ภาษาย่อย
ภาษาศาสตร์สังคม |
---|
แนวคิดหลัก |
สาขาวิชา |
สาขาที่เกี่ยวข้อง |
ศัพท์ ภาษาย่อย[1] (อังกฤษ: dialect) มีที่ใช้แตกต่างกันสองลักษณะเพื่อกล่าวถึงปรากฏการณ์ทางภาษาศาสตร์ที่แตกต่างกันสองประเภท ดังนี้
- การใช้งานลักษณะแรกหมายถึงวิธภาษาหนึ่ง ๆ ของภาษาหนึ่ง ๆ ที่เป็นลักษณะเฉพาะของกลุ่มผู้พูดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งของภาษานั้น[2] ตามบทนิยามนี้ บรรดาภาษาย่อยหรือวิธภาษาของภาษาใดภาษาหนึ่งจะมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และแม้จะมีความแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่มักเข้าใจกันและกันได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอยู่ใกล้กันในแนวต่อเนื่องภาษาย่อย ศัพท์ ภาษาย่อย มักใช้กับรูปแบบการพูดต่าง ๆ ในระดับภูมิภาค แต่ภาษาย่อยหนึ่ง ๆ ยังอาจได้รับการนิยามด้วยปัจจัยอื่น เช่น ชั้นสังคมหรือกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น[3] ภาษาย่อยที่มีความสัมพันธ์กับชั้นสังคมชั้นใดชั้นหนึ่งอาจเรียกว่า สังคมภาษณ์ (sociolect) ภาษาย่อยที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอาจเรียกว่า ภาษณ์ชาติพันธุ์ (ethnolect) และภาษาย่อยภูมิศาสตร์หรือภาษาถิ่นอาจเรียกว่า ภาษณ์ภูมิภาค (regiolect,[4] regionalect)[5] หรือ ภูมิภาษณ์ (geolect,[6] topolect)[7] ตามบทนิยามนี้ เราสามารถจัดวิธภาษาใด ๆ ของภาษาหนึ่ง ๆ ให้เป็น "ภาษาย่อย" ได้ทั้งสิ้น รวมถึงวิธภาษามาตรฐานด้วย ในกรณีนี้ ความแตกต่างระหว่าง "ภาษามาตรฐาน" (กล่าวคือ ภาษาย่อย "มาตรฐาน" ของภาษาใดภาษาหนึ่ง) กับภาษาย่อย "ไม่มาตรฐาน" ของภาษาเดียวกันมักเป็นไปโดยนิรเกณฑ์ (arbitrariness) และอิงตามข้อพิจารณาหรือความแพร่หลายและความโดดเด่นทางสังคม การเมือง วัฒนธรรม หรือประวัติศาสตร์[8][9][10] ในทำนองเดียวกัน บทนิยามของศัพท์ ภาษา และ ภาษาย่อย อาจเหลื่อมซ้อนกันและมักตกเป็นประเด็นการถกเถียง โดยการจำแนกความต่างระหว่างสองประเภทนี้มักมีพื้นฐานมาจากเหตุจูงใจที่เป็นนิรเกณฑ์หรือเหตุจูงใจทางสังคมและการเมือง[11] อย่างไรก็ตาม ศัพท์ ภาษาย่อย บางครั้งถูกจำกัดความให้หมายถึง "วิธภาษาไม่มาตรฐาน" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ไม่เฉพาะทางและธรรมเนียมดั้งเดิมทางภาษาศาสตร์นอกภาษาอังกฤษ[12][13][14][15]
- การใช้งานอีกลักษณะของศัพท์ ภาษาย่อย ซึ่งปรากฏเฉพาะในสถานการณ์ที่ไม่เป็นทางการในไม่กี่ประเทศ เช่น อิตาลี[16] ฝรั่งเศส ฟิลิปปินส์[17][18] เป็นต้น มีความหมายเชิงดูหมิ่นแฝงอยู่และเน้นย้ำสถานะที่เป็นรองทางการเมืองและทางสังคมของภาษาที่ไม่ใช่ภาษาประจำชาติต่อภาษาทางการภาษาเดียวของประเทศ กล่าวอีกนัยหนึ่ง "ภาษาย่อย" เหล่านี้ไม่ใช่ภาษาย่อยที่แท้จริงในความหมายเดียวกันกับในการใช้ในลักษณะแรก เพราะไม่ได้สืบเนื่องมาจากภาษาที่มีอิทธิพลทางการเมืองเหนือกว่า