วัดบึงพระลานชัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดบึงพระลานชัย
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 116 ถนนประชาธรรมรักษ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายเถรวาท ธรรมยุติกนิกาย
พระประธานพระชินสีห์ศากยมุนี พระพุทธชินราช
พระพุทธรูปสำคัญพระสัมมาสัมพุทธมุนี พระพุทธมงคลมิ่งเมือง พระบรมสารีริกธาตุ
เจ้าอาวาสพระพรหมวชิรโสภณ (ศรีจันทร์ ปุญฺญรโต)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดบึงพระลานชัย พระอารามหลวง เป็นวัดเก่าแก่โบราณ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และสังคม เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของทางราชการทุกยุคทุกสมัย และเป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการเมืองร้อยเอ็ด มีสระชัยมงคล เป็นสระโบราณศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง มีใบเสมาเก่าแก่สมัยทวารดี และศิลาแลงสมัยเมืองฟ้าแดดสงยาง[1]

ตั้งอยู่เลขที่ 116 ถนนประชาธรรมรักษ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดการปกครองคณะสงฆ์ธรรมยุต สร้างเมื่อ พ.ศ. 2318 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2464 ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2521[2]

ประวัติ[แก้]

เมื่อปี พ.ศ. 2318 พระขัติยะวงษา (ธน ธนสีลังกูร) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด คนที่ 1 ได้ชักชวนข้าราชการ พ่อค้าประชาชนถากถางป่าดงพงหญ้า ซึ่งเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นเป็นวัดและให้ชื่อว่า "วัดบึงพระลานชัย" แต่ชาวบ้านนิยมเรียกสั้นๆว่า "วัดบึง" พื้นที่ทั่วไปเป็นเนินสูงราบเรียบ มีสระน้ำ 1 แห่ง มีไม้ยืนต้นร่วมรื่น[3] เมื่อเวลาผ่านไปจึงกลายเป็นวัดร้างตามกาลเวลา

พ.ศ. 2430 หลวงสงกรานต์วิศิษฐ์ โดยการสนับสนุนของพระยาขัติยะวงษา (เภา ธนสีลังกูร) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด คนที่ 7 ได้นำข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน และผู้ต้องขังช่วยกันถากถางป่า ฟื้นฟูบูรณะวัดเก่าแก่โบราณ ซึ่งรกร้างมานาน ขึ้นเป็นวัดอีกครั้งหนึ่ง เพราะถือว่าบริเวณนี้มีความสำคัญ คือ[4]

  1. เป็นวัดโบราณ ถือเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านชาวเมือง
  2. อยู่ใกล้ชิดติดกับบึงพลาญชัย
  3. เป็นเนินสูง เป็นลานสวยงาม
  4. เป็นที่ประกอบพิธีกรรมฉลองชัยชนะ จากการรบทัพจับศึกของเจ้าบ้าน เจ้าเมืองสมัยโบราณ

จึงได้รับการอุปถัมภ์จากพระยาขัติยะวงษาเอกธิกะสตานันท์ (เหลา ณ ร้อยเอ็ด) เจ้าเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัด และข้าหลวงบริเวณเมืองมาโดยตลอด ต่อมาจึงได้อาราธนาพระครูเอกุตตรสตาธิคุณ จากอำเภอธวัชบุรี มาเป็นเจ้าอาวาส

พ.ศ. 2456 ทางราชการได้จัดตั้งกรมทหารม้าขึ้นที่มณฑลร้อยเอ็ด ทางราชการจึงได้อาราธนา พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ เจ้าอาวาสวัดบึงพระลานชัย เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดสระทอง และมหาเสวกโทพระยารณชัยชาญยุทธ (ถนอม บุณยเกตุ) สมุหเทศาภิบาลมลฑลร้อยเอ็ด ได้ไปอาราธนาพระครูวินัยธรหล้า จากวัดบวรนิเวศวิหาร จังหวัดพระนคร มาเป็นเจ้าอาวาสแทน

พ.ศ. 2464 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา จึงได้เริ่มสร้างพระอุโบสถ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2465[5]

วัดบึงพระลานชัย เมื่อมองจากฝั่งบึงพลาญชัย

พ.ศ. 2521 ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2521

ที่ตั้งและขนาด[แก้]

วัดบึงพระลานชัยตั้งอยู่เลขที่ 116 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด มีเนื้อที่ 10 ไร่ 2 งาน 92 ตารางวา

อาณาเขตติดต่อ[แก้]

ทิศเหนือ ติดต่อที่ดินของชาวบ้าน

ทิศใต้ ติดต่อถนนทองทวี

ทิศตะวันออก ติดต่อถนนสุนทรเทพ

ทิศตะวันตก ติดต่อถนนประชาธรรมรักษ์

สิ่งปลูกสร้างที่สำคัญภายในวัด[แก้]

พระอุโบสถ[แก้]

