ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระมไหยิกา ขัติยาวงษ์ศิริเสโฐวโรดม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระมไหยิกา
ขัติยาวงษ์ศิริเสโฐวโรดม
พระอัยยิกาเจ้า
ประสูติราว พ.ศ. 2317
ทิวงคตพ.ศ. 2408 (91 พรรษา)
พระตำหนักท่าโพธิ์ อุดงฦๅไชย กัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส
คู่อภิเษกสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ
พระราชบุตรนักองค์อิ่ม
นักองค์ด้วง
ราชวงศ์ตรอซ็อกผแอม (อภิเษกสมรส)
ศาสนาพุทธ

สมเด็จพระมไหยิกา ขัติยาวงษ์ศิริเสโฐวโรดม บรมวรากุล สกลมงคลอุดม บรมบพิตรเปนเจ้า (สวรรคต พ.ศ. 2408) พระนามเดิม รศ หรือ รด[1] เป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ หรือนักองค์เอง เป็นพระราชชนนีของสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี หรือนักองค์ด้วง และเป็นพระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร หรือนักองค์ราชาวดี

พระประวัติ

[แก้]

ถวายตัวเข้าเป็นฝ่ายใน

[แก้]

สมเด็จพระมไหยิกา ขัติยาวงษ์ศิริเสโฐวโรดม มีพระนามเดิมว่า รศ เข้ารับราชการเป็นบาทบริจาริกาตำแหน่งพระสนมชั้นพระแม่นางในสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ เมื่อครั้งยังประทับอยู่ในวังเจ้าเขมร ทางทิศใต้ของวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร ประสูติกาลพระโอรสพระองค์แรกชื่อ นักองค์อิ่ม (ต่อมาเป็น สมเด็จศรีไชยเชฐ พระมหาอุปราช) เมื่อ พ.ศ. 2337[2] ครั้น พ.ศ. 2338 สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณทรงสร้างพระราชวังขึ้นใหม่ในกรุงอุดงฦๅไชย แล้วตรัสให้ออกญาวัง (สัวะซ์) และออกญาวิบุลราช (เอก) เข้าไปยังกรุงเทพมหานคร กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ขอรับสมเด็จพระเอกกระษัตรี สมเด็จพระท้าว ท้าวมหากระษัตรี (พระมารดาเลี้ยง) นักนางโอด นักนางแก นักนางรศ รวมทั้งขุนนางและข้าของพระองค์กลับเมืองเขมร ซึ่งกษัตริย์สยามก็พระราชทานให้ครอบครัวออกจากกรุงเทพฯ เมื่อเดือน 7 ปีเถาะ[3] ครั้น พ.ศ. 2339 ปีมะโรง นักนางรศประสูติกาลพระราชโอรสอีกพระองค์หนึ่งคือนักองค์ด้วง[4] ครั้นเดือนเก้าปีเดียวกันนั้น สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณก็สวรรคต[4]

ในรัชสมัยของพระองค์เม็ญ นักนางรศถูกฝ่ายญวนนำไปไว้ที่ไซ่ง่อนและเว้ ตามลำดับ ภายหลังฝ่ายญวนพยายามจะผูกไมตรีกับนักองค์ด้วง จึงส่งนักนางรศ พระชนนี หม่อมกลีบ ภรรยา และพระธิดาของนักองค์ด้วงอีกหนึ่งพระองค์คืนกรุงพนมเปญ เมื่อแรม 8 ค่ำ เดือน 11 (ตรงกับวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2389)[5]

สมเด็จพระราชชนนี

[แก้]

เรื่องราวของพระองค์ปรากฏอีกครั้งเมื่อสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี หรือนักองค์ด้วง พระราชโอรสเสวยราชสมบัติครองกรุงกัมพูชา เพราะใน พ.ศ. 2391 ทรงตั้งพระนามแก่เจ้านายฝ่ายในและบรรดาศักดิ์บาทบริจาริกาในราชสำนักทั้งหมด ทรงพระกรุณาพระราชทานพระนามสมเด็จพระราชมารดาเป็น สมเด็จพระวรราชินีขัติยวงษ์ ศิริเสโฐวโรดม บรมวรากุล มงคลอุดม บรมบพิตรเปนเจ้า มีพระกรุณาให้ใช้ราชาศัพท์ และถวายพระลัญจกรสององค์ องค์หนึ่งเป็นรูปกินรี และอีกองค์เป็นรูปเทพธิดาสถิตย์อยู่ปราสาท[6] โดยสมเด็จพระวรราชินี (รศ) มีขุนนางที่ขึ้นต่อพระองค์สามคน ขุนนางเหล่านี้ปกครองสามจังหวัด ได้แก่จังหวัดเปร๊ยเวง อันลงราช และมุขกำปูล[7]

