วัดเทพนิมิตร (จังหวัดปัตตานี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเทพนิมิตร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดเทพนิมิตร, วัดบ้านกลาง
ที่ตั้งตำบลบ้านกลาง อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดเทพนิมิตร หรือ วัดบ้านกลาง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลบ้านกลาง อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี

ประวัติ[แก้]

วัดเทพนิมิตรเป็นวัดเก่าที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาหรือกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เดิมชื่อ วัดบ้านกลาง น่าจะสร้างก่อนวัดศรีสุดาจันทร์ เพราะจากข้อมูลของวัดศรีสุดาจันทร์ ได้กล่าวไว้ว่าวัดเทพนิมิตหรือวัดบ้านกลางตั้งอยู่ไม่ไกลกัน มีชาวมุสลิมตั้งบ้านเรือนอยู่โดยรอบวัดพระสงฆ์ไม่สะดวกในการดำรงชีพจึงได้ออกมาสร้างวัดใหม่ขึ้นชื่อว่า วัดศรีสุดาจันทร์ อีกแหล่งข้อมูลระบุว่า วัดสร้างโดยพ่อท่านสีแก้ว ต่อมาท่านมรณภาพ พระอาจารย์หัวมายกับอาจารย์จุ้ย ช่วยกันสร้างต่อ แต่ท่านทั้งสองออกธุดงค์เสียก่อน พระอธิการสุกจึงดำเนินมาจนแล้วเสร็จ ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2398 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานวัดเทพนิมิต ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 118 ตอนพิเศษ 118 ตอนพิเศษ 127 ง. ลงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2544 หน้า 5

วัดเทพนิมิตรประสบเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 พุทธศาสนิกชนที่อาศัยอยู่รอบวัดเริ่มอพยพโยกย้ายออกจากพื้นที่ ทำให้วัดเทพนิมิตรกลายสภาพดินแดนแทรกทางชาติพันธุ์ เพราะถูกรายล้อมด้วยชุมชนชาวไทยเชื้อสายมลายูมุสลิม[1] กระทั่งวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557 มีกลุ่มคนร้ายใช้อาวุธปืนโจมตีรถของทหารพรานคุ้มครองพระบิณฑบาต ทำให้ทหารพรานเสียชีวิตหนึ่งนาย บาดเจ็บหนึ่งนาย และพระยาน พรหมนุกูล พระภิกษุวัดเทพนิมิตรมรณภาพ[2][3][4] วัดจึงอยู่ในสภาพร้างอยู่ประมาณ 10 ปี

กระทั่งพระอาจารย์เรวัต ถิรสัทโธ หรือ ท่านเวาะ จากวัดตุยง เข้ามาเป็นเจ้าอาวาสวัดเทพนิมิตรเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 วัดกลับมาเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา[1] เจ้าอาวาสรูปนี้มีพื้นเพมาจากอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ทั้งยังมีศาสนสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนมุสลิมโดยรอบ เพราะท่านมีบรรพบุรุษเป็นมลายูมุสลิม ญาติพี่น้องส่วนใหญ่ก็ยังเป็นมุสลิม เมื่อวัดจัดกิจกรรมสำคัญก็มักจะมีชาวมุสลิมคอยให้การสนับสนุนอยู่เสมอ[5]

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 มีคนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปในวัดเทพนิมิตร ทำให้กุฏิได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต[3][4][6]

สิ่งก่อสร้าง[แก้]

อุโบสถของวัดมีขนาด 12.5 เมตร ยาว 20.5 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีประตูเข้าด้านหน้าสองประตู ด้านหลังหนึ่งประตู มีหน้าต่างด้านละ 5 บาน โดยมีซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นปูนปั้น ทรงมงกุฎ หลังคาลดชั้น 3 มีปีกนกรอบ มุ้งกระเบื้องดินเผาประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ฐานอาคารก่ออิฐถือปฤูน มีชานรอบ ผนังอุโบสถก่ออิฐถือปูน จิตรกรรมฝาผนังเขียนโดยนายจันทร์ เป็นภาพสีฝุ่นเรื่องพุทธประวัติ ทศชาติชาดก พระพุทธบาท พระมาลัย พระยาฉัททันต์ เมขลารามสูร[7] ยักษ์และลิงในเรื่อง รามเกียรติ์ โดยมีจารึกประกอบภาพจิตรกรรม ระบุว่า "จาฤกไว้เมื่อ จุลศักราช 1225 ปีกุล เบญศก (พ.ศ. 2406)"[8]

ส่วนกุฏิซึ่งชำรุดทรุดโทรม ก็ได้รับช่วยเหลือจากชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธและอิสลามร่วมกันสร้างขึ้นใหม่ จนเป็นที่กล่าวขานถึงความเป็นน้ำหนึ่งน้ำใจเดียวระหว่างศาสนิกจากสองศาสนา[3][4]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "วัดเทพนิมิต...สัญญะแห่งสามัคคีของสองศาสนิกชายแดนใต้". อิศรา. 21 กุมภาพันธ์ 2562. สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "ใต้ระอุยิงทหารพราน รปภ.พระ ดับ1 ภิกษุมรณภาพ บึ้มธารโต ตร.พลีชีพ". อิศรา. 24 มกราคม 2557. สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 "ยิงถล่มวัดเทพนิมิต ปะนาเระ สัญลักษณ์ร่วมใจพุทธ-มุสลิม". อิศรา. 21 กุมภาพันธ์ 2562. สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 มารียัม อัฮหมัด (21 กุมภาพันธ์ 2562). "เจ้าหน้าที่คุมตัว 5 ผู้ต้องสงสัยก่อเหตุยิงวัดเทพนิมิต ปะนาเระ". BenarNews. สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. พาฝัน หน่อแก้ว (13 มีนาคม 2564). "'อาเละฮ์ งาโซะฮ์' วัฒนธรรมช้างภาคใต้ พิธีเปลี่ยนวิถีเลี้ยงช้างแบบพุทธ สู่วิถีช้างอิสลาม". The Momentum. สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. "ยิงถล่มวัดเทพนิมิต จ.ปัตตานี ป่วนศูนย์รวมใจชาวพุทธ-มุสลิม". Workpoint News. 21 กุมภาพันธ์ 2562. สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. "วัดเทพนิมิต(วัดบ้านกลาง)". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.
  8. "วัดเทพนิมิตร". องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกลาง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-28. สืบค้นเมื่อ 2021-09-28.