ดังนั้น "ภาษาย่อย" เหล่านี้จึงไม่ใช่วิธภาษาของภาษาดังกล่าว หากแต่มีวิวัฒนาการในลักษณะแยกจากกันและขนานกัน ด้วยเหตุนี้จึงอาจเข้าเกณฑ์การจัดเป็นภาษาเอกเทศของหลายฝ่าย "ภาษาย่อย" เหล่านี้ในอดีตอาจมีความสัมพันธ์ทางเชื้อสายในตระกูลย่อยเดียวกันกับภาษาประจำชาติซึ่งเด่นกว่า และอาจมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน (ในระดับที่แตกต่างกันไป) กับภาษาประจำชาติด้วยซ้ำ ตามนัยนี้ (ซึ่งต่างกับการใช้งานในลักษณะแรก) ภาษาประจำชาติจะไม่จัดว่าเป็น "ภาษาย่อย" เนื่องจากตัวมันเองเป็นภาษาเด่นในรัฐหนึ่ง ๆ ไม่ว่าในแง่เกียรติภูมิทางภาษา สถานะทางสังคมหรือการเมือง (เช่น สถานะทางการ) ความเด่นหรือความแพร่หลาย หรือทั้งหมดข้างต้น ศัพท์ ภาษาย่อย ที่ใช้ในลักษณะนี้โดยปริยายมีความหมายแฝงทางการเมือง ส่วนใหญ่ใช้เพื่ออ้างถึงภาษาที่มีเกียรติภูมิต่ำ (ไม่เกี่ยวข้องกับระดับความใกล้ไกลจากภาษาประจำชาติที่แท้จริง) ภาษาที่ขาดการสนับสนุนจากสถาบัน หรือภาษาที่ถูกมองว่า "ไม่เหมาะสมสำหรับการเขียน"[19] ศัพท์ ภาษาย่อย ยังนิยมใช้เพื่ออ้างถึงภาษาที่ไม่มีระบบการเขียนเป็นมาตรฐานหรือไม่ได้ผ่านกระบวนการจัดประมวลในประเทศกำลังพัฒนาหรือพื้นที่โดดเดี่ยว[20][21] ในกรณีนี้ ศัพท์ ภาษาท้องถิ่น (vernacular language) จะเป็นที่นิยมใช้มากกว่าในหมู่นักภาษาศาสตร์[22]
คุณลักษณะที่แยกภาษาย่อยต่าง ๆ ออกจากกันสามารถพบได้ในคลังศัพท์ (วงศัพท์) และไวยากรณ์ เช่นเดียวกับในการออกเสียง (สัทวิทยา ซึ่งรวมถึงสัทสัมพันธ์) ในกรณีที่สามารถสังเกตความต่างที่เด่นชัดได้ในการออกเสียงเพียงอย่างเดียวหรือเป็นส่วนใหญ่ อาจใช้ศัพท์ สำเนียง ซึ่งมีความเจาะจงมากกว่าแทนศัพท์ ภาษาย่อย วิธภาษาประเภทอื่น ๆ ได้แก่ ภาษาเฉพาะวงการ (ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันไปในแง่คลังศัพท์), สแลง, ภาษาชนบท (patois), ภาษาผสมแก้ขัด และสแลงเฉพาะกลุ่ม (argot) ส่วนรูปแบบการพูดรูปแบบหนึ่ง ๆ ที่แต่ละบุคคลใช้ เรียกว่า เอกัตภาษณ์ (idiolect)
ภาษาย่อยหรือต่างภาษา
[แก้]ความเข้าใจซึ่งกันและกัน
[แก้]เกณฑ์อย่างหนึ่งซึ่งมักถูกมองว่ามีความเป็นภาษาศาสตร์ล้วน ๆ คือความเข้าใจซึ่งกันและกัน วิธภาษาสองวิธภาษาจัดเป็นภาษาย่อยของภาษาเดียวกันหากการเป็นผู้พูดวิธภาษาหนึ่งส่งผลให้ผู้พูดวิธภาษานั้นมีความรู้เพียงพอที่จะเข้าใจและสื่อสารให้ผู้พูดอีกวิธภาษาหนึ่งเข้าใจได้ ไม่เช่นนั้น วิธภาษาทั้งสองจะจัดเป็นภาษาที่แตกต่างกัน[23] อย่างไรก็ตาม บทนิยามนี้ไม่สามารถกำหนดความเป็นภาษาได้เสมอไปในกรณีของแนวต่อเนื่องภาษาย่อย (หรือโซ่ภาษาย่อย) ซึ่งประกอบด้วยวิธภาษาต่าง ๆ เกี่ยวเนื่องกันไปเป็นลำดับ แต่ละวิธภาษามีความเข้าใจซึ่งกันและกันกับวิธภาษาที่อยู่ถัดไป แต่วิธภาษาที่อยู่ห่างกันมากอาจไม่สามารถเข้าใจซึ่งกันและกันเลยก็ได้[23] ปัญหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเกณฑ์นี้คือความเข้าใจซึ่งกันและกันนั้นเกิดขึ้นในระดับที่แตกต่างกัน และเป็นการยากที่จะแยกความแตกต่างจากความคุ้นเคยที่มีอยู่ก่อนแล้วกับวิธภาษาอื่น ความเข้าใจซึ่งกันและกันที่มีการรายงานยังอาจได้รับผลกระทบจากทัศนคติของผู้พูดที่มีต่อชุมชนภาษาอื่น ๆ[24][25]
