาท[40] กษัตริย์โรแบร์โตไม่ทรงมีพระราชบัญชาให้จัดพิธีครองราชย์ให้อันดราส ดังนั้นจึงเป็นการกีดกันพระองค์ออกจากกิจการของเนเปิลส์[40] กษัตริย์ผู้ใกล้สวรรคตยังทรงตั้งคณะผู้สำเร็จราชการ อันประกอบด้วยที่ปรึกษาที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย คือ รองเสนาบดี ฟิลิปป์ เดอ คาบาสโซเลส บิชอปแห่งคาวาอิลลง, ฟิลิโป ดิ ซานกิเน็ตโต ที่ปรึกษาใหญ่แห่งพรอว็องซ์ และนายพลเรือกิฟเฟรโด ดิ มาร์ซาโน โดยให้หัวหน้าคณะผู้สำเร็จราชการคือ สมเด็จพระราชินีซานเชีย[41][42] พระองค์กำหนดให้โจวันนาสามารถปกครองได้ด้วยตนเองเมื่อผ่านวันคล้ายวันพระราชสมภพ 21 พรรษา โดยปฏิเสธที่จะใช้กฎตามธรรมเนียมทั่วไปที่บรรลุนิติภาวะด้วยอายุ 18 ปี[41]
รัชกาล[แก้]
สืบราชบัลลังก์[แก้]
กษัตริย์โรแบร์โตสวรรคตในวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1343 ขณะทรงมีพระชนมายุ 67 พรรษา พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์เนเปิลส์มาเป็นเวลา 34 ปี[40] สองวันต่อมา เจ้าชายอันดราสแห่งฮังการีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอัศวิน และพิธีอภิเษกสมรสระหว่างพระองค์กับสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาก็สำเร็จบริบูรณ์ตามพระราชประสงค์สุดท้ายของพระมหากษัตริย์ผู้สวรรคต[43] แต่ถึงกระนั้น ทั้งสองพระองค์เสด็จแยกกันไปโบสถ์ เสด็จเยือนต่างสถานที่กัน และพระนางโจวันนาทรงถึงกับห้ามพระราชสวามีเข้าห้องบรรทมโดยไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระนาง[43] เจ้าชายอันดราส พระชนมายุ 15 พรรษา ไม่ทรงมีคลังสมบัติของพระองค์เอง และข้าราชบริพารของสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาได้ทำหน้าที่ควบคุมการใช้จ่ายของเจ้าชาย[43]
เปตราก ได้เขียนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในงานเขียนของเขา Regno บรรยายถึงสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาและเจ้าชายอันดราส ว่าเป็น "ลูกแกะสองตัวที่ได้รับความไว้วางใจให้ดูแลหมาป่าจำนวนมาก และข้าพเจ้าได้ประสบเห็นถึงราชอาณาจักรที่ไร้พระราชา"[44] ฝักฝ่ายทางการเมืองส่วนใหญ่ไม่พอใจที่มีการจัดตั้งสภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์[41] สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาจึงเสด็จไปเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 และทรงกราบทูลขอให้พระสันตะปาปาพระราชทานพระอิสริยยศกษัตริย์แก่พระราชสวามีของพระนาง อาจเป็นเพราะพระนางทรงต้องการแรงสนับสนุนจากพวกราชวงศ์อ็องชูแห่งฮังการี เพื่อช่วยสนับสนุนแนวทางลดระยะเวลาอายุบรรลุนิติภาวะของพระนาง[41] แม้ว่าสมเด็จพระสันตะปาปาทรงพิจารณาว่าการจัดตั้งสภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการแย่งชิงสิทธิอำนาจการปกครองของพระสันตะปาปา แต่ถึงกระนั้นพระสันตะปาปาก็ทรงต้องการที่จะควบคุมการบริหารกิจการของราชอาณาจักรเนเปิลส์ด้วยพระองค์เอง[41] พระองค์จึงปฏิเสธข้อเสนอของพระนางโจวันนา แต่พระองค์ก็ทรงส่งพระราชสาส์นโดยตรงถึงสภาผู้สำเร็จราชการแบบนานๆ ครั้งแทน[41]
