วินัย จุลละบุษปะ
วินัย จุลละบุษปะ | |
---|---|
สารนิเทศภูมิหลัง | |
เกิด | 12 มิถุนายน พ.ศ. 2465 วัฒนา จุลละบุษปะ จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 14 กันยายน พ.ศ. 2542 (77 ปี) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
คู่สมรส | ศรีสุดา รัชตะวรรณ (พ.ศ. 2499 - พ.ศ. 2542) |
อาชีพ | นักร้อง |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2485 - พ.ศ. 2542 |
ผลงานเด่น | เพลงพรหมลิขิต ฟลอร์เฟื่องฟ้า เย็นลมว่าว ดาวล้อมเดือน |
สังกัด | วงดนตรีสุนทราภรณ์ |
วินัย จุลละบุษปะ (12 มิถุนายน พ.ศ. 2465 — 14 กันยายน พ.ศ. 2542) เป็นอดีตนักร้องนำวงดนตรีสุนทราภรณ์ และหัวหน้าวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และวงสังคีตสัมพันธ์ ต้นฉบับเพลงที่รู้จักคุ้นหูกันดี เช่น พรหมลิขิต ฟลอร์เฟื่องฟ้า เย็นลมว่าว ดาวล้อมเดือน ทะเลบ้า ทาสน้ำเงิน ดาวจุฬา ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่ท่านจะร้องเพลงในจังหวะแทงโก้จนได้รับฉายาว่า ราชาแทงโก้
ประวัติ
[แก้]เบื้องต้น
[แก้]วินัย จุลละบุษปะ เดิมชื่อ วัฒนา จุลละบุษปะ เป็นบุตรของรองอำมาตย์โท ขุนประมาณธนกิจ (วงศ์ จุลละบุษปะ) และนางน้อม เกิดที่บ้านข้างวัดมหรรณพาราม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2465 อันเป็นช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 6 มีพี่น้อง 5 คน เป็นบุตรคนโต ใน 5 คน ในสมัยที่ยังเป็นเด็กขุนประมาณธนกิจผู้เป็นพ่อรับราชการเป็นคลังจังหวัดซึ่งต้องโยกย้ายไปตามจังหวัดต่าง ๆ อยู่เสมอ ทำให้ต้องย้ายโรงเรียนตามพ่อบ่อย ๆ ครอบครัวของคุณวินัยอยู่ที่กาฬสินธุ์หลายปี ที่สุดจึงมาเรียนในกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนวัดราชบพิธกระทั่งสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยม 6 ส่วนสถานที่พักคือบ้านของแม่ที่สี่เสาเทเวศร์ซึ่งได้อยู่อาศัยต่อมาอีกนาน พ่อและแม่ของท่านไม่เกี่ยวพันกับวงการเพลง ในขณะที่คุณวินัยชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เล็ก ๆ และนักร้องที่ชื่นชอบคือ ครูล้วน ควันธรรมซึ่งเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงมากในยุคนั้น
โลกเสียงเพลง
[แก้]เมื่อจบการศึกษาแล้วญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งซึ่งรู้จักกับทางกรมโฆษณาการ เห็นว่าท่านรักการร้องเพลงจริงจึงช่วยฝากงานที่กรมโฆษณาการให้ จากจิตใจอันแน่วแน่ที่จะเป็นนักร้องอาชีพ ระหว่างยังไม่สอบบรรจุวิชาข้าราชการพลเรือนตามระเบียบ ท่านได้ไปฝึกหัดร้องเพลงกับครูเวส สุนทรจามร ซึ่งเป็นรองหัวหน้าวงดนตรีกรมโฆษณาการ รองจากครูเอื้อ สุนทรสนาน ที่บ้านข้างถนนตะนาวจนเข้าที่ ครูเวสได้สอนหลักการร้องให้แก่คุณวินัยพร้อมกับศิษย์อีกคนคือ คุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี ครูวินัยร้องเพลงอยู่กับวงสุนทราภรณ์จนได้บรรจุเป็นข้าราชการกรมโฆษณาการเมื่อ พ.