บทนิยามทางภาษาศาสตร์สังคม
[แก้]อีกเกณฑ์หนึ่งที่มีการใช้เป็นครั้งคราวในการคัดจำแนกภาษาย่อยออกจากภาษาต่างหากคือหัวเรื่องทางภาษาศาสตร์สังคมว่าด้วยอำนาจของภาษา ตามบทนิยามนี้ วิธภาษาสองวิธภาษาถือเป็นภาษาย่อยของภาษาเดียวกันหากวิธภาษาเหล่านั้นคล้อยตามอำนาจเดียวกันในบางประเด็น (อย่างน้อยก็ในบางสถานการณ์) ตัวอย่างเช่น หากต้องการทราบชื่อสิ่งประดิษฐ์ใหม่หรือชื่อพรรณไม้ต่างถิ่นที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ผู้พูดภาษาเว็สท์ฟาเลินและภาษาเยอรมันฟรังโคเนียตะวันออกอาจค้นในพจนานุกรมภาษาเยอรมันหรือสอบถามผู้เชี่ยวชาญที่พูดภาษาเยอรมัน จึงกล่าวได้ว่าวิธภาษาเหล่านี้ขึ้นกับภาษาเยอรมันมาตรฐานซึ่งกล่าวได้ว่ามีสถานะเอกเทศ[26] ในทางตรงกันข้าม ผู้พูดวิธภาษาแซกซันต่ำในเนเธอร์แลนด์ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับภาษาเว็สท์ฟาเลินจะค้นในพจนานุกรมภาษาดัตช์มาตรฐานแทน ในทำนองเดียวกัน แม้ว่านักภาษาศาสตร์จะจัดภาษายิดดิชเป็นภาษาในกลุ่มภาษาเยอรมันสูงกลาง แต่ผู้พูดภาษายิดดิชจะค้นในพจนานุกรมอื่น ๆ ในกรณีเช่นนี้
ภายในกรอบนี้ วิลเลียม อเล็กซานเดอร์ สจวร์ต นักภาษาศาสตร์ชาวอเมริกัน นิยาม ภาษา ว่าเป็นวิธภาษาที่มีความเป็นเอกเทศร่วมกับวิธภาษาทั้งหมดที่ขึ้นกับมัน โดยให้ข้อสังเกตว่าชาลส์ แอลเบิร์ต เฟอร์กัสสัน และจอห์น โจเซฟ กัมเพิร์ซ นักภาษาศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้เคยให้บทนิยามที่มีสาระสำคัญเท่าเทียมกันไว้แล้วเมื่อ ค.ศ. 1960[27][28] ในทำนองเดียวกัน อาจถือได้ว่าวิธภาษาที่ไม่มีความเป็นเอกเทศเป็น ภาษาย่อย ของภาษาที่ได้รับการนิยามในลักษณะนี้[27] ตามเงื่อนไขเหล่านี้ แม้ว่าภาษาเดนมาร์กและภาษานอร์เวย์จะสามารถเข้าใจซึ่งกันและกันได้ในระดับสูง แต่ก็ถือว่าทั้งสองเป็นภาษาแยกกันต่างหาก[29] ในกรอบของไฮนทซ์ โคลส นักภาษาศาสตร์ชาวเยอรมัน ภาษาทั้งสองได้รับการอธิบายว่าเป็นภาษาตามเกณฑ์ เอาส์เบา ("การเจริญ", "การขยาย") มากกว่าจะเป็นภาษาตามเกณฑ์ อัพชตันท์ ("การแยกออก", "ระยะห่าง")[30]
ในสถานการณ์อื่น ๆ กลุ่มของวิธภาษาที่เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดจะมีความเข้าใจซึ่งกันและกันในระดับสูง (แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์ก็ตาม) แต่จะไม่มีวิธภาษาใดครอบงำวิธภาษาอื่น เพื่ออธิบายสถานการณ์เช่นนี้ บรรณาธิการบทความ Handbook of African Languages ได้เริ่มใช้ศัพท์ กลุ่มของภาษาย่อย (dialect cluster) เป็นหน่วยจำแนกในระดับเดียวกันกับภาษา[31] ส่วนสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันแต่มีระดับความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น ถูกเรียกว่า กลุ่มของภาษา (language cluster)[32]
