วัดธาตุ (อำเภอเมืองขอนแก่น)
วัดธาตุ | |
---|---|
![]() | |
ที่ตั้ง | เลขที่ 237 ถนนกลางเมือง (บ้านเมืองเก่า) ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น |
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ |
นิกาย | เถรวาท มหานิกาย |
พระประธาน | พระพุทธธรรมขันตโสภิตมหามงคล |
พระพุทธรูปสำคัญ | พระลับ |
เจ้าอาวาส | พระราชพัฒนวัชรบัณฑิต (สุกันยา อรุโณ) |
![]() |
วัดธาตุ เดิมเรียกกันว่า วัดธาตุนครเดิม หรือวัดเหนือ เป็นวัดโบราณเก่าแก่ สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นวัดที่พระนครศรีบริรักษ์บรมราชภักดี (เพียเมืองแพน) ต้นตระกูลเสนอพระ อดีตเจ้าเมืองขอนแก่นคนแรกสร้างขึ้น เพื่อเป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลของเจ้าเมือง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ราวปี พ.ศ. 2332 พร้อมกับการสร้างวัดอื่น ๆ ในเมืองขอนแก่นอีกหลายวัด ตามธรรมเนียมการปกครอง และประเพณีนิยมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[1]
วัดธาตุ เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ 237 ถนนกลางเมือง (บ้านเมืองเก่า) ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2508[2] ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2521[3]
ประวัติ[แก้]
พ.ศ. 2335 ท้าวสัก ตำแหน่งเพียเมืองแพน อยู่บ้านชีโหล่น เมืองสุวรรณภูมิ ได้ชักชวนครอบครัวได้ประมาณ 330 ครอบครัว อพยพมาตั้งบ้านเรือนขึ้นใหม่อีกแห่งหนึ่ง เรียกว่า บ้านบึงบอน ต่อมา พ.ศ. 2340 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระบรมราชโองการยกฐานะให้เป็น "เมืองขอนแก่น" แต่งตั้งให้ "ท้าวสัก" เป็นเจ้าเมืองขอนแก่นคนแรก มีนามว่า "พระนครศรีบริรักษ์" เนื่องจากชนชั้นปกครองเมืองต่าง ๆ ในภาคอีสาน ซึ่งมีเชื้อสายเนื่องมาจากนครเวียงจันทน์ เมื่อท้าวเมืองแพน หรือพระนครศรีบริรักษ์บรมราชภักดี ได้ตั้งเมืองขอนแก่นขึ้นที่บ้านบึงบอน จึงได้เริ่มสร้างวัดขึ้น 4 วัด ตามธรรมเนียมการปกครอง และประเพณีนิยมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[4] คือ
- วัดเหนือ อยู่ทางทิศเหนือของตัวเมือง หรืออยู่ทางต้นน้ำ สำหรับเป็นสถานที่ชุมนุมทำบุญของเจ้าเมือง ปัจจุบัน คือ วัดธาตุ พระอารามหลวง
- วัดกลาง อยู่กึ่งกลางระหว่างวัดเหนือกับวัดใต้ สำหรับเป็นที่ชุมนุมทำบุญของประชาชนทั่วไป ปัจจุบัน คือ วัดกลาง
- วัดใต้ อยู่ทางทิศใต้ของตัวเมือง หรืออยู่ทางใต้ของสายน้ำ ปัจจุบัน คือ วัดหนองแวง พระอารามหลวง
- วัดท่าแขก สำหรับพระภิกษุอาคันตุกะจากถิ่นอื่นมาพัก และประกอบพุทธศาสนพิธี ปัจจุบันคือ วัดโพธิ์[5]
พ.ศ. 2486 ได้จัดตั้งสำนักเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา เปิดสอนนักธรรม - บาลี
พ.ศ. 2529 โรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา ได้ขอเปิดขยายโอกาสทางการศึกษาขึ้น โดยขอเป็นสาขาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุ กรุงเทพ ฯ ในนาม "มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาเขตขอนแก่น" เปิดสอนในระดับอุดมศึกษา คณะพุทธศาสตร์