พระอุโบสถ วัดบึงพระลานชัย
พระชินสีห์ศากยมุนี พระประธานในอุโบสถ วัดบึงพระลานชัย

ได้เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2465 เสร็จเมื่อ พ.ศ. 2468 บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งแรก พ.ศ. 2486 ต่อมา พ.ศ. 2507 ได้บูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้ง เป็นครั้งที่ 2 ครั้นเมื่อปี พ.ศ. 2528 พระอุโบสถได้ชำรุดทรุดโทรมลงมาก จึงได้ทำการรื้อถอนพระอุโบสถหลังเก่าออก และดำเนินการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2528 ภายในประดิษฐานพระชินสีห์ศากยมุนี เป็นพระประธานในพระอุโบสถ หล่อด้วยทองเหลือง หน้าตักกว้าง 1.27 เมตร สูง 1.75 เมตร พร้อมด้วยพระอัครสาวกซ้าย - ขวา (พระโมคคัลลานะ - พระสารีบุตร) หล่อด้วยทองเหลือง สูง 1.50 เมตร ที่ฐานชุกชีชั้นล่างประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง หล่อด้วยทองเหลือง หน้าตักกว้าง 69 นิ้ว สูง 107 นิ้ว พร้อมด้วยพระอัครสาวกซ้าย - ขวา ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ และครอบครัว พร้อมด้วยญาติมิตร สร้างถวายเมื่อปี พ.ศ. 2527 ภายในเป็นที่เก็บรักษาธรรมาสน์สังเค็ดงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานสำหรับวัดบึงพระลานชัย ในงานพระบรมศพ ลักษณะเป็นธรรมาสน์ปิดทองลายฉลุ ทำลวดลายอย่างง่าย[6]

หอพระไตรมิ่งเมือง[แก้]

เป็นสมบัติคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดร้อยเอ็ด ศูนย์รวมของสิ่งมิ่งมงคลต่าง ๆ ลักษณะเป็นอาคาร 4 ชั้นทรงไทย

หม้อน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในหอพระไตรมิ่งเมือง ชั้นที่ 1

ชั้นที่ 1 ประดิษฐานหม้อน้ำพระพุทธมนต์

ชั้นที่ 2 ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง พระชัยมงคล 9 องค์ ประกอบด้วยพระชัยมงคลทองคำ, พระชัยมงคลนาก, พระชัยมงคลสัมฤทธิ์, พระชัยมงคลเงิน, พระชัยมงคลงาช้าง, พระชัยมงคลนอแรด, พระชัยมงคลหยก, พระชัยมงคลแก้ว และพระชัยมงคลแก่นจันทร์

พระแก้วมรกต ประดิษฐานภายในหอพระไตรมิ่งเมือง ชั้น 3

ชั้นที่ 3 ประดิษฐานพระไตรปิฎก พระแก้วมรกต และพระบรมสารีริกธาตุ

สระชัยมงคล[แก้]

เป็นสระโบราณศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัด ในครั้งโบราณนั้น เมื่อต้องการใช้น้ำพระพุทธมนต์ประกอบพระราชพิธี เช่น น้ำอภิเษก, น้ำบรมราชาภิเษก และน้ำพิพัฒนัสัตยา เป็นต้น เจ้าเมืองจะให้ราชบุรุษไปพลีกรรมเพื่อนำเอาน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์มาประกอบพิธีทุกครั้ง

พระลานชัย (หน้าพระอุโบสถ)[แก้]

เป็นพระลานที่ประกอบพิธีกรรม ฉลองชัยชนะ และพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา

หอระฆัง[แก้]

เป็นอาคารคอนกรีต 3 ชั้น หลังคาทรงไทย ภายในมีระฆังซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากาญจนากร ทรงสร้างถวาย เมื่อปี พ.ศ. 2467

ลำดับเจ้าอาวาส[แก้]

วัดบึงพระลานชัย มีลำดับเจ้าอาวาสที่ครองตั้งแต่อดีต ดังนี้[7]

ลำดับที่ รายนาม ปีที่ดำรงตำแหน่ง
1 พระครูหลักคำแก้ว ไม่ทราบปี
2 พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ (โมง) พ.ศ. 2430 - 2465
3 พระครูวินัยธรหล้า พ.ศ. 2465 - 2469
4 พระครูคุณสารพินิจ (ดี) พ.ศ. 2470 - 2491
5 พระศีลคุณวิสุทธิ์ (แก้ว) พ.ศ. 2492 - 2514
6 พระพรหมวชิรโสภณ (ศรีจันทร์ ปุญฺญรโต) พ.ศ. 2515 - ปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. ความสำคัญของวัด [1]
  2. กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ยกวัดราษฏร์เป็นพระอารามหลวง [2]
  3. วัดบึงพระลานชัย (พระอารามหลวง)[3]
  4. ความเป็นมาของวัด [4]
  5. ประวัติความเป็นมาวัดบึงพระลานชัย  พระอารามหลวง [5]
  6. ธรรมาสน์ หน้า 16 หนังสือที่ระลึกกฐินพระราชทานคุรุสภา [6]
  7. ลำดับเจ้าอาวาสวัดบึงพระลานชัย [7]