ปัจจัยทางการเมือง
[แก้]บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
อย่างไรก็ตาม ในหลายสังคม ภาษาย่อยภาษาใดภาษาหนึ่ง (ซึ่งมักเป็นสังคมภาษณ์ของอติชน) จะได้รับการกำหนดให้เป็นรูปแบบ "มาตรฐาน" หรือ "เหมาะสม" ของภาษาหนึ่ง ๆ โดยผู้ที่ต้องการสร้างความแตกต่างทางสังคม และมีการเปรียบต่างกับวิธภาษาอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ ศัพท์ ภาษาย่อย ในบางบริบทจึงหมายถึงวิธภาษาที่มีสถานภาพทางสังคมต่ำอย่างเจาะจง ในความหมายรองของ "ภาษาย่อย" นี้ วิธภาษาต่าง ๆ มักถูกจัดให้เป็น ภาษาย่อย แทนที่จะเป็น ภาษา หาก:
- วิธภาษาเหล่านั้นไม่มีรูปแบบมาตรฐานหรือรูปแบบที่ผ่านกระบวนการจัดประมวล
- วิธภาษาเหล่านั้นไม่ค่อยหรือไม่เคยมีการใช้ในภาษาเขียน (นอกเหนือจากภาษาพูดที่มีการรายงาน)
- ผู้พูดวิธภาษาเหล่านั้นไม่มีรัฐเป็นของตนเอง
- วิธภาษาเหล่านั้นมีเกียรติภูมิน้อยเมื่อเทียบกับวิธภาษาอื่นซึ่งมักเป็นวิธภาษามาตรฐาน
สถานะความเป็น "ภาษา" ไม่ได้ถูกกำหนดโดยเกณฑ์ทางภาษาศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นผลมาจากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และการเมืองด้วย ภาษารูมันช์ได้กลายมาเป็นภาษาเขียนภาษาหนึ่ง ดังนั้นจึงได้รับการยอมรับว่าเป็นภาษาแม้จะมีความใกล้เคียงกับกลุ่มภาษาย่อยแอลป์ลอมบาร์ดมากก็ตาม ตัวอย่างที่ตรงกันข้ามคือกรณีของภาษาจีน วิธภาษาของภาษานี้อย่างภาษาจีนกลางและภาษาจีนกวางตุ้งมักถูกจัดว่าเป็นภาษาย่อยและไม่ใช่ภาษาต่างหากในจีน แม้ว่าจะไม่มีความเข้าใจซึ่งกันและกันก็ตาม
ศัพท์เฉพาะ
[แก้]ตามบทนิยามที่นักภาษาศาสตร์ใช้กันมากที่สุด วิธภาษาใด ๆ ก็ตามถือว่าเป็น "ภาษาย่อย" ของบางภาษา กล่าวคือ "ทุกคนล้วนพูดภาษาย่อยภาษาใดภาษาหนึ่ง" จากการตีความดังกล่าว เกณฑ์ต่าง ๆ ข้างต้นจึงเป็นเพียงการจำแนกว่า วิธภาษาสองวิธภาษาเป็นภาษาย่อยของภาษาเดียวกัน หรือเป็นภาษาย่อยของภาษาที่แตกต่างกัน
ศัพท์ ภาษา และศัพท์ ภาษาย่อย ไม่จำเป็นต้องปรากฏในลักษณะสับหลีกกัน แม้จะเป็นที่รับรู้กันเช่นนั้นบ่อยครั้งก็ตาม[33] ดังนั้นจึงไม่มีอะไรขัดแย้งในข้อความ "ภาษาของชาวเยอรมันเพนซิลเวเนียเป็นภาษาย่อยภาษาหนึ่งของภาษาเยอรมัน"
มีศัพท์หลายศัพท์ที่นักภาษาศาสตร์อาจใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการแสดงจุดยืนว่าการพูดของชุมชนหนึ่ง ๆ นั้นเป็นภาษาเอกเทศหรือเป็นภาษาย่อยของภาษาอื่น ศัพท์ที่พบบ่อยที่สุดอาจจะเป็น วิธภาษา (variety)[34] ส่วน ภาษณ์ (lect) ก็เป็นอีกศัพท์หนึ่ง ศัพท์ที่มีนัยทั่วไปกว่าคือ หน่วยคล้ายภาษา (languoid) ซึ่งไม่จำแนกความแตกต่างระหว่างภาษาย่อย ภาษา และกลุ่มภาษา ไม่ว่าจะมีความสัมพันธ์กันทางเชื้อสายหรือไม่ก็ตาม[35]