อักเนสแห่งเปรีกอร์ สมเด็จอาสะใภ้องค์หนึ่งของพระนางโจวันนา ต้องการที่จะให้เจ้าหญิงมาเรีย พระขนิษฐาของพระนางโจวันนา เสกสมรสกับโอรสองค์ใหญ่ของพระนาง คือ การ์โลแห่งดูราซโซ[45] สมเด็จพระพันปีหลวงซานเชียและสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงสนับสนุนแผนการนี้ แต่ก็ทรงทราบว่า แคทเทอรีนแห่งวาลัวส์-กูร์เตอแน ที่ครองอิสริยยศ จักรพรรดินีละติน และเป็นสมเด็จอาสะใภ้อีกองค์หนึ่งของพระราชินี จะต้องทรงขัดขวางแผนการสมรสนี้[46] พี่ชายของอักเนสคือ เฮลี เดอ ตาแลร็อง-เปรีกอร์ เป็นพระคาร์ดินัลผู้ทรงอิทธิพลในสันตะสำนักที่อาวีญง[45] เขาโน้มน้าวให้สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 ออกสารตราพระสันตะปาปาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1343 อนุญาตให้การ์โลแห่งดูราซโซสามารถสมรสกับสตรีคนใดก็ได้[45] ด้วยสิทธิขาดจากตราสารพระสันตะปาปา เจ้าหญิงมาเรียจึงได้หมั้นหมายกับการ์โลแห่งดูราซโซในพิธีต่อหน้าพระนางโจวันนา สมเด็จพระพันปีหลวงซานเชียและสมาชิกสภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนอื่นๆ ที่คาสเตล นูโอโว วันที่ 26 มีนาคม[47] การหมั้นหมายสร้างความเดือดดาลแก่แคทเทอรีนแห่งวาลัวส์-กูร์เตอแน จักรพรรดินีละติน อย่างมาก พระนางทรงร้องขอไปยังพระเจ้าฟีลิปที่ 6 แห่งฝรั่งเศสกับสมเด็จพระสันตะปาปา โดยเรียกร้องให้การหมั้นหมายเป็นโมฆะ[47] สองวันหลังจากหมั้นหมาย การ์โลแห่งดูราซโซลักพาตัวเจ้าหญิงมาเรียไปยังปราสาทของเขา ซึ่งนักบวชได้ลอบจัดพิธีเสกสมรสให้ และในไม่ช้าการสมรสก็สำเร็จบริบูรณ์[48]
ลุยจิแห่งตารันโต บุตรชายของแคทเทอรีนแห่งวาลัวส์ ยกกองทัพบุกที่ดินศักดินาของการ์โลแห่งดูราซโซ ผู้ลูกพี่ลูกน้อง[48] การ์โลแห่งดูราซโซก็รวบรวมกำลังพลเพื่อปกป้องที่ดินของเขา[48] การเสกสมรสอย่างลับๆ ของเจ้าหญิงมาเรีย พระขนิษฐา สร้างความเดือดดาลแก่สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาอย่างมาก พระนางจึงส่งพระราชสาส์นถึงสมเด็จพระสันตะปาปากราบทูลขอให้ยกเลิกการเสกสมรส[48] สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 ทรงปฏิเสธ และทรงบัญชาให้พระคาร์ดินัลตาแลร็อง-เปรีกอร์ส่งคณะทูตไปยังเนเปิลส์เพื่อไกล่เกลี่ยประนีประนอม[49] คณะทูตพระคาร์ดินัลเกลี้ยกล่อมให้ทั้งสองฝ่ายลงนามในข้อตกลงวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1343[50] โดยการเสกสมรสระหว่างการ์โลแห่งดูราซโซกับเจ้าหญิงมาเรียถูกต้องตามกฎหมายเป็นที่ยอมรับ แต่แคทเทอรีนแห่งวาลัวส์และลูกชายของพระนางจะได้รับเงินชดเชยจากคลังของราชวงศ์[51] สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาทรงสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจต่อพระขนิษฐาและพระญาติสายดูราซโซ และพระนางทรงริเริ่มส่งเสริมข้าราชบริพารที่ทรงไว้เนื้อเชื่อพระทัยขึ้นแทนพระญาติวงศ์ ซึ่งได้แก่ โรแบร์โต เดอ คาบานนี บุตรชายของฟิลิปปาแห่งคาทาเนีย และการ์โล อาร์ตุส สมเด็จอาของพระนาง (โอรสนอกสมรสของพระเจ้าโรแบร์โต)[51]
