ข้ามไปเนื้อหา

พระหยกเชียงราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล
ชื่อเต็มพระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล
ชื่อสามัญพระหยกเชียงราย
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะปางสมาธิ ศิลปะเชียงแสน
ความกว้าง49.7 เซนติเมตร
ความสูง65.9 เซนติเมตร
วัสดุหินหยก
สถานที่ประดิษฐานวัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล หรือชื่อทั่วไปคือ พระหยกเชียงราย เป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะแบบเชียงแสน แกะสลักจากหินหยกชนิดที่ดีที่สุดของประเทศแคนาดา ปางสมาธิ ฐานเขียง พระโมลีเป็นต่อมกลม ขนาดหน้าตักกว้าง 49.7 เซนติเมตร สูง 65.9 เซนติเมตร ฐานแกะสลักด้วยหินหยกสีเขียวเป็นรูปบัวสูงประมาณ 1 ศอก เป็นฐานบัวศิลปะเชียงแสน เครื่องทรงสร้างด้วยอัญมณีและทองคำ แบบเครื่องทรงแบบเชียงแสน ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย

ในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เจริญพระชนมายุครบ 90 พรรษา เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2533 คณะสงฆ์หนเหนือนำโดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม และอดีตเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ได้ร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดเชียงราย ได้จัดสร้างพระแก้วมรกตจำลอง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล โดยได้รับความอุปถัมภ์จากพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ

พระหยกเชียงราย

สำหรับหินหยกที่นำมาแกะสลักเป็นพระแก้วในครั้งนี้ เป็นหินหยกชนิดที่ดีที่สุดของประเทศแคนาดา แกะสลักโดยโรงงานหยกวาลินนานกู จงจูลู มหานครปักกิ่ง เมื่อโรงงานหยกได้แกะสลักหินหยกเป็นพระพุทธรูปเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้กราบอาราธนาสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ในฐานะประธานกรรมการอุปถัมภ์ฝ่ายสงฆ์ ได้เดินทางไปรับมอบพระพุทธรูปหยกที่มหานครปักกิ่ง เพื่ออัญเชิญมายังประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 และประกอบพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน และมีพระมหาเถระ 37 รูป นั่งปรกบริกรรม เจริญภาวนาในพิธี เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2534

ต่อมาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้พระราชทานพระนามพระพุทธรูปหยกว่า “พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล” มีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นอากรแห่งรัตน เป็นอนุสรณ์ 90 พรรษา” และโปรดเกล้าฯ ให้ขนานพระนามว่า “พระหยกเชียงราย

คณะสงฆ์และประชาชนชาวจังหวัดเชียงราย ได้จัดพิธีสมโภชอัญเชิญพระหยกเชียงรายไปประดิษฐาน ณ วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 16-20 ตุลาคม พ.ศ. 2534

อ้างอิง

[แก้]
  • ปิลันธน์ มาลากุล,หม่อมหลวง, 2534, นวุติวัสสานุสรณ์. มปท.
  • ชมรมพระพุทธรูปศักดิ์ศิทธิ์, 2548,สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองภาคเหนือ, กรุงเทพฯ: คอมมา ดีไซน์แอนด์พริ้นต์.