วัดราชมณเฑียร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดราชมณเฑียร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดราชมณเฑียร, วัดมณเฑียร
ที่ตั้งตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดราชมณเฑียร เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

ประวัติ[แก้]

วัดราชมณเฑียร หรือ วัดมณเฑียร ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 1974 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554[1] เป็นวัดแรกที่พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์สมัยราชวงศ์มังราย ทรงสร้างขึ้นเมื่อพระองค์ทรงราชาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองเมืองเชียงใหม่ โดยได้รื้อพระตำหนักราชมณเฑียรส่วนพระองค์มาสร้างเป็นวัด พระองค์ทรงพระราชทานนามวัดนี้ว่า "วัดราชมณเฑียร" ดังปรากฏข้อความว่า

"เมื่อ พ.ศ. ๑๙๗๔ เดือน ๗ ในปีนั้นชาวเมืองทั้งหลายพร้อมกันปลงศพ พระยาสามฝั่งแกน แล้วจึงอาราธนาเอาลูกท่าน ชื่อท้าวลกมากินเมืองเชียงใหม่ เดือน ๘ ออก ๕ ค่ำ เม็งวันอังคาร ได้ราชาภิเษกชื่อว่า อาทิตตราชดิลก หรือ ติโลกราช และท่านรู้ข่าวว่า พระมหาญาณคัมภีร์เถรเจ้า ไปเอาศาสนามารอด ท่านก็ยินดีมากนัก และพระยาอาทิตย์ และพระมหาเทวี จึงพร้อมกันให้รื้อหอราชมณเฑียรหลังเก่าไปสร้างที่พระมหาเถรเจ้าจักอยู่ และได้ชื่อว่า วัดราชมณเฑียร ดังนี้แล"[2]

เมื่ออาณาจักรล้านนาล่มสลาย ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า วัดในอาณาจักรล้านนาจึงรกร้าง กระทั่งเมื่อพระเจ้ากาวิละได้กอบกู้เอกราชของแคว้นล้านนาคืนมา จึงได้บูรณะวัดราชมณเฑียรขึ้นใหม่

อาคารเสนาสนะ[แก้]

วิหารลายคำศิลปะล้านนา เป็นวิหาร 2 ชั้น ประดับลวดลายปูนปั้น และลายคำแบบล้านนา วิหารมีสภาพชำรุดมากจนในสมัยพระมหาชัชวาล โชติธฺมโม เป็นเจ้าอาวาส ได้สร้างวิหารหลังใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 จนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2549 ภายในวิหารลายคำประดิษฐานพระพุทธรูปหินทราย

ปูชนียวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระพุทธรูปเก่าแก่ เช่น พระประธานวิหาร ซึ่งเคยประดิษฐานอยู่ที่วิหารวัดมณเฑียรหลังเดิม พระพุ่ม 9 ตื้อ เป็นพระพุทธรูปที่สร้างพร้อมกับพระเจ้าเก้าตื้อ ของวัดสวนดอก พระเจ้าพุ่ม หรือ พระพุ่ม พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนาผสมสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ รวมทั้งพระประธานประจำอุโบสถหลังเก่า และมีพระพุทธรูปองค์ที่พระมหาญาณคัมภีร์นำมาจากศรีลังกา พระเจ้าหลวงทันใจ หน้าตักกว้าง 5.5 เมตร สูง 11 เมตร ที่สร้างขึ้นด้วยจิตศรัทธาของพุทธศาสนิกชน เมื่อครั้งมีการบูรณะวัด[2][3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดราชมณเฑียร". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. 2.0 2.1 ""วัดมณเฑียร" วัดแรกของกษัตริย์ราชวงศ์มังราย". คมชัดลึก.
  3. "วัดราชมณเฑียร สุดยอดวิหารลายคำติดคูเมือง เชียงใหม่".