พระเจ้าเอนริเกที่ 2 แห่งกัสติยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าเอนริเกที่ 2
กษัตริย์แห่งกัสติยาและเลออน
ครองราชย์13 มีนาคม ค.ศ. 1366 – 3 เมษายน ค.ศ. 1367 (ครั้งที่ 1)
23 มีนาคม ค.ศ. 1369 – 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1379 (ครั้งที่ 2)
ราชาภิเษก29 มีนาคม ค.ศ. 1366
ที่วิหารซันตามารีอาลาเรอัลเดลาสอูเอลกัส
รัชกาลก่อนหน้าพระเจ้าเปโดรแห่งกัสติยา
รัชกาลถัดไปพระเจ้าเปโดรแห่งกัสติยา (ครั้งที่ 1)
พระเจ้าฆวนที่ 1 แห่งกัสติยา (ครั้งที่ 2)
ประสูติ13 มกราคม ค.ศ. 1334
เซบิยา
สวรรคต29 พฤษภาคม ค.ศ. 1379 (45 พรรษา)
ฝังพระศพอาสนวิหารโตเลโด
พระมเหสีฆัวนา มานูเอล สมเด็จพระราชินีแห่งกัสติยา
พระราชบุตรพระเจ้าฆวนที่ 1 แห่งกัสติยา
เลโอนอร์แห่งกัสติยา สมเด็จพระราชินีแห่งนาวาร์
อินฟันตาฆัวนา
ราชวงศ์ตรัสตรามารา
พระราชบิดาพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 11 แห่งกัสติยา
พระมารดาเลโอนอร์ เด กุซมัน

พระเจ้าเอนริเกที่ 2 (สเปน: Enrique II) หรือ เอนริเกแห่งตรัสตรามารา (สเปน: Enrique de Trastámara) หรือ เอนริเกผู้สังหารพี่น้อง (สเปน: Enrique El Fratricida) หรือ เอนริเกผู้เป็นบุตรนอกสมรส (สเปน: Enrique El Bastardo) (ค.ศ. 1333 – 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1379) เป็นกษัตริย์แห่งกัสติยา ผู้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ตรัสตามารา พระองค์เป็นบุตรชายนอกสมรสของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 11 แห่งกัสติยา

ผู้สังหารพี่น้อง[แก้]

เลโอนอร์ เด กุซมัน พระมารดาของเอนริเกเป็นสนมลับของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 11 (โดยเธอเป็นลูกหลานของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 แห่งเลออน) สัมพันธภาพนอกสมรสของทั้งคู่ได้ให้กำเนิดบุตรธิดา 10 คนซึ่งหนึ่งในนั้นคือเอนริเก เอนริเกเติบโตมาพร้อมกับฝาแฝดของพระองค์ที่มีชื่อว่าฟาดริเก อัลฟอนโซแห่งกัสติยา พระองค์ได้รับพระราชทานทรัพย์สินที่ดินมากมายจากพระราชบิดา หนึ่งในนั้นคือเคาน์ตีตรัสตรามารา เช่นเดียวกับบุตรชายคนอื่นๆ ของเลโอนอร์ ในขณะที่เปโดร ทายาทตามกฎหมายซึ่งเกิดจากมารีอาแห่งโปรตุเกส พระราชินีผู้ไม่เป็นที่สนใจของกษัตริย์ไม่ได้รับความสำคัญใดๆ กระทั่งในปี ค.ศ. 1350 เมื่อพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 11 สวรรคตอย่างกระทันหันด้วยโรคระบาดด้วยวัยเพียง 40 พรรษา สถานการณ์ก็พลิกผันเมื่อราชบัลลังก์กัสติยาตกเป็นของเปโดรผู้เป็นพระราชโอรสตามกฎหมาย

การขึ้นมามีอำนาจของพระเจ้าเปโดรที่ 1 กับมารีอาแห่งโปรตุเกสผู้เป็นพระราชมารดาทำให้ขุนนางกลุ่มใหญ่เลิกให้การสนับสนุนจนบุตรของเลโอนอร์ต้องหนีไปจากราชสำนัก ระหว่างเดินทางไปเซบิยาเพื่อร่วมพิธีศพของกษัตริย์ผู้ล่วงลับ เลโอนอร์ เด กุซมันถูกจับกุมตัว โดยเธอถูกกล่าวหาว่าได้วางแผนสมคบคิดให้เอนริเก บุตรชายของตนได้ขึ้นกษัตริย์ บุตรของเลโอนอร์ได้ลุกฮือขึ้นก่อกบฏทั่วราชอาณาจักร พระเจ้าเปโดรจึงมีคำสั่งให้ประหารชีวิตเลโอนอร์ในตาลาเบราเดลาไรนา