ความขัดแย้ง[แก้]
เชิงอรรถ[แก้]
อรรถาธิบาย[แก้]
- ↑ ในความเป็นจริง โจวันนาทรงได้รับการสวมมงกุฎเป็น "สมเด็จพระราชินีนาถแห่งซิชิลี" แม้ว่าผู้สืบบัลลังก์ก่อนหน้าพระนางจะสูญเสียการควบคุมเกาะหลังสงครามพิธีศาสนายามสายัณห์ซิชิลี คำว่า "ราชอาณาจักรเนเปิลส์" ถูกใช้เพื่อให้เข้าใจง่ายตั้งแต่ ค.ศ. 1805 โดยประวัติศาสตร์นิพนธ์เพื่อบ่งชี้ว่า ทางตอนใต้ของคาบสมุทรอิตาลียังคงอยู่ภายใต้รัฐบาลอานเจวิน หรือ อ็องชู และขณะนั้นรู้จักในนามว่า ราชอาณาจักรซิชิลี ซิตราฟารุม หรือ อัลดิคัวเดลฟาโร (ฝั่งนี้ของฟาโร) หมายถึง จุดฟาโรซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเมสซีนา—.[2][3] อีกส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรที่มีเพียงเกาะซิชิลีนั้น เรียกว่า ราชอาณาจักรซิชิลี อัลตราฟารุม หรือ ดิลาเดลฟาโร (อีกฟากหนึ่งของฟาโร) ที่ถูกปกครองโดยราชวงศ์บาร์เซโลนา [3] รัฐบาลนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากราชวงศ์อ็องชู-เนเปิลส์ จนกระทั่งสนธิสัญญาวิลเลอนูเวอซึ่งได้รับการให้สัตยาบันจากสมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาและพระเจ้าเฟเดริโกที่ 4 แห่งซิชิลี ในวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1373 ณ เมืองอเวอร์ซา ต่อหน้าผู้แทนองค์พระสันตะปาปา คือ ฌ็อง เดอ รีวิลยง บิชอปแห่งซาร์ลา[4]
- ↑ ตรงกันข้ามกับทฤษฎีของเอมิล กีโยม เลโอนาร์ด พิจารณาว่า สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาเป็นผู้ไม่รู้หนังสือ เพราะพระนางทรงกล่าวถึงพระนางเองว่าทรงเป็น "สตรีที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาน้อย ดังนั้นจึงทรงถูกหลอกลวงอยู่บ่อยครั้ง" ในลายพระหัตถ์ที่ทรงมีไปถึงสมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 ในค.ศ. 1346[26] ตามคำกล่าวของมาริโอ กากลีโอเน มองว่าอาจเป็นการกล่าววลีเชิงโวหารเท่านั้น[25] แนนซี โกลด์สโตนได้โต้แย้งว่า ซานเชียแห่งมายอร์กา พระพันปีหลวง ยังเคยกล่าวถึงพระนางเองในลักษณะเดียวกันและสามารถเขียนหนังสือได้ ดังนั้นเธอจึงเชื่อว่า พระนางโจวันนาอาจจะทำเช่นเดียวกัน[27] ภาษาละตินที่เขียนหวัดๆ ในลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระราชินีนาถเป็นต้วบ่งชี้ว่า พระนางทรงเขียนลายพระหัตถ์ด้วยพระนางเอง[27]
เชิงอรรถอ้างอิง[แก้]
- ↑ Kiesewetter, Andreas (2001). "GIOVANNA I d'Angiò, regina di Sicilia". Dizionario Biografico degli Italiani - Volume 55 (ภาษาอิตาลี). www.treccani.it. สืบค้นเมื่อ 5 October 2020.
