วัดพันเตา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพันเตา
วิหารหอคำ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพันเตา, วัดปันเต้า
ที่ตั้งตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดพันเตา เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 86 ตารางวา

วัดพันเตา หรือ วัดปันเต้า สร้างเมื่อ พ.ศ. 1934 เป็นวัดร่วมสมัยเดียวกับวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เนื่องจากเคยเป็นเขตสังฆาวาสของวัดโชติการาม (วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร) มีตำนานปฐมเหตุการตั้งเมืองเชียงใหม่ สมัยลัวะปกครองเล่าว่า "เศรษฐีผู้หนึ่งหื้ออยู่กลางเวียง ทั้ง 5 คนนี้มีชื่อว่า เศรษฐีพันเท้า เขาก็ได้ตั้งคุ้มอยู่ตามคำเจ้าระสีแล" จึงสันนิษฐานว่าวัดพันเตาในอดีตเป็นบริเวณบ้านของเศรษฐีคนดังกล่าว ต่อมาจึงได้ตั้งวัดพันเตาขึ้นในสมัยพระเจ้าแสนเมือง ขณะที่อีกตำนานหนึ่ง กล่าวว่า เดิมเป็นสถานที่ตั้งเส้าจำนวนพันเตาหลอมทองหล่อพระพุทธรูปอัฎฐารส ซึ่งประดิษฐานในวิหารวัดเจดีย์หลวง เมื่อทำการหล่อพระเสร็จแล้ว ชาวเมืองจึงสร้างวัดขึ้นในบริเวณนั้นเรียกว่า "วัดพันเตา"[1]

เสนาสนะที่สำคัญ คือ วิหารหอคำสร้างด้วยไม้สัก เดิมเป็นหอคำของพระเจ้ามโหตรประเทศ ท่านได้สร้างขึ้นเมื่อได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์และตำแหน่งจากพระยาอุปราชขึ้นเป็นพระยาเชียงใหม่มหาวงศ์ จึงได้สร้างหอคำขึ้นไว้ประดิษฐานพระพุทธรูป ปัจจุบันวิหารหอคำนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อ พ.ศ. 2523 ภายในประดิษฐาน พระเจ้าปันเต้า (พันเท่า) มีความหมายอันเป็นมงคลว่า "มีความสำเร็จเพิ่มพูนเป็นร้อยเท่าพันเท่า" ด้านหลังวิหารหอคำ คือเจดีย์ทรงระฆังบนฐานแปดเหลี่ยม รายล้อมด้วยเหล่าเจดีย์ราย[2]

วัดยังมีโบราณวัตถุ คือ ธรรมาสน์โบราณ สร้างโดยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เมื่อ พ.ศ. 2416 โดยสร้างคู่กับองค์พระประธานในวิหารหอคำ[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. ""วัดพันเตา" จากคุ้มเจ้าหลวงสู่วิหารไม้สัก". เชียงใหม่นิวส์. 6 พฤศจิกายน 2561.
  2. "วัดพันเตา". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  3. "บันทึกประเทศไทย ฉบับที่ 99 จังหวัดเชียงใหม่ (วัดทั่วไทย)". p. 82–83.