ตลอดรัชสมัยของพระเจ้าเปโดรที่ 1 เอนริเกได้แสดงตนเป็นกบฏต่อพระเชษฐาต่างมารดา ในปี ค.ศ. 1353 พระเจ้าเปโดรได้อภิเษกสมรสกับบล็องแห่งบูร์บงซึ่งถูกกษัตริย์ทอดทิ้งหลังสมรสได้เพียงสองวันเนื่องจากข้อเรียกร้องทางการเงินของฝรั่งเศสและความเฉยเมยที่มีต่อกันของสองสามีภรรยา เป็นเหตุให้ความสัมพันธ์ของพระองค์กับฝรั่งเศสเกิดรอยร้าว อิทธิพลของมาริอา เด ปาดิยา ธิดาขุนนางกัสติยาซึ่งเป็นสนมลับของกษัตริย์มีบทบาทสำคัญทำให้พระองค์ตัดสินใจผิดสัญญากับฝรั่งเศส

ความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าเปโดรกับเอนริเกผู้เป็นพระอนุชาต่างมารดาลุกลามเป็นความขัดแย้งระดับนานาชาติเมื่ออังกฤษกับฝรั่งเศสซึ่งกำลังต่อสู้กันในสงครามร้อยปีได้ยื่นมือเข้ามายุ่ง เอนริเกได้ทำการปฏิวัติในอัสตูเรียสในปี ค.ศ. 1352 และปฏิวัติอีกครั้งในซิวดัดโรดริโกในปี ค.ศ. 1354 หลังพ่ายแพ้พระองค์ได้หนีไปฝรั่งเศสและได้สร้างสัมพันธไมตรีกับกษัตริย์ฝรั่งเศส ความขัดแย้งได้ขยายเข้าสู่ราชอาณาจักรอารากอนในปี ค.ศ. 1357 เมื่อเอนริเกหนีมาอารากอน พระเจ้าเปโดรที่ 4 แห่งอารากอนให้การสนับสนุนเอนริเก ขณะที่อินฟันเตเฟร์นันโด พระอนุชาของพระองค์ให้การสนับสนุนพระเจ้าเปโดร การห้ำหั่นกันระหว่างสองราชอาณาจักรอิสปาเนียเป็นจุดเริ่มต้นของการพิชิตปราสาทบิเฆสกาและตาราโซนาของกัสติยา ชื่อเสียงด้านความโหดเหี้ยมของพระเจ้าเปโดรเพิ่มมากขึ้นเมื่อพระองค์ได้ประหารชีวิตผู้คนมากมายจนทำให้ได้รับฉายานามว่าพระเจ้าเปโดรผู้โหดเหี้ยม

ด้วยความช่วยเหลือของทหารรับจ้างอังกฤษ กษัตริย์แห่งกัสติยายึดเมืองสำคัญของอารากอนได้หลายแห่ง เช่น เตรูเอล เกาเดเต และอาลิกันเต ในปี ค.ศ. 1358 ฟาดริเก อัลฟอนโซ ฝาแฝดของเอนริเกเดินทางมาเซบิยาเพื่อรับการอภัยโทษจากกษัตริย์ ทว่ากลับถูกจับกุมตัว บุตรชายนอกสมรสของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 11 สามารถหนีออกไปที่ลานของอัลกาซาร์ได้ แต่ก็ถูกสังหารโดยทหารของกษัตริย์ พงศาวดารบางฉบับกล่าวว่ากษัตริย์ได้สังหารพระอนุชาต่างมารดาด้วยน้ำมือพระองค์เอง

เอนริเกกลับมากัสติยาอีกครั้งพร้อมกับสมัครพรรคพวกของเบร์ตร็อง ดู เกสแกล็ง ด้วยความร่วมมือจากอารากอนและฝรั่งเศสชาติพันธมิตร พระองค์สามารถขับไล่พระเจ้าเปโดรออกจากประเทศได้สำเร็จ กษัตริย์ลี้ภัยไปอยู่ในกุยเยน ขณะที่เคานต์แห่งตรัสตรามาราประกาศตนเป็นกษัตริย์ในกาลาออร์รา พระเจ้าเปโดรที่ 1 ได้รับการช่วยเหลือจากกองทหารอังกฤษนำโดยเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ (หรือเจ้าชายดำ) และปราบพระเจ้าเอนริเกได้ที่สมรภูมินาเฆราซึ่งต่อสู้กันในวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1367

