วัดพรหมทินใต้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพรหมทินใต้
แผนที่
ที่ตั้งบ้านพรมทินใต้ หมู่ที่ 11 ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี
ประเภทวัดราษฏร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญพระพนัสบดี ศรีทวารวดี
เวลาทำการทุกวัน
จุดสนใจโบราณสถานวัดพรหมทินใต้ และหลุมขุดค้นทางโบราณคดี
เว็บไซต์วัดพรหมทินใต้
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดพรหมทินใต้ เป็นวัด ตั้งอยู่หมู่ที่ 11 ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี เป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี โดยมีโบราณสถาน , แหล่งขุดค้นทางโบราณคดี , พิพิธภัณฑ์วัตถุโบราณ , หลวงพ่อพระพุทธพรหม สูง 9 เมตร (หล่อเสร็จในวันเดียว) และยังมีพระพนัสบดีที่ขุดค้นพบในบริเวณวัดซึ่งมีอายุกว่า 1,300 ปี ปัจจุบันมีพระอธิการสายันต์ อินทวัณโณ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]

  • ทิศเหนือ ติดกับวัดพรหมทินเหนือ ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี
  • ทิศตะวันออก ติดกับตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี
  • ทิสตะวันตก ติดกับวัดสระเตยน้อย ตำบลหนองทรายขาว อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
  • ทิศใต้ ติดกับวัดบ้านคลอง ตำบลหนองทรายขาว อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี

ประวัติ[แก้]

วัดพรหมทินใต้ และแหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ ตั้งอยู่ที่บ้านพรหมทินใต้ หมู่ที่ 11 ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี วัดพรหมทินใต้ สร้างขึ้นเป็นวัดตั้งแต่ปี พุทธศักราช 2375 เดิมเรียกว่า วัดโพธิ์ศรีสว่าง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พุทธศักราช 2380 พื้นที่ของวัดตั้งอยู่บนที่ราบสูง คณะสงฆ์สังกัดมหานิกาย มีที่ดิน 27 ไร่ 2 งาน 98 ตารางวา แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ท่านบอกว่าประมาณ 30-40 ปีก่อนมีการใช้สถานที่ของวัดเป็นโรงเรียนสำหรับใช้สอนเด็กๆในท้องถื่น และต่อมามีการสร้างโรงเรียนขึ้นทดแทน นั่นคือโรงเรียนบ้านพรหมทิน อยู่กึ่งกลางระหว่างวัดพรหมทินใต้และวัดพรหมทินเหนือ ซึ่งวัดนี้เคยมีเชื้อพระวงศ์เดินทางมาร่วมพิธีทอดกฐินหลายครั้ง เช่น ท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร ซึ่งเป็นพระมารดาของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ

การค้นพบซากโบราณสถาน[แก้]

พระอุโบสถ
หลวงพ่อพระพุทธพรหม
โบราณสถานวัดพรหมทินใต้

โบราณสถานของวัดมีสภาพเป็นเนินดิน ที่ถูกสร้างทับลงบนตัวโบราณสถานเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยทวารวดี เมืองพรหมทินใต้แผนที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู มีลำน้ำโพนทองไหลผ่านทางด้านทิศตะวันออก เนินดินมีการปลูกทำไร่พริกและปรับเป็นพื้นที่ทำการเกษตร ปัจจุบันยังคงเหลือแนวอิฐทางใต้ และคูเมืองเดิมบ้างทางทิศตะวันออก และมีพระอุโบสถตั้งอยู่ด้านบนเนินดิน มีฐานอิฐล้อมรอบตัวโบสถ์ ด้านหลังมีเจดีย์สามองค์แต่ปัจจุบันเหลือเพียงเฉพาะฐานของเจดีย์เท่านั้น และนอกจากนี้ยังมีใบเสมาที่มีสภาพสมบูรณ์ประมาณ 5 ใบที่สามารถยังมองเห็นลวดรายได้อย่างชัดเจน และภายในพระอุโบสถก็มีพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวบ้านนิยมมาสักการบูชาอยู่เสมอ คำเล่าว่าเมื่อประมาณร้อยกว่าปีได้มีชาวอิสานที่เดินทางมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อทำการค้าวัวควาย และได้ตั้งหลักปักฐานอยู่ที่นี่จนกลายเป็นหมู่บ้านและสืบลูกหลานมาจนถึงปัจจุบัน