ครั้นสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2403 สมเด็จพระวรราชินีพร้อมด้วยเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางประชุมเพื่อสนองพระราชกระแสของสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี ที่จะพระราชทานพระบรมศพเป็นทานแก่สรรพสัตว์ เมื่อตกลงดังนั้นจึงแล่พระมังสาใส่พานเงินให้แก่สรรพสัตว์ หลังจากนั้นสมเด็จพระวรราชินีพร้อมด้วยขุนนางจึงอัญเชิญสมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์ มหาอุปราช ซึ่งเป็นพระราชนัดดา ขึ้นเสวยราชสมบัติสืบพระราชบิดา[8] ต่อมาเมื่อพระองค์เจ้าวัตถาและพระองค์เจ้าศิริวงษ์ทรงก่อการกบฏช่วง พ.ศ. 2404 พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารเกรงว่าทัพของข้าศึกจะตีอุดงฦๅไชยแตก จึงทรงนำพระปิโยพระบรมชาติกระษัตรี และบาทบริจาริกาที่เป็นหญิงทั้งหมดลงเรือหนีไปเมืองพระตะบอง เหลือแต่สมเด็จพระหริราชรัตไนไกรแก้วฟ้า (พระองค์เจ้าศรีสวัสดิ) กับสมเด็จพระวรราชินี (รศ) และสมเด็จพระราชธิดาอีกสองพระองค์ ยังคงประทับอยู่ในพระราชวังอุดงฦๅไชยเพื่อเฝ้าพระบรมศพสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี[9] ใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ระบุว่าสมเด็จพระมไหยิกามีบทบาทในการผสานความสัมพันธ์ระหว่างองค์พระหริราชรัตไนไกรแก้วฟ้า (นักองค์ศรีสวัสดิ) กับฝ่ายกบฏของพระยามหาฤทธิรงค์ชาญไชย (โสร์) และพระยากำแหงโยธา (แก้ว) ด้วยการว่ากล่าว และให้เข้าพิธีถือน้ำ ด้วยมุ่งให้ทั้งสองฝ่ายสมัครสมานดีต่อกัน[10]

สมเด็จพระอัยยิกาเจ้า

[แก้]

แรม 5 ค่ำ เดือน 5 ปีชวด ฉศก 1227 ตรงกับ พ.ศ. 2407 พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารทรงพระกรุณาโปรดให้จัดพระราชพิธีอภิเษกสมเด็จพระวรราชินี (รศ) พระอัยยิกา ถวายพระนามว่า สมเด็จพระมไหยิกา ขัติยาวงษ์ศิริเสโฐวโรดม บรมวรากุล สกลมงคลอุดม บรมบพิตรเปนเจ้า พร้อมกับถวายเครื่องอิสริยยศใหม่[11] แต่ในปีถัดมา ณ วันจันทร์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 12 ปีฉลู สมเด็จพระมไหยิกาเสด็จทิวงคต ณ พระตำหนักท่าโพธิ์ ใกล้เขาพระราชทรัพย์ในกรุงอุดงฦๅไชย สิริพระชนมายุ 91 พรรษา พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนขุนนางเดินทางจากกรุงพนมเปญไปอุดงฦๅไชย อัญเชิญพระโกศตั้งบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระราชวังสระสารพรรณยุค หลังจากนั้นทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางที่ขึ้นตรงต่อสมเด็จพระมไหยิกาไปขึ้นต่อสมเด็จพระวรราชินี (แป้น) ทั้งหมด[12]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. "พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 (83. สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีพระเจ้ากรุงกัมพูชาพิราลัย)". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 167
  3. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 171
  4. 4.0 4.1 ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 172
  5. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 296
  6. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 267
  7. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 277
  8. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 298
  9. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 312
  10. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4, หน้า 251
  11. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 331
  12. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 335
บรรณานุกรม
  • ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยาพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560. 360 หน้า. ISBN 978-616-514-575-6
  • ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563. 500 หน้า. ISBN 978-616-514-661-6
  • เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563. 336 หน้า. ISBN 978-616-514-668-5