มงกุฎอิมพีเรียลสเตต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก มงกุฎอิมพีเรียลสเตท)
มงกุฎอิมพีเรียลสเตต
Imperial State Crown

รายละเอียดของมงกุฎจากด้านหน้า
รายละเอียด
สำหรับ สหราชอาณาจักร
ผลิตเมื่อค.ศ. 1937
ผู้ครอบครองพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร
น้ำหนักสุทธิ0.9 กิโลกรัม
จำนวนโค้ง2 โค้ง
วัตถุดิบหลักทองคำ เงิน ทองคำขาว
วัสดุซับในกำมะหยี่สีม่วง กรุขอบด้วยขนเออร์มิน
อัญมณีสำคัญเพชรคัลลินัน 2, ทับทิมเจ้าชายดำ, แซฟไฟร์เซนต์เอ็ดเวิร์ด, แซฟไฟร์สจวต
องค์ก่อนหน้ามงกุฎอิมพีเรียลสเตตของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย

มงกุฎอิมพีเรียลสเตต (อังกฤษ: Imperial State Crown) เป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสหราชอาณาจักร มงกุฎอิมพิเรียลสเตตนี้มีการสร้างทดแทนขึ้นหลายยุคสมัยตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ซึ่งรุ่นล่าสุดนี้มีลักษณะคล้ายมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดอยู่ไม่น้อย

ตัวมงกุฎนั้นมีฐานประกอบด้วยกางเขนแพตตี (cross pattée) จำนวนสี่กางเขน สลับกับเฟลอ-เดอ-ลีส์ (fleur-de-lis) หรือดอกลิลลี่จำนวนสี่ดอก ส่วนเหนือจากฐานขึ้นไปเป็นโค้งจำนวนสี่โค้งตัดกันที่มียอดเป็นด้านบนจุดตัดเป็นกางเขนอีกหนึ่ง ภายในตรงกลางมงกุฎเป็นหมวกกำมะหยี่ที่มีขอบเป็นขนเออร์มิน มงกุฎฝังด้วยอัญมณีหลายชนิดที่รวมทั้ง: เพชร 2,868 เม็ด, ไข่มุก 273 เม็ด, แซฟไฟร์ 17 เม็ด, มรกต 11 เม็ด, และทับทิม 5 เม็ด

มงกุฎอิมพิเรียลสเตตประกอบด้วยอัญมณีที่มีชื่อเสียงหลายชิ้น กางเขนบนมงกุฎฝังอัญมณีที่เรียกว่าแซฟไฟร์เซนต์เอ็ดเวิร์ดที่นำมาจากแหวน (หรือ จุลมงกุฎ) ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพ, ทับทิมเจ้าชายดำ (Black Prince's Ruby) (ความจริงแล้วคือสปิเนล ที่ฝังอยู่บริเวณกางเขนด้านหน้าของมงกุฎ และเพชรคัลลินันที่ฝังด้านหน้ามงกุฎบริเวณฐาน ด้านหลังฝังด้วยแซฟไฟร์สจวตหนัก 104 กะรัต (20.8 กรัม) บนขอบ นอกจากนี้ยังมีไข่มุกของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบ็ธประดับอีกด้วย

การใช้งาน[แก้]

มงกุฎนี้ทรงใช้สวมในตอนเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เสด็จออกจากแอบบีเวสต์มินสเตอร์[1] ซึ่งตามปกติแล้วอิมพีเรียลสเตตจะไม่ใช่มงกุฎที่ทรงสวมในระหว่างพระราชพิธี ยกเว้นในระหว่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 เพราะทรงเห็นว่ามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดหนักเกินไป (กว่าสองกิโลกรัม)

พระราชินีนาถเอลิซาเบ็ธที่ 2 ทรงมงกุฎอิมพีเรียลสเตตเป็นประจำทุกปีในการรัฐพิธีการเปิดประชุมรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร[1] ซึ่งตามธรรมเนียมแล้วมงกุฎและเครื่องเพชรพลอยจะถูกนำมายังพระราชวังเวสต์มินสเตอร์โดยรถม้าต่างหากก่อนที่พระราชินีจะเสด็จพระราชดำเนินมาถึง และนำไปไว้ที่ห้องฉลองพระองค์ที่พระองค์ทรงฉลองพระองค์คลุมและทรงสวมมงกุฎ

มงกุฎองค์ปัจจุบัน[แก้]

ภาพวาดแสดงมงกุฎองค์เดิมซึ่งใช้ก่อนปีค.ศ. 1937 โดยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ในปัจจุบันจัดแสดงเหลือแต่โครงเท่านั้น

มงกุฎอิมพีเรียลสเตตองค์ปัจจุบันนั้นสร้างขึ้นเพื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ในปี ค.ศ. 1937 โดยบริษัทการ์ราร์ด แอนด์ โค (Garrard & Co.) ที่สร้างลอกแบบมาจากมงกุฎอิมพีเรียลสเตตองค์เดิม (รูปประกอบด้านขวามือ) ที่สร้างสำหรับสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย แต่มีน้ำหนักเบากว่าและสวมสบายกว่า มงกุฎองค์ใหม่นี้มีน้ำหนักเพียง 910 กรัม ซึ่งเคยได้ถูกปรับปรุงสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2[2] เพื่อให้มีความเหมาะสมมากขึ้นต่อการสวมใส่โดยอิสตรี โดยลดความสูงลงประมาณ 1 นิ้ว

ในปกตินั้นพระมหากษัตริย์มักจะซ้อมสวมมงกุฎก่อนที่จะถึงเวลาเปิดรัฐพิธีเปิดประชุมสภา (ข้าราชสำนักรายงานว่าได้เห็นพระราชินีเอลิซาเบธทรงมงกุฎขณะที่เสวยพระกระยาหารเช้าและทรงอ่านหนังสือพิมพ์ในวันเปิดรัฐสภา)

โครงเดิมของมงกุฎอิมพีเรียลสเตตองค์เดิมของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 1, สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 และสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียได้เก็บรักษาไว้ที่หอคอยแห่งลอนดอน เพราะความที่ใช้บ่อยมงกุฎอิมพีเรียลสเตตจึงได้รับการสร้างแทนหรือซ่อมแซมเสมอตามอายุของมงกุฎ, น้ำหนัก, รสนิยมของผู้สวม หรือจากความเสียหายที่เกิดจากการใช้งาน

มงกุฎอิมพีเรียลสเตตปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอคอยแห่งลอนดอน

แกลอรี่[แก้]


อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 The Royal Household 2011, The Crown Jewels.
  2. Garrard & Co staff 2012, heritage.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Kenneth J. Mears; Simon Thurley; Claire Murphy (1994). The Crown Jewels. Historic Royal Palaces. ASIN B000HHY1ZQ.
  • Dale Hoak (2002). Tudor Political Culture. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-52014-0.
  • The Royal Household (September 2008). "The Crown Jewels: Gallery". The Official Website of the British Monarchy. สืบค้นเมื่อ 30 June 2012.
  • Garrard & Co staff (2012). "Heritage". Garrard & Co. สืบค้นเมื่อ 30 June 2012.}
  • The Royal Household (8 August 2011). "The Crown Jewels". The Official Website of the British Monarchy. สืบค้นเมื่อ 30 June 2012.

ดูเพิ่ม[แก้]