แต่ไม่นานกองทหารอังกฤษก็ถอนทัพออกไปจากกัสติยา เอนริเกกลับมาเคลื่อนไหวทางทหารอีกครั้งโดยทำการปิดล้อมเมืองโตเลโดและปราบกองทหารของกษัตริย์ได้ที่สมรภูมิมอนติเอลในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1369 ขณะถูกปิดล้อมอยู่ในปราสาทมอนติเอล พระเจ้าเปโดรที่ 1 หาทางเจรจากับเอนริเกและตกหลุมพรางที่พระอนุชาวางไว้ด้วยการให้เบร์ตร็อง ดู เกสแกล็งแกล้งทำเป็นรู้สึกผิดและเสนอตัวพากษัตริย์หลบหนี สุดท้ายพระองค์ถูกล่อลวงไปให้เอนริเกทำการฆาตกรรมและแย่งบัลลังก์กลับมาเป็นของตน

กษัตริย์แห่งกัสติยา[แก้]

ภาพเหมือนของพระเจ้าเอนริเกที่ 2 แห่งกัสติยา โดยโฆเซ มารีอา โรดริเกซ

การสวรรคตของพระเจ้าเปโดรที่ 1 เป็นการสิ้นสุดการปกครองกัสติยาของราชวงศ์บูร์กอญและเป็นการเริ่มต้นศักราชของราชวงศ์ตรัสตามารา การสร้างความมั่นคงทางอำนาจไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อมีเพียงฝรั่งเศสชาติเดียวที่ให้การสนับสนุนพระเจ้าเอนริเกที่ 2 ขณะที่พระองค์ต้องคุ้มกันตนเองจากการโจมตีของอังกฤษ, โปรตุเกส, และนาวาร์ ทั้งยังไม่สามารถควบคุมแคว้นต่างๆ เช่น กาลิเซีย, ซาโมรา, ซิวดัดโรดริโก และการ์โมนา ที่ยังคงซื่อสัตย์ต่ออดีตกษัตริย์ผู้ถูกฆาตกรรม

พระเจ้าเอนริเกเริ่มต้นด้วยการพระราชทานรางวัลให้แก่พันธมิตร แต่พระองค์รักษาผลประโยชน์ให้แก่ราชอาณาจักรด้วยการไม่ยอมยกอาณาเขตให้แก่กษัตริย์อารากอนตามที่เคยได้ข้อตกลงไว้ สำหรับการเมืองภายใน พระองค์ได้สร้างราชอาณาจักรที่ได้รับความเสียหายจากสงครามกลางเมืองขึ้นมาใหม่ ทรงเพิ่มอำนาจของกษัตริย์ วิกฤตทางเศรษฐกิจตามมาเมื่อพระองค์รักษาสัญญาด้วยการให้รางวัลแก่ขุนนางที่เคยช่วยพระองค์ต่อสู้กับพระเชษฐาต่างมารดา ทั้งยังต้องใช้เงินก้อนโตไปกับการทำสงครามภายในที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หลังชนะสงครามกลางเมือง พระองค์ได้นำกองทัพเข้าต่อสู้กับโปรตุเกส หลังยึดบรากังซาได้ พระองค์ได้ทำสนธิสัญญาสงบศึกอัลเกาชิงในปี ค.ศ. 1371 กับพระเจ้าเฟร์นังดูที่ 1 แห่งโปรตุเกส ศัตรูคนสำคัญในระดับนานาชาติของพระองค์คืออังกฤษซึ่งเป็นอดีตพันธมิตรของพระเจ้าเปโดร พระราชธิดาสองคนของพระเจ้าเปโดรที่เกิดจากมาเรีย เด ปาดียาได้สมรสกับพระราชโอรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ คือ กอนส์ตันซาสมรสกับจอห์นแห่งกอนท์ ดยุคแห่งแลงคัสเตอร์ และอิซาเบลสมรสกับเอ็ดมันด์ ดยุคแห่งยอร์ก อังกฤษมองว่าดยุคทั้งสองเป็นผู้สืบทอดที่ถูกต้องตามกฎหมายของบัลลังก์กัสติยา พระเจ้าเอนริเกที่ 2 จึงตัดสินใจเข้าร่วมสงครามร้อยปีโดยอยู่ฝั่งเดียวกับฝรั่งเศส กองทัพกัสติยาได้ร่วมกับกองทัพฝรั่งเศสปลดแอกลาโรเชลจากอังกฤษ สมรภูมิทางเรือลาโรเชลในปี ค.ศ. 1372 เป็นตัวแทนแสดงถึงชัยชนะของกัสติยาเหนืออังกฤษ ซึ่งส่งผลดีต่อการทหารและเศรษฐกิจของกัสติยา จากนั้นพระองค์กลับไปคุกคามโปรตุเกสอีกครั้งด้วยการยึดอัลเมดาและวีเซว และปิดกั้นท่าเรือลิสบอน กระทั่งพระเจ้าเฟร์นังดูยอมลงนามในสนธิสัญญาซังตาเร็ง ประกาศให้กองเรือโปรตุเกสอยู่ฝั่งฝรั่งเศสและกัสติยา