การตั้งถิ่นฐานของชาวบ้าน[แก้]

คำเล่าว่าเมื่อประมาณร้อยกว่าปีได้มีชาวอิสานที่เดินทางมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อทำการค้าวัวควาย และได้ตั้งหลักปักฐานอยู่ที่นี่จนกลายเป็นหมู่บ้านและสืบลูกสืบหลานมาจนถึงปัจจุบัน และในปัจจุบันชาวบ้านยังนิยมใช้ภาษาลาวในการพูดคุยและสนทนากันอยู่ และมีการสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน น่าเป็นที่ชื่นชบว่าชาวบ้านยังคงอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่นเอาไว้อยู่เสมอ

พระพนัสบดี ศรีทวารวดี[แก้]

วัดพรหมทินใต้ได้มีการขุดค้นพบพระพุทธรูปเก่าชื่อว่าพระพนัสบดี ปัจจุบันทางวัดได้จัดเก็บไว้ที่กุฏิของเจ้าอาวาส ก่อนที่ทางวัดจะขุดค้นพบพระดังกล่าวได้มีชายในหมู่บ้านคนหนึ่งชื่อ นายทอง โพธะนัน ได้นิมิตถึงพระพนัสบดี พอรุ่งเช้าได้นำวัวมากินหญ้าที่วัด และได้ทำการขุดตรงบริเวณที่ตนได้ฝันถึงอยู่หลายวัน แต่ก็ยังขุดไม่พบอะไร และเป็นที่น่าแปลกว่าเมื่อนายทองขุดที่ไรก็ยิ่งรู้สึกง่วงนอน และในขณะเดียวกันนายสมบัติ ฉลาดคิด จึงได้ทำการติดต่อกับทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดลพบุรี เพื่อขอเครื่องมือในการขุดมาช่วยทำการขุดบริเวณดังกล่าว และอีกไม่นานก็ขุดพบก้อนหินประหลาดชิ้นหนึ่งในวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2535 และหลังจากนั้นทางวัดได้ทำการติดต่อกรมศิลปากรเพื่อทำการตรวจสอบดูว่าสิ่งที่ขุดพบคืออะไร ซึ่งทำการตรวจสอบแล้วพบว่าสิ่งที่ขุดพบคือ พระพนัสบดี

พระพนัสบดี วัดพรหมทินใต้เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีอายุประมาณ 1,200-1,300 ปี และเป็นศิลปะที่มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับศิลปะมอญในภาคกลาง แกะสลักจากหินสีดำ ประทับยืนบนหลังสัตว์ประหลาดซึ่งเป็นสัตว์ที่เกิดจากจินตนาการ องค์ประทับยืนจีวรห่อหุ้ม พระเกศาหมุ่น พระกรรณยาวจรดพระพาหา พระหัตถ์ทั้งสองข้างตั้งฉากกับพระวรกาย กริยาทรงแสดงธรรม ความสูงจากพระบาทถึงพระเกศ 21 เซนติเมตร วัดพรหมทินใต้ได้ถวายนามเกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์นี้ไว้ว่า พระพนัสบดี ศรีทวารวดี วัดพรหมทินใต้

โบราณสถานวัดพรหมทินใต้[แก้]

โบราณสถานวัดพรหมทินใต้ ประกอบไปด้วยแนวกำแพงรอบนอกทั้งสองด้าน และด้านในก็มีแนวกำแพงล้อมรอบตัวโบราณสถานและมีใบเสมา ส่วนด้านหลังนั้นมีฐานเจดีย์ 3 องค์ ซึ่งตั้งอยู่บนเนินดิน ซากโบราณสถานก่อด้วยอิฐ มีประวัติการสร้างที่ยาวนานนับพันปี เป็นสถานที่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์และและภายในพระอุโบสถนั้นประกอบไปด้วยพระประธานและพระพุทธรูปอื่นๆอีกหลายองค์ ตัวพระอุโบสถนั้นสร้างด้วยสังกะสีที่ชาวบ้านพรหมทินใต้ร่วมกันสร้างขึ้น ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของ ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี และเป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้ที่สำคัญอีกที่หนึ่ง และกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ใน พ.ศ. 2479

พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายใน[แก้]

ปัจจุบันตัวของโบราณสถานวัดพรหมทินใต้นั้นชาวบ้านเรียกว่าโบสถ์เก่าที่ชาวบ้านร่วมใจกันสร้างโดยใช้สังกะสี และนำพระพุทธรูปไปประดิษฐานเอาไว้ภายใน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อโบสถ์ ซึ่งตัวโบราณสถานไม่มีการปรับแต่งหรือเพิ่มเติมแต่อย่างใด เพราะเพื่อเป็นการอนุรักษ์โบราณสถานเอาไว้ให้คงเดิมจนถึงปัจจุบัน และมีการปลูกฝังให้ลูกหลานรู้จักการอนุรักษ์และพัฒนาท้องถิ่น ทั้งทางด้านพิธีกรรมและประเพณีที่สื่บทอดกันมาแต่โบราณ

โบราณสถานวัดพรหมทินใต้ มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ซึ่งโบราณสถานแห่งนี้เป็นที่ประกอบพิธีกรรม ทางศาสนา สภาพทั่วไปเป็นลักษณะเป็นพระอุโบสถดังปรากฏใบเสมาอยู่ล้อมรอบ และนอกจากนั้นยังมีองค์เจดีย์อยู่สามองค์ ต่อมาในสมัยอยุธยาได้มีการสร้างทับลงไปในตัวโบราณสถานเดิมและในปัจจุบันมีสภาพเป็นเนินดิน บริเวณรอบๆมีลำน้ำใหลผ่าน ซึ่งบริเวณเป็นที่ราบสูงของภาคกลางอยู่ทางทิศตะวันตกสภาพทั่วไปในปัจจุบันจะเหลือเพียงฐานของโบราณสถาน และใบเสมาอยู่ประมาณ 4-5 ใบ ในส่วนของเจดีย์ด้านหลังก็เหลือเพียงฐานเท่านั้น

การพัฒนาโบราณสถาน[แก้]

ในอดีตนั้นบริเวณโดยรอบนั้นเป็นท้องทุ่งนามาก่อน หลังจากที่มีการสร้างวัดจึงได้มีการขยายพื้นที่ของวัดให้มีพื้นที่เพียงพอ และความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนจึงได้มีการซื้อที่ดินถวายให้กับวัดจึงได้มีการพัฒนาจากทุ่งนาให้เป็นวัดจนถึงปัจจุบัน และตั้งแต่มีการขุดค้นแต่งซากโบราณสถานแห่งนี้ ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ก็มีการพัฒนาและปรับปรุงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางโบราณสถานและวัตถุตลอดยังเป็นสถานที่ศึกษาประวัติความเป็นมาตั้งแต่ยุคทวารวดี อยุธยา มาจนถึงยุคปัจจุบัน ในปัจจุบันได้มีหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนให้การสนับสนุนในการพัฒนา และนอกจากนี้ยังมีการขุดค้นพบซากโครงกระดูกที่มีอายุราว 3,000 ปีอีกด้วย ประกาศขึ้นทะเบียน ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 หน้า 906 วันที่ 2 สิงหาคม 2479

ก่อนปี 2553 ทางวัดและชาวบ้าน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการเสนอเรื่องไปทางจังหวัดเพื่อให้ทางจังหวัดนำไปดำเนินการต่อ และโบราณสถานวัดพรหมทินใต้ได้รับการบูรณะและปรับแต่งโดยกรมศิลปากร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 และมีการขุดค้นค้นและพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน

แหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้[แก้]

แหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ ตั้งอยู่ที่วัดพรหมทินใต้ หมู่ที่ 11 ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ปี พ.ศ. 2529 กรมศิลปากรได้เข้ามาสำรวจในเขตจังหวัดลพบุรี ซึ่งได้พบเมืองโบราณหลายแห่งรวมไปถึงแหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ จากการสำรวจครั้งนั้นพบหลักฐานประเภทเศษภาชนะดินเผาตั้งแต่เนื้อธรรมดาจนถึงเนื้อแกร่ง ไม่ค่อยมีการตกแต่งมากนักเพราะว่าน่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นในชุมชน และยังพบเครื่องถ้วยแบบจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง ภาชนะรูปแบบไหขอม เครื่องเคลือบจากกลุ่มเตาศรีสัชนาลัย รวมทั้งยังพบภาษาบาลี อักษรปัลลวะ (พุทธศตวรรษที่ 11-12) และอักษรปัลลวะ (พุทธศตวรรษที่ 13)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นและขุดแต่งภายในวัดพรหมทินใต้ บริเวณด้านข้างพระอุโบสถหลังเก่า โดยได้ทำการบูรณะพระอุโบสถหลังเก่าหลังเก่าในสมัยอยุธยา

ในปี พ.ศ. 2547 ผศ.ดร.ธนิก เลิศชาญฤทธิ์ นำคณะนักศึกษาจากภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทำการขุดค้นบริเวณด้าน ทิศตะวันตกของ พระอุโบสถ หลักฐานที่พบได้แก่โครงกระดูกมนุษย์ สิ่งที่พบร่วมกับโครงกระดูก เช่น ภาชนะดินเผารูปทรงต่างๆ (เกือบทั้งหมด มีการตกแต่งผิวด้วยการขัดมัน) ชั้นดินมีความหนาเฉลี่ยประมาณ 100 เซนติเมตร เป็นชั้นที่วางตัวอยู่ถัดขึ้นมาจากชั้นดินก่อนสมัยประวัติศาสตร์ตอนปลายหลักฐานที่พบ เช่น ภาชนินเผาแบบต่างๆโดยเฉพาะภาชนะแบบมีสัน ลูกปัดแก้ว เบี้ยดินเผา ชิ้นส่วนพวยกา หินดุ ฯลฯ (ราวพุทธศตวรรษที่ 11-13)

พบโครงกระดูกพร้อมภาชนะดินเผารูปทรงต่าง ๆ กำไลสำริด ลูกปัด เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือเหล็ก สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ซึ่งอาจจะรวมถึงยุคสำริดตอนปลาย

หลวงพ่อพระพุทธพรหม[แก้]

พระพุทธพรหม หรือ หลวงพ่อพระพุทธพรหม เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ภายในวัดพรหมทินใต้ หมู่ที่ 11 ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก มีความสูง 9 เมตร ไม่รวมฐาน ภายในบรรจุสิ่งของอันมีค่าและรวมไปถึงได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อให้ประชาชนได้บูชาสัการะ ซึ่งทำการหล่อเสร็จในวันเดียว คือ วันอาทิตย์ที่ 4 เดือนมีนาคม 2555 โดยมีผู้บริจาคหลักคือ คุณนิรันดร พานทอง , คุณสุมะนา พานทอง ประธานสร้างหลวงพ่อพระพุทธพรหม

ถาวรวัตถุภายในวัด[แก้]

  • พระอุโบสถ 1 หลัง ซึ่งไม่รวมกับโบราณสถานของวัด
  • ศาลาการเปรียญ 2 หลัง หลังแรกใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนาในงานระดับย่อม ส่วนศาลาหลังใหม่ปัจจุบันยังก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จเพราะเป็นศาลาขนาดใหญ่จึงจำเป็นต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก
  • วิหาร 1 หลัง (ประดิษฐานพระพนัสบดี ศรีทวารวดี) ด้านบนศาลาการเปรียญหลังใหม่
  • กุฏิสงฆ์ มีทั้งหมดทั้งหมด 3 หลัง
  • พิพิธภัณฑ์ เพื่อจัดแสงวัตถุโบราณ 1 หลัง
  • ฌาปณสถาน 1หลัง
ด้านหลังวัดพรหมทินใต้ เดือนเมษายน 2555

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

อ้างอิง[แก้]