- ↑ "Ministero per i Beni Culturali: Bolla dall'Archivio di Stato di Napoli-Regnum Siciliae citra Pharum." (PDF) (ภาษาอิตาลี). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-01-23. สืบค้นเมื่อ 6 February 2022.
- ↑ 3.0 3.1 Grierson & Travaini 1998, p. 255.
- ↑ Grierson & Travaini 1998, p. 270.
- ↑ Léonard 1954, p. 468.
- ↑ Eugène Jarry: La mort de Jeanne II, reine de Jérusalem et de Sicile, en 1382., Bibliothèque de l'école des chartes, 1894, pp. 236-237.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 Goldstone 2009, p. 15.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 Casteen 2015, p. 3.
- ↑ Goldstone 2009, pp. 17–18.
- ↑ 10.0 10.1 Casteen 2015, pp. 2–3.
- ↑ Casteen 2015, p. 9.
- ↑ Duran 2010, p. 76.
- ↑ 13.0 13.1 Monter 2012, p. 61.
- ↑ Goldstone 2009, pp. 38–39.
- ↑ 15.0 15.1 Goldstone 2009, pp. 40–41.
- ↑ 16.0 16.1 16.2 Lucherini 2013, p. 343.
- ↑ 17.0 17.1 17.2 Casteen 2015, pp. 9–10.
- ↑ 18.0 18.1 18.2 18.3 18.4 18.5 Goldstone 2009, p. 40.
- ↑ Goldstone 2009, p. 41.
- ↑ 20.0 20.1 20.2 Lucherini 2013, p. 344.
- ↑ Casteen 2015, p. 10.
- ↑ Léonard 1932, p. 142, vol.1.
- ↑ Goldstone 2009, pp. 31–33.
- ↑ Goldstone 2009, p. 33.
- ↑ 25.0 25.1 25.2 Gaglione 2009, p. 335.
- ↑ Léonard 1932, p. 172, vol.1.
- ↑ 27.0 27.1 Goldstone 2009, pp. 321–322.
- ↑ da Gravina 1890, p. 7.
- ↑ Lucherini 2013, pp. 347–348.
- ↑ Goldstone 2009, p. 42.
- ↑ 31.0 31.1 31.2 31.3 Lucherini 2013, p. 350.
- ↑ Lucherini 2013, pp. 348–349.
- ↑ Goldstone 2009, p. 45.
- ↑ Goldstone 2009, pp. 63–64.
- ↑ Abulafia 2000, p. 508.
- ↑ Casteen 2015, pp. 32–33.
- ↑ Casteen 2015, p. 33.
- ↑ Lucherini 2013, pp. 350–351.
- ↑ 39.0 39.1 Duran 2010, p. 79.
- ↑ 40.0 40.1 40.2 40.3 Goldstone 2009, p. 65.
- ↑ 41.0 41.1 41.2 41.3 41.4 41.5 Casteen 2015, p. 34.
- ↑ Léonard 1932, p. 335, vol.1.
- ↑ 43.0 43.1 43.2 Goldstone 2009, p. 78.
- ↑ Casteen 2015, p. 37.
- ↑ 45.0 45.1 45.2 Goldstone 2009, p. 70.
- ↑ Goldstone 2009, pp. 71–72.
- ↑ 47.0 47.1 Goldstone 2009, p. 73.
- ↑ 48.0 48.1 48.2 48.3 Goldstone 2009, p. 74.
- ↑ Goldstone 2009, p. 75.
- ↑ Goldstone 2009, pp. 75–76.
- ↑ 51.0 51.1 Goldstone 2009, p. 76.
อ้างอิง[แก้]
![]() |
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่ 1 แห่งเนเปิลส์ |
- Abulafia, David (2000). "The Italian south". ใน Johns, Michael (บ.ก.). The New Cambridge Medieval History: Volume 6, C.1300-c.1415. pp. 488–514. ISBN 0-521-36290-3.
