วัดเสลารัตนปัพพะตาราม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเสลารัตนปัพพะตาราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดเสลารัตนปัพพะตาราม, วัดไหล่หิน, วัดไหล่หินหลวงแก้วช้างยืน, วัดป่าหิน, วัดม่อนหินแก้ว
ที่ตั้งอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดเสลารัตนปัพพะตาราม (ไทยถิ่นเหนือ: ) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดไหล่หิน หรือ วัดไหล่หินหลวงแก้วช้างยืน และในบางครั้งชาวบ้านรุ่นก่อน ๆ เรียกว่า วัดป่าหิน หรือ วัดม่อนหินแก้ว เป็นวัดที่ตั้งอยู่ใน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่ ดร.ฮันส์ เพนธ์ ได้พบคัมภีร์ใบลานที่เก่าแก่ที่สุดของวัด ระบุจุลศักราช 833 หรือ พ.ศ. 2014

ตำนานของวัดกล่าวไว้ว่า ช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 ในสมัยของพระมหาป่าเกสรปัญโญ เป็นระยะที่มีการก่อสร้างและบูรณะเสนาสนะต่าง ๆ มากมาย เนื่องจากท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีผู้นับถือมากมาย เล่ากันว่าครั้งที่ท่านธุดงค์ไปถึงเชียงตุง ท่านได้มอบกะลามะพร้าวซีกหนึ่งให้ชายคนหนึ่ง จากนั้นท่านก็กลับมาลำปาง โดยไม่ได้บอกชายผู้นั้นว่าท่านอยู่ที่ใด ต่อมาชายคนนั้นได้ตามมาหาท่านจนพบที่วัดไหล่หิน แล้วนำกะลามาประกอบเข้าเป็นหนึ่งเดียว ชายคนดังกล่าวเกิดความศรัทธาแรงกล้า ได้ขอบูรณะวัดและก่อสร้างวิหารหลังที่เห็นปัจจุบันขึ้นในปี พ.ศ. 2226

สถาปัตยกรรม[แก้]

สถาปัตยกรรมวัดไหล่หิน เป็นรูปแบบพุทธศาสนาแบบล้านนา ประกอบด้วยลานหน้าวัดหรือข่วงสำหรับกิจกรรมและปลูกต้นโพธิ์ วิหารโถง ศาลาบาตรและลานทราย และมีเจดีย์ท้ายวิหาร แบบล้านนาซึ่งเชื่อว่าบรรจุพระบรมธาตุ มีรูปแบบจำลองภูมิจักรวาล คือวิหารเปรียบเสมือนชมพูทวีป เจดีย์เปรียบเหมือนเขาพระสุเมรุ และลานทรายเปรียบเสมือนมหานทีสีทันดร

ส่วนพุทธาวาสก่อสร้างอย่างสวยงาม และมีขนาดส่วนที่ค่อนข้างเล็กกะทัดรัด อาคารต่าง ๆ ก่อสร้างด้วยอิฐฉาบปูน ประดับปูนปั้น ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว วิหารมีลักษณะสกุลช่างลำปาง ซึ่งจะมีลักษณะอ่อนช้อยน้อยกว่าสกุลช่างเชียงใหม่ คือหลังคาจะมีลักษณะแอ่นโค้งเพียงเล็กน้อย เรียกวิหารแบบนี้ว่า ฮ้างปู้ หมายถึง ร่างการของผู้ชาย เป็นวิหารโถง หลังคาซ้อน 3 ชั้น 2 ตับ มุง กระเบื้องดินเผาปลายตัด ที่น่าสนใจคือ เครื่องลำยองของวิหารนี้มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการบูรณปฏิสังขรณ์ ทำให้มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เป็นแบบไทยภาคกลาง

ซุ้มประตูโขงวัดไหล่หินนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับวัดพระธาตุลำปางหลวง แต่มีการประดับตกแต่งที่แตกต่างกันบ้าง คือมีการใช้ตุ๊กตาดินเผาประดับ นอกจากเสนาสนะและบริเวณที่ทางวัดได้อนุรักษ์และดูและเป็นอย่างดี ยังมีคัมภีร์โบราณและโบราณวัตถุที่ทางวัดได้เก็บรักษาไว้เป็นจำนวนมาก บางสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตำนานของวัดเช่น กะลามะพร้าว และบาตรของพระมหาป่าเกสรปัญโญ

กรมศิลปากรได้ประกาศวัดไหล่หินขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โดยกำหนดขอบเขตในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 97 ตอนที่ 195 ลงวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2523 สิ่งที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน คือ วิหารทรงล้านนา พระธาตุเจดีย์ พระอุโบสถ ซุ้มประตูกำแพงแก้ว และหอธรรม นอกจากนี้ในปี 2550 ยังได้ขึ้นเป็นอาคารอนุรักษ์จากสมาคมสถาปนิกสยาม

อ้างอิง[แก้]