ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระพนรัตน์ป่าแก้ว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระพนรัตน์
ส่วนบุคคล
นิกายเถรวาท
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดป่าแก้ว กรุงศรีอยุธยา
ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี

สมเด็จพระพนรัตน์ป่าแก้ว หรือ สมเด็จพระพนรัตน์วัดป่าแก้ว เป็นสมเด็จพระราชาคณะในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ประวัติ

[แก้]

สมเด็จพระพนรัตน์ป่าแก้ว มีประวัติตอนต้นอย่างไรไม่ปรากฏ แต่ได้อุปสมบทจนมีสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพนรัตน์ ซึ่งเป็นสมณศักดิ์เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี[1] พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าหลังสงครามยุทธหัตถี สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถทรงพระราชดำริว่าเหล่านายทัพนายกองตามเสด็จไม่ทันขณะรบ ปล่อยให้ช้างพระที่นั่งของทั้งสองพระองค์เข้าไปอยู่ท่ามกลางข้าศึก จึงรับสั่งให้เอานายทัพนายกองทั้งหมดไปจองจำไว้ 3 วัน พอพ้นวันอุโบสถแล้วจะให้สำเร็จโทษตามพระอัยการศึก[2]

เมื่อถึงวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันอุโบสถ[ก] สมเด็จพระพนรัตน์ป่าแก้วและพระราชาคณะ 25 รูป เข้ามาสอบถามเหตุที่ลงราชทัณฑ์นายทัพนายกอง แล้วถวายพระพรว่า พระโคตมพุทธเจ้าขณะประทับเพียงลำพังใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ปราศจากเทพเจ้าสักองค์อยู่ถวายอารักขา ก็ทรงชนะท้าววสวัตตีพร้อมทั้งกองทัพได้เป็นมหัศจรรย์ เช่นเดียวกันหากทรงมีชัยชนะเพราะมีทหารตามเสด็จจำนวนมาก ก็จะไม่เป็นพระเกียรติยศมหัศจรรย์ปรากฏต่อนานาประเทศ สมเด็จพระนเรศวรทรงพอพระทัยตรัสว่าสาธุ ๆ สมเด็จพระพนรัตน์จึงถวายพระพรต่อว่าข้าราชการเหล่านี้ทำงานมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน จึงขอพระราชทานบิณฑบาตโทษไว้สักครั้งหนึ่ง จะได้รับราชการต่อไป สมเด็จพระนเรศวรพระราชทานอภัยโทษตามที่ท่านขอ แต่จะให้ไปตีเมืองตะนาวศรี เมืองทวาย เป็นการแก้ตัวแทน สมเด็จพระพนรัตน์ถวายพระพรว่าแล้วแต่จะทรงสงเคราะห์ เพราะการรบไม่ใช่กิจของสงฆ์ แล้วถวายพระพรลา[3]

ความเชื่อ

[แก้]

พระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม) ได้มีนิมิต คืนหนึ่งท่านฝันว่า สมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ให้ท่านไปวัดใหญ่ชัยมงคล แล้วนำบทสวดที่ท่านจารึกถวายสมเด็จพระนเรศวรออกมาเผยแพร่ ต่อมาหลวงพ่อจรัญจึงได้พบจารึกบทสวดพุทธชัยมงคลคาถาต่อด้วยชัยปริตร ท่านเชื่อว่าบทสวดดังกล่าวสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ถวายให้สมเด็จพระนเรศวรสวดเป็นประจำ ทำให้ทรงรบชนะและปลอด ภัยกลับมา[4]

หมายเหตุ

[แก้]

พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือนอ้าย แต่ฉบับของบริติชมิวเซียม ว่าแรม 14 ค่ำ เดือนยี่[5] และฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน ว่าเป็นแรม 15 ค่ำ เดือนยี่[6]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. ตำนานคณะสงฆ์, หน้า 19
  2. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 182
  3. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 183
  4. แก่นแท้แห่งการสวดมนต์, หน้า 16-18
  5. ประชุมพงศาวดารภาคที่ 82 เรื่องพระราชพงศาวดารกรุงสยามจากต้นฉบับของบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน, หน้า 114
  6. พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน, หน้า 122
บรรณานุกรม
  • ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ตำนานคณะสงฆ์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2514. 76 หน้า. [พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางเล็ก พิณสายแก้ว วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2514]
  • ประชุมพงศาวดารภาคที่ 82 เรื่องพระราชพงศาวดารกรุงสยามจากต้นฉบับของบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน. กรุงเทพฯ : พิมพ์ครั้งที่ 2, กรมศิลปากร, 2537. 423 หน้า. ISBN 974-419-025-6
  • ประมวล วิทยบำรุงกล. แก่นแท้แห่งการสวดมนต์. กรุงเทพฯ : ธนชัยรุ่งเรืองพัฒนา, [ม.ป.ป.]. 96 หน้า.
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
  • ศานติ ภักดีคำ. พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน. พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2558. 558 หน้า. หน้า (35)-(50). ISBN 978-616-92351-0-1 [จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพพระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔)]