- Boccaccio, Giovanni (1970). Zaccaria, Vittorio (บ.ก.). De mulieribus claris. I classici Mondadori (ภาษาอิตาลี). Vol. Volume 10 of Tutte le opere di Giovanni Boccaccio (2nd ed.). Milan: Mondadori. Biography # 106. OCLC 797065138.
{{cite book}}
:|volume=
has extra text (help) - Boccaccio, Giovanni (2003). Famous women. Brown, Virginia, trans. Cambridge, MA, USA: Harvard University Press. ISBN 9780674003477. OCLC 606534850 and 45418951.
- Boccaccio, Giovanni (2011). On famous women. Guarino, Guido A., trans. (2nd ed.). New York: Italica Press. ISBN 9781599102658. OCLC 781678421.
- Busquet, Raoul (1978). Laffont, Robert (บ.ก.). Histoire de Marseille. Paris.
- Busquet, Raoul (30 November 1954). Histoire de Provence (1997 ed.). Imprimerie nationale de Monaco.
- Casteen, Elizabeth (2015). From She-Wolf to Martyr: The Reign and Disputed Reputation of Johanna I of Naples. Cornell University Press. ISBN 978-0-8014-5386-1.
Casteen, Elizabeth (3 June 2011). "Sex and Politics in Naples: The Regnant Queenship of Johanna I". Journal of The Historical Society. Malden, MA, USA: Blackwell Publishing. 11 (2): 183–210. doi:10.1111/j.1540-5923.2011.00329.x. ISSN 1529-921X. OCLC 729296907. สืบค้นเมื่อ 1 June 2013. (ต้องสมัครสมาชิก)
- Cox, Eugene L. (1967). The Green Count of Savoy. Princeton, New Jersey: Princeton University Press. LCCN 67-11030.
- Duran, Michelle M. (2010). "The Politics of Art: Imaging Sovereignty in the Anjou Bible at Leuven". ใน Watteeuw, Lieve; Van der Stock, Jan (บ.ก.). The Anjou Bible. a Royal Manuscript Revealed: Naples 1340. Peeter. pp. 73–94. ISBN 978-9-0429-2445-1.
- Engel, Pál (2001). The Realm of St Stephen: A History of Medieval Hungary, 895–1526. I.B. Tauris Publishers. ISBN 1-86064-061-3.
{{cite book}}
:|ref=harv
ไม่ถูกต้อง (help) - Goldstone, Nancy (2009). The Lady Queen: The Notorious Reign of Joanna I, Queen of Naples, Jerusalem, and Sicily. Walker&Company. ISBN 978-0-8027-7770-6.
- Léonard, Émile-G. (1932). "Histoire de Jeanne Ire, reine de Naples, comtesse de Provence (1343-1382) : La jeunesse de la reine Jeanne". ใน Picard, Auguste (บ.ก.). Mémoires et documents historiques. Paris et Monaco.
- Léonard, Émile-G (1954). Les Angevins de Naples. Paris: Presses universitaires de France.
- Lucherini, Vinni (2013). "The Journey of Charles I, King of Hungary, from Visegrád to Naples (1333): Its Political Implications and Artistic Consequences". Hungarian Historical Review. 2 (2): 341–362.
- Monter, William (2012). The Rise of Female Kings in Europe, 1300-1800. Yale University Press. ISBN 978-0-300-17327-7.
- Musto, Ronald G. (2013). Medieval Naples: A Documentary History 400-1400. New York: Italica Press. pp. 234–302. ISBN 9781599102474. OCLC 810773043.
- Paladilhe, Dominique (1997). La reine Jeanne : comtesse de Provence. Librairie Académique Perrin. ISBN 2-262-00699-7.
- Rollo-Koster, Joëlle (2015). Avignon and Its Papacy, 1309–1417: Popes, Institutions, and Society. Rowman & Littlefield. ISBN 978-1-4422-1532-0.
- Wolf, Armin (1993). "Reigning Queens in Medieval Europe: When, Where, and Why". ใน Parsons, John Carmi (บ.ก.). Medieval Queenship. Sutton Publishing. pp. 169–188. ISBN 0-7509-1831-4.