ภาษาย่อยกับสำเนียง
[แก้]จอห์น ไลอันส์ นักภาษาศาสตร์ชาวอังกฤษ เขียนว่า "นักภาษาศาสตร์หลายคน [... ] สรุปรวมความแตกต่างของสำเนียงไว้ภายใต้ความแตกต่างของภาษาย่อย"[9] โดยทั่วไป สำเนียง หมายถึงการแปรในด้านการออกเสียง ในขณะที่ ภาษาย่อย ยังครอบคลุมถึงการแปรที่เฉพาะเจาะจงในด้านไวยากรณ์และวงศัพท์ด้วย[36]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พจนานุกรมศัพท์ภาษาศาสตร์ (ภาษาศาสตร์ทั่วไป) ฉบับราชบัณฑิตยสภา. กรุงเทพฯ : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2560, หน้า 139.
- ↑ Oxford Living Dictionaries – English. เก็บถาวร 2019-03-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Retrieved 18 January 2019.
- ↑ Merriam-Webster Online dictionary.
- ↑ Wolfram, Walt and Schilling, Natalie. 2016. American English: Dialects and Variation. West Sussex: John Wiley & Sons, p. 184.
- ↑ Daniel. W. Bruhn, Walls of the Tongue: A Sociolinguistic Analysis of Ursula K. Le Guin's The Dispossessed (PDF), p. 8
- ↑ Christopher D. Land, "Varieties of the Greek language", ใน Stanley E. Porter, Andrew Pitts (บ.ก.), The Language of the New Testament: Context, History, and Development, p. 250
- ↑ "topolect". The American Heritage Dictionary of the English Language (4th ed.). Boston: Houghton Mifflin Harcourt. 2010.
- ↑ Chao, Yuen Ren (1968). Language and Symbolic Systems. CUP archive. p. 130.
- ↑ 9.0 9.1 Lyons, John (1981). Language and Linguistics. Cambridge University Press. p. 25. ISBN 9780521297752.
language standard dialect.
- ↑ Johnson, David (27 May 2008). How Myths about Language Affect Education: What Every Teacher Should Know. p. 75. ISBN 978-0472032877.
- ↑ McWhorter, John (Jan 19, 2016). "What's a Language, Anyway?". The Atlantic. สืบค้นเมื่อ 19 July 2016.
- ↑ Benedikt Perak, Robert Trask, Milica Mihaljević (2005). Temeljni lingvistički pojmovi (ภาษาเซอร์โบ-โครเอเชีย). p. 81.
{{cite book}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Schilling-Estes, Natalies. (2006) "Dialect variation." In R.W. Fasold and J. Connor-Linton (eds) An Introduction to Language and Linguistics. pp. 311-341. Cambridge: Cambridge University Press.
- ↑ Sławomir Gala (1998). Teoretyczne, badawcze i dydaktyczne założenia dialektologii (ภาษาโปแลนด์). Łódzkie Towarzystwo Naukowe. p. 24.
- ↑ Małgorzata Dąbrowska-Kardas (2012). Analiza dyrektywalna przepisów części ogólnej kodeksu karnego (ภาษาโปแลนด์). Wolters Kluwer. p. 32. ISBN 9788326446177.
- ↑ «The often used term "Italian dialects" may create the false impression that the dialects are varieties of the standard Italian language.» Martin Maiden, M. Mair Parry (1997), The Dialects of Italy, Psychology Press, p.2
- ↑ Peter G. Gowing, William Henry Scott (1971). Acculturation in the Philippines: Essays on Changing Societies. A Selection of Papers Presented at the Baguio Religious Acculturation Conferences from 1958 to 1968. New Day Publishers. p. 157.
- ↑ Maiden, Martin; Parry, Mair (1997). The Dialects of Italy. Routledge. p. 2.
- ↑ Defenders of the Indigenous Languages of the Archipelago (2007). Filipino is Not Our Language: Learn why it is Not and Find Out what it is. p. 26.
- ↑ Fodde Melis, Luisanna (2002). Race, Ethnicity and Dialects: Language Policy and Ethnic Minorities in the United States (ภาษาอังกฤษ). FrancoAngeli. p. 35. ISBN 9788846439123.
- ↑ Crystal, David (2008). A Dictionary of Linguistics and Phonetics (ภาษาอังกฤษ) (6 ed.). Blackwell Publishing. p. 142–144. ISBN 978-1-4051-5296-9.
- ↑ Haugen, Einar. Dialect, Language, Nation. American Anthropologist New Series, Vol. 68, No. 4 (ภาษาอังกฤษ). p. 927. JSTOR 670407.
- ↑ 23.0 23.1 Comrie, Bernard (2018). "Introduction". ใน Bernard Comrie (บ.ก.). The World's Major Languages. Routledge. pp. 2–3. ISBN 978-1-317-29049-0.
- ↑ Chambers, Jack; Trudgill, Peter (1998). Dialectology (2nd ed.). Cambridge University Press. pp. 7.
Similarly, Bulgarian politicians often argue that Macedonian is simply a dialect of Bulgarian – which is really a way of saying, of course, that they feel Macedonia ought to be part of Bulgaria. From a purely linguistic point of view, however, such arguments are not resolvable, since dialect continua admit of more-or-less but not either-or judgements.
- ↑ Danforth, Loring M. (1997). The Macedonian conflict: ethnic nationalism in a transnational world. Princeton University Press. p. 67. ISBN 978-0691043562.
Sociolinguists agree that in such situations the decision as to whether a particular variety of speech constitutes a language or a dialect is always based on political, rather than linguistic criteria (Trudgill 1974:15). A language, in other words, can be defined "as a dialect with an army and a navy" (Nash 1989:6).
- ↑ 26.0 26.1 Chambers & Trudgill (1998), p. 10.
- ↑ 27.0 27.1 Stewart, William A. (1968). "A sociolinguistic typology for describing national multilingualism". ใน Fishman, Joshua A. (บ.ก.). Readings in the Sociology of Language. De Gruyter. pp. 531–545. doi:10.1515/9783110805376.531. ISBN 978-3-11-080537-6. p. 535.
- ↑ Ferguson, Charles A.; Gumperz, John J. (1960). "Introduction". ใน Ferguson, Charles A.; Gumperz, John J. (บ.ก.). Linguistic Diversity in South Asia: Studies in Regional, Social, and Functional Variation. Indiana University, Research Center in Anthropology, Folklore, and Linguistics. pp. 1–18. p. 5.
- ↑ Chambers & Trudgill (1998), p. 11.
- ↑ Kloss, Heinz (1967). "'Abstand languages' and 'ausbau languages'". Anthropological Linguistics. 9 (7): 29–41. JSTOR 30029461.
- ↑ Handbook Sub-committee Committee of the International African Institute. (1946). "A Handbook of African Languages". Africa. 16 (3): 156–159. JSTOR 1156320.
- ↑ Hansford, Keir; Bendor-Samuel, John; Stanford, Ron (1976). "A provisional language map of Nigeria". Savanna. 5 (2): 115–124. p. 118.
- ↑ McWhorter, John (2016-01-19). "There's No Such Thing as a 'Language'". The Atlantic (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2019-10-24.
- ↑ Finegan, Edward (2007). Language: Its Structure and Use (5th ed.). Boston, MA, USA: Thomson Wadsworth. p. 348. ISBN 978-1-4130-3055-6.
- ↑ "Languoid" at Glottopedia.com
- ↑ Lyons (1981), p. 268.