ศ. 2488 ขณะที่คุณวินัยอายุได้ 23 ปี หลังจากสอบบรรจุเป็นข้าราชการแล้ว ชีวิตต่อจากนี้ก็อยู่กับเสียงเพลงตลอดและไม่เคลื่อนย้ายไปทำงานที่ไหนเลย รวมแล้วรับราชการอยู่ที่กรมโฆษณาการซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกรมประชาสัมพันธ์นานถึง 38 ปี กระทั่งปลดเกษียณเมื่อ พ.ศ. 2526 คุณวินัยเคยหัดเล่นไวโอลิน แต่ก็ไม่เอาจริงเอาจังแต่อย่างใด
การเป็นนักร้องของคุณวินัยไม่มีข้อมูลว่าเคยไปร้องเพลงประกวดตามงานวัดที่ไหนบ้าง ท่านออกร้องเพลงต่อสาธารณชนจริง ๆ เป็นครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์โอเดียน โดยครูเวสพาไปร้องเพลง "ทาสน้ำเงิน" ที่ครูเวสแต่งทำนอง ครูเอิบ ประไพเพลงผสมแต่งคำร้อง เพลงนั้นขึ้นต้นว่า " รำพึงครวญคิดชีวิตเรา มีความโศกเศร้าหมองหม่น ก็เนื่องด้วยความยากจน ต้องจำทนทุกข์เวทนาอาวรณ์ … " ปรากฏว่าจากรูปลักษณ์อัน "ไม่หล่อ" ที่ปรากฏต่อสายตาสาธารณชนครั้งแรกทำให้ผู้คนแสดงอาการฮือฮา หัวเราะขำว่านักร้องคนนี้เห็นจะร้องเพลงไม่ได้การเป็นแน่ แต่ที่ไหนได้ด้วยเสียงอันนุ่มเย็นแจ่มชัดเท่านั้น ผู้ฟังทุกคนก็พลันนั่งฟังอย่างเงียบกริบกระทั่งจบเพลงก็ปรบมือให้ด้วยความชื่นชมอย่างสนั่นหวั่นไหว นับแต่นั้นชื่อวินัยก็เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไป ท่านอัดเพลงลงแผ่นเสียงเป็นเพลงแรกเมื่อปีใดไม่ทราบ ทราบแต่ว่าเพลงแรกที่อัดลงแผ่นคือเพลงเรารักกัน บันทึกเสียงโดยห้างกมล สุโกศล ส่วนเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้เป็นอย่างมากคือ เย็นลมว่าว ที่ขึ้นต้นว่า เย็น .. ยามเมื่อเย็นลมว่าว … เมื่อถึงหน้าร้อนหรือหน้าว่าวคราวใด ทุกคนที่ได้ฟังเพลงนี้จะรู้สึกปลอดโปร่งชื่นชมในสายลมและท้องฟ้ายิ่งนัก
ชีวิตรักของคุณวินัยเป็นไปอย่างเรียบง่าย หลังพ.ศ. 2495 ที่ศรีสุดา รัชตะวรรณ นักร้องสาวคนหนึ่งเข้ามาอยู่ในวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ด้วย ทั้งสองท่านก็ต้องตาต้องใจกระทั่งผูกสมัครรักใคร่และแต่งงานร่วมครองรักกันตั้งแต่ พ.ศ. 2499
คุณวินัยเริ่มดำรงตำแหน่งหัวหน้าวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์แทนครูเอื้อ สุนทรสนาน ซึ่งเกษียณอายุเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2515 และเกษียณอายุเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2526 ในระหว่างเป็นหัวหน้าวง
บั้นปลายชีวิต
[แก้]หลังเกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ. 2526 วินัยและศรีสุดาได้ร่วมกันตั้งวงดนตรีชื่อว่า วงดนตรีสังคีตสัมพันธ์ โดยมีครูเสถียร ปานคง อดีตข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ เป็นผู้ควบคุมวง [1]
วินัย จุลละบุษปะถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2542 อายุ 77 ปี พิธีพระราชทานเพลิงศพ จัดขึ้น ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร เมื่อวันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2542
ผลงานเพลง
[แก้]วินัย จุลละบุษะปะ ขับร้องไว้ทั้งหมด 300 กว่าเพลงและเป็นนักร้องนำของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์และวงดนตรีสุนทราภรณ์ โดยได้รับฉายาว่า "ราชาแทงโก้" ซึ่งมาจากเพลงที่มีจังหวะแทงโก้หลายเพลงที่วินัยร้องไว้ ซึ่งผลงานเพลงที่ได้รับความนิยม เช่น
ฟอร์เฟื่องฟ้า, พรหมลิขิต, เย็นลมว่าว, พรานล่อเนื้อ, น้ำตาลใกล้มด, กลิ่นสไบนาง, ม่านมงคล, ดาวล้อมเดือน, กลิ่นแก้มนาง, จ้าวไม่มีศาล, กลิ่นเนื้อนาง, น่าน้อยใจ, ทะเลบ้า, กลิ่นร่ำ, ปทุมไฉไล ,ปทุมมาลย์, เสียดายเดือน, แรกเจอ, สุดสงวน, คำสารภาพ, ทาสน้ำเงิน, แว่วเสียงเธอ, มนต์เทวี, พันธุ์ไม้เลื้อย, สั่งธาร, เพ็ญโฉม, ในอ้อมพฤกษ์, แจ่มใจ, ลืมไม่ลง, ยอดกัลยาณี, ถ้าเธอรักฉัน, คอยขวัญใจ, มนต์สวาท, คอยนาง, บุหรงทอง, ดาวจุฬา, ห่วงอาลัย, ชั่วคืนเดียว, นางบุญใจบาป, ม่านฟ้า, ทาสรัก, จอมนางในดวงใจ, จอมขวัญพี่, จูบลมชมเงา, คิมหันต์หัวหิน, คิดไม่ถึง, ตกดึกนึกเศร้า, ขวัญมอดินแดง, ท่องทะเลทอง เป็นต้น
และมีหลายผลงานเพลงที่ร้องคู่กับนักร้องท่านอื่นๆ ที่ได้รับความนิยม เช่น
ชื่นชีวิต(นำหมู่คู่ศรีสุดา), กำพร้าคู่(คู่ชวลี ), ชะรอยบุญ(คู่ชวลี ), พายเรือพลอดรัก(คู่ชวลี), ดวงเดือน(คู่ชวลี), ลาวดวงดอกไม้(คู่ชวลี), กระแต(คู่ชวลี), ฝากลมจูบ(คู่ชวลี ), ระฆังสั่งลา(วรนุช), บ้านนา(วรนุช), กระต่ายโง่(คู่มัณฑนา), กระท่อมรัก(คู่ชวลี), จะทำยังไง(คู่เอื้อ,เลิศ), ผิดนัด(คู่สุปาณี), หงส์กับกา(คู่รวงทอง), ลมรัก(คู่ชวลี), เสี่ยงเทียนเสี่ยงรัก(คู่ชวลี), เซ็งลี้ฮ้อ(คู่สุปาณี), โยสลัม(คู่เอื้อ), รักใครกันแน่(คู่ศรีสุดา,เลิศ,สมศักดิ์ เทพานนท์), อ่างหิน(คู่วรนุช), จันทร์จูบฟ้า(คู่ชวลี ), ถ้ารักกันลั่นเปรี้ยง(นำหมู่คู่มัณฑนา), ครูสอนรักคู่(ศรีสุดา), เอื้อไพร(คู่ชวลี ), เริงรัก(นำหมู่คู่ศรีสุดา), ดอกฟ้าร่วง(คู่มัณฑนา), ดีกันนะ(คู่ชวลี ), ค่ำนี้มีสุข(นำหมู่คู่ศรีสุดา), ผู้หญิงนะหรือ(คู่เอื้อ) เป็นต้น
คุณวินัย จุลละบุษปะ มักจะได้ขับร้องเพลงคู่กับคุณชวลี ช่วงวิทย์นักร้องสาวร่วมวงดนตรีสุนทราภรณ์เป็นประจำ
อ้างอิง
[แก้]- ไพบูลย์ สำราญภูติ. เพลงลูกกรุง, TK Park Music Library ชุดดนตรีไทย. กรุงเทพ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, พ.ศ. 2550. 168 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 978-974-8218-82-3
- ประวัติ วินัย จุลละบุษปะ เก็บถาวร 2007-07-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากบ้านคนรักสุนทราภรณ์
- ↑ "ประวัติ ศรีสุดา รัชตะวรรณ จาก เว็บสุนทราภรณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-10. สืบค้นเมื่อ 2008-03-14.