วัดไทรอารีรักษ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดไทรอารีรักษ์
แผนที่
ที่ตั้งตำบลโพธาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดไทรอารีรักษ์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ในตำบลโพธาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

ประวัติ[แก้]

จากใบเสมาของวัดซึ่งเป็นหินทรายแดงแผ่นย่อม ๆ กำหนดอายุได้ในสมัยอยุธยาตอนปลาย เข้าใจว่าเดิมเป็นวัดร้าง ต่อมาชาวมอญที่อพยพมาจากพม่าได้เดินทางมาถึงวัดนี้ซึ่งมีวิหารตั้งอยู่แต่เดิมแล้วจึงได้บูรณปฏิสังขรณ์ ทำให้สันนิษฐานว่าวัดนี้อาจจะมีอายุตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยา แต่อุโบสถได้มาสร้างใหม่ในราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2353 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2360[1]

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อุโบสถก่ออิฐถือปูน สร้างอย่างท้องถิ่นภาคกลาง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ด้านหน้าและด้านหลังมีมุขลดด้านละ 1 ห้อง ช่อฟ้าใบระกาปูนปั้นประดับกระจก หน้าบันตกแต่งด้วยปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษา[2]

ภายในอุโบสถมีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้งสี่ด้านภายใน ซึ่งเป็นภาพจิตรกรรมไทยประเพณี แต่แสดงภาพแนวตะวันตก เช่น เครื่องแต่งกายของผู้คน อาคารสถาปัตยกรรมต่าง ๆ มีภาพพระอดีตพระพุทธเจ้า เขียนเป็นภาพพุทธประวัติ ตอนแห่พระบรมศพโดยมีหีบศพแบบมอญที่เรียกว่า ลุ้ง ตั้งอยู่ในราชรถ ตอนหนึ่งเป็นการละเล่นในงานถวายเพลิงพระบรมศพของพระพุทธเจ้า เห็นชายนุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อราชปะแตน ใส่หมวก ถือไม้เท้า (มีหนวดด้วย) มีชาวมอญนุ่งโสล่ง แต่ใส่เสื้อราชปะแตนและสวมหมวก สตรีชาวมอญมีผ้าคาดอก คล้องสไบ มีทั้งชาวจีน กระเหรี่ยง จนถึงชาวไทยแต่งแบบฝรั่ง และมีการเชิดหน้าใหญ่หนังตะลุง[3]

รอบอุโบสถมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองในกำแพงแก้ว ทรงเป็นแบบพื้นบ้าน นอกกำแพงแก้วมีเจดีย์ใส่กระดูก มีทั้งทรงระฆังและทรงอื่น ๆ ที่ดูคล้ายธาตุลาวด้วย คงจะเป็นที่บรรจุอัฐิของชาวลาวที่อยู่ในชุมชนมอญนี้

วิหารมีศิลปะลาว ภายในวิหารมีเก๋งจีนขนาดใหญ่ สร้างเป็นมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทโลหะซึ่งมีรอยสนิม คาดว่าคงเคยอยู่กลางแจ้งมาก่อน

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดไทรอารีรักษ์". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. จิรนันท์ คอนเซพซิออน. "รอยอดีตแห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ตอนที่ ๒ วัดมอญ : วัดไทรอารีรักษ์ (ตอนจบ)". สำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี.
  3. ""วัดไทรอารีรักษ์" ชมเก๋งจีน 100 ปี จิตรกรรมฝาผนังล้ำค่า สืบสานตำนานชาวมอญ". ผู้จัดการออนไลน์.