ต่อมาทรงนำทัพเข้าต่อสู้กับนาวาร์และได้รับชัยชนะจนนำไปสู่การทำสนธิสัญญาสงบศึกบริยอน สุดท้ายทรงทำศึกกับพระเจ้าเปโดรที่ 4 แห่งอารากอนซึ่งพ่ายแพ้ต่อพระองค์เช่นกันและได้มีการลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกอัลมาซานในปี ค.ศ. 1375 ในสนธิสัญญาทั้งสามฉบับที่ทำกับโปรตุเกส, นาวาร์ และอารากอน พระเจ้าเอนริเกที่ 2 ได้สร้างพันธมิตรผ่านทางการสมรสระหว่างพระโอรสธิดาของพระองค์กับพระโอรสธิดาของกษัตริย์ของอาณาจักรทั้งสาม อันเป็นจุดเริ่มของการขยายราชวงศ์

รูปแกะสลักหลุมศพของพระเจ้าเอนริเกที่ 2 แห่งกัสติยาในอาสนวิหารโตเลโด

การเคลื่อนไหวนอกประเทศของพระองค์ได้ยุติการถูกคุกคามอาณาเขตของกัสติยา พระองค์ได้รับการสนับสนุนจากตระกูลใหญ่ที่ได้รับพระราชทานทั้งอภิสิทธิ์ สิ่งของ และที่ดิน ในช่วงท้ายรัชสมัยพระองค์ถูกบีบให้กลับไปทำสงครามต่างแดนอีกครั้งในการรับมือการโจมตีร่วมกันของอังกฤษและนาวาร์ในปี ค.ศ. 1377 และได้มีการลงนามทำสนธิสัญญาสงบศึกซันโตโดมิงโกเดลากัลซาดาในปี ค.ศ. 1379 ก่อนที่พระองค์จะสวรรคต

พระเจ้าเอนริเกที่ 2 สวรรคตในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1379 ในซันโตโดมิงโกเดลากัลซาดา พงศาวดารบางฉบับกล่าวว่าพระองค์ถูกวางยาพิษตามคำสั่งของกษัตริย์แห่งกรานาดาซึ่งเคยเป็นพันธมิตรของพระเจ้าเปโดร หรือไม่พระองค์อาจสวรรคตด้วยโรคไขข้อ ผู้สืบทอดบัลลังก์กัสติยาต่อจากพระองค์คือพระเจ้าฆวนที่ 1 แห่งกัสติยา พระราชโอรสที่ต้องต่อสู้กับลูกหลานของพระเจ้าเปโดรเพื่อปกป้องสิทธิ์ในบัลลังก์ของตนเช่นกัน

การสมรสและทายาท[แก้]

พระเจ้าเอนริกาที่ 2 สมรสเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1350 กับฆัวนา มานูเอล เด บิเยนา เลดีแห่งบิเยนา, เอสกาโลนา และปัญญาฟิเอล ทั้งคู่มีพระราชโอรสธิดาด้วยกัน 3 คน คือ

  • ฆวน (ประสูติ ค.ศ. 1358) สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระราชบิดาเป็นพระเจ้าฆวนที่ 1 แห่งกัสติยา
  • เลโอนอร์ (ประสูติ ค.ศ. 1362) สมรสกับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งนาวาร์และเป็นพระราชินีคู่สมรสแห่งนาวาร์
  • ฆัวนา (ประสูติ ค.ศ. 1367) สิ้นพระชนม์ในวัยเด็ก

นอกจากนี้พระองค์ยังมีบุตรธิดานอกสมรสอีกจำนวนมาก

อ้างอิง[แก้]