พ.ศ. 2531 เปิดศูนย์การศึกษาโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เพื่อให้โอกาสแก่เยาวชนที่สนใจได้ศึกษาประวัติ และหลักธรรมของพระพุทธศาสนา
พ.ศ. 2535 โรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา เปิดสอนแผนกสามัญศึกษา พ.ศ. 2536 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาเขตขอนแก่น เปิดสอน 2 คณะ คือ คณะครุศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์
ในปัจจุบัน วัดธาตุ ได้มีการจัดการศึกษา 5 แผนก คือ
- แผนกนักธรรม เปิดสอนนักธรรมตรี - นักธรรมเอก
- แผนกบาลี เปิดสอนและส่งเข้าสอบบาลีสนามหลวง
- แผนกปริยัติสามัญ เปิดสอน มัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6
- แผนกอุดมศึกษา (มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น) เปิดสอน 5 สาขาวิชา 7 วิชาเอก
- โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์
ปัจจุบันได้ดำเนินการพัฒนาวัดธาตุ พระอารามหลวง อย่างที่บูรพาจารย์เคยปฏิบัติมา โดยเฉพาะวัดธาตุ ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของการศึกษาของคณะสงฆ์จังหวัดขอนแก่น จึงมีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษาเพื่อศึกษาและปฏิบัติศาสนกิจปีละประมาณ 150 รูป ดังนั้น จึงได้แบ่งการปกครองออกเป็น 7 คณะ ตามหมายเลขประจำกฏิ หรือกลุ่มกุฏิ โดยมีเจ้าคณะแต่ละรูปทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส ดูแลปกครองและสงเคราะห์พระภิกษุสามเณรภายในคณะ ให้ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย ระเบียบกติกาของวัด และให้ได้รับความสัปปายะตามสมควรแก่ฐานะ
ที่ตั้งและขนาด[แก้]
วัดธาตุ ตั้งอยู่เลขที่ 237 ถนนกลางเมือง (บ้านเมืองเก่า) ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น มีเนื้อที่ 12 ไร่
อาณาเขตติดต่อ[แก้]
ทิศเหนือ ติดต่อกับที่ดินเอกชน
ทิศตะวันออก ติดต่อกับซอยนิการสำราญ 5 และถนนรอบบึง
ทิศใต้ ติดต่อกับซอยกลางเมือง 4
ทิศตะวันตก ติดต่อกับถนนกลางเมือง
ลำดับเจ้าอาวาส[แก้]
วัดธาตุ เริ่มตั้งแต่สร้างวัด เมื่อราว พ.ศ. 2332 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นต้นมา ไม่สามารถหาหลักฐานได้แน่ชัดว่ามีเจ้าอาวาสครองวัดนี้มาแล้วกี่รูป แต่เท่าที่มีหลักฐานแน่นอนปรากฏ ดังนี้[6]
ลำดับ | รายนาม | ปีที่ดำรงตำแหน่ง |
---|---|---|
1 | พระครูพุทธา พุทฺธสโร | พ.ศ. 2430 - 2473 |
2 | พระครูบับ ปญฺญาวโร | พ.ศ. 2479 - 2484 |
3 | พระครูวิเวกธรรมปฏิบัติ (พั้ว พุทฺธโชโต) | พ.ศ. 2484 - 2490 |
4 | พระธรรมวิสุทธาจารย์ (เหล่ว สุมโน ป.ธ.5) | พ.ศ. 2490 - 2552 |
5 | พระเทพกิตติรังษี (ทองสา วรลาโภ ป.ธ.8) | พ.ศ. 2552 - 2561 |
6 | พระราชพัฒนวัชรบัณฑิต (สุกันยา อรุโณ) | พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน |